xs
xsm
sm
md
lg

‘ภัยพิบัติ’ส่งผลต่อเศรษฐกิจ‘ญี่ปุ่น’อย่างยาวไกล

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ โมริชิ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan to pay long-term price
By Peter Morici
15/03/2011

งานฟื้นฟูบูรณะในด้านต่างๆ จะค่อยๆ ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นมาจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทว่าในเวลาเดียวกันนั้นเองก็จะทำให้ทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งทางการเงินของแดนอาทิตย์อุทัยลดน้อยลงไป ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ อาจจะถึงกับสูญเสียธุรกิจให้แก่ประเทศอื่นๆ อย่างเป็นการถาวร

ความสูญเสียในรูปของความทุกข์ยากเดือดร้อนของมนุษย์ ซึ่งคลื่นยักษ์สึนามิและแผ่นดินไหวก่อขึ้นมาในญี่ปุ่น มีมูลค่ามากมายมหาศาลขนาดไหนนั้น เป็นบททดสอบจินตนาการของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ แต่ผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตลอดจนทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งของญี่ปุ่นนั้น เป็นสิ่งที่สามารถวัดคำนวณคาดคะเนกันได้

สำหรับจีดีพี ซึ่งได้มาจากการวัดปริมาณสินค้าและบริการที่ผลิตออกมาได้ ตัวเลขนี้ของญี่ปุ่นจะต้องลดฮวบฮาบลงในทันที อีกทั้งยังจะต่ำลงไปอีกตลอดไตรมาสสองและกระทั่งเข้าสู่ไตรมาสสามของปี 2011 จากนั้นจึงจะพุ่งทะยานขึ้นในเมื่อการก่อสร้างและการใช้จ่ายเงินทุนทางด้านเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการฟื้นฟูบูรณะ จะเป้นตัวขับดันอัตราเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจให้ขึ้นสูง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองโดยองค์รวมแล้ว ญี่ปุ่นจะยากจนลงจากภัยพิบัติราวนี้ พวกโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ, โรงงาน, และอะไรอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งได้สูญสิ้นหรือเสียหายไปเนื่องจากภัยพิบัติ จะได้รับการทดแทนสร้างขึ้นมาใหม่ก็จริง แต่ความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศชาตินั้นคิดคำนวณจากผลรวมของสิ่งที่พลเมืองและรัฐบาลเป็นเจ้าของ –ซึ่งครอบคลุมทั้งพวกทรัพย์สินทางกายภาพต่างๆ จำพวกโครงสร้างพื้นฐาน, โรงงาน, ฯลฯ ดังที่เพิ่งกล่าวถึง ขระเดียวกันก็รวมไปถึงทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งทางการเงินด้วย อันได้แก่ หลักทรัพย์ต่างๆ และเงินสด-- การฟื้นฟูบูรณะจะทำให้ทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งทางการเงินของญี่ปุ่นลดต่ำลง เพื่อจะได้สร้างทรัพย์สินทางกายภาพขึ้นมาทดแทนส่วนที่สูญสิ้นหรือเสียหายไป

ขณะที่การประมาณการเกี่ยวกับความเสียหายของภัยพิบัติคราวนี้ปรากฏออกมา ตัวเลขรวมของความเสียหายดังกล่าวก็คือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับความมั่งคั่งของญี่ปุ่นนั่นเอง ทั้งนี้ญี่ปุ่นจะต้องถอนจะต้องจำหน่ายสินทรัพย์ทางการเงินและนำเอาการลงทุนของต่างประเทศเข้ามาในระดับขอบเขตดังกล่าว เพื่อใช้ในการฟื้นฟูบูรณะ ด้วยเหตุนี้ ความมั่งคั่งสุทธิของญี่ปุ่นจึงย่อมจะลดต่ำลงไปอย่างถาวร

โดยทั่วๆ ไปแล้ว หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 3 ปี ผลกระทบของภัยพิบัติก็จะอยู่ในระดับเล็กน้อยเท่านั้น ผลผลิตต้องหายสูญลดต่ำลงไปมากในช่วง 2 ไตรมาสแรก แต่ในไตรมาสถัดๆ จากนั้นก็จะมีการผลิตสินค้าและบริการออกมาเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ในการฟื้นฟูบูรณะ สำหรับในกรณีของประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าขนาดใหญ่เฉกเช่นญี่ปุ่น บ่อยครั้งทีเดียวที่ยอดสูญเสียสุทธิเมื่อเทียบกับจีดีพี แม้กระทั่งในคราวที่เผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุด ก็ยังคงอยู่ในระดับไม่เกิน 1% ของจีดีพี

การผลิตเพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียไปและการผลิตเพื่อใช้ในการฟื้นฟูบูรณะ จะเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ของชาตินั้นๆ ที่ได้รับความกระทบกระทือนจากภัยพิบัติค่อนข้างน้อย ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้จะถูกใช้เป็นทรัพยากรสำหรับการฟื้นฟูบูรณะ ตลอดจนใช้ทดแทนผลผลิตที่สูญเสียไปในบริเวณที่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักหน่วง

อย่างไรก็ดี สำหรับคราวนี้อาจจะมีความแตกต่างออกไป เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับภัยพิบัติถึง 2 อย่าง 2 ประการ อันได้แก่ แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิอย่างหนึ่ง และการระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้น กระแสโลกาภิวัตน์ในโลกปัจจุบัน ก็อาจจะทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพอ่อนแอย่ำแย่ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดถึง 2 ประการซ้อนๆ เช่นนี้ มีศักยภาพที่จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องหยุดการผลิตลงเป็นเวลายาวนานขึ้น ขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ก็ทำให้พวกลูกค้าที่ซื้อสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่น มีทางเลือกหลายๆ ทางซึ่งไม่มีในช่วงเวลาเมื่อสัก 1-2 ทศวรรษก่อนหน้านี้ เวลานี้ลูกค้าในต่างประเทศที่ใช้รถยนต์โตโยต้า สามารถหันไปหารถยนต์ประเทศอื่นที่คุณภาพก็ใช้ได้ดีเช่นกัน อย่างเช่น ฮุนได หรือ ฟอร์ด หรือกระทั่งหนักข้อกว่านี้อีก แม้แต่ในแวดวงเครื่องจักรอุปกรณ์ขนาดหนัก ลูกค้าในต่างแดนก็สามารถเลือกซื้อรถขุดดินของแคเตอร์พิลลาร์ มาใช้แทนของโคมัตสึ

ภาวะชะงักงันยืดเยื้อและไม่แน่นอนอันสืบเนื่องจากการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็นสาเหตุทำให้มีการหันไปทำการผลิตนอกญี่ปุ่นกันเพิ่มมากขึ้น และนั่นย่อมหมายความว่าจะต้องใช้เวลายาวนานออกไปอีกกว่าที่กำลังการผลิตในญี่ปุ่นจะถูกใช้กันอย่างเต็มความสามารถ ในระยะยาวไกลแล้ว ภัยพิบัตินิวเคลียร์คราวนี้ จะกลายเป็นตัวเร่งการถล่มทลายลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ประชากรอยู่ในวัยสูงอายุมากขึ้นทุกที ทำนองเดียวกับพายุเฮอร์ริเคน แคทรินา ได้เป็นสาเหตุทำให้ผู้คนและกิจกรรมต่างๆ พากันทอดทิ้งผละหนีอย่างถาวรจากพื้นที่แถบอ่าวเม็กซิโกซึ่งประสบความลำบากทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยหันไปพำนักพักพิงยังบริเวณอื่นๆ ในหสรัฐฯซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่า

เงินทุนบางส่วนที่นครนิวออร์ลีนส์ และมลรัฐมิสซิสซิปปี (อันเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดที่ได้รับความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรินา) สูญเสียไปจากภัยพิบัติคราวนั้น จะไม่มีทางได้กลับคืนมาอีกแล้ว เพราะมันวิ่งไปยังบริเวณอื่นๆ ในสหรัฐฯเสียแล้ว สำหรับในกรณีของเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากภัยพิบัติของญี่ปุ่น บริเวณอื่นๆ ดังที่กล่าวมานี้อาจจะหมายถึงสถานที่อื่นๆ ตลอดทั่วทั้งโลกทีเดียว

เมื่อพิจารณากันที่เศรษฐกิจโลก ภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นคราวนี้จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการชะลอตัวลงเป็นอย่างมาก ในเรื่องการลดการพึ่งพาอาศัยน้ำมันจากแถบตะวันออกกลางที่การเมืองแสนจะวูบวาบไม่มีเสถียรภาพ จริงอยู่ พวกพลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์, และพลังงานทางเลือกอื่นๆ อาจจะดูมีอนาคตอันยิ่งใหญ่ แต่กระนั้นพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังคงเสนอทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยขนาดขอบเขตอันใหญ่โตที่สุดเท่าที่จะสามารถหาได้ในปัจจุบันอยู่ดี

ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อเกิดความล้มเหลวด้านนิวเคลียร์ขึ้นมา ถ้าหากมีการสูญเสียชีวิตแล้วก็มักจะอยู่ในสภาพที่รวมศูนย์มาก ถึงแม้อาจคิดคำนวณกันได้ว่าพลังงานที่ผลิตออกมาได้แต่ละหน่วย ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ นั้น การผลิตด้วยพลังงานนิวเคลียร์จะมีตัวเลขความสูญเสียโดยเฉลี่ยต่ำกว่าก็ตามที ดังนั้น กรณีฟูกูชิมะจึงจะทำให้ทั่วโลกเกิดความลังเลเพิ่มขึ้นในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และทำให้เศรษฐกิจโลกต้องตกอยู่ในกำมือของน้ำมันยาวนานขึ้น

จากภัยพิบัติคราวนี้ เส้นทางไปสู่การฟื้นตัวจะต้องยากลำบากสาหัสยิ่งขึ้นทั้งสำหรับญี่ปุ่น และทั้งสำหรับเศรษฐกิจโลก โดยที่ทั้งญี่ปุ่นและทั่วโลกต่างก็อยู่ในอาการบาดเจ็บอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งมโหฬารในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ตลอดจนจากการที่น้ำมันมีราคาพุ่งสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องคาดหมายไว้ว่าเส้นทางแห่งการฟื้นตัวน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างไม่อาจยับยั้งได้

ปีเตอร์ โมริชี เป็นศาสตราจารย์แห่ง วิทยาลัยธุรกิจสมิธ (Smith School of Business) มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ และเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US International Trade Commission)
กำลังโหลดความคิดเห็น