xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคราว‘อิหร่าน’เจอการชุมนุมประท้วง

เผยแพร่:   โดย: คาเวห์ แอล อาฟราเซียบี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Now Iran feels the heat
By Kaveh L Afrasiabi
15/02/2011

การประท้วงขนาดใหญ่ตามท้องถนนในอิหร่านเมื่อวันจันทร์(14)ที่ผ่านมา ซึ่งในตอนแรกทำท่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความสนับสนุนอียิปต์ที่ขับไล่ประธานาธิบดีออกไปได้สำเร็จ ได้เปลี่ยนไปเป็นการประท้วงเรื่องภายในประเทศอย่างรวดเร็ว โดยที่มีการร้องตะโกนถ้อยคำอันละเมิดโดยตรงต่อ อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของประเทศ เรื่องนี้ควรถือเป็นลางร้าย เนื่องจากปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้พวกกลุ่มนักปฏิรูปทั้งหลายได้รับความเชื่อถือมั่นใจจากระบบปกครอง ก็คือต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนระบอบปกครอง หรือมุ่งยุติบทบาทความเป็นผู้นำของฝ่ายศาสนา หากประสงค์ที่จะให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองเท่านั้น

เมื่อวันจันทร์(14)ที่ผ่านมา กรุงเตหะรานกลายเป็นฉากของการปะทะกันอีกคำรบหนึ่ง ระหว่างกองกำลังความมั่นคง กับพวกผู้เดินขบวนซึ่งละเมิดคำสั่งรัฐบาลที่ห้ามการชุมนุมตามท้องถนน เรื่องนี้ทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนเตะตาว่า สภาพการณ์แห่งความตื่นตัวทางประชาธิปไตยของโลกอาหรับกำลังส่งผลกระทบอย่างชนิดขัดแย้งตรงข้ามกันต่ออิหร่าน

ทั้งนี้ดอกผลที่ได้มาจากภายนอกประเทศ ซึ่งก็คือดอกผลทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น อาจจะบังเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความสูญเสียทางการเมืองภายในประเทศก็ได้ โดยที่สำคัญแล้วต้องขึ้นอยู่กับความคล่องแคล่วฉับไวทางการเมืองของรัฐบาลอิหร่านในการอุดช่องโหว่แห่งความน่าเชื่อถือ จากการที่ด้านหนึ่งรัฐบาลแสดงท่าทียินดีต้อนรับการปฏิวัติอย่างอียิปต์อย่างนิยมชมชื่น ทว่าในเวลาเดียวกันกลับกำลังพยายามปราบปรามทำลายขบวนการของฝ่ายค้านตามท้องถนนในประเทศของตนเอง ซึ่งเป็นขบวนการที่รู้จักกันในชื่อว่า “ขบวนการสีเขียว” (Green movement)

พวกผู้ประท้วงจำนวนนับพันนับหมื่นคนได้ออกมาชุมนุมกันตามท้องถนน เป็นการตอบสนองเสียงเรียกร้องของเหล่าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ชักชวนให้ออกมาแสดงการสนับสนุนการลุกฮือของประชาชนในตูนิเซียและอียิปต์ ซึ่งสามารถทำให้ผู้นำในประเทศเหล่านี้ต้องก้าวลงจากอำนาจในที่สุด ปรากฏว่าพวกเขาต้องเผชิญกับกองกำลังความมั่นคงที่เข้ามาทัดทานอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการชุมนุมกัน กองกำลังความมั่นคงได้ยิงปืนขึ้นฟ้า และใช้แก๊สน้ำตาในถนนหลายสายที่อยู่ใกล้ๆ จัตุรัสอาซาดี (Azadi Square แปลว่า จัตุรัสเสรีภาพ) อันเป็นสถานที่กำหนดนัดหมายให้ไปรวมตัว มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อยที่สุด 1 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ไม่นานนัก การชุมนุมคราวนี้ก็เปลี่ยนไปเป็นการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล เหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นในการประท้วงตามท้องถนนในปี 2009 ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างรุนแรง โดยที่ประธานาธิบดีมาหมุด อาห์มาดิเนจัด เป็นผุ้ชนะได้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่สอง

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตจากเหตุการณ์ในวันจันทร์ ก็คือ แทนที่ความโกรธเกรี้ยวจะพุ่งไปทางประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจัดและคณะรัฐบาลของเขา หลายๆ กลุ่มในฝูงชนที่มารวมตัวกัน กลับตะโกนต่อต้าน ผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้เป็นเสมือนหัวใจแห่งอำนาจในสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ถือเป็นพัฒนาการที่ผิดปกติมาก

ในอีกด้านหนึ่ง ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ให้ความเห็นในลักษณะเงียบๆ หงิมๆ ต่อความไม่สงบตามท้องถนนที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ในอิยิปต์ เธอกลับแถลงแสดงความสนับสนุนอย่างรวดเร็วต่อ “ความมุ่งมาดปรารถนาของประชาชน” ผู้ออกมาสู่ท้องถนนในอิหร่านเมื่อวันจันทร์

จากการที่อิหร่านถึงกำหนดที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งรัฐสภากันในปีหน้า และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีถัดไป การต่อสู้เพื่อให้เกิดการลงคะแนนเสียงอย่างเสรีและไม่ถูกจำกัด จึงกลายเป็นเรื่องที่ทรงความสำคัญขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากผลกระทบแบบแรงกระเพื่อม ที่การปฏิวัติต่างๆ ในโลกอาหรับดูเหมือนจะกำลังส่งผลต่ออิหร่าน

ในความคิดของพวกนักการเมืองอิหร่านสายแข็งกร้าว เป็นต้นว่า ผู้ทรงอำนาจอย่าง อยาโตลเลาะห์ อาหมัด จันนาตี (Ayatollah Ahmad Jannati) นักการศาสนาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) ของอิหร่าน เขาประกาศกร้าวว่า “ไม่ควรเลยที่จะปล่อยให้มีโอกาสใดๆ อันจะทำให้ตำแหน่งของฝ่ายรัฐบาลบางตำแหน่งต้องตกอยู่ในมือของบุคคลผู้ไม่มีความเหมาะสม” ด้วยความที่ภาพแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายในปี 2009 ยังคงสดใสอยู่ในความทรงจำ พวกแนวทางแข็งกร้าว เป็นต้นว่า ผู้บัญชาการของกองกำลังผู้พิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps หรือ IRGC) ต่างมีท่าทียืนกรานเด็ดเดี่ยวในเรื่องต้องป้องกันไม่ให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดทางการเมืองใดๆ ที่อาจถูกพวกปรปักษ์ของระบอบปกครองนี้ ฉวยใช้หาประโยชน์ในทางบ่อนทำลายระบบระเบียบที่ดำรงอยู่

ทัศนะเช่นนี้ไม่จำเป็นว่าทุกๆ ผู้คนในรัฐบาลอิหร่านจะเห็นพ้องด้วยกันหมด อันที่จริงมีสัญญาณบ่งชี้หลายประการด้วยซ้ำว่า อาห์มาดิเนจัดตลอดจนที่ปรึกษาของเขาบางคน ปรารถนาที่จะผ่อนคลายการควบคุมทางการเมืองลง เป็นต้นว่า ปล่อยให้หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ตามเอกสารลับทางการทูตของสหรัฐฯที่ถูกนำมาเปิดเผยทาง “วิกิลีกส์” เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการระบุว่า อาห์มาดิเนจัด และ อาลี จาฟารี (Ali Jafari) ผู้บัญชาการของกองกำลัง IRGC ได้เกิดความขัดแย้งกันในประเด็นนี้ระหว่างการประชุมหารือครั้งหนึ่งของพวกเขา ถึงแม้การกล่าวอ้างนี้ได้ถูกรัฐบาลอิหร่านปฏิเสธว่าไม่มีมูลความจริงเลย

ผู้เชี่ยวชาญอิหร่านบางคนบอกว่า การที่รัฐบาลไม่ยอมอดกลั้นอดทนต่อการชุมนุมของฝ่ายค้านเอาเลยนั้น มีต้นตอมาจากความหวาดกลัวผลกระทบแบบ “หิมะถล่ม” ซึ่งหิมะจำนวนน้อยๆ ในตอนเริ่มแรกกลับสามารถสะสมตัวกลายเป็นกองหิมะใหญ่โตมหึมา ระหว่างที่มันกลิ้งลงจากยอดเขา ทั้งนี้ดังตัวอย่างการชุมนุมของคนหนุ่มคนสาวชาวอียิปต์ ที่ได้จุดชนวนให้เกิดการชุมนุมของมวลชนจำนวนมากมายมหาศาล โดยที่มีความวิตกกันว่าการเปิดแง้มประตูแม้เพียงนิดหน่อย ก็อาจกลายเป็นการเชื้อเชิญกระแสไหลบ่าของการประท้วง ซึ่งมุ่งแสดงความไม่พอใจทั้งสภาพการณ์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

ถ้าหากไม่ทำการปราบปรามผู้ประท้วง และพึ่งพาอาศัยการกวาดจับบรรดาผู้ไม่ยอมเดินตามรัฐบาลระดับตัวกลั่นๆ กันตั้งแต่เนิ่นๆ (อย่างที่มีรายงานว่าเตหะรานได้มีการใช้มาตรการนี้) ทางเลือกอื่นที่อาจกระทำได้ก็คือ คณะรัฐบาลจะต้องนุ่มนวลมากขึ้นสักหน่อยในการรับมือกับฝ่ายค้านทางการเมือง ทว่านี่ก็จะเป็นการเดินหมากที่มีความเสี่ยงและอาจส่งผลในทางลบได้ กระทั่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแปลกแยกทางการเมืองมากขึ้น และทำให้เกิดความโกรธกริ้วไม่พอใจรัฐบาลหนักหน่วงขึ้นอีก

ปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง ย่อมได้แก่ความสามารถของพวกกลุ่มนักปฏิรูป (เอสลาห์ตาลาบัน eslahtalaban) ที่จะทำให้ระบอบปกครองอันสลับซับซ้อนของอิหร่านบังเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาว่า เจตนารมณ์ของพวกเขามิได้อยู่ที่การเปลี่ยนระบอบปกครอง หากแต่อยู่ที่การปรับปรุงและการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนกับน้ำเสียงอันรุนแรงมากกว่าของขบวนการสีเขียว (Green movement) ซึ่งมองว่าสิ่งที่ทรงความสำคัญเป็นลำดับแรกเลยคือ การยุติบทบาทความเป็นผู้นำของฝ่ายศาสนา (เวลายัต-อี ฟากีห์ Velayat-e Faghih)

โมฮัมหมัด โมฮัมมาดี (Mohammad Mohammadi) นักทฤษฎีคนหนึ่งของขบวนการสีเขียว ซึ่งปัจจุบันพำนักลี้ภัยอยู่นอกประเทศ กล่าวอธิบายว่าขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอิหร่าน “ต้องโฟกัสไปที่เรื่อง เวลายัต-อี ฟากีห์ โดยถือเรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องแกนกลางที่สำคัญยิ่งของตน” การประกาศเช่นนี้ย่อมหมายถึงการปฏิวัติอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งไปไกลเกินกว่าขอบเขตของการเมืองแบบนักปฏิรูปซึ่งมุ่งประสงค์ที่จะดำเนินการเคลื่อนไหวจากภายในสาธารณรัฐอิสลาม

อย่างไรก็ดี นี่อาจจะเป็นแรงจูงใจของผู้ประท้วงบางคนในวันจันทร์ก็เป็นได้ เป็นพวกที่ตะโกนต่อต้านคาเมเนอี ผู้อยู่ในวัย 72 ปี และมีฐานะเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของอิหร่านในทางเป็นจริง เนื่องจากอำนาจวีโต้ของเขาถือเป็นที่สุดในการดำเนินกิจการทางการเมืองทั้งหลาย

ด้วยความตระหนักในความแข็งแกร่งและความมีพลังอันคงทนของรัฐบาล ตลอดจนความชอบธรรมที่รัฐบาลได้รับจากมวลชาวอหร่านหลายล้านคนที่ก่อตัวขึ้นเป็นกระดูกสันหลังของระบอบปกครองปฏิวัติยุคหลังจากปี 1979 ซึ่งได้โค่นล้มรัฐบริวารของอเมริกันลงไป นักการเมืองและบัณฑิตผู้รู้ที่เป็นฝ่ายปฏิรูปในอิหร่านบางคน จึงได้ชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้ขบวนการของพวกเขา อยู่ห่างๆ ออกมาจากความเกินเลยของขบวนการสีเขียว รวมทั้งจะต้องตัดทอนระงับการส่งสัญญาณแห่งการต่อต้านระบบทั้งระบบออกมา โดยต้องมองว่านี่เป็นหนทางเลือกเพียงประการเดียวที่อาจกระทำได้

ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลับเตหะรานผู้หนึ่ง ซึ่งได้ให้ความเห็นกับผู้เขียนด้วยเงื่อนไขที่ขอให้ปกปิดสงวนนาม พูดเอาไว้ดังนี้ “พวกนักปฏิรูปของเราสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากการลุกฮือในตูนิเซียและอียิปต์ ตราบเท่าที่พวกเขาไม่ถือเหล่าเผด็จการหุ่นเชิดเหล่านั้นว่ามีความเท่าเทียมเสมอกันกับพวกผู้ปกครองของอิหร่าน ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหากพวกเขาสามารถทำให้รัฐบาลเชื่อใจได้ว่า พวกเขาเคารพในรัฐธรรมนูญ และยินยอมปฏิบัติตามการปกครองของผู้รู้กฎเกณฑ์ (เวลายัต-อี ฟากีห์ Velayat-e Faghih) พวกเขาก็อาจจะมีโอกาสได้รับสิทธิต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นมา”

สำหรับนักการเมืองฝ่ายค้านชั้นนำอย่าง มีร์ ฮอสเซน มูซาวี (Mir Hossein Mousavi) และ เมห์ดี คาร์รูบี (Mehdi Karrubi) ผู้ซึ่งเรียกร้องให้ออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนเพื่อแสดงความสนับสนุนการปฏิวัติของอียิปต์นั้น ดูเหมือนจะถูกควบคุมตัวให้อยู่แต่ภายในบ้านพักในวันจันทร์ที่เป็นกำหนดนัดหมายทำการประท้วงแล้ว เป็นที่สงสัยกันมากว่าพวกเขาทั้งคู่อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงสมัครรับเลือกตั้งใดๆ ในอนาคต สืบเนื่องจากถูกมองว่าละเมิดก้าวล่วง “การเมืองแห่งข้อจำกัด” (politics of limit) ของระบอบปกครองปัจจุบัน

ทั้งสองคนนี้ยังคงยึดติดแน่นกับข้อกล่าวหาของพวกเขาที่ว่า การเลือกตั้งปี 2009 เป็นการเลือกตั้งที่ถูกปล้นชัยชนะ ถึงแม้ผลการสำรวจความคิดเห็นภายหลังการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งต่างยืนยันความน่าเชื่อถือโดยพื้นฐานของผลการลงคะแนนที่ประกาศออกมาคราวนั้น มีแต่ต้องยอมรับความพ่ายแพ้และให้คำมั่นสัญญาที่จะจงรักภักดีกับหลักการแห่งความเป็นผู้นำของฝ่ายศาสนาเท่านั้น พวกผู้นำฝ่ายค้านเหล่านี้จึงอาจจะมีโอกาสได้รับอนุญาตให้ลงสมัครเลือกตั้งได้ ทว่าทั้ง มูซาวี และ คาร์รูบี ต่างไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ว่ากำลังกระทำเช่นนี้เลย ดังนั้นพวกเขาจึงล็อกตัวเองเข้าสู่การต่อสู้อย่างขมขื่นกับระบอบปกครองในลักษณะ “กินรวบ” นั่นคือ ใครเป็นผู้ชนะก็ได้ทุกสิ่งทุกอย่างไปแต่เพียงข้างเดียว

“เวลานี้กำลังมีความเรียกร้องต้องการการเมืองแบบใหม่ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ซึ่งต้องมีทั้งการให้และการรับ” ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเตหะรานผู้นี้กล่าว พร้อมกับพูดต่อไปว่ามีบุคคลฝ่ายค้านบางคนที่ถูกจับกุมภายหลังการเลือกตั้งปี 2009 และหลังจากนั้นก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา ปรากฏว่าคนเหล่านี้กำลัง “ลากเส้นแบ่ง” ระหว่างพวกเขากับขบวนการสีเขียว ซึ่งในตอนนี้พวกเขาถือว่าเป็นพวก “รุนแรง”

“แนวร่วมอิสลามเพื่อการเข้ามีส่วนร่วม” (Islamic Participation Front) กลุ่มนักปฏิรูปชั้นนำที่เมื่อก่อนเคยมีที่นั่งจำนวนมากในรัฐสภา มาถึงเวลานี้ต้องตกอยู่ในสภาพเสียหายหนักจากการที่ไปหนุนหลังสนับสนุนมูซาวี ในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2009

ความตกต่ำในด้านโชคเคราะห์ทางการเมืองของแนวร่วมนี้ ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันกับ โมฮัมหมัด คาตามี (Mohammad Khatami) อดีตประธานาธิบดีแนวทางสายกลางนั้น ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว พวกเขายังอาจสามารถพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นพาหะอันสำคัญสำหรับดำเนินการเปลี่ยนแปลงแบบนักปฏิรูปอีกคำรบหนึ่งได้ ถ้าหากคณะผู้นำของแนวร่วมได้รับความเชื่อมั่นจากระบอบปกครองว่า พวกเขาเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งรังเกียจไม่ให้ความสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง

คาเวห์ แอล อาฟราเซียบี PhD เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง After Khomeini: New Directions in Iran's Foreign Policy (Westview Press) และเรื่อง Reading In Iran Foreign Policy After September 11 (BookSurge Publishing , October 23, 2008) หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ Looking for rights at Harvard เวลานี้ออกวางตลาดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น