xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯถูกกดดันให้ “ส่งอาวุธ” ช่วยฝ่ายกบฏลิเบียต่อกร “กัดดาฟี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จอห์น เคอร์รี ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภาสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯควรส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธให้แก่กลุ่มกบฎในลิเบียพร้อมประกาศเขตห้ามบิน แต่ไม่ควรส่งทหารเข้าไปแทรกแซงโดยตรง
เอเอฟพี - รัฐบาลสหรัฐฯถูกครหาว่าพลาดโอกาสหลายต่อหลายครั้งในการขับไล่ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ลงจากอำนาจ และถูกกดดันให้ส่งอาวุธเข้าช่วยเหลือกลุ่มกบฏลิเบีย ซึ่งกำลังต่อสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มตั้งตัวติด และมีกำลังใจฮึกเหิมขึ้นเรื่อยๆ

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ระบุว่า กำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการส่งทหารเข้าแทรกแซงโดยต้องเคารพอธิปไตยของลิเบีย ขณะที่ กัดดาฟี ส่งเครื่องบินเข้าไปปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพื่อบดขยี้กลุ่มกบฎ จนคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

แม้สหรัฐฯจะยังไม่กล้าตัดสินใจประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าลิเบีย แต่สมาชิกรัฐสภาและอดีตเจ้าหน้าที่บางคนเห็นตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะส่งอาวุธเข้าไปช่วยเหลือฝ่ายกบฎ

“ผมคิดว่าภายในสัปดาห์ต่อๆ ไป น่าจะมีการส่งอาวุธให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลิเบีย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” จอห์น เคอร์รี ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภาสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครต ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เฟส เดอะ เนชั่น” ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส

บิล ริชาร์ดสัน อดีตผู้ว่าการรัฐเม็กซิโกและทูตสหรัฐฯประจำองค์การสหประชาชาติ ก็ระบุตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ “จะส่งอาวุธช่วยเหลือฝ่ายกบฏอย่างลับๆ” และประกาศเขตห้ามบินในลิเบีย

สตีเฟน แฮดลีย์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็กล่าวว่า วอชิงตันควรพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนอาวุธให้แก่ฝ่ายต่อต้าน กัดดาฟี

“แน่นอนว่า หากเราสามารถส่งอาวุธเข้าไปถึงมือฝ่ายกบฏ และหากเราส่งระบบป้องกันอากาศยาน เพื่อให้พวกเขาประกาศเขตห้ามบินในดินแดนของพวกเขาเอง ก็จะช่วยได้มากทีเดียว” แฮดลีย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

อย่างไรก็ตาม เคอร์รี เตือนว่า สหรัฐฯควรประกาศเขตห้ามบินร่วมกับชาติพันธมิตร และหากส่งทหารเข้าไปโดยตรงก็จะ “เสี่ยง” มากกว่า

“สิ่งสุดท้ายที่เราจะนึกถึงคือการส่งทหารเข้าแทรกแซง แต่ผมคิดว่าเขตห้ามบินยังไม่จัดว่าเป็นการแทรกแซง”

“เราไม่ต้องการส่งทหารเข้าไปยังแผ่นดินลิเบีย พวกเขาก็ไม่ต้องการเช่นนั้น” เคอร์รี ระบุ
โรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ด้าน โรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เตือนว่า การประกาศเขตห้ามบินจำเป็นต้องส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้าไปทำลายระบบป้องกันทางอากาศของลิเบีย ซึ่งอาจเป็นการก่อสงครามครั้งที่ 3 หลังจากสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน

ทว่า เคอร์รี และ จอห์น แม็กคิน ซึ่งเป็นอดีตนายทหารคนสำคัญในวุฒิสภาสหรัฐฯ กลับมองว่า ยังพอมีหนทางลดความเสี่ยงและความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้น

“นั่นไม่ใช่วิธีเดียวที่สามารถทำได้ เราอาจเพียงทำให้สนามบินหรือรันเวย์เสียหาย จนไม่สามารถใช้การได้ชั่วคราวก็พอ” เคอร์รี ให้ความเห็น

นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะแสดงแสนยานุภาพของสหรัฐฯต่อกรุงตริโปลี ตัวอย่างเช่น การส่งเครื่องบินทหารเข้าไปขนย้ายผู้อพยพชาวอียิปต์ออกจากตูนิเซีย และการที่เรือรบสหรัฐฯ 2 ลำพร้อมนาวิกโยธินแล่นเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อไม่นานนี้

อดีตรัฐมนตรีลิเบียคนหนึ่ง ยังกล่าวตำหนิสหรัฐฯที่พลาดโอกาสในการโค่นล้มระบอบ กัดดาฟี ที่ยืนยงมากว่า 4 ทศวรรษ

อาลี เออร์ริชี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงผู้อพยพลิเบีย ซึ่งลาออกจากตำแหน่งหลังการประท้วงล่วงเข้าสัปดาห์ที่ 3 ระบุว่า “เราขอความช่วยเหลือจากสรัฐฯในขณะที่กัดดาฟีกำลังร่อแร่ แต่พวกเขาก็ชักช้าอยู่ ผมไม่ทราบว่าเพราะอะไร”

เออร์ริชี กล่าวด้วยว่า กัดดาฟีไม่มีทางยอมเจรจาเรื่องการสละอำนาจอย่างแน่นอน

“กัดดาฟี แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ชาวลิเบียเลือกได้เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ ถูกปกครอง หรือถูกฆ่า”

ด้าน จอห์น แม็กเคน อดีตคู่แข่งของ โอบามา ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2008 แสดงความเห็นว่า การประกาศเขตห้ามบินจะช่วยส่งสัญญาณถึง กัดดาฟี ว่า สหรัฐฯจริงจังต่อข้อเรียกร้องให้เขาลงจากอำนาจ

“มันจะเป็นกำลังใจให้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งไม่มีอาวุธพอจะต่อต้านการโจมตีทางอากาศได้” แม็กเคน ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์เอบีซี
กำลังโหลดความคิดเห็น