xs
xsm
sm
md
lg

‘เอเชียกลาง’พึ่งพาส่งออก‘น้ำมัน’และ‘ทอง’มากเกินไป

เผยแพร่:   โดย: อองตวน บลัว

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Central Asia too natural
By Antoine Blua
02/02/2011

ประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ยิ่ง ทว่าการที่พวกเขากำลังพึ่งพาอาศัยการส่งออกสินค้าจำพวกน้ำมันและทองอย่างมากเหลือเกิน ทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างสูง ที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของตลาดระหว่างประเทศ ทั้งนี้ตามรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี)

เศรษฐกิจของบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง จำเป็นที่จะต้องมีการกระจายตัวให้มากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นอีก จึงจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้สูงขึ้น

นั้นคือข้อเสนอแนะหลักที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับใหม่ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) ซึ่งนำออกเปิดตัวเผยแพร่เมื่อสิ้นเดือนมกราคม ณ การประชุมของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum หรือ WEF) ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โออีซีดีนั้นเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มักได้รับการระบุสรรพคุณว่าเป็นสโมสรของพวกประเทศร่ำรวย รายงานฉบับนี้ของโออีซีดีบอกว่า เอเชียกลางเป็นภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์อันมีค่า เป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยขับดันอัตราเติบโตอันแข็งแกร่งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

แต่รายงานก็ชี้ด้วยว่า ภูมิภาคนี้กำลังพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มากเกินไป ตัวอย่างเช่น ในปี 2008 น้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณสองในสามของยอดส่งออกทั้งหมดของคาซัคสถาน ขณะที่ทองคำคิดเป็นราวหนึ่งในสามของยอดส่งออกของคีร์กีซสถาน
สภาพเช่นนี้ รายงานบอกว่าทำให้เศรษฐกิจทั้งหลายของภูมิภาคแถบนี้ “เปิดโล่งโจ้งเป็นอย่างมากให้แก่ความไม่แน่นอนของตลาดระหว่างประเทศ” นี่ย่อมเป็นฐานะที่ดูไม่ปลอดภัยยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อพิจารณาจากวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงหลังๆ มานี้

ฟาดี ฟาร์รา (Fadi Farra) คือ ผู้อำนวยการของโครงการโออีซีดีเพื่อความสามารถในการแข่งขันของยูเรเชีย (OECD Eurasia Competitiveness Program) เขาเป็นผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้ ที่มีชื่อว่า “ทิศทางแนวโน้มของความสามารถในการแข่งขันของเอเชียกลาง” (Central Asia Competitiveness Outlook)

“เท่าที่ผ่านมาภูมิภาคนี้ยังปรากฏตัวไม่เพียงพอบนจอเรดาร์ของพวกนักลงทุน แต่ภูมิภาคนี้ก็มีศักยภาพด้านความสามารถในการแข่งขันอันแข็งแกร่งมากๆ ที่สามารถพัฒนาให้คืบหน้าต่อไปได้” ฟาร์ราบอก “ช่องว่างระหว่างทุนทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน, ผลประกอบการในปัจจุบัน กับผลประกอบการที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แล้ว ก็ต้องถือว่ายังเป็นช่องว่างที่ใหญ่อยู่มากจริงๆ และมีโอกาสอย่างมากที่จะปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันให้กระเตื้องยกระดับขึ้น”

**ศักยภาพอันสูงเยี่ยม**

แน่นอนทีเดียวว่า พวกประเทศที่รายงานฉบับนี้มุ่งศึกษานั้นมีความแตกต่างกันอย่างมากมายทีเดียว โดยมีตั้งแต่พวกพี่เบิ้มทางด้านการส่งออกพลังงาน อย่างเช่น คาซัคสถาน และ เติร์กเมนิสถาน ไปจนถึงพวกประเทศยากจนอย่างอัฟกานิสถาน และ ทาจิกิสถาน ซึ่งเศรษฐกิจต้องพึ่งพาอาศัยเกษตรกรรมเป็นสำคัญ

ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ยังอยู่ใน “ขั้นตอนของความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างกัน” อีกด้วย ฟาร์ราบอก แต่ทั้งหมดต่างก็มีศักยภาพอันสูงเยี่ยม

“บางประเทศอยู่ในขั้นก้าวหน้าไปมากทีเดียว หมายความว่าพวกเขาได้ดำเนินการปฏิรูปแบบรุ่นแรก และแบบรุ่นที่สองไปแล้ว ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสัดส่วนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น คาซัคสถาน สำหรับชาติอื่นๆ ยังคงกำลังดำเนินการเพื่อการปฏิรูปอย่างเป็นพิเศษเฉพาะด้านขึ้นมา โดยที่พวกเขายังต้องทำให้การปฏิรูปเหล่านี้เข้าที่เข้าทาง”

รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงความได้เปรียบในการแข่งขันที่มีอยู่ร่วมกันของประเทศเหล่านี้ อันได้แก่ ประการแรกคือเรื่องที่ตั้งของพวกเขา ทั้งนี้เอเชียกลางเป็นดินแดนที่ไม่มีทางออกทางทะเลก็จริง แต่ก็แวดล้อมด้วยประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว เป็นต้นว่า รัสเซีย, อินเดีย, และจีน ซึ่งก็กำลังเพิ่มการลงทุนในเอเชียกลางมากขึ้นเรื่อยๆ

ความได้เปรียบประการที่สองเป็นเรื่องการศึกษา ถ้าหากยกเว้นไม่นับอัฟกานิสถานแล้ว อัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่จะแทบอยู่ในระดับรู้กันทั่วหน้าทีเดียว นั่นคือมีผู้รู้หนังสือสูงถึง 99% เปรียบเทียบอัตราเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 83% เท่านั้น นอกจากนั้นอัตราส่วนของผู้หญิงที่เข้าร่วมในการศึกษา และอัตราการเข้าศึกษาทั้งในระดับประถมและระดับมัธยม ก็ค่อนข้างสูงมากทีเดียว

ถัดจากนั้นก็เป็นเรื่องที่เอเชียกลางมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งทางด้านพลังงาน และผลิตภัณฑ์การเกษตร

คาซัคสถาน กับ เติร์กเมนิสถาน คือผู้ส่งออกรายใหญ่ในด้านน้ำมันและก๊าซ ขณะที่คีร์กีซสถาน และ ทาจิกิสถาน มีปริมาณน้ำสำรองมากมายมหาศาล จึงมีศักยภาพมากที่สุดในด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

นอกจากนั้นยังมีสินแร่ที่ยังไม่ถูกขุดค้นขึ้นมาทำประโยชน์อยู่เป็นจำนวนมากในอัฟกานิสถาน เป็นต้นว่า เหล็ก, ทองแดง, โคบอลต์, และลิเธียม คาซัคสถานก็มีสินแร่สำรองอยู่มากเช่นกัน ขณะที่คีร์กิซสถานในเวลานี้สามารถส่งออกทองเป็นปริมาณเยอะทีเดียว ส่วนทาจิกิสถานมีศักยภาพที่จะทำการผลิตและส่งออกอลูมิเนียม

ทางด้านการเกษตร ในปี 2008 เอเชียกลางเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีคิดเป็น 4% ของผลผลิตทั่วโลก ขณะที่ฝ้ายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งเติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน

**จำเป็นต้องปฏิรูป**

ฟาร์ราบอกว่า เอเชียกลางกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงเวลาระหว่างปี 2003 ถึง 2009 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 5 เท่าตัว

“มีกระแสการลงทุนระลอกแรกเข้าไปในยุโรปกลางในทศวรรษ 1990 กระแสการลงทุนระลอกที่สองเริ่มที่จะชะงักงันเสียแล้วในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป แต่เวลานี้เรากำลังมองเห็นแนวโน้มอันชัดเจนมากที่ว่า เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศกำลังเคลื่อนย้ายมุ่งเข้ามาในเอเชียกลาง” ฟาร์ราคุย “ทว่าสิ่งที่ท้าทายมากในเวลานี้ก็คือ จะต้องหาวิธีการเคลื่อนย้ายพวกกำแพงกีดขวางเชิงนโยบายออกไป”

รายงานฉบับนี้บอกว่า การปฏิรูปนั้นควรที่จะมุ่งเน้นไปยังด้านต่างๆ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การศึกษา, การให้เงินทุนสนับสนุนแก่พวกบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง, และการส่งเสริมการลงทุนในด้านอื่นๆ นอกเหนือไปจากด้านสินค้าโภคภัณฑ์

สำหรับงานเปิดตัวเผยแพร่รายงานของโออีซีดีฉบับนี้ ปรากฏว่ามีผู้นำทางธุรกิจพร้อมด้วยประมุขของรัฐและของรัฐบาลกว่า 10 คนเข้าร่วม เป็นต้นว่า ประธานาธิบดีของสวิตเซอร์แลนด์, อาเซอร์ไบจัน, และยูเครน ตลอดจนนายกรัฐมนตรีของคาซัคสถาน

(รายงานนี้มาจาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี)

เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น