xs
xsm
sm
md
lg

สถานะของไต้หวันในองค์การอนามัยโลก

เผยแพร่:   โดย: สิทธิพล เครือรัฐติกาล และ วรศักดิ์ มหัทธโนบล

มาร์กาเร็ต ชาน (陈冯富珍Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) (ภาพเอเยนซี)
เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 2009 มาร์กาเร็ต ชาน (陈冯富珍Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ได้ส่งจดหมายเชิญเย่จินชวน (叶金川) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไต้หวันให้เข้าร่วมเป็น “ผู้สังเกตการณ์” (observer) ในการประชุมประจำปีของสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly - WHA) ครั้งที่ 62 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 18 ถึง 27 พฤษภาคมของปีนี้ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยให้ไต้หวันใช้ชื่อในการประชุมว่า “จีนไทเป” (中华台北Chinese Taipei)

เรื่องดังกล่าวถือเป็นก้าวย่างทางการทูตครั้งสำคัญของไต้หวันหรือ “สาธารณรัฐจีน” ที่พยายามขอเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1997 แต่ถูกจีนแผ่นดินใหญ่หรือ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” คัดค้านมาโดยตลอด และยังถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสี่ทศวรรษที่ไต้หวันได้เข้าร่วมประชุมในหน่วยงานที่เป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ (United Nations Specialized Agencies) หลังจากที่ต้องสูญเสียสมาชิกภาพในองค์การดังกล่าวให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ ค.ศ. 1971

เย่จินชวนระบุว่า การได้สถานะเป็นผู้สังเกตการณ์จะเป็นช่องทางให้ไต้หวันติดต่อกับองค์การอนามัยโลกได้สะดวกยิ่งขึ้น อันเป็นผลดีต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของชาวไต้หวัน ขณะที่หลี่เหวยอี (李维一) โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันประจำคณะมุขมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (国务院台湾事务办公室) ระบุว่า การยินยอมให้ไต้หวันเข้าร่วมประชุมแสดงให้เห็นถึงการที่จีนให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนไต้หวัน รวมถึงความจริงใจที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอย่างสันติ

อันที่จริงแล้ว หลังเกิดการระบาดของโรคซาร์สเมื่อต้น ค.ศ. 2003 ทางการจีนได้เห็นความสำคัญของความมั่นคงทางสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มยินยอมให้เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกเดินทางไปยังไต้หวันได้ อย่างไรก็ตาม การที่ไต้หวันตั้งแต่ ค.ศ. 2000 อยู่ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน (陈水扁) จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party - DPP) ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวันอย่างเป็นทางการ ทำให้ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอยู่ในสภาวะตึงเครียด และจีนก็ไม่สะดวกใจที่จะให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก จนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 2008 ที่จบลงด้วยชัยชนะของหม่าอิงจิ่ว (马英九) ผู้สมัครจากพรรคกั๋วหมินตั่ง บรรยากาศความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจึงผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การยินยอมให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการในปีถัดมา
นายเย่จินชวน (叶金川) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไต้หวัน (ภาพเอเยนซี)
อย่างไรก็ตาม ข้อที่น่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับการที่ไต้หวันได้เข้าร่วมในองค์การอนามัยโลกก็คือ ไต้หวันมีสถานะเป็นเพียง “ผู้สังเกตการณ์” ซึ่งไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเฉกเช่นสมาชิกทั่วไป ดังนั้นหากไต้หวันต้องการผลักดันประเด็นใดๆ เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกเพื่อขอความเห็นชอบก็จะต้องพึ่งพาการสนับสนุนของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันการที่ไต้หวันใช้ชื่อในองค์การอนามัยโลกว่า “จีนไทเป” ก็เท่ากับตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าจีนยินยอมให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในองค์การดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขของหลักการ “จีนเดียว” สอดคล้องกับข้อสังเกตของนักวิชาการฮ่องกงอย่าง Simon Shen (沈旭暉) เกี่ยวกับท่าทีของจีนต่อการเข้าร่วมของไต้หวันว่า

“นี่เป็นการผสมผสานกันระหว่างไม้แข็งกับไม้นวมตามแบบจีน กล่าวคืออำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่อาจประนีประนอมได้ แต่ถ้าไต้หวันยอมเข้ามาอยู่ในวงโคจรของจีนแล้วไซร้ จีนอาจยอมให้ไต้หวันมีอัตตาณัติมากขึ้นก็ได้ ยุทธศาสตร์เช่นนี้มีความบกพร่องในเชิงตรรกะ เพราะมนุษยธรรมของจีนมิใช่มนุษยธรรมแบบปกติ หากแต่เป็นมนุษยธรรมที่มีนัยทางการเมือง (political humanitarianism)”

ท่าทีของจีนที่ยังคงยึดมั่นในหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวันนั้นไม่สอดคล้องกับพัฒนาการทางการเมืองและสังคมของไต้หวันในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนไต้หวันรุ่นใหม่ที่มีความผูกพันกับแผ่นดินใหญ่และสำนึกของความเป็นจีนน้อยลง ตัวอย่างของความขัดแย้งระหว่างการอ้างอำนาจอธิปไตยของจีนกับการขอมีส่วนร่วมของไต้หวันในองค์การอนามัยโลกเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา เมื่อก่วนปี้หลิง (管碧玲) สมาชิกสภานิติบัญญัติของไต้หวันได้นำเอกสารภายในขององค์การอนามัยโลกมาเผยแพร่ โดยเอกสารดังกล่าวเรียกไต้หวันว่า “มณฑลไต้หวันของจีน” (The Taiwan Province of China) ทำให้ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วต้องส่งสาส์นประท้วงไปยังจีนและองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการ โดยเขาระบุว่าอำนาจอธิปไตยของไต้หวันเป็นสิ่งที่ไม่อาจสั่นคลอนได้

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ แม้การได้สถานะ “ผู้สังเกตการณ์” ในองค์การอนามัยโลกจะถือเป็นก้าวย่างทางการทูตที่สำคัญของไต้หวัน หากแต่ไต้หวันก็ยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ นานา เพราะจุดยืนของจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือ การให้ความความสำคัญกับความมั่นคงทางสุขภาพของชาวไต้หวันตราบเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการจีนเดียว

--------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “ความร่วมมือนานาชาติกับความมั่นคงของมนุษย์” ของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (HS1069A) โดยได้รับการสนับสนุนจาก โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น