xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’หันไปหา‘ทะเล’เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน‘น้ำ’

เผยแพร่:   โดย: มิตช์ ม็อกซ์ลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Thirsty China turns to the sea
By Mitch Moxley
03/01/2011

นครใหญ่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศจีนกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างเรื้อรัง ขณะที่ในเขตชนบท เกษตรกรแดนมังกรก็ต้องทุ่มเทลงแรงมากขึ้นในการทำมาหาเลี้ยงชีพจากผืนดินที่อยู่ในสภาพแห้งแล้ง ตามพื้นที่แถบชายฝั่งทะล การทำน้ำจืดจากน้ำทะเลซึ่งมีการดำเนินการกันในขนาดใหญ่โตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กำลังเป็นความหวังของบางเขตบางบริเวณว่าปัญหาจะบรรเทาเบาบางลงได้ในอนาคต ส่วนตามพื้นที่ตอนใน การปฏิวัติในเทคนิคการทำการเกษตร อาจจะเป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการก้าวเดินไปข้างหน้า

ปักกิ่ง - ขณะที่ประเทศจีนกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้อย่างใหญ่โตมโหฬารอยู่นี้ พวกนักวิจัยในสถาบันต่างๆ ทั่วทั้งประเทศก็กำลังทำงานศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านการประหยัดน้ำ และในด้านการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล (หรือที่เรียกกันว่า กระบวนการแยกเกลือแร่ออกจากน้ำ desalination) ซึ่งพวกเขาวาดหวังว่าจะสามารถบรรเทาวิกฤตการณ์นี้ในช่วงระยะต่อไปข้างหน้า

ถึงแม้มีการทุ่มเทใช้จ่ายเงินทองนับหมื่นล้านแสนล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ, ขุดอ่างเก็บน้ำ, และเจาะบ่อน้ำต่างๆ ให้ลึกยิ่งขึ้น แต่เกษตรกรในภาคเหนือของจีนก็ยังคงกำลังเพาะปลูกบนที่ดินซึ่งแห้งผาก ขณะที่ตามเมืองใหญ่หลายร้อยแห่งทั้วทั้งแดนมังกรก็ต้องเผชิญกับสภาพขาดแคลนน้ำ ตลอดจนน้ำที่มีอยู่ก็มีคุณภาพเลวร้ายลงทุกที

ปริมาณการขาดแคลนน้ำของปักกิ่งกำลังจะขึ้นสู่ระดับ 200 ถึง 300 ล้านลูกบาศก์เมตรในเร็วๆ นี้แล้ว ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อมวลชนภาครัฐของจีน ขณะที่นครหลวงแห่งนี้กำลังเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อให้ โครงการผันน้ำจากใต้ขึ้นเหนือ (South-North Water Transfer Project) เสร็จสมบูรณ์ โครงการนี้ใช้เงินงบประมาณ 62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะต้องมีการอพยพโยกย้ายผู้คนออกจากที่อยู่เดิมราว 330,000 คน

ธนาคารโลกได้ออกมาเตือนว่า วิกฤตขาดแคลนน้ำของแดนมังกรอาจจุดชนวนให้เกิดความไม่สงบขึ้นมา โดยทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน และระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบท ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเรื่องการใช้น้ำอย่างจริงจังแล้ว ในช่วงทศวรรษหน้าก็จะต้องมีชาวจีนหลายสิบล้านคนกลายเป็น “ผู้ลี้ภัยเนื่องจากสาเหตุทางสิ่งแวดล้อม” (environmental refugees) เวิลด์แบงก์ระบุเอาไว้เช่นนี้

ขณะเดียวกัน พวกประเทศที่อยู่ใต้น้ำลงมาจากชาติอภิมหาอำนาจซึ่งกำลังเติบใหญ่รายนี้ เป็นต้นว่า พม่า, ลาว, กัมพูชา, และเวียดนาม ก็กำลังร้องโอดว่า การที่จีนสร้างเขื่อนบนต้นน้ำของแม่น้ำโขงกันแบบไม่บันยะบันยัง กำลังกลายเป็นการปล้นเอาน้ำไปจากพลเมืองของพวกตน

สำหรับบางคนและบางท้องที่แล้ว คำตอบของปัญหาอยู่ที่เทคโนโลยีการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล ประเทศจีนได้เข้าเกี่ยวข้องในการวิจัยเทคโนโลยีด้านนี้ตั้งแต่ปี 1958 และในปี 1975 ก็เริ่มทำการวิจัยในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จากนั้นในปี 1986 จีนทำการก่อสร้างระบบการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลโดยวิธีรีเวิร์ส-ออสโมซิส (reverse-osmosis) จนเสร็จสมบูรณ์

มหานครเทียนจิน (เทียนสิน) ที่เป็นเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งประมาณ 150 กิโลเมตร กลายเป็นผู้นำของแดนมังกรในเรื่องเทคโนโลยีการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล ในทางเป็นจริงแล้ว นครแห่งนี้ได้ปฏิเสธไม่ขอรับน้ำที่ผันจากภาคใต้ โดยหันไปเน้นหนักใช้ความพยายามกับเทคโนโลยีการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล ตามรายงานของรัฐบาลเทศบาลมหานครเทียนจิน โครงการทำน้ำจืดจากน้ำทะเล ต้ากัง ซินฉวน (Dagang Xinquan Seawater Desalination Project) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ตัวเมืองแห่งนี้ เป็น “โรงงานทำน้ำจืดจากน้ำทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย”

“แท้ที่จริงแล้ว ทางเทศบาลแห่งนี้ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลมาตั้งแต่ปี 2000 และถือว่าเทคโนโลยีนี้แหละน่าที่จะเป็นแหล่งที่มาของน้ำซึ่งจะนำมาใช้สนองความต้องการของทางเทศบาล” นี่เป็นเนื้อความในรายงานฉบับหนึ่งที่จัดทำโดย “โพรบ อินเตอร์เนชั่นแนล” (Probe International) กลุ่มอิสระที่มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม

หวัง สือชาง (Wang Shichang) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการแยกเกลือแร่ออกจากน้ำและเนื้อเยื่อเมมเบรน (Desalination and Membrane Technology Center) แห่งมหาวิทยาลัยเทียนจิน (Tianjin University) ระบุว่า ในปัจจุบันบรรดานักวิจัยในจีนกำลังทำงานอยู่ในโครงการด้านการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลรวมแล้วมากกว่า 200 โครงการ โดยที่ได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Science and Technology) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (National Science Foundation of China)

ศูนย์ซึ่งหวังเป็นผู้อำนวยการแห่งนี้ เป็นผู้ริเริ่มนำเอาอุปกรณ์ระบบกลั่นน้ำแบบรวดเร็วหลายขั้นตอน (multi-stage flash หรือ MSF) มาใช้ โดยเป็นระบบที่จะกลั่นน้ำซึ่งเคลื่อนผ่านห้องต่างๆ หลายๆ ห้อง แต่ละห้องมีการควบคุมให้ความกดอากาศลดต่ำลงเรื่อยๆ ไอน้ำที่เกิดจากน้ำซึ่งไหลผ่านห้องเหล่านี้อย่างรวดเร็ว จะถูกทำให้กลั่นตัวเป็นหยดน้ำในแต่ละขั้นตอน และกลายมาเป็นน้ำสะอาดในที่สุด หวังระบุว่าเทคโนโลยีนี้ใช้ “น้ำดิบ” น้อยกว่าที่ต้องใช้ในอุปกรณ์ระบบการกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเลแบบอื่นๆ ถึง 25%

ความสามารถในการกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเลของแดนมังกร ทะยานขึ้นไปอยู่ในระดับเกือบ 200,000 ตันต่อวันแล้วในปี 2008 เทียบกับที่เคยทำได้เพียงแค่ 30,000 ตันในปี 2005 และตามแผนการการพัฒนาฉบับปัจจุบันของรัฐบาล คาดหมายเอาไว้ว่าตัวเลขนี้จะพุ่งไปอยู่ที่ 800,000 ถึง 1 ล้านตันต่อวันได้ภายในสิ้นปีนี้

หวังบอกว่าความสนับสนุนที่ได้รับอยู่ยังไม่ถือว่าเพียงพอ เขาชี้ว่าเมื่อพิจารณากันที่ช่วงห่างระหว่างศักยภาพทางด้านนวัตกรรมและการพัฒนา กับความสามารถในการทำการผลิตจากโรงงาน จีนยังคงตามหลังพวกประเทศอื่นๆ อีกไกลทีเดียว เขาระบุว่าจำเป็นที่จะต้องได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ตลอดจนสามารถที่จะหาเงินกู้จากธนาคารได้อย่างคล่องตัว จึงจะสามารถอุดช่วงห่างนี้ได้

ขณะที่หวังกำลังทำงานในด้านการสร้างน้ำใหม่ที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ขึ้นมา เถียน จุนชัง (Tian Juncang) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยหนิงเซี่ย (Ningxia University) ก็กำลังพยายามหาวิธีลดการสูญเสียน้ำในการทำการเกษตร

งานของเถียนรวมศูนย์อยู่ที่การใช้ผ้าพลาสติกคลุมดิน ผสมผสานกับการชลประทานแบบน้ำหยด (drip irrigation) เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืช, ทำให้ปุ๋ยสามารถแสดงประสิทธิภาพได้สูงสุด, และอนุรักษ์น้ำในการผลิตพืชผล เถียนระบุว่า ผ้าพลาสติกคลุมดิน และชลประทานแบบน้ำหยด สามารถที่จะลดปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในกระบวนการชลประทานได้สูงสุดถึง 50% ทีเดียว

ศาสตราจารย์ผู้นี้ชี้ว่า อุตสาหกรรมการเกษตรของจีนในปัจจุบันใช้น้ำประมาณ 70% ของทั่วทั้งประเทศ โดยที่จำนวนมากเลยถูกปล่อยทิ้งสูญไปเปล่าๆ ระบบชลประทานแบบน้ำหยดภายใต้ผ้าพลาสติกคลุมดิน สามารถที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ลดการใช้น้ำลงไปได้ 50%

“อุตสาหกรรมการเกษตรของจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สาหัสร้ายแรงยิ่ง” เถียนบอก แต่ถ้านำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ “ปริมาณน้ำที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว”

รัฐบาลแดนมังกรก็ได้มีการหันมาส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำ ในปี 2007 ทางการจีนได้ระบุเอาไว้ในแผนห้าปีฉบับที่ 11 ของตนโดยกำหนดให้มีการดำเนินการในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ, ให้มีการกำหนดเป้าหมายรายละเอียดต่างๆ, รวมทั้งให้เพิ่มอัตราการอนุรักษ์น้ำที่ใช้ทางการเกษตร จากระดับ 45% ซึ่งใช้อยู่ในช่วงระหว่างปี 2005-2010 ขยับขึ้นเป็นระดับ 50%

อย่างไรก็ตาม เถียนบอกว่า การอนุรักษ์น้ำต้องเป็นเรื่องที่ใช้ความพยายามดำเนินการกันทั้งระบบ ด้วยความสนับสนุนและความร่วมมือของอุตสาหกรรมและสังคมโดยองค์รวม นอกจากนั้น ความพยายามในการอนุรักษ์น้ำก็จำเป็นจะต้องได้เงินทุนจากรัฐเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมทั้งจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกฎหมายต่างๆ ตลอดจนต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ก้าวหน้าทันสมัยยิ่งขึ้น และมีการบริหารจัดการที่ดียิ่งขึ้น

“ความพยายามในการอนุรักษ์น้ำที่ใช้ในการเกษตร มีความเข้มแข็งขึ้นมากในระยะปีหลังๆ มานี้” เถียนกล่าว “ทว่ามันก็ยังคงไม่เพียงพอ”

สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส
กำลังโหลดความคิดเห็น