xs
xsm
sm
md
lg

ความช่วยเหลือจาก‘จีน’ไหลทะลักท่วม‘กัมพูชา’

เผยแพร่:   โดย: มารวาน มาแคน-มาร์คาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China aid floods Cambodia
By Marwaan Macan-Markar
11/01/2011

ในบรรดาต่างชาติที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนากับกัมพูชา ประเทศจีนถือเป็นผู้ที่มาถึงค่อนข้างช้ากว่าเพื่อน อย่างไรก็ตาม เวลานี้ความช่วยเหลือจากแดนมังกร ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่มีเงื่อนไขข้อผูกมัดใดๆ กำลังไหลทะลักท่วมท้นกัมพูชา ทั้งนี้รวมทั้งเขื่อนใหญ่ 5 แห่งที่กำลังก่อสร้างกันอยู่ในประเทศที่ยากจนขาดไร้พลังงานแห่งนี้ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยผลดีให้แก่นายกรัฐมนตรีฮุนเซน อีกทั้งยังกำลังกลายเป็นการท้าทายการผูกขาดของพวกประเทศผู้บริจาคจากโลกตะวันตก

กรุงเทพฯ - เขื่อนแห่งใหม่ๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในกัมพูชา กำลังกลายเป็นสิ่งรูปธรรมอันสำคัญยิ่ง สำหรับให้นายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ใช้โอ่อวดคุยโตว่า สายสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้กับประเทศจีนกำลังบ่ายหน้าไปยังทิศทางใด

“เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้เป็นเพียงแค่หนึ่งในความสำเร็จจำนวนมากที่บังเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างกัมพูชากับจีน” นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในพิธีการซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดเกาะกง (Koh Kong) อันห่างไกล ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และก็เป็นสถานที่ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ รุสสีชุมกรอม (Russei Chrum Krom) ที่มีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้ในปริมาณ 338 เมกะวัตต์

เขื่อนยักษ์มูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแห่งนี้ กำลังก่อสร้างโดยบริษัท หวาเตี้ยน คอร์ป (Huadian Corp) บริษัทรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน และก็เป็นเขื่อนแห่งใหญ่ที่สุดในจำนวน 5 แห่งซึ่งแดนมังกรมุ่งที่จะสร้างขึ้นในกัมพูชาอันเป็นประเทศที่ยากจนขาดไร้พลังงาน ทั้งนี้ในจำนวนประชากรร่วมๆ 14.5 ล้านคนของกัมพูชา ปัจจุบันมีเพียงประมาณหนึ่งในห้าเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงกระแสไฟฟ้าได้

เวลานี้พวกบริษัทจีนกำลังดำเนินการศึกษาความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอีก 4 แห่งที่มีโครงการว่าจะก่อสร้างกัน ทั้งนี้จากการเปิดเผยของพวกนักเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่เหล่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าต่างแสดงความวิตกกังวลด้วยความไม่แน่ใจว่าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าวเหล่านี้จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาบ้างในอนาคต

“จีนกำลังแสดงบทบาทที่สำคัญมากๆ ในด้านการลงทุนและการพัฒนาในกัมพูชา ทว่าจีนก็ควรที่จะคำนึงถึงความสำคัญของ EIAs (environmental impact assessments การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม) และ SIAs (social impact assessments การประเมินผลกระทบทางด้านสังคม) ด้วย”

ชิต สัม อาต (Chhith Sam Ath) ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร เวทีประสานงานเอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องกัมพูชา (NGO Forum on Cambodia) กล่าวแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ในระหว่างที่ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากกรุงพนมเปญ อันเป็นสถานที่ตั้งสำนักงานของเครือข่ายรากหญ้าเพื่อการประสานงานบรรดาองค์กรพัฒนาเอกชน (non-governmental organizations หรือ NGOs) ในท้องถิ่นแห่งนี้ของเขา “มีหลายครั้งหลายคราวที่กระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีการเปิดให้สาธารณชนได้เข้าไปร่วมรับทราบ ตลอดจนแทบไม่มีเวลาที่จะให้สาธารณชนได้ออกความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เอาเลย” อาต กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)

พวกองค์กรล็อบบี้เพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก เป็นต้นว่า องค์การแม่น้ำระหว่างประเทศ (International Rivers ใช้อักษรย่อว่า IR) ที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ก็ได้ยืนยันว่า เขื่อนกำจาย (Kamchay) ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกัมโป้ต (Kampot) แม้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาได้ 4 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีรายงานผลการศึกษาประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ออกมาเลย “เมื่อดูกันในเรื่องกระบวนการด้าน EIA แล้ว พวกบริษัทจีนเหล่านี้ไม่ได้คิดที่จะทำตามหลักปฏิบัติที่ถือกันว่าสมควรดำเนินการกันเลย” นี่เป็นความเห็นของ เอมี แทรนเดม (Ame Trandem) นักรณรงค์เคลื่อนไหวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การแม่น้ำระหว่างประเทศ “การเข้ามีส่วนร่วมของสาธารณชนอยู่ในสภาพจำกัดมากหรือกระทั่งไม่มีส่วนร่วมใดๆ เลยด้วยซ้ำ ขณะที่พวกนักพัฒนาผู้ดำเนินโครงการก็ไม่ได้ขบคิดพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เผื่อเอาไว้”

เขื่อนกำจายนั้นตั้งอยู่ “ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโบกอร์ (Bokor National Park) และจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ป่าสงวนถึงประมาณ 2,000 เฮกตาร์ (12,500 ไร่)” องค์การแม่น้ำระหว่างประเทศตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานการกศึกษาของตนที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “การพัฒนาด้านไฟฟ้าพลังน้ำของกัมพูชาและการพัวพันเกี่ยวข้องของจีน” (Cambodia's hydropower development and China's involvement)

อย่างไรก็ตาม ฮุนเซนกลับกำลังพยายามที่จะไม่ปล่อยให้เหลือช่องเหลือที่ทางสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์จีน ดังที่พวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังพยายามหยิบยกขึ้นมา “มีการพัฒนาที่ไหนบ้างที่เกิดขึ้นมาโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เลย กรุณาให้คำตอบที่ชัดๆ กับเราด้วย” บุรุษซึ่งเป็นผู้บริหารปกครองประเทศที่อยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนานที่สุดยิ่งกว่าใครๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเช่นนี้ในระหว่างทำพิธีที่เขื่อนรุสสีชุมกรอม ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งตอบโต้โจมตีกลับพวกกลุ่มสีเขียวทั้งหลาย

ทางฝ่ายจีนที่เป็นผู้ออกทุนให้แก่โครงการพัฒนาต่างๆ ในกัมพูชานั้น เวลานี้มีบางรายเหมือนกันที่เริ่มเข้ามาติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กับเหล่านักเคลื่อนไหวในท้องถิ่น โดยที่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ต่างกังวลใจว่า กัมพูชาซึ่งยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวภายหลัง 2 ทศวรรษแห่งสงครามกลางเมืองและระบอบปกครองที่มุ่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง จะต้องจ่ายในราคาแพงลิ่วขนาดไหน จากการที่เจีนกำลังขยายอิทธิพลบารมีของตนในปัจจุบัน

“ผมบอกกับคณะผู้แทนชาวจีนคณะหนึ่งเมื่อตอนประชุมหารือกันเดือนที่แล้วว่า โครงการต่างๆ ที่ทางจีนเป็นผู้ดำเนินการนั้นแทบไม่มีการศึกษาประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมกันเลย” เมียส นี (Meas Nee) นักวิจัยชาวกัมพูชาที่ทำงานวิจัยด้านการพัฒนาสังคม บอกกับสำนักข่าวไอพีเอส ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “และแม้กระทั่งเมื่อมีการทำ EIA มันก็จะดูดีอยู่แค่บนกระดาษเท่านั้น มันมีข้อผิดพลาดมากมายเนื่องจากไม่เคยมีการทำกันอย่างถูกต้องเหมาะสม”

“ท่านนายกฯ (ฮุนเซน) ยกย่องสรรเสริญความสนับสนุนของฝ่ายจีนเรื่อยมา และรัฐบาลก็นิยมชมชอบที่จะได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจีนมากกว่า เนื่องจากมันไม่ได้มีการตั้งเงื่อนไขข้อผูกมัดอะไร ไม่เหมือนกับความช่วยเหลือที่มาจากพวกผู้บริจาคชาติตะวันตก” นี กล่าวต่อ

ประเทศจีนเป็นผู้ที่เข้ามาร่วมส่วนช่วยเหลือการพัฒนาของกัมพูชาล่าช้ากว่าประเทศฝ่ายตะวันตกมาก และอันที่จริง ความสามารถของฮุนเซนในการอาศัยความสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากแดนมังกรที่ทะลักเข้ามาในระยะหลังๆ นี้ เพื่อทำการต่อรองพลิกแพลงกับพวกหุ้นส่วนการพัฒนาหน้าเดิมๆ จากโลกตะวันตก ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า วิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของสองฝ่ายนี้มีความแตกต่างกันอย่างชนิดตรงกันข้ามกันเลย

ก่อนหน้าปี 2006 อันเป็นเวลาที่จีนก้าวเข้ามาให้ความช่วยเหลือกัมพูชา วาระการช่วยเหลือและการพัฒนาในกัมพูชาถูกครอบงำบงการโดยพวกชาติตะวันตกซึ่งต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) ที่มุ่งส่งเสริมตลาดเสรี และมุ่งให้เกิดความนิยมฝักใฝ่โลกตะวันตก ชาติตะวันตกหล่านี้เข้ามาในประเทศที่เสียหายย่อยยับจากสงครามแห่งนี้ตั้งแต่ตอนที่มีการทำข้อตกลงสันติภาพนานาชาติปี 1991 เพื่ช่วยเหลือการฟื้นฟูบูรณะกัมพูชา

ในช่วงกลางปี 2010 พวกผู้บริจาคจากโลกตะวันตกได้ให้คำมั่นสัญญาแก่กัมพูชาว่าจะให้ความช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่า 1,100 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมาจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ในระดับ 950 ล้านดอลลาร์

การแสดงความใจกว้างเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ยังคงบังเกิดขึ้นทั้งๆ ที่รัฐบาลกัมพูชายังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานในด้านต่างๆ ที่พวกรัฐบาลชาติตะวันตกกำลังพยายามผลักดันวางกรอบ ไม่ว่าจะเป็นด้าน “ธรรมาภิบาล”, การมีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้นกว่าเดิม, การลดการทุจริตคอร์รัปชั่น, ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ด้วยความแข็งขันยิ่งขึ้น

เหตุผลสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ก็คือจีน ทั้งนี้แดนมังกรได้ทำการลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้นมาก ดังเห็นได้ว่าการลงทุนของจีนอยู่ในระดับเพียงแค่ 45 ล้านดอลลาร์ในปี 2003 แต่ในเดือนธันวาคม 2009 จีนได้ลงนามข้อตกลงด้านการลงทุนในกัมพูชารวม 14 ฉบับซึ่งมีมูลค่ารวมกันถึง 850 ล้านดอลลาร์ ไม่เพียงเท่านั้น แดนมังกรยังกำลังท้าทายฐานะการเป็นผู้ผูกขาดให้ความช่วยเหลือกัมพูชาของฝ่ายตะวันตก โดยที่จีนใช้วิธี “ติดต่อทำความตกลงโดยตรงกับพวกผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองเท่านั้น” ทั้งนี้เป็นความเห็นของ ชาลมาลี กุตตัล (Shalmali Guttal) นักวิจัยอาวุโสขององค์การ โฟกัส ออน เดอะ โกลบอล เซาท์ (Focus on the Global South) หน่วยงานคลังสมองทางด้านการพัฒนา ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ

จีนกำลังได้ฝ่ายได้เปรียบเหนือโลกตะวันตก จากการใช้วิธี “ไม่มีการตั้งเงื่อนไขข้อผูกมัดเชิงนโยบาย” กุตตัลกล่าว พร้อมกับชี้ด้วยว่าจีนยังไม่ได้เดินตามเส้นทางของพวกผู้บริจาคฝ่ายตะวันตก ซึ่งมุ่งผลักดันให้องค์กรเอ็นจีโอของกัมพูชาเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบติดตามกระบวนการให้ความช่วยเหลือ

สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส
กำลังโหลดความคิดเห็น