xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: สื่อนอกชี้ “การแย่งชิงอำนาจ” ในไทยยังไม่จบแม้ผ่านพ้นการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน, ชาติไทยพัฒนา, พลังชล และมหาชน จัดตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรคขึ้นบริหารประเทศ หลังได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์(3)ที่ผ่านมา
เอเจนซีส์ - ชัยชนะของพรรคของไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม อาจสะท้อนให้เห็นการปฏิเสธการเมืองระบบเก่า และทำให้บ้านเมืองเกิดเสถียรภาพได้ในไม่ช้า ทว่าเกมการช่วงชิงอำนาจอาจจะยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ

อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำหญิงคนแรกของไทย ทั้งยังเป็นการอุดช่องโหว่ที่ศัตรูทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนอาจฉวยโอกาสเข้าแทรกแซง

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างมหาเศรษฐีผู้นี้กับกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมยังคงฝังรากลึก และการกระทบกระทั่งกันในอนาคตก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง

“การเลือกตั้งคราวนี้ไม่ใช่สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างทักษิณกับศัตรูของเขา ยังจะมีการต่อสู้กันต่อไปอีก” กานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย สยาม อินเทลลิเจนส์ ยูนิต (เอสไอยู) กล่าว

“ประเทศไทยยังคงสุ่มเสี่ยง แม้ว่าขณะนี้กลุ่มฝ่ายขวาจะไม่มีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะแทรกแซง แต่พวกเขาจะรอจนกว่าพรรคเพื่อไทยและทักษิณพลั้งพลาด เมื่อนั้นเราจะได้เห็นพวกเขาโต้กลับแน่นอน”

พรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรคได้อย่างสะดวกโยธิน ขณะที่นายทหารระดับสูงซึ่งอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติเมื่อปี 2006 ก็มีท่าทียอมรับรัฐบาลใหม่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการเจรจาหลังม่านกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความพยายามโค่นล้มพรรคเพื่อไทยในขณะนี้อาจเป็นชนวนไปสู่เหตุนองเลือดครั้งใหม่ ขณะที่ผลการเลือกตั้งผลักดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยพุ่งขึ้นถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอีก 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันจันทร์ (4) ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนอาจกลับมาคึกคักเพียงระยะสั้นๆ และเมื่ออำนาจกลับไปอยู่ในมือทักษิณ ความขัดแย้งจึงเริ่มส่อเค้าลางให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพรรคเพื่อไทยคิดจะนำ “นายใหญ่” กลับบ้านโดยปราศจากความผิดฐานคอร์รัปชั่น

การกลับมาของทักษิณยังทำให้กลุ่มอำนาจเก่าในไทยหนาวๆ ร้อนๆ เนื่องจากการเมืองไทยผูกพันใกล้ชิดกับระบบอุปถัมภ์ และกลุ่มอิทธิพลซึ่งเป็นพันธมิตรกับนายทหารระดับสูง ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกปักรักษาหรือโค่นล้มรัฐบาลมาโดยตลอด

ฐานอำนาจดังกล่าวเริ่มอ่อนแอเมื่อทักษิณเข้ามาปกครองประเทศระหว่างปี 2001-2006 จนนำไปสู่การรัฐประหารเพื่อฟื้นฟูบทบาทของกองทัพและกลุ่มอิทธิพลที่อยู่นอกเหนือการเมือง

ทว่า สภาพการณ์เหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาล
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ที่บ้านพักในดูไบว่า ยินดีจะใช้ชีวิตในต่างประเทศต่อไป และไม่คิดกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีไทยอีก
แม้ทักษิณจะแสดงออกว่าไม่ต้องการท้าทายขั้วอำนาจเก่า โดยให้สัมภาษณ์จากดูไบวานนี้ (4) ว่ายินดีจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่ในต่างแดนต่อไป และไม่คิดกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่น้อยคนนักที่จะเชื่อคำพูดของเขา

เจคอป แรมเซย์ ที่ปรึกษาจากบริษัท คอนโทรล ริสก์ ในสิงคโปร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องแน่นอนที่สุดที่พรรคเพื่อไทยจะต้องพยายามนำทักษิณกลับบ้านอย่างผู้บริสุทธิ์

“พวกเขาต้องพิจารณาทางเลือกต่างๆเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้น และหาทางนิรโทษกรรมให้แก่ทักษิณ” แรมเซย์ระบุ

การนิรโทษกรรมถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในสังคมไทย ซึ่ง ยิ่งลักษณ์ ก็พยายามใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง โดยระบุว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และยืนยันว่าจะไม่ปฏิบัติต่อทักษิณเป็นกรณีพิเศษ ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คอป.ก็โยนลูกกลับไปให้ว่าที่นายกฯ หญิง โดยกล่าวว่าไม่ใช่หน้าที่ของ คอป.ที่จะพิจารณาหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ด้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลในเครือทักษิณ ก็ยังไม่ประกาศว่าจะเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ทว่าได้ยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ตัดสินยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับ ทักษิณ ซึ่งถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

เหล่าศัตรูของทักษิณคงจะรอคอยเวลาให้การจัดตั้งรัฐบาลผ่านพ้นไปเสียก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยยึดพื้นที่แยกราชประสงค์นานถึง 9 สัปดาห์เมื่อปีที่แล้ว จนนำไปสู่เหตุสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ราย

นักวิเคราะห์ระบุว่า การรัฐประหารครั้งที่ 2 จะยิ่งทำลายเสถียรภาพของไทยให้ย่ำแย่ลงไปอีก และอาวุธที่กลุ่มต่อต้านจะใช้จัดการกับทักษิณได้อย่างมีประสิทธิภาพและแยบยลที่สุด คือ กระบวนการยุติธรรม

“คงจะน่าแปลกใจ หากศัตรูทางการเมืองของทักษิณไม่ใช้กฎหมายเลือกตั้งที่มีอยู่ เป็นเครื่องมือบั่นทอนฐานมวลชนของยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย” รายงานการวิจัยจากซิตีกรุ๊ป โกลบอล มาร์เก็ตส์ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น