xs
xsm
sm
md
lg

ประธานาธิบดี‘ไต้หวัน’เร่งเดินหมากญาติดี‘แผ่นดินใหญ่’

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Taiwan’s Ma strides across the strait
By Wu Zhong
09/02/2011

มีสัญญาณประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน กำลังวางเดิมพันอนาคตทางการเมืองของตนเอง เอาไว้กับการเดินหน้านโยบายเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเกาะแห่งนี้กับจีนแผ่นดินใหญ่ กล่าวคือ เขาได้ออกคำสั่งให้พวกเจ้าหน้าที่ไต้หวันยุติการเรียกอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งอยู่ทางอีกด้านหนึ่งของช่องแคบไต้หวัน ว่า “จีน” ขณะที่ท่าทีเช่นนี้ของหม่า ซึ่งก็คือการหันกลับมาเน้นย้ำว่าจีนและไต้หวันเป็นประเทศเดียวกัน อาจทำให้ปักกิ่งพออกพอใจ แต่บัตรลงคะแนนของผู้ออกเสียงในการเลือกตั้งที่มีกำหนดจัดขึ้นในปีหน้านั่นแหละ จะเป็นเครื่องตัดสินว่าหม่ากำลังก้าวเดินไปพร้อมๆ กับประชาชนชาวไต้หวันหรือเปล่า

ฮ่องกง ไม่ว่าลงท้ายแล้วจะเป็นอย่างไรก็ตามที แต่ในตอนเริ่มต้นปีกระต่ายปีนี้ มีสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่อยู่คนละด้านของช่องแคบไต้หวัน กำลังมีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอีก

ในงานเลี้ยงน้ำชาของรัฐบาลเพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีนปีเถาะ ณ นครไทเป เมื่อวันจันทร์(7) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีหม่า อิ่งจิ่ว ของไต้หวัน ได้ออกคำสั่งอย่างชัดเจนถึงบรรดาข้าราชการทั้งหลาย ให้ยุติการเรียกขานอีกฝ่ายที่อยู่อีกข้างหนึ่งของช่องแคบไต้หวันว่า “จีน” ตามรายงานของสื่อมวลชนไต้หวัน หม่าได้กล่าวคำปราศรัยในงานเลี้ยงดังกล่าวโดยระบุว่า เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตาม “ฉันทามติปี 1992” (1992 Consensus) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าราชการทุกคนและเอกสารของรัฐบาลทุกชิ้นในเวลาที่จะอ้างอิงถึงจีนแผ่นดินใหญ่ จะต้องใช้คำว่า “อีกฝ่ายที่อยู่ทางอีกด้านหนึ่งของช่องแคบ” (the other side across the strait) หรือ “ฝ่ายแผ่นดินใหญ่” (the mainland) ไม่ให้เรียกว่า “จีน” (China)

พวกนักวิเคราะห์บอกว่า จากการออกมาประกาศเรื่องนี้ เท่ากับว่า หม่าซึ่งเร่งรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ตนเองได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งในการเลือกตั้งตอนต้นปี 2012 นั้น กำลังวางเดิมพันอนาคตทางการเมืองของตนเอง เอาไว้กับการเดินหน้านโยบายสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเกาะแห่งนี้กับจีนแผ่นดินใหญ่

ในปี 1987 เจียง จิงกั๋ว (Chiang Ching-kuo) ประธานาธิบดีของไต้หวันในเวลานั้น ได้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้มาหลายสิบปี และอนุญาตให้ชาวไต้หวันเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวในแผ่นดินใหญ่จีนได้ ขณะเดียวกัน เพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นมาจากการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ทั้งสองฝ่ายจึงได้จัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่เจรจากันในระดับกึ่งรัฐขึ้นมาในปี 1991 ซึ่งก็คือ มูลนิธิเพื่อการติดต่อแลกเปลี่ยนข้ามช่องแคบ (Straits Exchange Foundation หรือ SEF) ของฝ่ายไต้หวัน และสมาคมเพื่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันแห่งประเทศจีน (Association for Relations Across the Taiwan Strait หรือ ARATS) ของฝ่ายแผ่นดินใหญ่

ต่อมาในปี 1992 คณะเจ้าหน้าที่ของ ARATS และ SEF ในนามตัวแทนของรัฐบาลของแต่ละฝ่าย ได้พบปะเจรจากันที่ฮ่องกง และสามารถบรรลุสิ่งที่เรียกขานกันว่า “ฉันทามติปี 1992” ตามฉันทามติดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่ามีจีนอยู่เพียงจีนเดียว ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันต่างก็เป็นของประเทศจีนที่เป็นหนึ่งเดียว ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันให้หยุดพักความแตกต่างกันของพวกเขาเอาไว้ก่อน และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ฝ่ายแผ่นดินใหญ่) กับ สาธารรัฐจีน (ฝ่ายไต้หวัน) ซึ่งเป็นตัวแทนตามกฎหมายของประเทศจีนที่เป็นหนึ่งเดียว สามารถที่จะตีความฉันทามติฉบับนี้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อเห็นเป็นการสมควร ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญทั้งของสาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐจีน ต่างยังคงอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งส่วนที่เป็นจีนแผ่นดินใหญ่และส่วนที่เป็นเกาะไต้หวัน

ผลจากการหารือเจรจากันในปี 1992 หวัง ต้าวหัน (Wang Daohan) ประธานของ ARATS และ คู เฉินฟู่ (Koo Chen-fu) ประธานของ SEF ได้มาพบปะกันที่สิงคโปร์ ในวันที่ 27 เมษายน 1993 พวกเขาสามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องกระบวนการพิสูจน์ความถูกต้องของเอกสาร, การขนส่งพัสดุไปรษณีย์ภัณฑ์ข้ามแดน, และกำหนดการสำหรับการประชุมหารือในอนาคตของ ARATS-SEF

ถึงเดือนตุลาคม 1998 “การหารือหวัง-คู” รอบที่ 2 ถูกจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ หวังและคูตกลงที่จะพบเจรจากันอีกรอบหนึ่งในไต้หวันในฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 ทว่าการหารือดังกล่าวได้ถูกฝ่ายปักกิ่งยกเลิกไป หลังจากที่ หลี่ เติ้งฮุย ประธานาธิบดีไต้หวันในขณะนั้น ซึ่งเดิมก็เป็นผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับดื้อๆ ว่ามีเอกสารที่เรียกว่าฉันทมติปี 1992 อยู่แล้ว ได้เสนอทฤษฎีของเขาที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน เป็นความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปิกก่งยอมรับไม่ได้เลย

หนึ่งปีต่อมา เฉิน สุยเปี่ยน แห่งพรรคเดโมแครติก โปรเกรสชีฟ (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ที่มีแนวทางต้องการให้ไต้หวันประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช ได้ขึ้นครองอำนาจ และเขาก็ยืนกรานเรื่อยมาว่า จีนกับไต้หวันเป็นคนละประเทศแยกต่างหากจากกัน ถึงแม้ตำแหน่งที่เขาครองอยู่ยังคงเรียกขานว่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน ไม่น่าแปลกใจเลย ที่สายสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเรียกขานกันว่า สายสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ (cross-strait ties) อยู่ในอากรชะงักงันระหว่างเวลา 8 ปีที่เฉินอยู่ในตำแหน่ง

สำหรับปักกิ่งแล้ว ฉันทามติปี 1992 ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำให้หลักการ “จีนเดียว” กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เป็นสิ่งที่จะต้องยึดถือเอาไว้อย่างมั่นคงในการดำเนินความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ครั้นเมื่อหม่า อิงจิ่ว ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2008 เขาก็ออกมาแถลงยอมรับฉันทามติปี 1992 อย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีอยู่กับแผ่นดินใหญ่เกิดความอบอุ่นขึ้น จะได้ช่วยเหลือให้ไต้หวันหลุดพ้นจากวิกฤตการเงินระหว่างประเทศ

การหารือระหว่างประธานของ SEF และ ARATS ได้มีการเริ่มต้นดำเนินต่อไปใหม่ และการติดต่อเชื่อมโยงกันโดยตรงทั้งทางด้านคมนาคมและการค้า ก็มีการเริ่มต้นดำเนินต่อไปใหม่เช่นเดียวกัน เมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงแม่บทว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Framework Agreement หรือ ECFA) ซึ่งเทียบเท่ากับข้อตกลงการค้าเสรี ปักกิ่งยังตกลงอนุญาตให้ผู้พำนักบนแผ่นดินใหญ่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวไต้หวันได้เป็นรายบุคคล โดยอาจจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่กลางปีนี้

ตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว หม่าถูกฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า “ทรยศต่ออำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์ของไต้หวัน” ทว่าเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า ประชาชนไต้หวันส่วนข้างมากต่างก็ได้รับประโยชน์จากสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับแผ่นดินใหญ่มากขึ้น เรื่องนี้มีผลทำให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการใช้สำนวนโวหารเรื่องสายสัมพันธ์ข้ามช่องแคบเพื่อจูงใจผู้ลงคะแนน บางทีนี่อาจจะยิ่งเพิ่มพูนความมั่นใจให้กับหม่าเกี่ยวกับนโยบายต่อจีนแผ่นดินใหญ่ของเขา

ถึงตอนนี้ หม่าผู้เชื่อมั่นจึงต้องการทำให้พื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ บังเกิดความแน่นอนชัดเจนขึ้นมา ในงานเลี้ยงน้ำชาต้อนรับตรุษจีนดังกล่าวข้างต้น เขาพูดว่า ในเอกสารของรัฐบาล (ไต้หวัน) นั้น มักใช้คำว่า “จีน” ซึ่งไม่สอดคล้องกับ “ฉันทามติปี 1992” ดังนั้น หม่าจึงเรียกร้องให้ข้าราชการทุกคนเมื่อต้องการอ้างอิงถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ให้ใช้คำว่า “อีกฝ่ายที่อยู่ทางอีกด้านหนึ่งของช่องแคบ” หรือ “ฝ่ายแผ่นดินใหญ่”แทนที่จะใช้คำว่า “จีน”

หม่ายังกล่าวตอ่ไปว่า การที่สายสมพันธ์ข้ามช่องแคบกระเตื้องดีขึ้น ไม่เพียงอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความระแวงสงสัยขึ้นในหมู่นักการทูตอาวุโสของไต้หวันอีกด้วย ดังนั้น เขาจึงเรียกร้องให้ไต้หวันเรียกตัวเองว่า สาธารณรัฐจีน (Republic of China หรือ ROC) ในเวลาติดต่อสร้างสัมพันธ์กับประเทศ 23 ประเทศที่ไต้หวันมีสายสัมพันธ์ทางการทูต สำหรับการติดต่อสร้างสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น ที่ดีที่สุดสำหรับไต้หวันในเวลาที่จะอ้างอิงถึงตัวเองก็คือใช้คำว่า สาธารณรัฐจีน ดีเยี่ยมถัดมาคือ “สาธารณรัฐจีน ไต้หวัน” (ROC Taiwan) และอันดับท้ายสุดคือ “จีน ไทเป” (Chinese Taipei) ตามรายงานของสื่อไต้หวัน หม่ากล่าวว่า “นี่คือฉันทามติระหว่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการละเมิดฉันทามติปี 1992 แต่อย่างใด”

การอธิบายให้เกิดความกระจ่างชัดเจนเช่นนี้ของหม่า น่าจะเป็นที่ยินดีของฝ่ายปักกิ่ง สำหรับปักกิ่งแล้ว ตราบเท่าที่ทางการผู้รับผิดชอบของไต้หวันยอมรับว่าเกาะแห่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไม่ว่าจีนนั้นจะเป็นจีนอะไรก็ตามที ก็หมายความว่ายังคงรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของจีนเอาไว้ได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นไปได้ที่ไต้หวันจะเป็นเอกราชก็ลดน้อยลง ในปัจจุบัน นโยบายของปักกิ่งที่มีต่อไต้หวัน คือการบ่มเพาะสนับสนุนและพัฒนาการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับเกาะแห่งนี้ และเฝ้ารอคอยด้วยความอดทนเพื่อให้มีการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในทางการเมืองอีกครั้ง เวลาดูเหมือนจะยืนอยู่กับทางฝ่ายปักกิ่ง

อย่างไรก็ดี ไต้หวันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ท่าทีและเจตนารมณ์ของหม่าเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ของผู้ออกเสียงอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างของฮ่องกงที่มีฐานะเป็นดินแดนกึ่งปกครองตนเอง นโยบายไม้อ่อนมุ่งเสนอผลประโยชน์เป็นเครื่องล่อของปักกิ่ง อาจจะทำให้ได้เสียงเชียร์และเสียงปรบมือสรรเสริญอย่างรวดเร็ว ทว่าเอาเข้าจริงแล้วปักกิ่งยังจำเป็นต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นอีกมาก จึงจะชนะใจประชาชนได้อย่างแท้จริง

อู่จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น