xs
xsm
sm
md
lg

‘เขื่อน’กำลังทำให้‘ลาว’แตกคอกับ‘เวียดนาม’

เผยแพร่:   โดย: มารวาน มาแคน-มาร์คาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Dam splits Vietnam, Laos
By Marwaan Macan-Markar
08/03/2011

ลาวซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลและมีฐานะยากจน เชื่อว่าการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตรงช่วงที่ทั้งสองฟากฝั่งต่างอยู่ภายในพรมแดนของตนนั้น จะเป็นช่องทางสำคัญทำให้ได้เงินตราต่างประเทศที่ตนเองจำเป็นต้องมีไว้ใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ความปักใจเด็ดเดี่ยวเช่นนี้ของลาวกลับกำลังกดดันให้เวียดนาม ต้องออกโรงแสดงการคัดค้านความมุ่งมาดปรารถนาในเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังงาน ของเพื่อนบ้านคอมมิวนิสต์ผู้สนิทสนมมี “ความสัมพันธ์แบบพิเศษ” กับตนเองรายนี้

กรุงเทพฯ – มีการวางแผนการที่จะสร้างเขื่อนแห่งใหม่ๆ รวม 11 เขื่อน ทอดข้ามตอนล่างของแม่น้ำโขง อันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าเพียงแค่โครงการสร้างเขื่อนแห่งแรกในชุดนี้ มันก็ทำท่าจะสร้างความร้าวฉานให้แก่ “ความสัมพันธ์แบบพิเศษ” ระหว่างลาวกับเวียดนาม อันเป็น 2 ชาติคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้านที่มีความสนิทสนมกันอย่างยิ่ง

พวกนักวิจารณ์ในเวียดนามกำลังรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 1,260 เมกะวัตต์แห่งนี้ ซึ่งลาวผู้เป็นเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า, ยากจนกว่า, และไร้ทางออกทางทะเล กำลังวางแผนก่อสร้างขึ้น พวกเขาพูดถึงเขื่อนแห่งนี้ว่า มันจะกลายเป็นความหายนะทางสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ลาวมีความมุ่งมาดปรารถนามานานแล้วที่จะสร้างตนเองขึ้นมาเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าของภูมิภาคแถบนี้ เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ชาติเพื่อนบ้านทั้งหลาย โดยถือเป็นหนทางสำคัญในการหารายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ให้เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายช่วยเหลือคนยากคนจน ซึ่งมีจำนวนเท่ากับประมาณหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด 5.8 ล้านคนของลาว

เขื่อนแห่งดังกล่าว วางแผนสร้างขึ้นในพื้นที่เขตเขาอันงดงามตามธรรมชาติในแขวงไซยะบุรี ทางตอนเหนือของลาว โดยผู้ที่จะดำเนินการก่อสร้างคือบริษัทไทยรายหนึ่ง เป็นที่คาดหมายว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้ถึงประมาณ 95% เพื่อนำมาตอบสนองเศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรืองรุดหน้าอย่างรวดเร็วของตน

พวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบอกว่า เขื่อนไซยะบุรี ตลอดจนอีก 10 เขื่อนซึ่งกำลังวางแผนสร้างขึ้นที่ตัวแม่น้ำสายประธานของแม่น้ำโขง (ในจำนวนนี้เป็นเขื่อนที่จะตั้งอยู่ในลาวรวม 9 เขื่อน) เปรียบได้กับการทำข้อตกลงกับปีศาจร้ายด้วยความมุ่งหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้าโดยที่ไม่คำนึงถึงความเสียหายแสนสาหัสในระยะยาวไกล

เขื่อนไซยะบุรีจะ “ลดปริมาณน้ำจืดและปริมาณโคลนเลนในเขตของเวียดนามที่อยู่ทางตอนล่างลงมาของแม่น้ำ รวมทั้งยังจะสร้างความเสียหายยับเยินให้แก่การทำประมง” หนังสือพิมพ์ เตื่อย แจ๋ (Tuoi Tre) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศ และเป็นขององค์การเยาวชนคอมมิวนิสต์ (Communist Youth Organisation) สาขานครโฮจิมินห์ แสดงความเห็นออกมาอย่างไม่อ้อมค้อม

ภัยคุกคามที่เขื่อนมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแห่งนี้ อาจจะมีต่อบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็น “พื้นที่ผลิตข้าวและเลี้ยงปลาใหญ่ที่สุด” ของเวียดนาม ก็ได้รับการตอกย้ำจากสื่อมวลชนเวียดนามอีกฉบับหนึ่ง นั่นคือหนังสือพิมพ์ ไซง่อน ไทมส์ (Saigon Times)

พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนามหลายรายก็ได้ออกโรงแสดงความเห็นคัดค้านเขื่อนที่จะมีความสูง 32 เมตร และมีความกว้าง 820 เมตรแห่งนี้เช่นกัน “ถ้ามีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีขึ้นในลาวจริงๆ มันก็จะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างใหญ่โตยิ่งต่อผลผลิตทางการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเวียดนาม” รายงานข่าวระบุว่า เหวียน ท้าย ลาย (Nguyen Thai Lai) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดออกมาเช่นนี้ในระหว่างการประชุมหารือกับพวกผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขงของเวียดนาม

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเหล่านี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ ซึ่งเวียดนามกับลาวลงนามกันไว้ในปี 1977 โดยที่เนื้อหาสำคัญที่สุดของข้อตกลงฉบับนี้ก็คือ การผูกพันทั้งสองฝ่ายเข้าไว้ใน “ความสัมพันธ์แบบพิเศษ”

งวี ถิ แค็งห์ (Nguy Thi Khanh) รองผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำ (Centre for Water Resources Conservation and Development) อันเป็นองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงฮานอย ชี้ว่า “เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลและความคิดเห็นทั้งของประชาชนและของรัฐบาล”เวียดนาม

พวกนักวิทยาศาสตร์เวียดนามก็พูดเช่นกันว่า “ควรที่จะต้องยุติโครงการนี้เสีย” แค็งห์กล่าวต่อในระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากกรุงฮานอย “เวียดนามเลิกปิดปากเงียบเกี่ยวกับเขื่อนแห่งนี้แล้ว”

สำหรับทางฝ่ายลาวนั้น รัฐบาลลาวยังคงปักใจแน่วแน่กับแผนการของตน “เรามีความมั่นอกมั่นใจว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ไม่ได้มีผลกระทบกระเทือนอย่างมากมายใดๆ ต่อแม่น้ำสายประธานของแม่น้ำโขง” พวกเจ้าหน้าที่หลายรายจากกรุงเวียงจันทน์ อธิบายเอาไว้ในเอกสารที่ส่งถึงพวกผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขง

เหล่าผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขงจากกัมพูชา, ลาว, ไทย, และเวียดนาม อันเป็น 4 ประเทศที่อยู่ทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง มีกำหนดประชุมหารือกันในปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาแผนการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับเขื่อนไซยะบุรี

ลาวกำลังพยายามขอร้องประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย อย่าได้ขัดขวางสกัดกั้นโครงการนี้ ทั้งนี้รัฐบาลลาวไม่ต้องการที่จะเพิ่มเดิมพันทางการเมือง จนถึงจุดที่ถูกบีบบังคับให้ต้องยื่นแบบพิมพ์เขียวงานออกแบบเขื่อนแห่งนี้เข้าสู่ที่ประชุมชาติลุ่มแม่น้ำโขงระดับรัฐมนตรี หรือกระทั่งระดับนายกรัฐมนตรี

“ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องยืดเวลาในเรื่องนี้ออกไป และไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องยื่นเสนอเรื่องนี้ขึ้นสู่ระดับ (รัฐมนตรี)” เอกสารที่รัฐบาลลาวส่งถึงพวกผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขงของชาติต่างๆ ระบุเอาไว้เช่นนี้

ประเด็นเรื่องเขื่อนไซยะบุรี กำลังกลายเป็นบททดสอบใหญ่ทางด้านการทูตสิ่งแวดล้อมบทแรก สำหรับ 4 ประเทศแห่งลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) ขึ้นมา หน่วยงานระดับระหว่างรัฐบาลแห่งนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นภายหลังที่ประเทศทั้ง 4 ได้ลงนามในข้อตกลงฉบับหนึ่งเมื่อปี 1995 คณะกรรมาธิการดังกล่าวซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ จัดตั้งขึ้นมาก็เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงโดยถือตามฉันทามติของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง แผนการใดๆ ก็ตามที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจะต้องถูกตรวจสอบรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งนี้โดยใช้กลไกพิเศษที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กระบวนการเพื่อการแจ้งให้ทราบ, การปรึกษาหารือล่วงหน้า, และการทำความตกลงกัน” (Notification Prior Consultation and Agreement หรือ PNPCA)

“ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เรามีการเดินเรื่องผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้า” เจเรมี เบิร์ด (Jeremy Bird) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสำนักงานคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) “ประเทศต่างๆ ไม่มีใครมีสิทธิวีโต้ (เพื่อยับยั้งเขื่อนที่กำลังสร้างกันอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน) กระนั้นก็ตามที ประเทศสมาชิกทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าได้ถ้าหากไม่มีการปรึกษาหารือกัน”

ชาติสมาชิกของคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างมาตราในข้อตกลงที่ระบุว่า “ประเทศหนึ่งๆ ไม่สามารถกระทำการอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อเพื่อนบ้านของตน” กับมาตราอื่นๆ ที่มีความขัดแย้งกันอยู่ซึ่งระบุว่า ทุกๆ ชาติสมาชิกมี “สิทธิที่จะไม่เห็นด้วย” และสามารถที่จะ “ดำเนินการตัดสินใจของตนเอง” รูดี เฟซเตรเทิน (Rudi Veestraeten) เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำไทยให้ความเห็น ทั้งนี้คณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเบลเยียม ตลอดจนประเทศยุโรปอื่นๆ รวมทั้งได้จากออสเตรเลีย และแคนาดา

จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ สายน้ำประธานของแม่น้ำโขงยังไม่ได้ถูกเขื่อนใดๆ ขวางกั้นเลย ตลอดเส้นทางยาวเหยียด 4,880 กิโลเมตร ที่ทอดผ่านอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำตอนล่าง โดยนับตั้งแต่ช่วงที่ไหลคดเคี้ยวผ่านพม่าไปสู่ดินแดนของ 4 ประเทศผู้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง กระทั่งลงสู่ทะเลจีนใต้ในบริเวณภาคใต้ของเวียดนาม

ทว่าบริเวณเหนือน้ำขึ้นไปอีก แม่น้ำสายนี้ที่ไหลออกมาจากต้นน้ำในที่ราบสูงทิเบต ผ่านมาทางภาคใต้ของจีนก่อนจะถึงพม่านั้น ได้ถูกจีนสร้างเขื่อน 4 แห่งขึ้นขวางกั้นในเขตมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) โดยที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของแดนมังกรที่จะสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ต่อเนื่องกันรวมทั้งสิ้น 8 เขื่อน ทั้งพวกนักเคลื่อนไหว, นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, และกระทั่งพวกผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ต่างรู้สึกผวาหวั่นวิตกในแผนการนี้

ผลกระทบของพวกเขื่อนในจีนที่มีต่อบรรดาประเทศใต้น้ำลงมา กลายเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การรณรงค์ต่างๆ ที่นำโดย โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Towards Ecological Recovery and Regional Alliance และใช้อักษรย่อว่า TERRA) ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ TERRA กล่าวเตือนว่าบรรดาเขื่อนในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างจะส่งผลกระทบกระเทือนชีวิตประชาชน 60 ล้านคน ซึ่งอาหารของพวกเขาและชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาล้วนต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้

“ประเทศลาวไม่ได้ทำให้เหตุผลข้อเสนอของฝ่ายตนฟังขึ้นเอาเสียเลย เพราะรัฐบาลลาวปฏิเสธไม่ยอมนำเอาผลศึกษาประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (environmental impact assessment หรือ EIA) ของเขื่อนไซยะบุรีแห่งนี้ ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน” เปรมฤดี ดาวเรือง (Premrudee Daoroung) ผู้อำนวยการร่วมของโครงการ TERRA ซึ่งสังกัดอยู่กับมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (Foundation for Ecological Recovery) กล่าวกับสำนักข่าวไอพีเอส “รัฐบาลลาวอ้างว่ามันเป็นเอกสารลับ”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น