xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์ “สุทธิชัย หยุ่น” ในสถานการณ์ “ขบวนชนล้านคน”

เผยแพร่:   โดย: สุนทร จันทร์รังสี

​สุทธิชัย หยุ่น นักสื่อสารมวลชนคนสำคัญที่มีเครือข่ายมากมายเขียนไว้ใน “คนบ้าข่าว” ซึ่งเป็นกรอบความคิดของเขาในหัวข้อเรื่อง “หน้าผาวิกฤตศรัทธา” เมื่อวันที่ ๒๓ พ.ย.๕๕ ก่อนที่จะเป็นวันพิพากษารัฐบาลชินวัตร ในวันที่ ๒๔ พ.ค. ๕๕ ว่า

​“ประชาธิปไตย” ที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต้องการเห็น ก็คือ การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง “อย่างมีอารยะ” ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายชุมนุม เห็นพ้องกับรัฐบาล และฝ่ายรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล ล้วนแล้วแต่ต้องเคารพในกติกาที่คนส่วนใหญ่ต้องการเห็น

นั่นคือ การรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในกระบวนการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็เคารพในเสียงส่วนน้อยที่มีความเห็นต่าง

วันนี้ เรายังไม่เห็นว่าปรากฏการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะว่าต่างฝ่ายต่างมุ่งที่จะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่สนใจว่าประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเมืองทั้งสองฟากมีความเบื่อหน่าย เอียนระอา และเสื่อมศรัทธาต่อการอ้างถึง “ประชาธิปไตย” ของทั้งสองฝั่งอย่างไร

​การประกาศจะ “ล้มรัฐบาล” ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่สนใจว่ามีกระบวนการในครรลองของกฎหมายในรัฐสภาอยู่แล้ว ย่อมถือว่าไม่เป็นไปตามกติกาแห่งอารยะ

​“การเมืองภาคประชาชน” มิได้หมายถึงการเอาจำนวนคนมารวมตัวกัน และตะโกนให้ใครขึ้นหรือลงจากอำนาจทางการเมืองได้

​การเมืองภาคประชาชนที่แท้จริง ย่อมหมายถึงการเสนอความเห็น ข้อมูล ข้อเท็จจริง ทางออกของปัญหาเพื่อให้สังคมได้รับทราบ และประเมินการตัดสินใจที่ตนมีต่อผู้ปกครองในขณะนั้น

​พญาอินทรีในวงการสื่อสารมวลชน “สุทธิชัย หยุ่น” สรุปความคิดไว้เช่นนี้ สร้างความฉงนให้แก่ผมเป็นล้นพ้น

​เพราะปกติแล้วความคิดของคุณสุทธิชัย น่าฟังน่าคิดควรติดตามเสมอ แต่วันนี้ไม่ทราบว่าอะไรทำให้ความคิดของคุณสุทธิชัยเปลี่ยนไปและแคบเกินไป หรือเพราะว่าใครไปลืมถุงขนมใบโตไว้ในห้องทำงาน???

​การปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามที่คุณสุทธิชัยว่ามานั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงของไทยวันนี้คือ การปกครองระบอบธนาธิปไตยต่างหาก และไม่เพียงแต่ใช้เงินมหาศาลกรุยทางเข้าสภาเท่านั้น หากแต่ยังกระทำการทุจริตผิดกฎหมายทุกขั้นตอนอีกด้วย ที่ร้ายกว่านั้นก็คือเงินที่นำมาทุ่มเทนั้นก็เป็นเงินสกปรกสามานย์จากการทำผิดกฎหมายทั้งนั้น

​อีกทั้งในหลักการประชาธิปไตยนั้นแยกการบริหารเป็น ๓ ส่วน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

​แต่รัฐบาลชินวัตรไม่ว่าจะเชิดใครขึ้นมา ก็พยายามจะรวบอำนาจทั้ง ๓ ส่วนมาอยู่ในกำมือ เพื่อที่จะทุกสิ่งได้ตามใจชอบ..คุณสุทธิชัยไม่เคยทราบเลยหรือ?

​แล้วมันจะเกิดอารยะได้อย่างไรครับพ่อแม่พี่น้องเอ๋ย???

​ตั้งแต่เมื่อ ๒๐๐ ปีแก่ๆ ที่ผ่านมา จอห์น ล็อค (John Locke, ค.ศ.๑๖๓๒-๑๗๐๔) นักปราชญ์ชาวอังกฤษประกาศสัจธรรมว่า สังคมรัฐจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีประชาชน และผู้ปกครองรัฐจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนยอมรับเท่านั้น โดยเฉพาะต้องปกครองรัฐโดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นที่ตั้ง หากผู้ปกครองทำหน้าที่โดยไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ประชาชนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ปกครองจะไม่มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

​“ล็อค” ย้ำว่า “ประชาชนมีสิทธิล้มรัฐบาลได้ ถ้ารัฐบาลขาดความชอบธรรมและความยุติธรรม เข้าทำนองว่า เมื่อประชาชนเลือกท่านได้ ประชาชนก็ไล่ท่านได้เหมือนกัน ถ้ารัฐบาลเอาแต่ผลประโยชน์ของตนเองแล้ว ประเทศก็จะอยู่ต่อไปไม่ได้เลย

ประชาชนมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและมีอำนาจอย่างจำกัด”

และสุดท้าย “ล็อค” ยืนยันว่า อำนาจจะต้องถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ อำนาจในการตรากฎหมายเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติและอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายเป็นของฝ่ายบริหารและตุลาการ

​จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้วเนี่ยจะเห็นได้ว่า “ล็อค” มีแนวคิดเป็นแบบเสรีนิยม ประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพโดยมีขอบเขตุจำกัดอยู่ในรูปแบบของกฎหมายเพื่อบังคับไม่ ให้คนในสังคมละเมิดเพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง

​สอดคล้องกับแนวทางของนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส คนสำคัญคือ มงเตสกิเยอ (Mongtesquieu, ค.ศ. ๑๖๘๗-๑๗๕๕) ที่กล่าวถึงหลักสำคัญในการปกครองคือ การแบ่งแยกอำนาจ (Separation des Pouvoirs) ว่าอำนาจในการปกครองรัฐ จะต้องไม่ตกอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง หรือโดยกลุ่มใดกลุ่มเดียว มิฉะนั้นประชาชนจะถูกรังแกไม่ได้รับการดูแล ประชาชนจะเดือดร้อนจากการถูกลิดรอนและจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ดังนั้นควรแยกอำนาจปกครองออกเป็น ๓ ส่วน แต่ไม่ใช่แยกกันโดยเด็ดขาด จะต้องประสานและถ่วงดุลย์อำนาจกันระหว่าง อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

​ในความคิดเห็นของผมแล้ว คุณสุทธิชัยพลาดอย่างมหันต์เมื่อเข้าใจ"การเมืองภาคประชาชน"ตามที่กล่าวว่า มิได้หมายถึงการเอาจำนวนคนมารวมตัวกัน และตะโกนให้ใครขึ้นหรือลงจากอำนาจทางการเมืองได้ ..

​ผมไม่อยากจะเชื่อว่า คุณสุทธิชัยไม่รู้จัก “อาหรับสปริง” (Arab Spring) ซึ่งเป็นคลื่นการปฏิวัติของประชาชนชาวอาหรับที่ลุกฮือกันขึ้นมาล้มล้างรัฐบาลเผด็จการตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๕๕๓ โดยเริ่มต้นจากตูนิเซียและลุกลามกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วทั้งแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายต่อหลายประเทศในกลุ่มอาหรับ

​ชาวตูนิเซียที่ทุ่มเทต่อสู้กับรัฐบาลทรราช กระทั่งประธานาธิบดีเบน อาลี ต้องหนีออกนอกประเทศ พลันก็เกิดการปฏิวัติอียิปต์ซึ่งนำไปสู่การโค่นล้มฮอสนี มูบารัค ประธานาธิบดีเผด็จการ จากนั้นก็ถึงคราวของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียจอมเหี้ยมรวมถึงซีเรียและอีกหลายประเทศอาหรับ

​เหล่านี้แหละคือ การเมืองภาคประชาชนของจริง ที่พร้อมจะปกป้องสิทธิและความเป็นอยู่ของเขา

​และจะเลวร้ายที่สุด หากคุณสิทธิชัยจะกล้าบอกว่า ไม่รู้จักปรากฏการณ์ Millennium March ซึ่งผมขอให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ขบวนชนล้านคน"โดยไม่จำเป็นต้องเดินขบวน ปรากฏทั่วไปในหลายประเทศ หรือแม้แต่ในกรุงวอชิงตันดี.ซี.

​และกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในกรุงเทพฯประเทศไทยของเรา ในอีกไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมงนี้ ภายใต้การนำของทหารแก่เจ้าของฉายา “เสธ.อ้าย"

​ขอแนะนำคุณสุทธิชัยด้วยความปรารถนาดีในฐานะที่เคยร่วมงานในวงการเดียวกันว่า “คุณควรจะใช้ยาปลูกผมหรือใช้ผมปลอมปกป้องมันสมองอัจฉริยะของคุณบ้างนะ”

สุนทร จันทร์รังสี
อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550

กำลังโหลดความคิดเห็น