xs
xsm
sm
md
lg

“โปรตุเกส” ขอเงินกู้ช่วยชีวิตจาก EU-IMF รายที่ 3 ของ “ยูโรโซน” ต่อจากกรีซ-ไอร์แลนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/เอเจนซี - โปรตุเกสตัดสินใจเมื่อคืนวันพุธ (6) ประกาศขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) เป็นการแผ้วถางทางให้ตนเองกลายเป็นชาติยูโรโซนรายที่ 3 ต่อจากกรีซและไอร์แลนด์ ซึ่งรับมือวิกฤตภาระหนี้สินภาครัฐและภาคธนาคารไม่ไหว จนต้องขอเข้าโครงการกู้ชีวิตของยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทางด้านสเปนผู้ถูกจับตามองว่าจะเป็นจุดอ่อนเปราะรายต่อไป รีบออกมาแถลงยืนยันวันพฤหัสบดี(7) ว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในอันตรายที่จะต้องเดินตามชาติเพื่อนบ้าน

ภายหลังจากยืนกรานต่อต้านแรงบีบคั้นของตลาดการเงินและพวกชาติสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ มาเป็นแรมเดือน โจเซ โซเครตีส นายกรัฐมนตรีรักษาการของโปรตุเกส ก็ออกมากล่าวปราศรัยถ่ายทอดทางทีวีในคืนวันพุธ ว่า เขาได้ยื่นขอความช่วยเหลือทางการเงินจากอียูแล้ว สืบเนื่องจากรัฐสภาได้ลงมติปฏิเสธแผนการเข้มงวดทางการเงินการคลังฉบับใหม่ของเขา

“ผมมีความมั่นใจอย่างหนักแน่นที่ว่า ถ้าหากไม่ลงมือทำอะไรแล้วมันก็จะยิ่งย่ำแย่เลวร้ายลงไปอีก” โซเครตีส บอก ตัวเขาเองเพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 23 มีนาคม หลังจากที่รัฐสภาปฏิเสธแผนการของเขา และนำโปรตุเกสเข้าสู่การเลือกตั้งรัฐสภากันใหม่ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของเขาดูจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อตลาดการเงินกำลังเพิ่มแรงกดดันโปรตุเกส ด้วยการเรียกร้องให้จ่ายอัตราผลตอบแทนที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐตัวใหม่ๆ ที่ทางการลิสบอนนำออกมาเสนอขาย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายรายประมาณการว่า โปรตุเกสจำเป็นต้องใช้เงิน 55,000 ล้านยูโร เพื่อการจ่ายดอกเบี้ยและชำระหนี้สินภาครัฐ และอีก 10,000 ล้านยูโร สำหรับการเพิ่มทุนจดทะเบียนของพวกธนาคารของประเทศนี้ โดยมีพันธะเฉพาะหน้าที่จะต้องชำระหนี้สินประมาณ 4,200 ล้านยูโรภายในวันที่ 15 เมษายน และอีก 4,900 ล้านยูโรภายในวันที่ 15 มิถุนายน

แต่ปรากฏว่า เมื่อวันพุธ ในการเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลครั้งใหม่ล่าสุด โปรตุเกสจำเป็นต้องยอมจ่ายอัตราผลตอบแทนที่สูงลิบลิ่ว กล่าวคือ แม้จะประมูลขายได้เงินกว่า 1,005 ล้านยูโร แต่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสำหรับพันธบัตรชนิด 1 ปีได้พุ่งขึ้นเป็น 5.902% จากที่เคยต้องจ่ายเพียง 4.331% ในการประมูลแบบเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม

ภายหลังโปรตุเกสขอความช่วยเหลือจากยุโรปแล้ว ปรากฏว่าในช่วงต้นของการซื้อขายเมื่อวันวาน ตลาดหลักทรัพย์ลิสบอนได้แสดงปฏิกิริยาในทางบวก แต่กระนั้นพวกนักวิเคราะห์ก็เตือนว่า ปัญหายุ่งยากลำบากของโปรตุเกสยังห่างไกลจากการได้ข้อยุติคลี่คลาย

“หลังจากถูกตีกระหน่ำอย่างหนักจากการนำเอาตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล) ออกมาประมูลขายเมื่อวันพุธ มาถึงตอนนี้กรุงลิสบอนก็ยอมยกธงขาวแล้ว” ไฟแนนเชียลไทมส์ หนังสือพิมพ์แนวธุรกิจทรงอิทธิพลของอังกฤษระบุ พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า การที่โปรตุเกสเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินแห่งยุโรป (European Financial Stability Fund หรือ EFSF) เช่นนี้ จะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีรากเหง้าล้ำลึกของตนให้ตกไปได้ โดยปัญหาเบื้องลึกดังกล่าวก็ได้แก่ การมีอัตราเติบโตที่อ่อนหวิวมาก และการขาดความสามารถในการแข่งขัน

สำหรับกองทุน EFSF นั้น ก่อตั้งขึ้นในปีที่แล้ว ภายหลังที่กรีซกลายเป็นชาติที่ใช้สกุลเงินยูโรชาติแรก ซึ่งต้องขอความช่วยเหลือไม่ให้ตกอยู่ในภาวะล้มละลายจากอียูและไอเอ็มเอฟ ต่อจากนั้นก็มีการใช้เงินทุนจากกองทุนนี้มาช่วยเหลือไอร์แลนด์อีกรายหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2010

กรีซได้แพกเกจเงินกู้จาก EFSF และ IMF (ซึ่งพ่วงด้วยเงื่อนไขต่างๆ ในการต้องยอมใช้นโยบายเศรษฐกิจอันเข้มงวดกวดขัน) ไปเป็นจำนวน 110,000 ล้านยูโร ขณะที่ไอร์แลนด์ได้ไป 85,000 ล้านยูโร สำหรับโปรตุเกส พวกนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ในระดับ 70,000 ล้านยูโร

ถึงแม้การเมืองของโปรตุเกสจะอยู่ในอาการไม่แน่นอน แต่เป็นที่คาดหมายกันว่าการเจรจาเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ของแพกเกจเงินกู้จาก EFSF และ IMF น่าจะเดินหน้าไปได้อย่างชนิดไม่ต้องรอผลการเลือกตั้งรัฐสภาเสียก่อน โดยที่การตัดสินใจขอความช่วยเหลือของโซเครตีส นายกรัฐมนตรีรักษาการแห่งพรรคสังคมนิยมในคราวนี้ ก็ได้รับความเห็นชอบสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านหลักที่เป็นพรรคแนวทางกลาง-ขวา

ในอีกด้านหนึ่ง หลังจากโปรตุเกสยกธงขาวแล้ว ตลาดและผู้สังเกตการณ์ก็หันมาจับจ้องมองสเปน ซึ่งมีปัญหาหนี้เน่าเสียอันหนักหน่วงจากการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะฟองสบู่แตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเปนเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอียู ดังนั้น จึงหวั่นเกรงกันว่า ถ้าสเปนยืนอยู่ไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะใหญ่โตมโหฬารกว่าในกรณีของกรีซ, ไอร์แลนด์ หรือโปรตุเกส

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสเปนนำโดยรัฐมนตรีคลัง เอเลนา ซัลกาโด ได้รีบเร่งออกมาแถลงแจกแจงเมื่อวานนี้ว่า ประเทศตนไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะต้องทำตามโปรตุเกสในการขอความช่วยเหลือทางการเงินจากภายนอก

ซัลกาโด ย้ำว่า เศรษฐกิจสเปนนั้น “โดดเด่นแตกต่าง” จากของโปรตุเกส โดยที่มีขนาดใหญ่กว่า, มีการกระจายตัวของภาคเศรษฐกิจมากกว่า และมีผลิตภาพสูงกว่า นอกจากนั้นรัฐบาลสเปนยังได้ดำเนินการปฏิรูปที่ “ลึกซึ้งมากกว่า” และดำเนินการปฏิรูป “ด้วยอัตราที่รวดเร็วกว่า” ทางโปรตุเกส
กำลังโหลดความคิดเห็น