xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีทางหรอกที่จะมีการบังคับกำหนด‘เขตห้ามบิน’ขึ้นในลิเบีย

เผยแพร่:   โดย: เปเป เอสโคบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Why no-fly won’t fly
By Pepe Escobar
10/03/2011

กลุ่มประเทศที่รู้จักกันในชื่อว่ากลุ่ม บริกส์ (BRICS) แสดงท่าทีว่าไม่เอาด้วยกับแผนการที่จะบังคับกำหนด “เขตห้ามบิน” ขึ้นในลิเบีย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะต้องเป็นที่รับรู้รับทราบของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้มีความชำนาญในการเดิมหมากเดินเกมทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์อยู่แล้ว กระทั่งว่าถ้ามีการอนุมัติแผนการนี้ขึ้นมาจริงๆ มันก็จะไร้ประโยชน์ และเขาทราบดีว่าพวกที่หนุนหลังแนวความคิดนี้ อย่างไรเสียก็ไม่สามารถรุกรานลิเบียได้ เนื่องจากหากทำเช่นนั้นมันก็จะกลายเป็นบทใหม่อีกบทหนึ่งของมหากาพย์แห่งการที่คนผิวขาวทำสงครามไม้กางเขนเพื่อทำลายศาสนาอิสลาม (และยึดเอาน้ำมันไป) ภายหลังจากอัฟนิสถานและอิรัก

การที่คุณสามารถครองอำนาจมาได้ยาวนานถึง 41 ปี คุณย่อมต้องเรียนรู้กลเม็ดแยบคายทางด้านภูมิรัฐศาสตร์มาบ้างสักอย่างสองอย่าง ยิ่งสำหรับสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์อย่าง “จอมราชันย์แห่งแอฟริกา” มูอัมมาร์ กัดดาฟี ด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าเขาจะได้ทำการสำรวจทั่วทั้งกระดานอย่างระแวดระวังมาแล้ว และบรรลุถึงข้อสรุปอันหนักแน่นมั่นคงที่ว่า การที่จะให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ลงมติกำหนดบังคับใช้ “เขตห้ามบิน” (no-fly zone ในกรณีนี้คือการบังคับไม่ให้ทางการลิเบียใช้กำลังทางอากาศโจมตีฝ่ายกบฎต่อต้านกัดดาฟีนั่นเอง โดยหากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษถูกเล่นงานโจมตี -ผู้แปล) ขึ้นในลิเบียนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ (ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึงทางเลือกที่ลำบากกว่านั้นอีก นั่นคือการรวมตัวกันยกกำลังเข้ารุกรานลิเบีย)

อย่างที่ระบุเอาไว้ในบทความของเอเชียไทมส์อนนไลน์ชิ้นหนึ่ง (Arab revolt reworks the world order March 10) พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ๆ ทั้ง 5 ที่เรียกขานกันว่า บริกส์ (BRICS ซึ่งก็คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) มี 3 รายแล้ว ได้แก่ บราซิล, อินเดีย, และแอฟริกาใต้ ที่ปล่อยตอร์ปิโดจมทางเลือก “เขตห้ามบิน” นี้ไปเรียบร้อยแล้ว ชาติเหล่านี้บังเอิญต่างก็กำลังเป็นสมาชิกประเภทหมุนเวียนของคณะมนตรีความมั่นคงอยู่ในเวลานี้เสียด้วย สำหรับอีก 2 ชาติในกลุ่ม บริกส์ อันได้แก่ รัสเซีย และ จีนนั้น มีฐานะเป็นสมาชิกประเภทถาวรด้วยซ้ำ ในปัจจุบัน กลุ่มบริกส์มีการติดต่อร่วมมือประสานงานกันเป็นครั้งคราวในการลงมติตัดสินใจเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ หากว่ากันในระดับกระทรวงการต่างประเทศ รัสเซียได้แถลงบอกปัดเรื่องเขตห้ามบินไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว และจีนก็กระทำอย่าเงดียวกันในสัปดาห์นี้ แถมยังต้องบวก เลบานอน ซึ่งขณะนี้ก็เป็นสมาชิกประเภทหมุนเวียนอีกรายหนึ่งในคณะมนตรีความมั่นคง นั่นหมายความว่ามีเสียง “คัดค้าน” แล้วรวม 6 เสียง และก็ไม่ต้องสงสัยเลย กัดดาฟีซึ่งกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว

แม้กระทั่งคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ยังไม่ได้ออกมาแสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยว่าหนุนหลังข้อเสนอเรื่องเขตห้ามบิน รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์ ของสหรัฐฯ (ซึ่งสามารถเรียกใช้เรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ และเครื่องบินรบ 175 ลำของกองทัพเรือที่ 6 ของสหรัฐฯที่ตั้งฐานอยู่ในเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี กลับออกมากล่าวเตือนอย่างเปิดเผยว่า การบังคับให้เกิดเขตห้ามบินขึ้นมานั้นเป็นเรื่องสาหัสร้ายแรง และมันหมายถึงการทำสงคราม คำพูดเช่นนี้ย่อมส่อนัยว่ามีความเป็นไปได้ทุกประการที่มันจะบานปลาย รวมทั้งอาจจะเกิดผลต่อเนื่องต่างๆ ที่มิได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น (ลองคิดเปรียบเทียบกับกรณีบอสเนียก็ได้)

พวกที่หนุนหลังเขตห้ามบินอย่างจริงๆ จังๆ กลับปรากฏว่ามีแต่พวกที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือไม่ค่อยน่าเอาเรื่องเอาราวด้วยเท่าไรนัก เป็นต้นว่า อดีตมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมในทวีปแอฟริกาอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ, พวกอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) ในสหรัฐฯ, และคณะมนตรีความร่วมมือระหว่างรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC) ที่มีสมาชิกรวม 6 ราย โดยในจำนวนนี้มีทั้ง บาห์เรน (ซึ่งได้ทำการปราบปรามพวกผู้ประท้วงในประเทศของตนด้วยความรุนแรงถึงเสียชีวิตไปแล้ว), ซาอุดีอาระเบีย (ผู้ซึ่งอาจจกระทำอย่างเดียวกันใน “วันแห่งความโกรธแค้น” วันศุกร์ที่ 11 มีนาคมนี้), โอมาน (ซึ่งก็อาจจะทำอย่างเดียวกันเช่นกันถ้าหากการประท้วงยังยืดเยื้อต่อไป), และ กาตาร์ (ที่เป็นเจ้าของเครือข่ายข่าวโทรทัศน์อาหรับ อัลญะซีเราะห์ ซึ่งติดตามรายงานข่าวน้อยมาก เมื่อเป็นเหตุการณ์การประท้วงต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในพวกรัฐสมาชิก จีซีซี ด้วยกัน)

เอคเมเลดดิน อิห์ซาโนกลู (Ekmeleddin Ihsanoglu) เลขาธิการขององค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference หรือ OIC) ซึ่งมีสมาชิก 57 ราย เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาแถลงหนุนเขตห้ามบิน (ทว่าตัวองค์การโอไอซีเองจนถึงเวลานี้ยังไม่ได้มีการประกาศจุดยืนของตนอย่างเป็นทางการ) เช่นเดียวกับสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ซึ่งเป็นองค์การที่ไร้เขี้ยวเล็บ โดยที่ทาง จีซีซีได้เรียกร้องขอให้สันนิบาตอาหรับเปิดประชุมเพื่ออภิปรายหารือกันในประเด็นนี้ ทางด้านสหภาพยุโรป (อียู) ก็เหมือนกัน น่าที่จะมีการกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกภาพกันของกลุ่มออกมาได้ภายในสิ้นสัปดาห์นี้ แต่อย่าเพิ่งไปหลงใหลไว้วางใจอะไรให้มากมายเลย

แม้กระทั่งในภาคตะวันออกลิเบียที่ได้รับการปลดปล่อยแล้วก็มีความเคลื่อนไหวที่เป็นปริศนา ผู้นำบางคนของรัฐบาลชั่วคราวในเมืองเบงกาซี ต้องการให้มีเขตห้ามบิน ทว่าบางคนก็ไม่ต้องการ (เช่นเดียวกับพวกกบฎระดับมวลชนจำนวนมาก) นอกจากนั้นก็ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่าคณะรัฐบาลโอบามากำลังใช้ความพยายามที่จะสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ของพวกที่กำลังดำเนินการสู้รบ (และกำลังสละชีวิต) อยู่ในเวลานี้ แม้กระทั่งในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการหยั่งเสียงที่เป็นภาษาอังกฤษ หรือป็นภาษาอาหรับก็ตามที

**กัดดาฟีมุ่งสื่อสารตรงไปยังผู้ต่อต้านเขา**

ขณะเดียวกัน กัดดาฟีก็กำลังนำเอาไพ่โจ๊กเกอร์อัลกออิดะห์ มามาเล่นอย่างชำนิชำนาญ --เป็นต้นว่า พยายามพูดย้ำว่า ถ้าหากไม่มีเขาแล้ว ฝ่ายตะวันตกก็จะต้องเผชิญกับการปรากฏขึ้นมาของรัฐเจ้าครองแคว้นอิสลาม ซึ่งจะตั้งสายพานการผลิตเพาะสร้างพวกนักรบญิฮัดจำนวนนับพันนับหมื่นคนออกมาตลอดทั่วทั้งภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนทีเดียว สำหรับพวกที่กำลังโน้มเอียงเชื่อถือและกำลังซื้อสำนวนโวหารเช่นนี้ของกัดดาฟี ก็ไม่ใช่ใครอื่นเลยนอกจากพวกฝ่ายขวาสุดขั้ว และพวกแอบจิตคลั่งไคล้ลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ในอียูตลอดจนในอิสราเอล ตั้งแต่พวกเกลียดกลัวมุสลิมในเยอรมนีและสแกนดิเนเวีย ไปจนถึงขวัญใจทางการเมืองคนใหม่ชาวฝรั่งเศสผู้มีนามว่า มารีน เลอ เพน (Marine Le Pen) ซึ่งเป็นบุตรีผู้เอาจริงเอาจังของ ฌอง มารี เลอ เพน (Jean Marie Le Pen) ผู้ก่อตั้ง “แนวร่วมแห่งชาติ” (National Front) พรรคการเมืองขวาจัดของฝรั่งเศส พวกเขาเหล่านี้จะต้องพากันยกย่องชื่นชมต่อ พ.อ.กัดดาฟี ผู้แสนดี อย่างเงียบๆ ที่แสดงไหวพริบในเชิงภูมิยุทธศาสตร์อันเฉียบแหลมาเช่นนี้ออกมา

ไม่เพียงแค่ออกมาพูดเท่านั้น กัดดฟียังลงมือเคลื่อนไหวอย่างมีเล่ห์ร้ายล้ำลึก ด้วยการส่งผู้แทนไปเข้าพบหารือกับสภากองทัพสูงสุด (Supreme Army Council) ซึ่งกำลังเป็นผู้กุมอำนาจรัฐของอียิปต์ ข่าวสารที่ฝากมากับผู้แทนคณะนี้ชัดเจนมาก นั่นคือ ชนเผ่า อะวะลัด อาลี (Awlad Ali) ซึ่งควบคุมเมืองซัลลูม (Salloum) เมืองของอียิปต์ที่อยู่ริมชายแดนติดกับลิเบียนั้น กำลังทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้าวของทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่อาหารจนถึงอาวุธ ไปให้แก่พวกกบฎในดินแดนภาคตะวันออกลิเบียที่ได้รับการปลดแอกแล้ว กัดดาฟีต้องการให้ยุติเรื่องนี้ กองทัพ-ชาวอียิปต์ที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงจะยอมกระทำตามข้อเรียกร้องนี้หรือไม่ เรื่องนี้ยังคงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบอันชัดเจน ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่า พวกบิ๊กเบิ้มชาวอียิปต์ที่เคยสนองตอบนโยบาย “สงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย” ของสหรัฐฯจนเหม็นโฉ่ เป็นต้นว่า โอมาร์ สุไลมาน (Omar Suleiman) ผู้สมควรได้รับฉายาว่า “จอมโหด” (Sheikh al-Torture) ซึ่งเวลานี้หายหน้าหายตาไปนั้น ปัจจุบันพวกเขามีอำนาจอิทธิพลและมีบทบาทหน้าที่มากน้อยแค่ไหน

ใครก็ตามที่กำลังเฝ้าติดตามชมสถานีข่าวโทรทัศน์ อัลญะซีเราะห์ ย่อมสามารถบอกได้ว่า พวกกบฎในลิเบียนั้น เป็นพวกคนหนุ่มไม่มีงานทำและขี้หงุดหงิด พวกเขามีจิตใจอันพองโตทว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจอันลึกซึ้งในเรื่องยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี เหมือนดังที่หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (The Guardian) ของอังกฤษพูดเอาไว้อย่างโดนใจว่า นี่คือนักรบแห่ง “สงครามไดรฟ์อิน” (drive-in war) พวกเขาเหล่านี้บางคนมาจากเผ่าซินตัน (Zintan)

ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ในการกล่าวปราศรัยถ่ายทอดทางทีวีเมื่อตอนกลางดึกของวันพุธ(9) ทีผ่านมา กัดดาฟีจึงมีช่วงตอนที่มุ่งพูดกับพวกคนหนุ่มๆ ของเผ่าซินตัน อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนในถ้อยคำโวหารของกัดดาฟีก็คือ แถลงการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่ออกมาจากพื้นที่ที่ได้รับการปลดแอกแล้วในลิเบียตะวันออกนั้น ล้วนแต่ไม่ได้มีการใช้คำใช้สำนวนโวหารตามแบบฉบับของอัลกออิดะห์เอาเลย ทว่ากลับไปพูดเน้นอย่างมากมายในเรื่องเกี่ยวกับประเทศชาติที่สามัคคีเป็นเอกภาพกัน และการที่ประชาชนมุ่งมาดปรารถนาประชาธิปไตย

พวกที่เสนอให้กำหนดเขตห้ามบินขึ้นมานั้น มีเหตุผลข้อโต้แย้งสำคัญอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ ถ้าหาก “เรา” (หมายถึงโลกตะวันตกอันแสนจะมีอารยธรรม) ไม่เข้าแทรกแซงแล้ว ลิเบียก็จะตกลงไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายแบบที่กำลังเกิดขึ้นในโซมาเลีย ดังนั้น เราจึงควรหันมาติดตามดูว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในโซมาเลียเวลานี้

โซมาเลียเป็นดินแดนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางยุทธศาสตร์ โดยประเทศนี้กับเยเมนตั้งอยู่ตรงกันข้ามคนละฟากกันของอ่าวเอเดนพอดิบพอดี และอยู่ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของพวกประเทศจีซีซี เวลานี้ทุกๆ ฝ่ายและเพื่อนบ้านทั้งหลายต่างเข้าไปแทรกแซงในโซมาเลียกันทั้งสิ้น ตั้งแต่อัลกออิดะห์ไปจนถึงเอธิโอเปีย ตั้งแต่ซูดานไปจนถึงพวก “องค์กรการกุศล” ที่มีฐานอยู่ในกลุ่มประเทศจีซีซี

องค์การสหภาพแอฟริกา (African Union หรือ AU) กำลังรู้สึกอกสั่นขวัญแขวนกันจริงๆว่า ลิเบีย และอียิปต์ จะไม่ให้เงินทุนสนับสนุนการทำงานและการปฏิบัติการต่างๆ ของทางเอยูอีกแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง กองทหารที่เรียกชื่อกันว่าเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพของเอยู (เป็นทหารที่มาจากประเทศบุรุนดี และ ยูกันดา) และมีจำนวน 8,000 คน จึงได้เปิดการโจมตีเข้าใส่พวก อัล ชาบาบ (al-Shabaab) องค์การแนวร่วมในโซมาเลียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประดากลุ่มนักรบญิฮัดในเครือของอุซามะห์ บิน ลาดิน โดยที่เวลานี้กลุ่มนี้สามารถควบคุมดินแดนจำนวนมากในภาคกลางและภาคใต้ของโซมาเลียเอาไว้ได้ รวมทั้งพื้นที่สำคัญๆ ของเมืองหลวงโมกาดิชู

ไม่มีใครทราบหรอกว่า การที่กองกำลังรักษาสันติภาพของเอยู ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยได้รับการอนุมัติจากยูเอ็นด้วยนั้น เมื่อมาทำการโจมตีกองกำลังอาวุธของพวกอิสลามิสต์เช่นนี้แล้ว ผลจะลงเอยกันอย่างไร แต่แน่นอนที่ว่ากัดดาฟีจะหยิบฉวยเอาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มาเป็นหมากต่อรองกับทางเอยู ในลักษณะที่ว่า ถ้าพวกคุณยังต้องการเงินทองและความร่วมมือจากฉันอยู่ละก้อ อย่าเชียวอย่าแม้กระทั่งคิดในเรื่องที่จะให้การสนับสนุนการจัดตั้งเขตห้ามบินขึ้นมา

นี่แหละคือสิ่งที่ “จอมราชันย์แห่งแอฟริกา” กำลังอ่านได้ความจากสิ่งที่เขียนเอาไว้บนผนังอาคารยูเอ็น อันจริงแล้ว กระทั่งว่าถ้าหากญัตติเรื่องจัดตั้งเขตห้ามบินได้รับการอนุมัติออกมา มันก็จะไร้ประโยชน์ไม่สามารถทัดทานฝูงเฮลิคอปเตอร์กันชิป, ขบวนรถถัง, และกำลังยิงที่เหนือกว่ามากของเขาได้อยู่ดี เขายังทราบดีว่ากองทหารที่จะเป็นผู้บังคับให้เกิดเขตห้ามบินขึ้นมานั้น จะไม่สามารถทำการรุกรานลิเบียได้ เพราะนั่นจะถูกมองว่าเป็นบทใหม่อีกบทหนึ่งของมหากาพย์แห่งการที่คนผิวขาวทำสงครามไม้กางเขนเพื่อทำลายศาสนาอิสลาม (และยึดเอาน้ำมันไป) ภายหลังจากอัฟนิสถานและอิรัก

ถ้าหากซาอุดีอาระเบียตัดสินใจติดอาวุธให้พวกกบฎในลิเบีย (เหมือนดังที่เคยติดอาวุธให้กับ “นักรบเพื่อเสรีภาพ” เพื่อสู้รบกับกองทหารสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถานเมื่อช่วงทศวรรษ 1980) อาวุธเหล่านั้นก็น่าที่จะถูกยึดไปโดยกลุ่มคนประเภทอัลกออิดะห์ที่แอบแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มกบฎ และกัดดาฟีก็จะเป็นผู้ชนะในสงครามด้านการประชาสัมพันธ์ สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (US Central Intelligence Agency หรือ CIA) ย่อมสามารถที่จะติดสินบนพวกนายพลสักคนของกัดดาฟีได้เสมอ (หรือกระทั่งติดสินบนบุตรชายคนใดคนหนึ่งของกัดดาฟี เพราะถึงอย่างไร มูตัสซิม (Mutassim) บุตรชายที่ 4 ของเขา ก็ได้เคยพยายามที่จะโค่นล้มเขามาแล้ว) เพื่อให้กระทำการ “ปล่อยกระสุนฝังท้ายทอย” ของกัดดาฟี มีแต่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะทรงทราบว่า หลังจากนั้นตัวประหลาดพิลึกพิลั่นประเภทไหนกันที่จะเป็นผู้ฉวยคว้าอำนาจไปได้

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เวลานี้ท่านจอมราชันย์ดูมีท่าทางผ่อนคลายภายใต้เสื้อคลุมยาวสีน้ำตาลของเขา สิ่งที่เขายังรู้สึกเป็นกังวลอยู่ ก็เป็นเพียงคำถามที่ว่า เมื่อไรจึงจะถึงเวลาแห่งการกำหนดนัดหมายและลงแข่งขันในเกม (ซึ่งเลือดจะต้องไหลนองไปทั่ว)

เปเป เอสโคบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War” (สำนักพิมพ์ Nimble Books, ปี 2007) และเรื่อง “Red Zone Blues: a snapshot of Baghdad during the surge” หนังสือเล่มใหม่ของเขาคือเรื่อง “Obama does Globalistan” (สำนักพิมพ์ Nimble Books, ปี 2009) ทั้งนี้สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ที่ pepeasia@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น