“ช้าง” สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ และถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงคู่บารมีพระมหากษัตริย์ไทยมาหลายยุคหลายสมัย แต่วันนี้อวัยวะทุกส่วนของช้างถูกตีตราจองด้วยมูลค่าเงินจำนวนมหาศาลนับล้านบาท จึงเป็นที่มาของการออกล่าช้าง ไม่ว่าจะเป็น งา งวง หาง หนัง ขน เล็บ ซี่โครง รวมถึงอวัยวะเพศช้าง แทบทุกส่วนล้วนมีมูลค่าทั้งสิ้น การค้าอวัยวะช้างเถื่อนไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่มีมานานนับชั่วอายุคน โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายทำความผิดอย่างไม่เกรงกลัว
คู่ละ 2 ล้าน
อวัยวะช้างที่มีทั้งมูลค่าเงิน และคุณค่าทางจิตใจตามความเชื่อของคนไทยมากที่สุด คงเป็นอะไรไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ “งาช้าง” ซึ่งตอนนี้มีราคาขายสูงถึงหลักล้านบาท ทั้งนี้การตีราคาสูง-ต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ตามความเชื่อโบราณของคน รวมถึงความยาก-ง่ายในการได้มาที่แตกต่างกัน ทันใดที่ช้างตายอวัยวะทุกส่วนของมันจะถูกเข้าสู่กระบวนการชำแหละเพื่อส่งขายตามออเดอร์ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วทำให้หดหู่ใจไม่น้อยที่คนไทยมองช้างไม่ต่างอะไรกับเนื้อหมูในตลาดสดเลย
นายสัตวแพทย์ ปรีชา พวงคำ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลช้าง มูลนิธิเพื่อนช้าง ได้เล่าถึงอวัยวะสำคัญที่คนอยากได้มากที่สุดหลังช้างตาย นั่นคืองาช้างคู่งาม ด้วยความเชื่อที่ว่าเพื่อเสริมสิริมงคล ประดับไว้เป็นของคู่บ้าน คู่บารมีแก่ผู้อยู่อาศัย และป้องกันภูตผีปิศาจ เมื่อมีความต้องการงาช้างมาก จึงทำให้อวัยวะนี้สนนราคาสูงเหยียบหลักล้านบาท รวมถึงอวัยวะอื่นๆ ที่มีราคาลดหลั่นกันไป
“สิ่งที่คนอยากได้มากที่สุดก็คือ “งาช้าง” เพราะมันเอาไปทำได้หลายอย่าง แต่มีราคาแพงมากเป็นล้านบาท โดยคิดเฉลี่ยเป็นกิโลกรัม ตกประมาณ 20,000-40,000 บาท ถ้างาคู่หนึ่งก็จะประมาณ 1- 2 ล้านบาท เป็นราคาที่เขาซื้อขายกัน ถ้าเป็นคู่สวยๆ ยาวเมตรกว่าจะมีราคาล้านกว่าบาท น้ำหนักอยู่ที่ 20-30 กิโลกรัม”
ราคาคิดจากน้ำหนักส่วนหนึ่ง และความสวยงามอีกส่วนหนึ่ง แต่ส่วนมากจะดูที่น้ำหนักก่อนแล้วจึงดูความสวยงาม เช่น งาช้างเข้าคู่กันได้สวยไหม ดูลักษณะอ้วน กลม สีเนื้องา ถ้ามีเนื้อสีเหลืองอ่อนถือว่าสวยและจะมีราคาแพงขึ้น ฉะนั้นถ้าลักษณะสวยราคาจะสูงขึ้นไปอีก อาจถึงกิโลกรัมละ 50,000 บาทก็แล้วแต่ความพอใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
หากดูสถิติการจับกุมการค้างาช้างเถื่อนในช่วงปี 2549-2550 โดยพบว่าปัจจุบันได้ตีราคางาช้างต่อกิโลกรัมเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว จากอดีต ปี 2544 เคยขายส่งกันในราคา 3,500 บาท และในปี 2551 ราคาขยับสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 12,000-42,000 บาท จนมาถึงปัจจุบัน ปี 2555 ราคางาช้างเริ่มต้นตั้งแต่ 20,000 -50,000 บาทต่อกิโลกรัม และนับวันราคามีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ช้างตาย ขายได้ทั้งตัว
ตอนนี้มูลค่าช้างหนึ่งตัวจะมีราคาสูงมาก อาจมีราคาสูงมากกว่า 2 ล้านบาท โดยเฉพาะช้างเพศเมียที่มีลักษณะรูปร่างสวยงาม และนิสัยไม่ดุร้าย แต่ถ้าช้างมีรูปลักษณ์ไม่สวย และดุร้าย ราคาจะลดหลั่นลงมาเหลือตัวละ 600,000-700,000 บาท ลูกช้างเพศเมียมีราคา 500,000-600,000 บาท ส่วนลูกช้างเพศผู้จะมีราคาต่ำกว่าเล็กน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วตัวผู้จะเลี้ยงยาก ดุร้าย ไม่ค่อยเชื่อง แม้ว่าช้างเพศผู้จะสร้างมูลค่าได้จากงา แต่ต้องใช้เวลาเลี้ยงถึง 10 ปี ทำให้ไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก จึงสนนราคาอยู่ที่ 300,000-400,000 บาทต่อตัว และถ้าคิดราคาแพ็กคู่แม่ลูกช้าง จะมีราคาสูงถึง 1,300,000 บาทเลยทีเดียว
นอกจากงาช้างที่มีความต้องการมากและมีราคาสูงแล้ว อวัยวะส่วนอื่นๆ ก็มีราคาแพงไม่น้อย เริ่มจาก “งวงช้าง” เฉพาะปลายงวงอาจมีราคาสูงถึง 30,000 บาท สำหรับคนที่มีความเชื่อจะนิยมเอาปลายงวงนี้ไปแกะสลักเป็นนางกวัก คนมักถือกันว่าปลายงวงคือมือของช้างซึ่งมีลักษณะคล้ายนางกวัก และเชื่อกันอีกว่างวงช้างมีไว้หยิบโชคหยิบลาภเข้ามา น.สพ.ปรีชา จึงเสริมพูดขึ้นว่า “อันนี้เป็นความเชื่อของกลุ่มที่เชื่อถือเรื่องเครื่องลางของขลัง เขาก็จะซื้อไป แม้ว่าจะมีราคาสูง หรือไม่ก็เอาไปกินกันส่วนหนึ่ง ราคาขายก็ไม่เท่าไหร่ กิโลละ 60-70 บาท”
แต่หลายคนคงแปลกใจกับ “อวัยวะเพศช้าง” ว่าเขาซื้อกันไปทำอะไร และเหตุผลของการซื้อก็ยังไม่หลุดกรอบจากความเชื่อเดิมๆ ที่เขาเชื่อกันว่าสามารถเอาไปดองยาสมุนไพรได้ ใช้เป็นยาบำรุงพลัง รักษาโรคภัยต่างๆ
“ถ้ามันดีจริงเขาคงเอาขึ้นตำรายากันแล้ว เรื่องนี้เป็นความเชื่อเหมือนกระเพาะปลา หูฉลามอะไรพวกนั้น เขากินเพราะความเชื่อ ถ้าไปดูทางวิทยาศาสตร์ คุณค่าทางอาหารก็ไม่มีอะไร มันเป็นพวกเอ็น พวกพังผืดอะไรต่างๆ เท่านั้นเอง” แม้ว่าจะมีข้อยืนยันทางการแพทย์ที่แน่ชัดแล้ว แต่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งยังมีความเชื่อเดิมอยู่และซื้อขายเป็นปกติ โดยมีราคาสูงกว่า 20,000 บาท (เฉพาะตัวผู้เท่านั้น) ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก
สำหรับ “หางช้าง” ที่ปัดแกว่งไปมาคนกลับเชื่อว่ามันจะช่วยปัดความโชคร้ายออกไปได้ เฉพาะปลายหางอันหนึ่งสนนราคาที่ 4,000-5,000 บาท คนที่มีความเชื่อนี้มักเอาไปลงคาถาอาคมแล้วแขวนไว้ในบ้านเพื่อเอาไว้ปัดเสนียนจัญไรต่างๆ แต่ถ้าซื้อเฉพาะ “ขนหาง” มีราคาขายตกเส้นละ 80-100 บาท ส่วน “ฟันช้าง” บางคนนำมาฝนเพราะเชื่อว่าแก้หืดหอบ หรือโรคภัยต่างๆ ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเล็บ เส้นขน และซี่โครง ซึ่งนำไปทำเป็นเครื่องประดับต่างหาก ทั้งตัวช้างล้วนมีมูลค่ามีราคาด้วยกันทั้งสิ้น
ส่วนช้างเพศเมียสามารถนำมาขายได้เช่นเดียวกับเพศผู้ เพียงแต่ไม่มีอวัยวะเพศและงาเท่านั้น นอกจากนั้นราคาขายอวัยวะส่วนต่างๆ จะเท่ากับช้างตัวผู้ทุกประการ เพราะเมื่อถูกแยกส่วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียอวัยวะจะเหมือนกันหมด จึงไม่สามารถแยกเพศออกได้เลย
ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รพ.ช้าง ยังเล่าถึงความเชื่อของคนโบราณเกี่ยวกับช้างอีกว่า “ตามตำรายาโบราณ เชื่อว่าสิ่งที่เหมือนกันมันจะส่งเสริมกัน เช่นโสมคน ลักษณะเหมือนคนกินเข้าไปจะช่วยให้เกิดพลังต่างๆ เหมือนกับอวัยวะเพศช้าง พอกินไปแล้วเขาก็เชื่อว่าจะมีกำลัง มีความสามารถ รวมพลังต่างๆ มาอยู่ในตัว ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อโบราณเท่านั้นเอง มันไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารอะไร หรือไม่ว่าจะเป็นหูฉลาม ที่เชื่อว่ากินไปแล้วความแข็งแรงของมันจะมาสู่คนกิน เหมือนกันกับช้าง เชื่อว่าปลายหางจะปัดโชคไม่ดีออกไป มันขึ้นอยู่กับความเชื่อของคน ถ้าคนที่ไม่เชื่อของนั้นมันก็ไม่มีราคา”
ขบวนการล่าช้างร้อยปี
จากข้อมูลเครือข่ายติดตามตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) ปี 2552 ระบุว่า ไทยเป็นแหล่งค้างาช้างเถื่อนอันดับ 3 ของโลกรองจาก จีน และฮ่องกง นี่เป็นเพียงแค่การจัดอันดับเฉพาะการค้างาช้างที่ผิดกฎหมายเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมถึงอวัยวะส่วนอื่นของช้างที่มีมูลค่าล่อใจให้พวกขบวนการล่าช้างเข้าบุกรุกพื้นที่ช้างป่าเพื่อนำมาขายตามใบสั่งซื้อ
โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า คนล่าช้างมันมีมานานมาก ก่อนยังไม่มีการร่างเป็นบทกฎหมายเสียอีก จนกระทั่งมาถึงยุค รศ. 119 (พ.ศ.2443) ได้กำหนดใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาช้างป่า แต่ก็ยังมีการลักลอบล่าช้างอยู่เรื่อยๆ มาเป็นร้อยปีแล้ว
“ขบวนการล่าช้างมีการศึกษาพื้นที่ป่ามาอย่างดี มีความเป็นมืออาชีพมากซึ่งพวกนี้ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เขารู้ว่าที่ไหนมีช้างที่กำลังต้องการอยู่ ถ้าต้องการลูกช้าง หรืองาช้างต้องไปล่าที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณแนวชายแดนพม่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส ตอนนี้มีการล่าช้างมากขึ้นซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะออกล่าบริเวณป่ารอยต่อเส้นพรมแดนไทยพม่า ในประเทศไทยฝั่งซ้ายด้านตะวันตกแทบทั้งหมด ตั้งแต่เหนือจดใต้”
และตอนนี้จุดที่มีการล่ามากที่สุดอย่างที่ปรากฏตามข่าว ส่วนใหญ่อยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณป่าละอู อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
การล่าช้างป่าต้องมีการทำเป็นขบวนการ ไม่สามารถออกล่าได้เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น อย่างน้อยต้องมีมากกว่า 5 คนขึ้นไป เพราะการจับช้างตัวหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นลูกช้างก็ต้องใช้คนจำนวนมาก เพราะแม่ช้างไม่ยอมให้จับได้ง่ายๆ ถ้าแม่ช้างไม่วิ่งหนีเสียงปืนจนเตลิดไปเสียก่อนจะไม่มีทางจับลูกช้างได้เลย เพราะฉะนั้นต้องมีการพรางตัวเพื่อป้องกันแม่ช้างวิ่งไล่ทำร้าย ซึ่งขบวนการล่าช้างนี้มีความเป็นมืออาชีพมาก
ในการจับบางครั้งจึงจำเป็นต้องฆ่าแม่ให้ตายก่อนแล้วจึงจะได้ลูก ซึ่งวิธีการจับช้างส่วนใหญ่มีอยู่ 2 วิธี อย่างแรก คือการสร้างกับดักด้วยการขุดหลุมพรางตาเพื่อให้ช้างเดินลงไปแล้วจากนั้นจึงใช้เชือกคล้องขาช้างทั้ง 4 ข้างไว้ และอีกวิธีหนึ่ง คือการยิงช้างจากนั่งร้านหรือเปลซึ่งทำไว้ชั่วคราวบนต้นไม้ในบริเวณที่คาดว่าช้างจะเดินผ่านมา “บางคนยิงแม่นมาก นัดเดียวตรงขมับก็อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่ยิงแค่นัดเดียว” ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวเสริม
ช้างที่ถูกล่าบางส่วนถูกนำมาไว้ที่ปางช้าง และได้สวมสิทธิ์จากช้างป่าเป็นช้างบ้านทันที เช่นเดียวกับ นสพ.ปรีชา ได้กล่าวไว้ว่า “ตอนนี้มีที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดราชบุรี มีนายทุนเข้าไปสร้างปางช้างหลายแห่งอยู่แถวชายแดน เช่น เมืองกาญจนบุรี, อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งพักช้างป่าให้เข้ามา เมื่อมีปางช้างก็จะมีอะไรที่เกี่ยวกับช้างขาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของช้างบ้าง หางช้าง งาช้าง ซึ่งเจ้าของปางก็อ้างว่าช้างของเขาตายลง”
“ตอนนี้จึงมีการลักลอบเอาช้างจากชายแดนฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า หรือลาวเข้ามาบ้าง เพราะมันได้ราคาสูง สังเกตคนที่เอาช้างไปเดินเร่ร่อนขอทานในกรุงเทพฯ วันหนึ่งเขาได้ถึง 2,000-3,000 บาท เดือนหนึ่งก็ 50,000-60,000 บาท พวกนี้เยอะนะแล้วทุกวันนี้เราก็ยังปราบกันไม่ไหว”
ช่างเป็นที่น่าภูมิใจที่ประชากรช้างไทยของเรามีจำนวนมากติดอันดับ 4 ของโลก แต่จะคงอยู่ที่อันดับนี้ได้นานแค่ไหนนั้นเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องออกมาช่วยกัน เพื่อไม่ให้ช้างไทยลดลงไปกว่านี้ด้วยน้ำมือคนไทยด้วยกันเอง ตอนนี้จึงขอสรุปยอดเลขตัวกลมๆ มาให้ดูกันคร่าวๆ ก่อนว่าจำนวนช้างใน 4 อันดับแรกนั้นอยู่ที่ประเทศใดบ้าง
ช้างในประเทศไทยมีจำนวนมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ของประชากรช้างทั่วโลกซึ่งตอนนี้มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 60,000 ตัว สำหรับช้างไทยมีประมาณ 5,500-6,000 ตัว แบ่งเป็นช้างบ้านประมาณ 3,000 ตัว และช้างป่าประมาณ 2,000 กว่าตัวเท่านั้นเอง ประชากรช้างมีจำนวนมากที่สุดอาศัยอยู่ที่ประเทศอินเดีย คือ 20,000 กว่าตัว รองลงมาเป็นประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 8,000-9,000 ตัว และอันดับสาม ได้แก่ประเทศพม่าซึ่งมีจำนวนมากกว่าไทยไม่มากนัก ประมาณ 7,000 ตัว
ช่องโหว่ กม. แหล่งซื้อขายอวัยวะช้าง
ไม่ว่าจะเป็นเศษงา ขนหาง หนังช้าง แหวนงาช้าง กำไลหางช้าง สารพัดเครื่องประดับทั้งหลาย และอุปกรณ์เกี่ยวกับช้างทั้งหมด มีแหล่งขายที่ใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทยที่ใครๆ ก็สามารถหาซื้อได้ โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเปิดตลาดค้าส่งสินค้าเฉพาะช้างอย่างโจ่งแจ้ง และทำมาเนินนานจนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินของชาวบ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งปล่อยปละละเลยโดยไม่มีการตรวจตราเข้มงวดอย่างจริงจัง และบางส่วนลงประกาศขายออนไลน์อย่างไม่เกรงกฎหมายแม้แต่น้อย
นสพ.ปรีชา กล่าวว่า ตอนนี้ที่ส่งขายรายใหญ่สุดเท่าที่เห็นน่าจะเป็นบริเวณหน้าศูนย์คชสาร จังหวัดสุรินทร์ เป็นของเกี่ยวกับช้างทั้งหมด ซึ่งเขาวางขายกันอย่างโจ่งแจ้ง โดยเปิดแผงขายเป็นซุ้มๆ เหมือนท่าพระจันทร์เลย มีร้านค้าประมาณ 10-20 กว่าร้านได้ อยากได้อะไรก็ไปหาซื้อเอาแล้วเขาจะเอามาให้ พวกของอนุรักษ์หายากเขาก็รู้กันเป็นที่ลับๆ คือพวกนี้เขาอยากได้อะไรก็จะไปหาพวกเลี้ยงช้าง เขาจะรู้กันหมดว่าคนนั้น คนนี้ขาย ใครมีหรือไม่มี เขาก็จะนัดแนะไปเอากัน คนนั้นมีเก็บไว้ก็จะไปเอากันมา
เมื่อมีการซื้อขายช้างทั้งในที่ลับและที่แจ้งแบบนี้ โดยไม่สนใจว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ มันสะท้อนให้เห็นว่าคนทำผิดไม่ได้เกรงกลัวต่อบทลงโทษ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วตามหลักข้อกฎหมายห้ามมีสัตว์ป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ขออนุญาต ถือว่าเป็นความผิดด้วยกันทั้งนั้น แต่บทลงโทษที่มีอยู่กำหนดเป็นแค่ความผิดลหุโทษเท่านั้น ทำให้คนทำผิดกฎหมายได้ใจ บ้างก็อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายมาเป็นข้ออ้างต่างๆ นานา
“ทุกวันนี้กฎหมายไม่ได้ห้ามถ้าช้างเลี้ยงตาย เจ้าของช้างนั้นมีสิทธิ์ที่จะเอามาขายได้ และอย่างนี้เราไม่รู้เลยว่าจะแยกออกได้ยังไงระหว่างช้างเลี้ยงกับช้างป่า คนขายก็อ้างว่าเป็นช้างของเขาที่เพิ่งตายไป หรือเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มันจึงไม่ทราบแน่ชัด และพิสูจน์ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะทำผิดกฎหมายจริงก็มีบทลงโทษไม่รุนแรง ปรับแค่ 2,000-3,000 บาท ส่วนเรื่องจำคุกแทบจะไม่มี มันไม่ร้ายแรงเลยจึงไม่มีใครเกรงกลัว”
ตามหลักการในการครอบครองช้างบ้าน ช้างตัวหนึ่งต้องมีตั๋วพิมพ์รูปพรรณ เปรียบเสมือนบัตรประชาชนช้าง ถ้าช้างตายต้องไปแจ้งว่าตาย เมื่อเจ้าของช้างต้องการขายก็ต้องไปแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าสามารถขายอะไรของช้างได้บ้าง และตามระเบียบแล้วคนที่ครอบครองชิ้นส่วนของช้างต้องไปแจ้งที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ตรงนี้ประเทศไทยมีข้อกฎหมายที่ลดทอน ผ่อนโทษให้คนได้ทำผิดอย่างตั้งใจและยินยอมที่จะเสียค่าปรับ
ตอนนี้มูลนิธิเพื่อนช้างมีการรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนกฎหมายให้ช้างเลี้ยงเป็นช้างป่า เพื่อควบคุมให้รัดกุม ไม่ให้เกิดการลักลอบนำช้างป่าเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้านได้ เรื่องนี้ทางมูลนิธิเพื่อนช้างจึงพยายามผลักดันให้กฎหมายออกมา คงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนบทลงโทษครั้งใหญ่เสียที
ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าคนลักลอบร่วมขบวนการล่าช้าง มีมากกว่าคนรณรงค์ช่วยเหลือช้างเสียอีก เพราะด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่หลอกล่อใจ เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่เข้าใครออกใครเสียด้วย และยิ่งนับวันช้างยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้น แต่ในทางกลับกันจำนวนช้างได้ลดลงไปทุกที ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปคนไทยจะพูดได้เต็มปากอย่างไรว่า “ช้างเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย”
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์