xs
xsm
sm
md
lg

ผลสะเทือนจากการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปของ‘สิงคโปร์’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เมกาวตี วิชยะ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Democratic gap narrows in Singapore
By Megawati Wijaya
09/05/2011

การที่พรรคเวิร์กเกอร์ปาร์ตี้ (WP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญในสิงคโปร์ ทำคะแนนได้ดีขึ้นมากในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมา เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ชอบพรรคพีเพิลส์แอคชั่นปาร์ตี้ (PAP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปกครองประเทศตลอดมานั้น ได้พบช่องทางสำหรับการระบายออกแล้ว แต่ขณะเดียวกัน การที่นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง เร่งรีบจัดแจงแถลงขออภัย เกี่ยวกับความผิดพลาดบกพร่องของPAP ก็กำลังถูกจับตามองว่า คือสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงของพรรคของเขา ในเรื่องความสัมพันธ์กับประชาชนผู้ออกเสียง

*รายงานข่าวชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้พรรค PAP สามารถที่จะครอบงำการเมืองของสิงคโปร์ได้อย่างยาวนานหลายสิบปี ก็คือการที่แต่ไหนแต่ไรมาฝ่ายค้านมักขาดไร้บุคลากรที่เข้มแข็ง แต่ในการเลือกตั้งคราวนี้ พวกนักวิเคราะห์บอกว่า คุณภาพของผู้สมัครของฝ่ายค้านดีขึ้นกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ตัน จี เซย์ (Tan Jee Say) ข้าราชการพลเรือนผู้โดดเด่นมีอนาคตไกล และเคยเป็นเลขานุการส่วนตัวคนสำคัญของ โก๊ะจ๊กตง อดีตนายกรัฐมนตรีที่ภายหลังพ้นเก้าอี้แล้วก็ยังคงมาเป็นรัฐมนตรีอาวุโสให้แก่รัฐบาลของลีเซียนลุง ปรากฏว่า ตัน ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรค SDP ส่วน โทนี ตัน (Tony Tan) และ เฮเซล พัว (Hazel Poa) 2 อดีตนักวิชาการชื่อดังของรัฐบาล ได้ไปเข้าร่วมกับพรรค NSP เหล่านี้ทำให้ผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้านดูมีเครติดน่าเชื่อถือสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก

“ถึงแม้ฝ่ายค้านจะพ่ายแพ้แก่พรรค PAP ในเขตเลือกตั้งจำนวนมากมายเหลือเกิน แต่สำหรับผมแล้วพวกเขาคือผู้ที่กำลังชนะ” รัซลัน คาร์ซาลี (Razlan Karzali) ผู้ซึ่งโดยอาชีพเป็นผู้ประสานงานด้านการขนส่งสินค้า และในทางการเมืองเป็นผู้สนับสนุนพรรค SDP กล่าวแสดงความคิดเห็น “พวกเขามีผลงานที่กระเตื้องดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งคราวที่แล้ว”

ยกเว้นแต่พรรค SDA แล้ว พรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ทุกๆ พรรคต่างมีผลงานดีขึ้นในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2006 ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อที่อยู่ในอิทธิพลของฝ่ายรัฐบาล ปรากฏว่าพรรค SDP คือพรรคฝ่ายค้านที่มีผลงานกระเตื้องขึ้นมากที่สุด ด้วยการคว้าคะแนนเสียงมาได้เฉลี่ยแล้ว 39.3% ในพื้นที่ที่พวกเขาส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ตัวเลขนี้สูงขึ้นเยอะทีเดียวจากระดับ 23.2% ที่ทำได้ในปี 2006 สำหรับพรรค WP ตามมาเป็นอันดับ 2 ในเรื่องการมีผลงานซึ่งดีขึ้น โดยที่ได้เสียง 46.6% ในเขตที่ลงชิงชัย เปรียบเทียบกับระดับ 38.4% ในปี 2006

**PAP รีบขออภัยประชาชน**

แน่นอนทีเดียวที่ PAP ซี่งเป็นพรรคที่ปกครองสิงคโปร์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1959 ยังคงสามารถวิ่งฉิวเข้าสู่เส้นชัยได้อย่างสบายๆ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา PAP เคยโฆษณาป่าวร้องว่า การเลือกตั้งในปีนี้เป็นการลงคะแนนครั้งสำคัญชนิดแบ่งยุคแบ่งสมัย เนื่องจากพรรคเสนอผู้สมัครหลายต่อหลายคนที่ถือเป็นผู้นำในรุ่นใหม่ๆ ลงแข่งขันในคราวนี้ อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าผู้สมัครหน้าใหม่ของ PAP บางคนถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง แม้กระทั่งก่อนที่การรณรงค์หาเสียงจะเริ่มต้นขึ้นมาด้วยซ้ำ

เป็นต้นว่า จานีล ปูธูเชียรี (Janil Puthucheary) ซึ่งเป็นผู้ที่โอนสัญชาติมาเป็นพลเมืองสิงคโปร์ เขาถูกชาวเน็ตรุมเล่นงานวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้เคยผ่านการรับใช้ประเทศชาติตามที่กฎหมายของสิงคโปร์บังคับให้พลเมืองทุกคนต้องทำ อีกคนหนึ่งคือ ติน เป่ย หลิง (Tin Pei Ling) ผู้สมัครสตรีที่อายุยังไม่มากของ PAP เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องขาดไร้ความคล่องแคล่วในการเล่นกับสื่อ และในเรื่องที่เธอถูกกล่าวหาว่าเข้าสู่วงการเมืองได้ก็ด้วยการพึ่งพาเครือข่ายส่วนตัวของเธอเอง โดยไม่ได้มีประสบการณ์ต่างๆ ที่สมควรจะต้องมี

ความผิดพลาดบกพร่องของรัฐบาลพรรค PAP เป็นต้นว่า กรณีที่ มัส ซาลามัต คัสตารี (Mas Selamat Kastari) ผู้นำคนหนึ่งของกลุ่มก่อการร้าย จามาอะห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah) สามารถหลบหนีออกจากศูนย์กักกันตัวอย่างชนิดไม่มีใครอธิบายได้เมื่อปี 2008 ตลอดจนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชน (Youth Olympic Games) ที่ถูกผู้คนมองว่าใช้จ่ายสูงเกินไป เหล่านี้กลายเป็นอาหารอันโอชะของฝ่ายค้านที่จะหยิบยกขึ้นมาโจมตีระหว่างการปราศรัยหาเสียง ถึงแม้ฝ่ายรัฐบาลมีความได้เปรียบในเรื่องที่เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะจัดการเลือกตั้งก่อนครบวาระในคราวนี้เมื่อใด รวมทั้งเป็นผู้ลากเส้นกำหนดพื้นที่เขตเลือกตั้งแต่ละเขตด้วย แต่แล้วพรรค PAP กลับต้องใช้ช่วงเวลาแห่งการหาเสียงช่วงใหญ่ทีเดียวในการแก้ต่างตอบโต้กลับการวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายค้าน แทนที่จะป่าวร้องถึงความสำเร็จในนโยบายด้านต่างๆ ของพรรค

บางทีอาจจะเป็นเพราะมีความตระหนักรับรู้ว่าผู้ออกเสียงกำลังเกิดความไม่สบอารมณ์เพิ่มมากขึ้นทุกทีแล้ว นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง จึงได้ตัดสินใจวางเดิมพันเล่นพนันทางการเมืองครั้งใหญ่ ในตอนที่ระยะเวลาการหาเสียงผ่านพ้นไปได้ราวครึ่งทาง โดยในการปราศรัยหาเสียงคราวหนึ่ง เขาได้เอ่ยปากขออภัยต่อประชาชนสำหรับความผิดพลาดทั้งหลายที่รัฐบาลของเขาได้กระทำลงไปในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เป็นต้นว่า กรณีการหลบหนีออกจากเรือนจำของ มัส ซาลามัต, เหตุน้ำท่วมในย่านศูนย์ช็อปปิ้งบนถนนออร์ชาร์ด (Orchard Road), ตลอดจนการที่ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไปทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัยและการเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้เขาไม่ใช่กล่าวขอโทษแค่ครั้งเดียว แต่ 2 ครั้งซ้อนทีเดียว นอกจากนั้นเขายังให้สัญญาที่จะดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ และทำงานให้ดียิ่งขึ้นเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งในวาระใหม่

“ถ้าหากปัญหาเหล่านี้ทำให้ท่านขุ่นเคือง หรือท่านรู้สึกว่าถูกรบกวน หรือสร้างความหงุดหงิดกลัดกลุ้มให้แก่ชีวิตของพวกท่านแล้ว ขอได้โปรดใช้ความอดทนกับพวกเรา พวกเรากำลังพยายามทำอย่างดีที่สุดเพื่อประโยชน์สุขของท่าน และถ้าเราทำอะไรไม่ค่อยถูกต้องแล้ว ผมก็ขออภัย แต่พวกเราจะพยายามและทำให้ดียิ่งขึ้นในคราวหน้า” เขากล่าว ในอีกช่วงหนึ่งของการปราศรัยหาเสียงคราวเดียวกันนี้ เขาบอกว่า “ผมคิดว่าท่านต้องการมีรัฐบาลที่ได้รับมอบอำนาจอาญาสิทธิ์จากท่านอย่างเต็มที่ แต่ในเวลาเดียวกันรัฐบาลนี้ก็จะต้องมีสำนึกที่ชัดเจนว่า พวกเขาคือผู้รับใช้ ไม่ใช่เจ้านาย และพวกเขาจะต้องให้ประชาชนไล่เรียงตรวจสอบได้”

การปราศรัยในลักษณะขอโทษประชาชนเช่นนี้ ได้รับการวิเคราะห์อย่างกว้างขวางบนโลกของบล็อกเกอร์ “แนวความคิดสำคัญในเรื่องที่ว่ารัฐบาลจะต้องยอมให้ประชาชนตรวจสอบได้ แต่รัฐบาลเวลานี้มีความเย่อหยิ่งทะนงตนเกินไป กลายแป็นเรื่องที่จับอกจับใจผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นอย่างยิ่ง จนบีบคั้นบังคับให้ท่านนายกฯต้องออกมากล่าวขอโทษสำหรับความบกพร่องต่างๆ ของรัฐบาลของเขาในตอนท้ายๆ ของช่วงเวลารณรงค์หาเสียง ทว่าเป็นที่ชัดเจนว่า มันน้อยเกินไป และสายเกินไปเสียแล้วสำหรับพวกผู้ออกเสียงที่หมดศรัทธา” ซิว คุม ฮง (Siew Kum Hong) อดีตสมาชิกรัฐสภาแบบแต่งตั้ง เขียนเอาไว้เช่นนี้ในบล็อกของเขา

“ตามความรู้สึกของผมเองแล้ว พวกกลางๆ , พวกผู้ออกเสียงจำนวนมากทีเดียวที่อยู่ตรงกลางๆ , ซึ่งเป็นผู้ที่จะตัดสินโชคชะตาของการเลือกตั้งคราวนี้ ส่วนใหญ่แล้วยอมรับว่าควรต้องให้พรรค PAP เป็นรัฐบาล แต่พวกเขาก็ได้เกิดความรู้สึกไม่ชอบพรรค PAP ตลอดจนสไตล์ของพรรคนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ” เขาเขียนเอาไว้ในอีกตอนหนึ่ง

ทางด้าน เชอเรียน จอร์จ (Cherian George) ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่เป็นรองศาสตราจารย์อยู่ในสถาบันการสื่อสารและสารสนเทศ วีคิมวี (Wee Kim Wee School of Communication and Information) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) เขียนว่า คำขอโทษของนายกฯลี “มีศักยภาพที่จะเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบทั่วกันว่า จะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพรรค PAP กับประชาชนขึ้นมาใหม่ สร้างความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นครั้งใหม่”

“ถ้าหากว่าหลังจากนี้เขากลับหันไปใช้ท่าทีมุ่งแก้เนื้อแก้ตัว และประกาศว่าอันที่จริง PAP ก็เป็นรัฐบาลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวอยู่แล้วล่ะก้อ ก็เป็นอันเขาสูญเสียผมไปอย่างแน่นอน” จอร์จเขียนต่อ “ตรงกันข้ามเลย” เขาบอกและเขียนอีกว่า “นี่แหละคือรัฐบาลชนิดที่เราปรารถนาจะให้จัดตั้งขึ้นมาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื้อหาโดยอ้อมๆ ของท่าทีนี้ (ของนายกฯลี) ก็คือ ยังคงมีช่องทางสำหรับการปรับปรุงให้ดีขึ้น, รัฐบาลชุดต่อไปของผมจะยึดหลักการต่างๆ เหล่านี้ในลักษณะที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ของผมไม่ได้ทำเช่นนั้น

แม้กระทั่งว่า PAP ไม่ได้ออกมากล่าวขออภัยอะไรเลย ก็ยังไม่มีใครคิดฝันหวานหรอกว่าฝ่ายค้านในปัจจุบันกำลังทำท่าจะสามารถเข้ายึดครองอำนาจได้ในเร็วๆ นี้แล้ว พวกผู้สมัครของพรรค WP ต่างป่าวประกาศอยู่เรื่อยๆ ว่า พรรคนี้ต้องการที่จะเป็นผู้ตรวจสอบและคานอำนาจของพรรค PAP และรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดย PAP

“ถ้าหากชาวสิงคโปร์เกิดจะโยนทิ้งรัฐบาล PAP ออกไปแล้ว ยังมีพรรคอื่นๆ พรรคไหนหรือที่สามารถก้าวเข้ามาและทำการปกครองประเทศ ณ ช่วงจังหวะเวลาขณะนี้ได้” ซิลเวีย ลิม (Sylvia Lim) ประธานพรรค WP พูดเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม ตัวเธอเองยอมรับว่า “พรรค WP ยังไม่พร้อมที่จะเข้าทำหน้าที่นี้ในเวลานี้”

เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ออกเสียงจำนวนมากก็เห็นด้วย “คุณดูซี่ว่าสิงคโปร์ตอนนี้พัฒนาไปไกลถึงขนาดไหนแล้ว คุณดูซี่ว่าประเทศนี้มั่งคั่งรุ่งเรืองถึงขนาดไหนแล้ว PAP คือพรรคการเมืองที่ดีเยี่ยมที่สุด ไม่เฉพาะแต่ในสิงคโปร์ พวกเขาคือพรรคที่ดีเยี่ยมที่สุดในโลกเลยล่ะ” เลียว ชิน กวน (Leo Chin Kuan) คนขับรถแท๊กซี่ผู้หนึ่งกล่าวแสดงความคิดเห็น “หลังจากการเลือกตั้งคราวนี้แล้ว แน่นอนทีเดียวว่า PAP จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอีก พวกเขารู้ดีว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงโดยรวมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ... พวกเขามีความตระหนักเป็นอย่างดีว่าผู้ออกเสียงนั้นมีอำนาจมหาศาลขนาดไหน”

เมกาวตี วิชยะ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ สามารถติดต่อกับเธอทางอีเมล์ได้ที่ megawati.wijaya@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น