เอเอฟพี - เมื่อถึงวันที่เจ้าชายวิลเลียมทรงพระดำเนินเคียงข้าง เคต มิดเดิลตัน เข้าสู่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ชาวอังกฤษทั้งประเทศจะร่วมถวายพระพรให้คู่รักราชวงศ์ทั้งสองพบความสุขในการครองเรือน ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหญิงไดอานาไม่ทรงเคยได้รับ
ในฐานะรัชทายาทอันดับที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ เจ้าชายวิลเลียมทรงเอาชนะความโศกเศร้าจากการสูญเสียพระมารดาเมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 15 พรรษา และทรงกลายเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในศตวรรษที่ 21
ผลสำรวจความเห็นของชาวอังกฤษส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แทนเจ้าฟ้าชายชาร์ลส เป็นดัชนีที่ชี้วัดความนิยมในตัวเจ้าชายวิลเลียมได้เป็นอย่างดี
ขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลสทรงประพฤติตนอยู่ในกรอบประเพณี และมีราชองครักษ์ห้อมล้อมตลอดเวลา เจ้าชายวิลเลียมซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ กลับเลือกใช้ชีวิตอย่างสุดแสนธรรมดา เมื่อเทียบกับมาตรฐานของราชสำนัก
“เจ้าชายวิลเลียมทรงทำอาหารเอง เก็บที่นอนเอง และทำทุกอย่างเหมือนคนปกติทั่วไป และดูเหมือนจะทรงพระสำราญเสียด้วย” เพนนี จูเนอร์ ผู้เขียนพระประวัติของเจ้าชายวิลเลียม เผย
“ทรงเป็นทายาทราชวงศ์ที่ดีพร้อม และเป็นคนตรงไปตรงมา พระองค์ไม่ยึดติดกับความเป็นเจ้ามากนัก และทรงพอพระทัยให้คนเรียกพระองค์ว่า “วิลเลียม” มากกว่า ฝ่าพระบาท”
เจ้าชายวิลเลียม ประสูติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ปี 1982 หลังจากที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลสและเจ้าหญิงไดอานาทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสได้ไม่ถึง 1 ปี ชีวิตวัยเยาว์ของพระองค์และเจ้าชายแฮร์รีเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานและความอบอุ่นที่ได้รับจากพระมารดา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลสทรงขาดแคลน
เจ้าหญิงไดอานาทรงพาเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีไปเที่ยวสวนสนุก เพื่อให้พระโอรสทั้งสองได้สัมผัสชีวิตเยี่ยงสามัญชน และบ่อยครั้งที่เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปเยี่ยมเยียนคนไร้ที่อยู่อาศัย
“เจ้าชายวิลเลียมทรงได้รับการเลี้ยงดูแบบสามัญมากกว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส เพราะเจ้าหญิงไดอานาทรงเข้าพระทัยว่า การไปดูหนัง, เที่ยวสวนสนุก หรือทานอาหารตามภัตตาคาร มีความสำคัญต่อจิตใจ และทรงแนะนำให้พระโอรสรู้จักกับพระสหายของพระองค์ด้วย” จูเนอร์ ให้สัมภาษณ์
หลังจากชีวิตคู่ของเจ้าหญิงไดอานาและเจ้าฟ้าชายชาร์ลสสิ้นสุดลงไม่นาน ก็เกิดโศกนาฎกรรมที่ทำให้พระโอรสทั้งสองต้องทรงโศกเศร้าอาลัยถึงพระมารดาต่อหน้าสื่อทั่วโลก ภาพที่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีทรงพระดำเนินตามขบวนพระศพเจ้าหญิงไดอานาสู่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์อย่างคนไร้ความรู้สึก ยังติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนอย่างไม่รู้เลือน
อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหญิงไดอานาถูกผู้สื่อข่าวไล่ติดตามจนประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีส ก็มีส่วนช่วยให้สื่อซุบซิบในอังกฤษไม่กล้าตามรบกวนชีวิตส่วนพระองค์ของเจ้าชายวิลเลียมมากนัก
เจ้าชายวิลเลียมทรงเข้าศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน ก่อนจะเสด็จไปพักผ่อนในทวีปแอฟริกา และร่วมเดินป่ากับทหารที่เบลีซเป็นเวลา 1 ปี แต่ประสบการณ์ทำงานที่ฟาร์มโคนมทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ เป็นสิ่งที่ทรงโปรดปรานมากที่สุด
จากนั้นทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัย เซนต์ แอนดรูส์ ในสกอตแลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ออกซ์ฟอร์ดแห่งภาคเหนือ” และทรงพบกับ เคต มิดเดิลตัน ทั้งคู่อาศัยอยู่ด้วยกันระหว่างเป็นนักศึกษา และเลิกรากันไปในปี 2007 ก่อนจะกลับมาคบหากันอีกจนถึงปัจจุบัน
ดูเหมือนว่าเจ้าชายวิลเลียมจะทรงตระหนักถึงสถานะอันสำคัญของพระองค์ในสายสืบสันตติวงศ์ จึงทรงพยายามหลีกเลี่ยงข้อครหาที่พระอนุชาต้องประสบอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2005เจ้าชายแฮร์รีเสด็จไปร่วมงานสังสรรค์ในชุดแฟนซี โดยทรงฉลองพระองค์คล้ายเครื่องแบบทหารนาซี ขณะที่เจ้าชายวิลเลียมทรงเลือกแต่งพระองค์เป็นสิงโต
เจ้าชายวิลเลียมยังทรงปฏิบัติตามธรรมเนียมของพระราชวงศ์ซึ่งเป็นชาย โดยทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ ก่อนจะเข้ารับราชการในตำแหน่งนักบินค้นหาและช่วยชีวิตของกองทัพอากาศอังกฤษ
เจ้าชายวิลเลียมทรงเริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจมากขึ้นทีละน้อย โดยเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อเสด็จไปเยี่ยมผู้ประสบภัยธรรมชาติที่เมืองไครสต์เชิร์ชและรัฐควีนส์แลนด์ในปีนี้ ก็ทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนที่นั่น
แม็กซ์ คลิฟฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ต่างชื่นชมในตัวเจ้าชายวิลเลียมและว่าที่พระชายา
“คนอังกฤษเห็นพระองค์เป็นโอรสของเจ้าหญิงไดอานา ดังนั้นผู้ที่รักเจ้าหญิงไดอานาก็รักพระองค์ด้วย”