xs
xsm
sm
md
lg

‘กลุ่มภราดรภาพมุสลิม’กับการเมืองอียิปต์

เผยแพร่:   โดย: เปเป เอสโคบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The Brotherhood factor
By Pepe Escobar
01/02/2011

เสียงเรียกร้องบนท้องถนนในอียิปต์ให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ตีตั๋วเดินทางแบบออกไปเที่ยวเดียวไม่ต้องกลับมาอีก จะหล่อหลอมเส้นทางไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นเสรีและยุติธรรม รวมทั้งจะทำให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (มุสลิม บราเธอร์ฮูด) มีบทบาทในคณะรัฐบาล ตรงกันข้ามกับเสียงไซเรนร้องหวอๆ ของพวกฝ่ายขวานักเตือนภัย ภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ได้กำลังถูกครอบงำด้วย “ความศรัทธาแรงกล้าแบบอิสลามิสต์” อีกทั้งในอียิปต์แห่งอนาคตยุคหลังปฏิวัตินั้น ไม่น่าเป็นไปได้หรอกที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งปฏิเสธความรุนแรงและค้อมศีรษะยอมรับประชามติส่วนใหญ่ที่ต้องการให้แยกศาสนาออกจากการเมือง จะกลับมาหลอกหลอนสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ฝ่ายตะวันตก

(หมายเหตุผู้แปล – บทความชิ้นนี้ เปเป เอสโคบาร์ เขียนเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2011 ซึ่งการต่อสู้ของผู้ชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสตอห์รีร์ในกรุงไคโร เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ยังไม่ปรากฏผลชัดเจน ดังนั้น เนื้อหาจำนวนมากของบทความนี้จึงล้าสมัยเสียแล้ว แต่ในส่วนที่พูดถึงกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ยังมีความน่าสนใจอยู่มาก จึงขอตัดทอนเฉพาะช่วงดังกล่าวมานำเสนอในที่นี้)

กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood หรือ MB) มักทำให้ทั่วทั้งโลกตะวันตกเกิดความหวาดกลัวหวั่นผวา เนื่องจากระบอบปกครองฮอสนี มูบารัค ประสบความสำเร็จในความพยายามเปรียบเทียบพวกเขาว่าเหมือนๆ กับพวกอัลกออิดะห์ ทว่านี่ช่างไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง

กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ก่อตั้งขึ้นโดย ฮาซาน อัล บานนา (Hasan al-Banna) ที่เมืองท่า อิสมาเลีย (Ismailia) ในปี 1928 จากนั้นก็โยกย้ายมาอยู่ที่กรุงไคโร ในเบื้องต้นเลยกลุ่มนี้มุ่งรวมศูนย์ให้ความสนใจกับการจัดหาบริการต่างๆ ทางสังคม, การก่อตั้งมัสยิด โรงเรียน และโรงพยาบาล เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ ทศวรรษ MB ก็สามารถฟันฝ่าก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองฝ่ายเคร่งจารีตพื้นฐานของอิสลาม ซึ่งทรงความสำคัญที่สุดในแวดวงนิกายสุหนี่ นอกจากนั้นยังมีฐานะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายไม่เห็นพ้องกับรัฐบาลพรรคใหญ่ที่สุดในอียิปต์ ด้วยจำนวนที่นั่ง 88 ที่นั่งในสภาล่างของประเทศที่มีทั้งสิ้น 454 ที่นั่ง

ในปัจจุบัน MB ไม่ได้ให้การรับรองสนับสนุนการใช้ความรุนแรง –ถึงแม้ทางกลุ่มจะเคยทำเช่นนั้นมาในอดีต จวบจนกระทั่งถึงทศวรรษ 1970 ก็ตามที รัศมีฉายฉานแห่งการใช้ความรุนแรงของ MB ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับ ไซยิด กุตบ์ (Sayyid Qutb) บุคคลผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับการยกย่องนับถือในระดับตำนาน โดยที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าเขาคือบิดาทางจิตวิญญาณของอัลกออิดะห์ กุตบ์นั้นเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมที่เคยผ่านการศึกษาในสหรัฐฯ เขาเข้าร่วมกับ MB ในปี 1951 และอีกหลายปีต่อมาก็ประกาศแยกตัวออกไป

แนวความคิดหลายๆ ด้านของ กุตบ์ มีความแตกต่างอย่างรุนแรงจากแนวความคิดของ อัล บานนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดของกุตบ์ว่าด้วย “ผู้เป็นกองหน้า” (vanguard) ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับของ เลนิน (Lenin) มากกว่าอัลกุรอาน เขามีความมั่นอกมั่นใจว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็น “สิ่งที่ล้มเหลว” ในโลกอิสลาม (ไม่เหมือนกับชาวอียิปต์จำนวนมากมายท่วมท้นในเวลานี้ ผู้ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่ม MB ยังเป็นผุ้มีส่วนอย่างเต็มที่ในภาคประชาสังคมและในสังคมทางการเมือง) กุตบ์ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะจัดให้เป็นนักคิดผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในหมู่นักคิดสมัยใหม่ที่เป็นแนวนิยมอิสลามด้วยซ้ำไป ความคิดอิสลามแบบการเมืองกระแสหลักในปัจจุบัน ซึ่งสามารถติดตามได้จากคณะผู้นำนักการศาสนาแห่ง อัล อัซฮาร์ (al-Azhar) ในกรุงไคโร ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับเขาอย่างชนิดไร้เยื่อใย

ตรงกันข้ามกับการโฆษณาชวนเชื่อของพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) ของสหรัฐฯ กลุ่ม MB ยังไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับพวกขบวนการลัทธิฟาสซิสต์ (fascist) ในยุโรปช่วงทศวรรษ 1930 หรือกับพวกพรรคแนวทางสังคมนิยมทั้งหลาย (แท้ที่จริงแล้ว พวกเขานิยมชมชื่นกับแนวคิดที่ให้มีทรัพย์สินเอกชนด้วยซ้ำไป) เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด กลุ่มภราดรภาพมุสลิมคือขบวนการชนพื้นเมืองที่เป็นชนชั้นกลางระดับล่างและเป็นพวกอาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ทั้งนี้ตามการให้คำจำกัดความของ ฮวน โคล (Juan Cole) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กระทั่งตั้งแต่ก่อนที่การปฏิวัติคราวนี้จะปะทุขึ้นเสียอีก กลุ่ม MB ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะโค่นล้มระบอบปกครองมูบารัค ทว่าจะดำเนินการอย่างสันติและอาศัยวิถีทางการเมือง

กลุ่มภราดรภาพมุสลิมของชาวอิรัก (Iraqi Muslim Brotherhood) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 ที่เมืองโมซุล (Mosul) ปัจจุบันคือ พรรคอิสลามิสต์ชาวอิรัก (Iraqi Islamic Party) พรรคนี้เป็นผู้แสดงทางการเมืองรายสำคัญรายหนึ่งที่มักมีการสนทนาพูดจากับวอชิงตันอยู่บ่อยๆ ส่วนในอัฟกานิสถานนั้น พรรคจามิอัต-ไอ อิสลามี (Jamiat-I Islami) คือพรรคที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่ม MB

แน่นอนทีเดียวว่ากลุ่ม MB ไม่ได้เป็นพวกที่ปฏิเสธเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านสติปัญญา

สมาชิกของกลุ่มนี้เรียกได้ว่ามีอยู่ทุกหนทุกแห่งในท้องถนนสายต่างๆ ของการปฏิวัติอียิปต์คราวนี้ ทว่ามีความระมัดระวังมากที่จะไม่แสดงท่าทีที่ทำให้รู้สึกว่าก้าวร้าวระคายเคือง ตามคำพูดของโฆษก กาเมล นัสเซอร์ (Gamel Nasser) พวกเขามองตัวเองว่าเป็นเพียงภาคส่วนเล็กๆ ภาคส่วนหนึ่งของการปฏิวัติคราวนี้ และการปฏิวัติครั้งนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของอียิปต์ –ไม่ใช่ของอิสลาม

บางคนอาจจะยกเหตุผลข้อโต้แย้งเดิมๆ ขึ้นมาอีกว่า นี่ก็เป็นสิ่งที่พวกนักการศาสนาทั้งหลายเคยพูดไว้ในกรุงเตหะราน ในช่วงที่กำลังเกิดการปฏิวัติอิสลามอิหร่านปี 1978-1979 แต่ในตอนนั้นพระเจ้าชาห์ถูกโค่นล้มโดยทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งก็รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์อิหร่านด้วย จากนั้นพวกนักการศาสนาจึงได้เข้ายึดครองอำนาจ –ด้วยวิธีใช้ความรุนแรง เมื่อพิจารณาดูจากภูมิหลังของกลุ่มนี้ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่แสดงให้เห็นว่า MB จะไปสู่ข้อสรุปที่จะพยายามเคลื่อนไหวอย่างเดียวกันนี้

เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนภายนอกที่จะจินตนาการได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่า การกดขี่ปราบปรามของกลไกรัฐ/ตำรวจ ของมูบารัคนั้นมีความหฤโหดเหี้ยมเกรียมขนาดไหน ระบบนี้พึ่งพิงอาศัยกำลังตำรวจจำนวน 1.5 ล้านคน ซึ่งก็คือมีกำลังมากกว่ากองทัพถึง 4 เท่าตัว เงินเดือนของตำรวจเหล่านี้ส่วนใหญ่ทีเดียวได้มาจาก “ความช่วยเหลือ” ของสหรัฐฯที่อยู่ในระดับ 1,300 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยที่ “ความช่วยเหลือ” ดังกล่าวก็มีความมุ่งหมายที่จะให้มีการปราบปรามอย่างหนักหน่วงสาหัสจริงๆ ต่อชนชั้นผู้ใช้แรงงาน และในทางเป็นจริงก็กระทำต่อองค์กรก้าวหน้าทั้งหลายทุกๆ องค์กรด้วย

สภาพของสิ่งต่างๆ เช่นนี้ อันที่จริงได้ถูกจัดวางเอาไว้จนเข้าที่เข้าทางก่อนที่มูบารัคจะขึ้นครองอำนาจเสียอีก แน่นอนทีเดียวว่า ประวัติศาสตร์จะต้องตั้งคำถามตรงๆ เอากับผีของอดีตประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) ซาดัตเป็นผู้สร้างเสาหลัก 3 ประการขึ้นมา เพื่อทำให้การดำเนินนโยบาย “อินติฟะห์” (intifah แปลว่า “การเปิดประตู” ซึ่งในกรณีของซาดัต คือการผ่อนคลายการควบคุมเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนและการลงทุนจากต่างชาติ -ผู้แปล) ของเขาประสบผล อันได้แก่ ไอเอ็มเอฟคอยให้คำปรึกษาแนะนำเขาในการสร้างเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกแบบหยาบๆ ขึ้นมา, ตัวเขาพยายามยักย้ายฉวยใช้ประโยชน์จากศาสนาเพื่อให้ได้เงินทุนสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย และก็เป็นการตัดกำลังกลุ่ม MB ไปด้วย, นอกจากนั้นเขายังได้รับเงินจำนวนหลายพันหลายหมื่นล้านจากสหรัฐฯ จากการยอมทำข้อตกลงกับอิสราเอล ทั้งนี้ผลพวงสำคัญที่สุดที่ต้องเกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการดำเนินการต่างๆ ทั้งหมดเล่านี้ ก็คือรัฐตำรวจอันใหญ่โตมหึมา โดยที่ตำรวจเล่านี้ก็มีความโน้มเอียงเฉกเช่นเดียวกับกลไกการปราบปรามอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวง ในการมุ่งบดขยี้ทำลายล้างองค์กรของพวกชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

**ยาถอนพิษ “อัลกอดิอะห์”**

แม้กระทั่งในเวลาที่กำลังถูกทำลายอย่างหนักหน่วงในระหว่างช่วงเวลาหลายทศวรรษของยุคซาดัตและยุคมูบารัค อย่างน้อยที่สุดกลุ่ม MB ก็ยังสามารถรักษาโครงสร้างเอาไว้ได้ ถ้าหากมีการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรมขึ้นมาแล้ว เป็นที่แน่นอนทีเดียวว่า MB จะได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยที่สุด 30%

พวกสื่อมวลชนภาคบรรษัทระดับโลกทั้งหลาย ย่อมสามารถที่จะเรียนรู้อะไรขึ้นมาบ้าง หากเพียงแค่พยายามเดินเตร็ดเตร่เข้าไปในสำนักงานของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ในกรุงไคโร, ใน เอล มาเลค เอลซาเละห์ (El Malek El Saleh) โมฮัมเหม็ด บาดิอี (Mohammed Badie) หัวหน้าคนใหม่ของ MB มีความสนใจห่วงใยกับเรื่องราวทางสังคมมากกว่าเรื่องราวทางการเมือง เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่ลงท้ายแล้วอียิปต์จะกลายเป็นรัฐอิสลามขึ้นมา เขาก็ยืนยันว่าการตัดสินใจเรื่องนี้จะกระทำ “โดยประชาชน”

แตกต่างไปจากบาดิอี สำหรับ เชริฟ อับดุล มักด์ (Sherif Abul Magd) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเฮลวาน (Helwan University) และเป็นหัวหน้าของ MB ในเมืองกิซา (Giza) เขาแสดงอาการช่างพูดช่างอวดยิ่งกว่ามากในเวลาที่เขาให้สัมภาษณ์ ลา สตัมปา (La Stampa) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี เขาแสดงความระมัดระวังโดยชี้ว่า พวกผู้ประท้วงไม่ควรที่จะเป็นศัตรูกับฝ่ายทหาร แต่เขาก็ย้ำว่า “คนของเราเข้าควบคุมถนนสายต่างๆ เอาไว้แล้ว”

ข้อมูลสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่ได้จากมักด์ก็คือ เขาบรรยายให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ของ MB สำหรับขั้นตอนต่อไป นั่นคือ การมีนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ซึ่งควรที่จะเพิ่มผู้พิพากษาเข้าไปอีก 5 คน เพื่อจัดตั้งขึ้นเป้นคณะกรรมาธิการของประธานาธิบดีทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่ และจากนั้นก็เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งรัฐสภา และเลือกตั้งประธานาธิบดี

มักด์กล่าวยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “รัฐแบบอิสลามไม่ได้มีความขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยเลย –แต่ประชาชนควรที่จะสามารถเลือกได้ (ว่าต้องการรัฐแบบนี้หรือไม่)” สำหรับท่าทีต่ออิสราเอลนั้น วอชิงตันย่อมจะทราบดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังจะต้องรู้สึกตื่นตัวระวังภัยอยู่นั่นเอง นั่นก็คือ MB ไม่เชื่อใน “กระบวนการสร้างสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์” ซึ่งอันที่จริงในปัจจุบันก็อยู่ในสภาพของซากศพทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่านั้น มักด์บอกว่า “สันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าหากไม่ทำข้อตกลงกับกลุ่มฮามาส” ส่วนความเห็นของเขาที่มีต่ออัลกออิดะห์นั้น มักด์บอกว่า “ทุกวันนี้ก็ยังเหลือแต่การแทรกแซงของซีไอเอเท่านั้น ที่นำมาใช้เป็นเหตุผลความชอบธรรมของสงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้าย”

ชาวอาหรับตามท้องถนนสายต่างๆ ทราบดี (และส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย) ในข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิมคัดค้านข้อตกลงแคมป์เดวิดปี 1978 (1978 Camp David accords) เสมอมา และไม่ยอมให้การรับรองอิสราเอล ในทางยุทธศาสตร์แล้ว MB ตระหนักดีว่าการรีบแสดงจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจนในตอนนี้ เป็นเรื่องที่มีแต่โทษมีแต่เสีย แต่ถ้าในเวลาต่อไปข้างหน้ามันก็ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งยวดนั้นอยู่ที่ว่า MB ประกาศอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ว่า คัดค้านการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน --และดังนั้นจึงปฏิเสธอย่างเด็ดขาดไม่ยอมรับอัลกออิดะห์ กลุ่ม MB ที่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง และมีความคึกคักกระตือรือร้นยิ่งในการเมืองภาคประชาชนในอียิปต์ ย่อมไม่สามารถหลอกหลอนทำให้ฝ่ายตะวันตกเกิดความตื่นตระหนก ยิ่งกว่านั้น ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองแบบอิสลามที่ปักหลักมั่นคงแล้วพรรคหนึ่ง MB ย่อมเป็นยาถอนพิษความคลั่งไคล้ไหลหลงแบบอัลกออิดะห์ อย่างชนิดที่หายาตัวอื่นๆ มาเทียบเทียมได้ยาก

ตรงกันข้ามกับเสียงไซเรนร้องหวอๆ ของพวกฝ่ายขวานักเตือนภัย ภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ได้กำลังถูกครอบงำด้วย “ความศรัทธาแรงกล้าแบบอิสลามิสต์” (Islamic fervor) แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถค้นพบได้ในจังหวะเวลานี้ ก็คือ ความเลวทรามต่ำช้าในทางศีลธรรมที่มีอยู่อย่างมากมาย ในหมู่พวกระดับบนๆ ของผู้ที่อยู่ผิดข้างของประวัติศาสตร์

จุดยืนของอิสราเอลเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายตัวเองได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่หนังสือพิมพ์เยรูซาเลมโพสต์ (Jerusalem Post) บรรยายถึงการปฏิวัติที่อียิปต์คราวนี้เอาไว้ว่า เป็น “ภัยพิบัติหายนะครั้งร้ายแรงที่สุดภายหลังจากการปฏิวัติของอิหร่าน” ตลอดจนการที่คอลัมนิสต์รายหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ฮาอาเรตซ์ (Ha'aretz) ป่าวร้องว่า โอบามาทรศต่อ “ประธานาธิบดีเดินแนวทางสายกลางของอียิปต์ ผู้ซึ่งยังคงมีความภักดีต่อสหรัฐฯ, ยังคงส่งเสริมเสถียรภาพ และกระตุ้นสนับสนุนให้เกิดการเดินทางสายกลาง”

สำหรับ มาหมุด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีขององค์การบริหารกิจการปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) เขาโทรศัพท์ถึงมูบารัคเพื่อแจ้งให้ทราบว่าเขารู้สึกเสียใจขนาดไหนเกี่ยวกับความปั่นป่วนยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นนี้ทั้งหมด จากนั้นก็สั่งให้พวกนักเลงอันธพาลของเขาเข้าไปหยุดยั้งชาวปาเลสไตน์ที่กำลังชุมนุมเดินขบวนแสดงการสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในอียิปต์

ไม่ต้องสงสัยกันเลยว่า ถ้าหาก MB เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐบาลอียิปต์ เป็นรัฐบาลของชาวอียิปต์ซึ่งมีอธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ก็จะต้องมีการเจรจาตกลงกันใหม่ (MB นั้นชมชอบที่จะให้จัดการลงประชามติ) และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราก็จะสามารถเข้าอกเข้าใจถึงหัวใจของเรื่องทั้งหมด นั่นก็คือ ภายหลังการปฏิวัติคราวนี้ ผลประโยชน์ของสหรัฐฯและของอิสราเอลก็จะไม่สามารถบรรจบสอดคล้องกันได้อีกต่อไป แม้กระทั่งในฐานะที่เป็นทางเลือกอันมีแต่มายาภาพ

นี่ไม่ใช่เป็นการปฏิวัติเพื่อต่อต้านอเมริกัน มันเป็นการปฏิวัติที่ต่อต้านระบอบปกครองที่สนับสนุนโดยอเมริกัน รัฐบาลยุคหลังมูบารัคที่เป็นรัฐบาลอันมีอำนาจอธิปไตยและถูกต้องตามกฎหมาย จักไม่สามารถที่จะเป็นหุ่นเชิดของวอชิงตัน และนั่นย่อมส่งผลกระทบอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างมากมายต่อภูมิภาคแถบนี้ ทว่านั่นเป็นเรื่องที่ไปไกลเกินเลยจาก MB แล้ว มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวใจของผู้คนหลายร้อยล้านในโลกอาหรับ ซึ่งเป็นไปได้ว่ากำลังอยู่บนปากขอบของการเปลี่ยนแปลงอันมากมายมโหฬารน่าตื่นใจยิ่ง

เปเป เอสโคบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War” (สำนักพิมพ์ Nimble Books, ปี 2007) และเรื่อง “Red Zone Blues: a snapshot of Baghdad during the surge” หนังสือเล่มใหม่ของเขาคือเรื่อง “Obama does Globalistan” (สำนักพิมพ์ Nimble Books, ปี 2009) ทั้งนี้สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ที่ pepeasia@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น