xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นกำลังส่งคลื่นช็อกไปทั่วโลก (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: วิกเตอร์ คอตเซฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Japan catastrophe sends shock waves
By Victor Kotsev
17/03/2011

ญี่ปุ่นและทั่วทั้งโลกต่างบังเกิดความตื่นตระหนกมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ทำท่าเลวร้ายลงทุกที และนอกเหนือจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยแล้ว คลื่นช็อกของวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ยังจะเป็นที่รู้สึกกันได้ในหลายๆ ระดับ ตั้งแต่อนาคตอันไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลก และการที่ประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัยก๊าซธรรมชาติกันเพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงผลพวงของวิกฤตคราวนี้ที่จะมีต่ออ่าวเปอร์เซีย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ ความตื่นตระหนกอันเพิ่มทวีขึ้นทุกทีก็เข้าเกาะกุมทั้งญี่ปุ่นและทั่วทั้งโลก เมื่อถึงตอนเช้าวันพฤหัสบดี(17) ความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ภัยพิบัติระเบิดตัวออกมาอย่างเต็มที่ดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จ และความหวาดกลัวเกี่ยวกับสถานะของพวกแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วที่เก็บเอาไว้ในโรงงาน ก็ยิ่งทำให้เกิดกระแสข่าวลือสะพัดว่า พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบกำลังเก็บงำปิดบังข้อมูลอันสำคัญยิ่งยวดเกี่ยวกับขนาดขอบเขตของความหายนะคราวนี้

สัญญาณและร่องรอยของปัญหาความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าที่ถูกกระหน่ำด้วยแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 9.0 เมื่อวันศุกร์(11)ที่แล้ว ปรากฏออกมาให้เห็นทุกหนทุกแห่ง พวกชาวต่างชาติพากันหลบหนีออกจากชาติหมู่เกาะแห่งนี้กันเป็นจำนวนมากๆ ในอเมริกาเหนือ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ลมของญี่ปุ่น ได้เกิดกระแสการแตกตื่นซื้อหาจนกระทั่งทำให้ยาเม็ดโปแตสเซียมไอโอไดด์ และเครื่องวัดกัมมันตภาพรังสีขาดตลาด ประเทศจำนวนไม่น้อย เป็นต้นว่า เยอรมนี และจีน สั่งยุติการทำงานของพวกเตาปฏิกรณ์รุ่นเก่า และ/หรือ แผนการก่อสร้างสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ๆ โดยให้ชะลอไว้จนกว่าจะผ่านการศึกษาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน นอกจากนั้น เมื่อถึงเวลานี้การณ์ก็ดูจะเป็นที่ปรากฏแล้วว่า กำลังจะเกิดการอภิปรายถกเถียงกันครั้งใหญ่เกี่ยวกับอนาคตของพลังงานนิวเคลียร์โดยรวมด้วยซ้ำ

ผลพวงต่อเนื่องอันกว้างไกลในเชิงภูมิยุทธศาสตร์ของวิกฤตคราวนี้ ยังเพียงแค่กำลังเริ่มปรากฏออกมาให้เห็นเท่านั้น ขณะที่มีข่าวลือและการคาดเดากะเก็งต่างๆ แพร่สะพัดเต็มไปหมด ไล่ตั้งแต่เรื่องที่ว่าอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ ไปจนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ตลอดจนผลกระทบต่อตลาดพลังงานทั่วโลก

เมื่อวันพุธ(16) พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบยอมรับว่า หม้อความดันที่เป็นคอนเทนเนอร์ตัวในของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 อาจจะมีรอยรั่ว และเป็นตัวการสำคัญทำให้ระดับกัมมันตภาพรังสีที่โรงไฟฟ้าพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับสูงผิดปกติ จนกระทั่งต้องมีการสั่งยุติการดำเนินงานทุกอย่างซึ่งมุ่งผ่อนเพลาคลี่คลายความยุ่งยากของเตาปฏิกรณ์ที่มีอยู่ด้วยกันรวม 6 เครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ยังดีที่การยุติการปฏิบัติการนี้ดำเนินไปเพียงช่วงระยะหนึ่งก่อนที่จะเปิดไฟเขียวเดินหน้าต่อไปใหม่ ทั้งนี้มีรายงานว่าเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 นี้ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่มีส่วนผสมของพลูโตเนียมอยู่ด้วย ซึ่งกัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมาจะเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ยิ่งกว่าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้ในเตาปฏิกรณ์เครื่องอื่นๆ นอกจากนั้นตั้งแต่วันพฤหัสบดี (17) กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นก็กำลังเข้ามาเกี่ยวข้องมีบทบาทกับการดับไฟและลดอุณหภูมิในโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปของการใช้เฮลิคอปเตอร์ทหารขนน้ำทะเลขึ้นไปโปรยปรายใส่โรงงาน ตลอดจนการใช้รถดับเพลิงที่มีสายฉีดกำลังสูงมาฉีดน้ำใส่เตาปฏิกรณ์จากทางภาคพื้นดิน [1]

นอกจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้หันไปร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ถึงแม้กำลังทหารอเมริกันได้รับคำสั่งให้ถอยห่างจากโรงไฟฟ้าเนื่องจากไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสี ในอีกด้านหนึ่งก็มีรายงานว่าพวกเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องเกี่ยวกับนิวเคลียร์ซึ่งประจำอยู่ที่ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ได้ส่งข้อความอำลาไปถึงครอบครัวของพวกเขากันแล้ว บรรยากาศเช่นนี้ยิ่งชวนให้ย้อนระลึกไปถึงกรณีความหายนะของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 (ในคราวนั้น กองทัพก็ถูกบังคับให้เข้ามาแทรกแซงในทำนองเดียวกันนี้ โดยที่เฮลิคอปเตอร์ทหารบินฝ่าเข้าไปในกลุ่มเมฆกัมมันตภาพรังสีอย่างกล้าหาญเพื่อพยายามควบคุมการหลอกละลายของเตาปฏิกรณ์ และพนักงานดับเพลิงกับวิศวกรนิวเคลียร์หลายต่อหลายคนพลีชีพเสียสละชีวิตของตนเอง)

ยิ่งกว่านั้น ยังปรากฏข้อกล่าวหาโผล่ขึ้นมาว่า พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของญี่ปุ่นกำลังเก็บงำปิดบังข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับภาวะหลอมละลายที่เกิดขึ้นแล้ว ในความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก การที่รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันประกาศปริมณฑลที่จะต้องอพยพผู้คนหรือให้อยู่แต่ภายในบ้านเอาไว้เพียงระดับ 30 กิโลเมตรรอบๆ ฟูกูชิมะ ไดอิจิ นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมเอาเลย

พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันหลายรายออกมาพูดถึงระดับกัมมันตภาพรังสีว่าอยู่ในระดับ “สูงอย่างยิ่ง” และประกาศเตือนพลเมืองอเมริกันให้อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายหนักแห่งนี้อย่างน้อยที่สุด 80 กิโลเมตร หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เขียนเอาไว้ว่า “พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันมีข้อสรุปว่า มาตรการเตือนภัยของฝ่ายญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงพอ และไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ฝ่ายญี่ปุ่นได้ดูเบาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้นภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนั้น”

ถึงแม้ตามคำแถลงอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ มีการระบุเพียงว่าพบวัสดุกัมมันตภาพรังสี “ปริมาณเล็กน้อย” ปลิวไปจนถึงกรุงโตเกียว ทว่าความรู้สึกหดหู่เศร้าหมองก็ครอบคลุมอยู่เหนือนครหลวงของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ห่างจากฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประมาณ 240 กิโลเมตร แหล่งข่าวในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดเหตุหลายรายระบุด้วยว่า ในคำแถลงของทางการผู้รับผิดชอบชาวญี่ปุ่น กำลังมีการเปลี่ยนถ้อยคำบางคำอย่างคลุมเครือ นั่นคือจากที่ก่อนหน้านี้ มีการใช้ถ้อยคำที่ระบุว่า ผู้คนซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นไม่มีอันตรายอะไร ในช่วงหลังๆ มาพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบกลับเริ่มพูดว่า ยังไม่มีอันตราย “เฉพาะหน้า”ใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการให้ความสำคัญกับน้ำหนักของถ้อยคำที่ใช้ในคำแถลงต่างๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นเรื่องใหญ่โตทีเดียว

กระแสความแตกตื่นบางกระแส โดยเฉพาะในระดับระหว่างประเทศนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นความตื่นตูมเกินเหตุ แผนที่แสดงการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีที่มีผู้นำออกมาเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ และก่อให้เกิดความวิตกกังวลกันมากเนื่องจากทำนายเอาไว้ว่ามลพิษในระดับสูงมากจะตกลงสู่ทวีปอเมริกาเหนือนั้น น่าที่จะเป็นแผนที่ปลอม เนื่องจากกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่จะสูญสลายไปภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน และปลิวมาได้เป็นระยะทางเพียงแค่ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรเท่านั้น [2]

กระนั้นก็ตาม แผนที่ดังกล่าวก็สามารถอธิบายเรื่องแบบแผนของกระแสลมได้อย่างถูกต้องอยู่เหมือนกัน นั่นก็คืออย่างน้อยที่สุดน่าจะมีฝุ่นกัมมันตภาพรังสีที่พัดปลิวมาจนถึงสหรัฐฯและแคนาดาอยู่บ้าง [3] คำทำนายนี้ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นอีกจากหลักฐานที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และจากสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นแผนที่ซึ่งได้รับการยกเลิกชั้นความลับแล้ว ที่แสดงให้เห็นฝุ่นกัมมันตภาพรังสีที่ออกมาจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ “ขนาดเล็ก” ของจีนเมื่อปี 1966 [4]

ถ้าหากคิดมองหาคำทำนายเกี่ยวกับแบบแผนการกระจายตัวของกัมมันตภาพรังสี ซึ่งมีความละเอียดถูกต้องยิ่งกว่านี้ ก็ทำท่าว่าจะต้องประสบกับความลำบากยากเย็นแสนสาหัสทีเดียว โดยที่ในวันพฤหัสบดี (17) หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานข่าวโดยอ้างว่ามีรายงานของหน่วยงานสหรัฐฯรายหนึ่งยืนยันการคาดการณ์ต่างๆ ดังที่ระบุเอาไว้ข้างต้นนี้ อย่างไรก็ดี นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า “ทางสำนักงานแห่งนี้ (แสดงท่าที) ไม่ขอเผยแพร่คำทำนายเกี่ยวกับญี่ปุ่นของตน” พร้อมกันนั้นหนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลฉบับนี้ยังเสริมว่า ได้รับทราบเรื่องนี้ “จากแหล่งข่าวอื่นๆ หลายราย”

ขณะเดียวกัน ยังมีความวิตกกังวลอันหนักหน่วงเพิ่มขึ้นอีก โดยที่ความสนใจของบางฝ่ายได้หันเหออกจากตัวเตาปฏิกรณ์หมายเลขต่างๆ ของโรงไฟฟ้า (ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็ถือได้ว่าย่ำแย่สาหัสอยู่แล้ว) แล้วหันไปเพ่งเล็งพวกแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วซึ่งเก็บพักเอาไว้ในโรงไฟฟ้า เมื่อวันพุธ(16) เกรกอรี แจซโค (Gregory Jaczko) ประธานของคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ (United States Nuclear Regulatory Commission) ได้ชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่จะเกิดจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ซึ่งแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วได้เกิดติดไฟและทำให้เกิดการระเบิดขึ้นมา พร้อมๆ กับที่ทำให้เกิดมลพิษกัมมันตภาพรังสีเพิ่มสูง ตามความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วที่เก็บเอาไว้เหล่านี้ สามารถสร้างอันตรายได้เกือบเท่าๆ กับพวกแท่งเชื้อเพลิงที่ยังกำลังใช้งานกันอยู่ทีเดียว

ความวิตกกังวลดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นจากการที่เกิดข่าวลือจำนวนมากเกี่ยวกับสถานะของพวกแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วที่เก็บไว้ตามเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ประสบปัญหา ตัวอย่างเช่น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวสารเกี่ยวกับบ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2, และ 3 ไม่ได้ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมาจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ซึ่งนับว่าออกจะผิดปกติมาก [5] ในบทวิเคราะห์ของ เคิร์ก เจมส์ เมอร์ฟี (Kirk James Murphy) ระบุว่า “โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ อาจจะเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วเอาไว้รวมเป็นจำนวนมากกว่า 600,000 แท่ง” ทั้งนี้เนื่องจากมีการเก็บสะสมเอาไว้เป็นเวลาหลายสิบปี ดังนั้น ถ้าหากเกิดการปะทุติดไฟขึ้นมา ก็มีอันตรายที่จะนำไปสู่ “เชอร์โนบิลในสภาพที่เติมสารสเตียรอยด์” (Chernobyl on steroids) [6]

ขณะที่ยังไม่สามารถยืนยันให้ชัดเจนได้ในนาทีนี้ว่า เคิร์ก เจมส์ เมอร์ฟี เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทรงภูมิความรู้ในประเด็นปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ยังรายงานอื่นๆ จำนวนมากที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เตาปฏิกรณ์ทุกๆ เครื่องในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ต่างก็สร้างบ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว เอาไว้ตรงบริเวณเหนือส่วนหม้อความดันชั้นในทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการได้ว่า การระเบิดที่ได้ทำลายโครงสร้างของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2, และ 3 จนเสียหายหนักไปแล้ว จะไม่กระทบกระเทือนบ่อพักเหล่านี้ เมื่อพิจารณาภาพถ่ายดาวเทียมของฟูกูชิมะ ไดอิจิ ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้อข้องใจสงสัยเหล่านี้มากขึ้นอีก รวมทั้งเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข่าวลือที่ว่าแท่งเชื้อเพลิงกัมมันตภาพรังสีจำนวนเป็นตันๆ อาจจะถูกแรงระเบิดส่งขึ้นไปในอากาศด้วยซ้ำ [7]

หมายเหตุ
1.Radiation level unchanged despite choppers dousing nuclear reactor, Japan Today, March 17.
2. Projected Nuclear Fallout Map, Japan.org.
3. JAPAN NUCLEAR FALLOUT MAP PREDICTION MARCH 12 - 18, Stormsurf.com via www.youtube.com.
4. http://www.ki4u.com/free_book/nw151.jpg, ki4u.com.
5. IAEA Update on Japan Earthquake, International Atomic Energy Agency.
6. Fuel rod fire at Fukushima reactor “would be like Chernobyl on steroids”, March 14, 2011.
7. New Satellite Image of Fukushima Daiichi Nuclear Site in Japan From March 16, 2011 Institute for Science and International Security, March 16, 2011.

วิกเตอร์ คอตเซฟ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น