เอเอฟพี - พิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียม และ เคต มิดเดิลตัน นับเป็นโอกาสคัญที่สถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลกอย่างราชวงศ์วินด์เซอร์ จะกอบกู้ภาพลักษณ์ให้กลับมาสวยหรูอีกครั้ง หลังต้องเผชิญมรสุมข่าวฉาวตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ฉากสำคัญที่คนทั่วโลกเฝ้ารอชม คือวินาทีที่เจ้าชายวิลเลียมทรงจุมพิตพระชายาที่ระเบียงพระราชวังบักกิงแฮม โดยมีสมาชิกราชวงศ์อังกฤษทุกพระองค์และประชาชนทั่วทุกมุมโลกร่วมเป็นสักขีพยาน
พิธีเสกสมรสถูกจัดเตรียมและวางแผนไว้อย่างเหมาะเจาะรัดกุมที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ประวัติศาสตร์อันมัวหมองของราชวงศ์อังกฤษรุ่นก่อนๆ ต้องซ้ำรอย
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เคยตรัสไว้ว่า จุดต่ำสุดของราชวงศ์อังกฤษก็คือ “ปีอันเลวร้าย” ซึ่งหมายถึง ค.ศ. 1992 ซึ่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าหญิงไดอานาทรงแยกทาง หลังจากที่เข้าพิธีอภิเษกสมรสอย่างเอกเกริก 11 ปีก่อนหน้า
ปี 1992 ยังเป็นปีที่ชีวิตรักของพระราชโอรสและพระราชธิดาพระองค์อื่นๆ ต้องมีอันสิ้นสุดลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นคู่ของเจ้าฟ้าชายแอนดรู กับ ซาราห์ เฟอร์กูสัน หรือเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ กับ กัปตันมาร์ก ฟิลลิปส์
ไม่เพียงเท่านั้น พระราชวังวินด์เซอร์ซึ่งเป็นที่ประทับที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงโปรดปราน ก็ถูกเพลิงไหม้เสียหายอย่างหนักในปีเดียวกัน
ภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษยิ่งเลวร้ายลงในอีกไม่กี่ปีต่อมา เมื่อความสัมพันธ์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าหญิงไดอานาดิ่งลงเหว หนังสือพิมพ์ซุบซิบหลายฉบับลงข่าวฉาวของทั้งคู่อย่างเอาเป็นเอาตาย จนนำไปสู่การหย่าร้างอย่างเป็นทางการในปี 1996
การสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของเจ้าหญิงไดอานาที่กรุงปารีสเมื่อปี 1997 ทำให้ราชวงศ์อังกฤษก้าวเข้าสู่ยุคมืดมนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ชาวอังกฤษทั้งประเทศต่างโศกเศร้าอาลัยถึง “เจ้าหญิงแห่งปวงชน” และมองว่าพระราชวงศ์มีท่าทีเย็นชาต่อการจากไปของพระองค์
ปฏิกิริยาของชาวอังกฤษต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา เทียบได้กับการสละราชสมบัติของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ในปี 1936 หลังทรงตัดสินพระทัยครองคู่กับสตรีหม้ายชาวอเมริกัน วอลลิส ซิมป์สัน
แต่แม้จะเกิดวิกฤตนานัปการ นักวิจารณ์ก็ยังเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า พระราชวงศ์อังกฤษจะสามารถปรับตัวและอยู่รอดต่อไปได้
“ราชวงศ์วินด์เซอร์คือผลพวงแห่งการเปลี่ยนแปลงตลอด 1,000 ปีที่ผ่านมา และจะสามารถปรับตัวเข้ากับศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแน่นอน” ดิกกี อาร์บิเตอร์ อดีตราชเลขาธิการฝ่ายสื่อมวลชนในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กล่าว
มีเหตุการณ์มากมายที่เป็นตัวอย่างของวิวัฒนาการซึ่งเกิดขึ้นในราชวงศ์อังกฤษ
ในปี 1917 กระแสต่อต้านเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จาก แซกซ์-โคเบิร์ก เป็น “วินด์เซอร์” เพื่อหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ด้านภาษากับเยอรมนี
นอกจากนี้ ยังทรงตั้งฉายาให้กับราชวงศ์ว่า “บริษัท” (The Firm) ซึ่งบางคนตีความว่า ทรงมีพระประสงค์ให้พระราชวงศ์มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้วโรกาสงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกสมโภชปี 2002 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนในดินแดนเครือจักรภพ เพื่อเสริมสร้างความนิยมในพระราชวงศ์ นอกจากนี้ยังทรงตอบสนองวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ โดยทรงรับนโยบายลดรายจ่ายของราชการในปี 2010 ซึ่งรวมถึงการหักค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และทรงยินยอมลดงบประมาณสำหรับพระราชวงศ์ลง 14 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 38.2 ล้านปอนด์ ระหว่างปี 2012-2013
หลังชีวิตสมรสครั้งแรกจบลงอย่างไม่สวยงามนัก เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จึงทรงแก้ตัวอีกครั้ง ด้วยการอภิเษกสมรสใหม่อย่างชื่นมื่นกับ คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบว์ลส
ด้านเจ้าชายแฮร์รีซึ่งเคยโปรดปรานชีวิตยามค่ำคืนจนได้ฉายาว่า “เจ้าชายรักสนุก” (The Party Prince) ก็ทรงเข้ารับราชการทหาร และเปลี่ยนพระองค์เองเป็นชายหนุ่มผู้มีวุฒิภาวะ
ดูเหมือนว่ามีเพียง เจ้าชายฟ้าชายแอนดรู และอดีตพระชายา ซาราห์ เฟอร์กูสัน เท่านั้นที่ยังสร้างปัญหาแก่ราชวงศ์ หลังจากที่ทรงตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วยเรื่องมิตรภาพกับเศรษฐีชาวอเมริกันรายหนึ่ง ซึ่งมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์
ก่อนถึงพิธีเสกสมรสเพียงไม่กี่วัน นักวิเคราะห์บางคนถึงกับคาดเดาว่า เจ้าชายวิลเลียม และ เคต น่าจะกลายเป็น “ไอดอล” ของคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก
“ผมว่ามีโอกาสสูงมากที่ เจ้าชายวิลเลียม และ แคทเธอรีน จะกลายเป็นขวัญใจประชาชนแทนที่บุคคลดังอย่าง เบคแฮม และเชื่อว่าทั้งคู่จะอยู่ในความสนใจของคนอังกฤษรุ่นใหม่”