xs
xsm
sm
md
lg

การต่อสู้ครั้งใหม่ในระหว่างพวก‘อิสลามิสต์’ภายหลังอียิปต์โค่น‘มูบารัค’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The beginning of a new struggle
By Syed Saleem Shahzad
12/02/2011

เมื่อต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนครั้งยิ่งใหญ่มโหฬาร ฮอสนี มูบารัค ก็ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ที่เขาครอบครองมาเป็นเวลา 30 ปี ความเคลื่อนไหวคราวนี้น่าที่จะทำให้กลุ่ม “ภราดรภาพมุสลิม” ที่เป็นพวกนิกายสุหนี่ กลับผงาดโดดเด่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ขณะที่อิหร่านก็ประกาศให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” คราวนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อิหร่านซึ่งเป็นพวกนิกายชิอะห์ กับพวกอิสลามิสต์ฝ่ายสุหนี่ อาจจะอยู่ข้างเดียวกันได้เป็นการชั่วคราว แต่ในที่สุดแล้วก็จะต้องเกิดการปะทะกันในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

อิสลามาบัด, ปากีสถาน – ยุคสมัยที่กินระยะเวลา 30 ปีแห่งการครองอำนาจของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ที่บัดนี้ก้าวลงจากตำแหน่งแล้ว เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยคำแถลงสั้นๆ บรรจุถ้อยคำ 56 คำ คำแถลงดังกล่าวถูกนำมาอ่านโดยรองประธานาธิบดี โอมาร์ สุไลมาน (Omar Sulieman) ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าดูแลหน่วยงานด้านข่าวกรองของมูบารัค การสิ้นสุดลงของยุคมูบารัคเช่นนี้ ย่อมเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในภาวะสงบเสงี่ยมเรื่อยมา ทว่ามันยังไม่ได้มีความหมายใหญ่โตถึงขนาดเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มรดกของมูบารัคยังน่าที่จะได้รับการสืบทอดต่อไปอีก เฉกเช่นเดียวกับที่ได้บังเกิดขึ้นในประเทศตูนิเซียก่อนหน้านี้

คำแถลงที่รองประธานาธิบดีสุไลมานนำมาอ่าน มีเนื้อหาดังนี้ “ในพระนามของพระเจ้าผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ พลเมืองทั้งหลาย ระหว่างที่เกิดสภาพการณ์อันยากลำบากอย่างยิ่งเหล่านี้ซึ่งอียิปต์กำลังเดินก้าวผ่านพ้นไปอยู่นี้ ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ได้ตัดสินใจที่จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแล้ว และได้มอบอำนาจให้คณะกรรมาธิการระดับสูงของกองทัพ เป็นผู้บริหารกิจการของประเทศชาติ ขอพระเจ้าได้ทรงช่วยเหลือทุกๆ คน”

จากคำแถลงของสุไลมานดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้อันชัดเจนว่า ฝ่ายทหารได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจ นำโดยรัฐมนตรีกลาโหม จอมพล โมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ตันตาวี (Mohammed Hussein Tantawi) หลังจากที่การชุมนุมประท้วงตามท้องถนนของประชาชนดำเนินมาได้กว่า 2 สัปดาห์
.
การปิดฉากลงของยุคสมัยแห่งการปกครองอันยาวยืดของมูบารัคที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 83 ปีเช่นนี้ ได้กลายเป็นการทำลายภาวะเงียบงันสลบไสลที่เข้าครอบงำแวดวงภูมิปัญญาความรอบรู้ร่วมของโลกมุสลิม และในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดความตระหนักรับรู้กันขึ้นมาใหม่ว่า การเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนเป็นสิ่งที่มีทรงพลังเป็นสิ่งที่มีอำนาจชี้ขาด กระนั้นก็ตามที จากการที่ภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันยังคงขาดไร้ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันแท้จริง ดังนั้นภูมิภาคแถบนี้จึงน่าที่จะกลายเป็นสนามประลองกำลังแห่งใหม่ ระหว่างอิหร่านที่เป็นมุสลิมนิกายชิอะห์ และกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งมุสลิมนิกายสุหนี่อยู่ในฐานะครอบงำ

อย่างไรก็ดี ต้องตราไว้ด้วยว่าอิหร่านนั้นมีความเข้าอกเข้าใจดีว่า ในขณะนี้เป็นเพียงขั้นตอนระยะผ่าน ซึ่งการตั้งความหวังว่าจะมีการปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตถึงขั้นเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm change) --ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979 ที่ขับไล่โค่นล้มพระเจ้าชาห์-- ย่อมเป็นเพียงความฝันอันไกลห่างเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่อิหร่านดูจะมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินการ จึงอยู่ที่จะพยายามเจือจางลดทอนการกุมอำนาจ ตลอดจนเจือจางลดทอนบทบาทของเหล่าระบอบปกครองของฝ่ายสุหนี่ ที่ยังคงมีฐานะเหนือกว่าอย่างสุดกู่ในภูมิภาคแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, จอร์แดน, หรือ ตูนิเซีย

สภาพการณ์เช่นนี้น่าจะปรากฏออกมา ในรูปของการที่ประชาชนคนเดินถนนชาวอาหรับทั้งหลาย จะบังเกิดความขุ่นเคืองไม่พอใจกันมากขึ้น โดยที่อิหร่านวาดหวังว่ามันอาจจะช่วยให้ศาสนาอิสลามแบบนิกายชิอะห์เติบโตขยายตัวขึ้นในตะวันออกกลาง หากผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ย่อมจะกลายเป็นการเพิ่มพูนความล้ำลึกในทางยุทธศาสตร์ให้แก่อิหร่าน อีกทั้งยังเป็นไปได้ที่อาจจะนำไปสู่การฟื้นชีพขึ้นมาใหม่ของจักรวรรดิกาหลิปแห่งฟาติมิยะห์ (Fatimid caliphate) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในตูนิเซียและอียิปต์ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.909 ถึง 1171

ณ ช่วงจังหวะเวลาที่ระบอบปกครองมูบารัคกำลังร่อแร่จวนเจียนจะล้มครืนลงมา ขณะที่การปลุกระดมทางการเมืองตามท้องถนนของอาหรับก็ไม่มีท่าทางที่จะอ่อนกำลังลงไปนั้นเอง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ก็ได้ออกมากล่าวในพิธีละหมาดใหญ่วันศุกร์ในกรุงเตหะราน ซึ่งเป็นการออกมากล่าวในพิธีเช่นนี้ครั้งแรกในช่วงระยะเวลา 7 เดือน

“นี่แหละคือสิ่งที่มักถูกพูดถึงอยู่เสมอในฐานะที่เป็นการปรากฎของการตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม (Islamic awakening) ในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติอิสลามของประชาชาติแห่งชาวอิหร่านผู้ยิ่งใหญ่ (ในปี 1979) และมันก็กำลังแสดงตัวออกมาให้เห็นอีกในวันนี้” เขากล่าว

“การปฏิวัติของพวกเรากำลังสร้างแรงบันดาลใจและก็กลายเป็นแบบอย่างเพื่อการเจริญรอยตาม สืบเนื่องจากความวิริยะอุตสาหะ, ความมีเสถียรภาพ, และการยืนหยัดอยู่ในหลักการของการปฏิวัตินี้” คาเมเนอี พูดในอีกตอนหนึ่ง

“วันนี้ในอียิปต์ใครๆ ก็สามารถได้ยินเสียงของพวกท่านกำลังก้องสะท้อนดังอุโฆษ ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นั้น (จิมมี คาร์เตอร์) ผู้ซึ่งอยู่ในอำนาจในระหว่างการปฏิวัติ (อิหร่าน) ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่พวกท่านได้ยินในอียิปต์ฟังดูคุ้นหูมาก สิ่งที่กำลังได้ยินอยู่ในไคโรวันนี้คือสิ่งที่ได้ยินกันในเตหะรานในระหว่างวันเวลา (แห่งการดำรงตำแหน่ง) ของเขา” คาเมเนอี บอก เขายังพูดด้วยว่า พัฒนาการที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้ในแอฟริกาเหนือ เป็นผลลัพธ์ของ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิลาม ซึ่งตามหลังการปฏิวัติอิสลามอันยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิหร่าน”

ทางด้าน คามัล อัล ฮัลบาวี (Kamal al-Halbavi) ผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญคำแถลงคราวนี้ของคาเมเนอี ในระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาเปอร์เซีย นอกจากนั้นเขากล่าวด้วยว่าต้องการให้ประเทศอียิปต์ของเขาดำเนินการพัฒนาในทุกๆ ด้านแบบเดียวกับในอิหร่าน เขาบอกว่าอิหร่านกำลังประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกำลังกลายเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งของภูมิภาค

มาถึงตอนนี้ ขอให้เราพิจารณาข้อเขียนของ จิม โล้บ (Jim Lobe) แห่งสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service) ซึ่งเขียนถึงกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่า “กลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้รับการยอมรับว่าเป็นการรวมกลุ่มทางการเมืองที่มีการจัดตั้งจัดองค์กรอย่างดีที่สุดและมีระเบียบวินัยสูงที่สุด ความนิยมชมชื่นที่กลุ่มนี้ได้รับจากประชาชนนั้น เห็นกันว่าสืบเนื่องจากเครือข่ายให้บริการทางสังคมและบริการทางการแพทย์ของกลุ่ม ซึ่งมุ่งให้บริการแก่ภาคส่วนที่ยากจนของสังคม รวมทั้งเนื่องจากการที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยึดมั่นมาเป็นเวลายาวนานในจุดยืนที่คัดค้านระบอบปกครองมูบารัค ตลอดจนการที่พวกเขาถูกกล่าวโทษถูกจับกุมเล่นงานจากระบอบมูบารัค เป็นที่เชื่อกันว่ากลุ่มนี้ได้รับความจงรักภักดีของประชาชนถึงประมาณ 30% ของประชากรทั่วทั้งอียิปต์ทีเดียว

ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของอียิปต์เมื่อปี 2005 พวกผู้สมัครที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (ตัวกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเอง ถูกสั่งยุบเลิกอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1954) ชนะได้ที่นั่ง 20% ในรัฐสภาอียิปต์ แต่พวกเขากลับได้รับความสนับสนุนเพียงนิดเดียวเท่านั้นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทว่าตามความเห็นของพวกผู้สังเกตการณ์ทั้งในท้องถิ่นและในระดับระหว่างประเทศ การเลือกตั้งคราวหลังนี้มีการทุจริตคดโกงอย่างโจ๋งครึ่ม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Party) ที่เป็นพรรครัฐบาล และบัดนี้ด้วยสถานการณ์การเมืองที่พลิกผัน จึงถูกมองว่ากำลังมีอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง”

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าโต๊ะปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะออกจำหน่ายในเร็วๆ นี้ซึ่งใช้ชื่อ Inside Al-Qaeda and the Taliban 9/11 and Beyond จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Pluto Press สหราชอาณาจักร สำหรับที่อยู่ทางอีเมล์ของเขาคือ saleem_shahzad2002@yahoo.com
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
การต่อสู้ครั้งใหม่ในระหว่างพวก‘อิสลามิสต์’ภายหลังอียิปต์โค่น‘มูบารัค’(ตอนจบ)
เมื่อต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนครั้งยิ่งใหญ่มโหฬาร ฮอสนี มูบารัค ก็ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ที่เขาครอบครองมาเป็นเวลา 30 ปี ความเคลื่อนไหวคราวนี้น่าที่จะทำให้กลุ่ม “ภราดรภาพมุสลิม” ที่เป็นพวกนิกายสุหนี่ กลับผงาดโดดเด่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ขณะที่อิหร่านก็ประกาศให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” คราวนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อิหร่านซึ่งเป็นพวกนิกายชิอะห์ กับพวกอิสลามิสต์ฝ่ายสุหนี่ อาจจะอยู่ข้างเดียวกันได้เป็นการชั่วคราว แต่ในที่สุดแล้วก็จะต้องเกิดการปะทะกันในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น