โฆษกมาร์คสวนกลับ “จตุพร” อย่าดึงสถาบันแปดเปื้อนการเมือง อ้างมือที่มองไม่เห็นจัดตั้ง รบ. หวังดิสเครดิตเบื้องสูง มั่นใจ “อภิสิทธิ์” พร้อมหวนนายกฯ สมัยที่สอง ขวาง นปช.เรียกร้องอียูเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งไทย แนะกกต.จับตาเสื้อแดงเคลื่อนไหว เข้าข่ายช่วยเหลือ พท.หาเสียงผิด กม.เลือกตั้งหรือไม่
วันนี้ (24 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่ม นปช.อ้างว่าจะมีมือที่มองไม่เห็นมาจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีตัวแทนจากพรรคอื่นเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคประชาธิปัตย์ประกาศตัวเป็นขั้วการเมืองอย่างชัดเจน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมจะเป็นนายกฯ และไม่มีสถานะจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เว้นแต่พรรคการเมืองที่ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จะได้จำนวน ส.ส.มากกว่า เรื่องดังกล่าวถึงจะเป็นจริงได้ โดยนายจตุพรพยายามอ้างมือที่มองไม่เห็นนั้น เป็นการดิสเครดิต เพื่อทำลายกลุ่มบุคคลระดับสูงของประเทศ โดยมีความพยายามพูดมาตั้งแต่สมัยยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว
นายเทพไทกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช.ว่า ทั้งสองกลุ่มทำงานกันเป็นคู่ขนาน โดยดูจากคำพูดของนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานกลุ่ม นปช. ที่ประกาศว่าแม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง กลุ่มเสื้อแดงก็จะชุมนุมเดือนละ 2 ครั้งเช่นเดิม ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย และหากเกิดการกระทำผิดขึ้นมาพรรคเพื่อไทยก็จะอ้างได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มอิสระอย่างกลุ่มคนเสื้อแดง ดังนั้น ตนจึงอยากเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.จับตาความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงบางคนก็มาลงสมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย
โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่กลุ่ม นปช.เรียกร้องให้อียูเข้ามาสังเกตการเลือกตั้งว่า ตนยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีองค์กรจากต่างประเทศเข้ามาสังเกตการเลือกตั้งของประเทศไทย และที่ผ่านมาในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่เคยให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะกรณีการฆ่าตัดตอน ที่มีวลีเด็ดว่ายูเอ็นไม่ใช่พ่อ อยากจะถามว่าในวันนี้ทำไมกลับเรียกร้องให้อียูเข้ามาสังเกตการณ์ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การตรวจสอบ แต่ต้องเป็นองค์กรในประเทศ เพราะประเทศไทยมีอธิปไตยเป็นของตัวเอง
นายเทพไทกล่าวกรณีที่มีพรรคการเมืองหนึ่ง (พรรคการเมืองใหม่) ที่ประกาศจะไม่ลงเลือกตั้ง พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนโนโหวตนั้น ถือเป็นสิทธที่สามารถทำได้ถ้าประชาชนเห็นด้วย แต่หากมีการเรียกร้องให้มีการทำรัฐประหาร สังคมจะต้องประณามเพราะไม่เรื่องของระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะหากยังมีการสนับสนุนแนวทางดังกล่าง อาจจะมีความผิดตามกฎหมายอาญาหรือรัฐธรรมนูญได้
เมื่อถามว่า การเรียกร้องของพรรคการเมืองหนึ่งนำมาซึ่งการยุบพรรคได้หรือไม่ นายเทพไทกล่าวว่า หากทำในนามของพรรคก็สามารถยุบพรรคการเมืองได้ แต่เท่าที่ดูยังเป็นการกระทำส่วนตัว