xs
xsm
sm
md
lg

การต่อสู้ครั้งใหม่ในระหว่างพวก‘อิสลามิสต์’ภายหลังอียิปต์โค่น‘มูบารัค’(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The beginning of a new struggle
By Syed Saleem Shahzad
12/02/2011

เมื่อต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนครั้งยิ่งใหญ่มโหฬาร ฮอสนี มูบารัค ก็ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ที่เขาครอบครองมาเป็นเวลา 30 ปี ความเคลื่อนไหวคราวนี้น่าที่จะทำให้กลุ่ม “ภราดรภาพมุสลิม” ที่เป็นพวกนิกายสุหนี่ กลับผงาดโดดเด่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ขณะที่อิหร่านก็ประกาศให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” คราวนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อิหร่านซึ่งเป็นพวกนิกายชิอะห์ กับพวกอิสลามิสต์ฝ่ายสุหนี่ อาจจะอยู่ข้างเดียวกันได้เป็นการชั่วคราว แต่ในที่สุดแล้วก็จะต้องเกิดการปะทะกันในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

กลุ่มภราดรภาพมุสลิมและแนวความคิดอุดมการณ์ของกลุ่มนี้ ได้หยั่งรากอย่างล้ำลึกในบรรดากลุ่มอิสลามิสต์ (ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดเป็นมุสลิมนิกายชิอะห์) ในอิหร่าน และได้ส่งอิทธิพลอย่างมากมายต่อการต่อสู้ของพวกเขาในช่วงกลางทศวรรษ 1960 จนถึงทศวรรษ 1970 อิทธิพลอันลึกซึ้งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอยู่ในงานเขียนของ ดร.อาลี ชาเรียตี (Dr Ali Shariati ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1933 – 1977) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักทฤษฎีผู้เสนออุดมการณ์สำหรับการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ทั้งนี้ชาเรียตีได้อ้างอิงผลงานของ ไซเอด กุตบ์ (Syed Qutb) แห่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมของอียิปต์ อยู่บ่อยครั้ง

ภายหลังที่เกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นในอิหร่าน ประเทศนี้ก็ได้กลายเป็นพลังดึงดูดหลักเบื้องหลังบรรดากลุ่มพลังฝ่ายอิสลามิสต์ทั้งหลายในโลก คอลิด อิสลามโบวลี (Khalid Islambouli) นักรบญิฮัดซึ่งมีสายสัมพันธ์โยงใยอยู่กับ น.พ.อัยมาน อัล ซอวาฮิรี (Dr Ayman al-Zahawari) รองหัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์ในปัจจุบัน ได้ก่อเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) แห่งอียิปต์เมื่อปี 1981 ในเวลานั้นรัฐบาลอิหร่านซึ่งต้องการตอบโต้ต่อการที่ซาดัตยอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล ตลอดจนการที่เขายินยอมให้พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านผู้ถูกโค่นล้มไปพำนักลี้ภัยอยู่ระยะหนึ่งในอียิปต์ ได้จัดแจงขนานนามถนนสายหนึ่งในกรุงเตะหรานเสียใหม่ตามชื่อของอิสลามโบวลี เพื่อเป็นการยกย่องปฏิบัติการของเขา หลังจากที่อิสลามโบวลีถูกลงโทษประหารชีวิตแล้ว รูโฮลเลาะห์ โคไมนี (Ruhollah Khomeini) ผู้นำสูงสุดของอิหร่านในเวลานั้น ยังได้ประกาศยกย่องเขาเป็นผู้สละชีพเพื่อศาสนา นอกจากนั้นอิหร่านยังเสนอให้ที่พำนักลี้ภัยแก่บรรดาสมาชิกในครอบครัวของอิสลามโบวลีอีกด้วย

ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น นั่นคือ ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 อันเป็นช่วงเวลาที่ระบอบปกครองอิยิปต์ทำการปราบปรามกวาดล้างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอย่างเลวร้ายที่สุด อิหร่านก็ได้กลายเป็นบ้านแห่งที่สองของพวกผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจำนวนมาก นอกจากนั้นภายหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีก่อวินาศกรรมสหรัฐฯในวันที่ 11 กันยายน 2001 อิหร่านยังได้ให้ที่พำนักหลบภัยแก่พวกผู้นำระดับสูงของอัลกออิดะห์อีกด้วย (ดูเรื่อง How Iran and al-Qaeda made a deal Asia Times Online, April 30, 2010, และเรื่อง Broadside fired at al-Qaeda leaders Asia Times Online December 10, 2010.)

ปัจจุบันอิหร่านยังคงเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของ 2 องค์กรหลักของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในปาเลสไตน์ ซึ่งได้แก่ กลุ่มฮามาส (Hamas) และกลุ่ม อิสลามิก ญิฮัด (Islamic Jihad)

การที่ขบวนการอิสลามิสต์ทั้งหลายให้การสนับสนุนการปฏิวัติในอิหร่าน และการที่อิหร่านก็ให้การสนับสนุนพวกองค์กรเหล่านี้ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพวกสุหนี่-ซาลาฟี (Sunni-Salafi) นั้น พวกขบวนการอิสลามิสต์เห็นกันว่าเป็นอะไรที่อาจเรียกว่า “การเข้าเป็นพวกเดียวกันสืบเนื่องจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์” (historic comprise)

กลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ได้รับการหนุนหลังจากซาอุดีอาระเบีย ก็ได้เคยให้การสนับสนุนการปฏิวัติในอิหร่าน ด้วยจุดประสงค์ที่จะยุติราชวงศ์ชิอะห์ของพระเจ้าชาห์ซึ่งสืบทอดสายโลหิตกันมาอย่างบริสุทธิ์สูงส่ง โดยที่ข้ออ้างเรื่องความบริสุทธิ์สูงส่งนี้เอง ได้ผสมผสานอย่างลึกซึ้งเข้าไปอยู่ในอคติที่มุ่งแยกตัวไม่ปะปนกับพวกอาหรับและพวกเติร์ก นอกจากนั้นราชวงศ์นี้ยังเป็นความต่อเนื่องของจักรวรรดิซาฟาวิด (Safavid empire) ซึ่งพวกบรรพบุรุษของราชวงศ์นี้ได้เปลี่ยนไปนับถืออิสลามนิกายชิอะห์ในปี 1501 เพื่อสร้างข้ออ้างสำหรับการไม่ยอมรับชาวเติร์กออตโตมัน (Ottomon Turks) เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งจักรวรรดิกาหลิปของตน ด้วยเหตุนี้ นักทฤษฎีผู้เสนออุดมการณ์ให้แก่การปฏิวัติอิหร่านอย่าง ดร.อาลี ชาเรียตี จึงขนานนามจักรวรรดิซาฟาวิด และลัทธิชิอะห์ของพระเจ้าชาห์ ว่าเป็น “ลัทธิชิอะห์สีดำ” (Black Shi'ism) โดยเจือด้วยอคติและลักษณะที่ไม่เป็นอิสลามจำนวนมาก

ดังนั้น กลุ่มภราดรภาพมุสลิมจึงตั้งความหวังเอาไว้ไม่ใช่น้อยๆ ให้แก่ “ลัทธิชิอะห์สีแดง” (Red Shi'ism) ของชาเรียตี ซึ่งมีรากเหง้าอิงอยู่กับคัมภีร์กุรอาน อิงอยู่กับชีวิตของศาสดามุฮัมมัด และชีวิตของลูกหลานของศาสดามุฮัมมัด (บานี ฟาติมะห์ Bani Fatima) ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มภราดรภาพมุสลิมจึงถือว่าการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน จะเป็นเพื่อนมิตรของประชาชาติอาหรับ กระนั้นก็ตามที มันก็สามารถมองได้ว่า นี่คือการจับมือเป็นพันธมิตรกันทางยุทธศาสตร์ของพวกอิสลามิสต์ทฝ่ายชิอะห์และฝ่ายสุหนี่ เพื่อผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกันของพวกเขา นอกจากนั้น พวกอิสลามิสต์ฝ่ายชิอะห์ยังคิดพิจารณาไปถึงการที่พวกเขาจะสามารถขยายบทบาทในโลกมุสลิมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ในทำนองเดียวกัน การที่อิหร่านประกาศในช่วงหลังๆ มานี้ ว่าสนับสนุนพวกอิสลามิสต์ทั้งหลายในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็สามารถถือเป็นการเดินหมากทางยุทธศาสตร์ โดยที่พวกเขามองว่าพวกอิสลามิสต์ที่มีฝ่ายสุหนี่เป็นสมาชิกส่วนใหญ่นั้น ไม่น่าที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติอิสลามใดๆ ขึ้นมาได้ ทว่าพวกอิสลามิสต์สุหนี่เหล่านี้ย่อมสามารถที่จะร่วมส่วนแสดงบทบาทในการทำให้เกิดความปั่นป่วนผันผวนทางการเมืองขึ้นมาอย่างแน่นอน ประธานาธิบดี อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเละห์ (Ali Abdallah Saleh) แห่งเยเมน และกษัตริย์อับดุลเลาะห์ (King Abdullah) แห่งจอร์แดน กำลังถูกสั่นคลอนเสถียรภาพอย่างหนักในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ว่าแม้กระทั่งภายหลังการล้มครืนของมูบารัคในอียิปต์ ก็ยังไม่มีกลุ่มพลังทางการเมืองอันเข้มแข็งใดๆ ในประเทศเหล่านี้ ที่อาจจะกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดที่มีความหมายใดๆ ขึ้นมาได้

อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมของภูมิภาคตะวันออกกลางที่กำลังถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์ทางการเมืองเฉกเช่นปัจจุบันนี้ อาจจะส่งผลกระเพื่อมต่อเนื่องไปในอิรัก, บาห์เรน, คูเวต, และซาอุดีอาระเบีย

การปรากฏตัวของผู้นำสูงสุดของอิหร่านภายหลังจากที่หายหน้าไปนาน และการที่เขาเรียกร้องให้เกิด “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” ในตะวันออกกลาง ไม่ได้ติดตามมาพร้อมกับความสนับสนุนทางวัตถุใดๆ ทั้งสิ้นต่อพวกอิสลามิสต์สุหนี่ในโลกอาหรับ ทว่าเป็นที่แน่นอนทีเดียวว่าอิหร่านจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” ในหมู่อิสลามิสต์ฝ่ายชิอะห์ ทั้งในอิรัก, เยเมน, บาห์เรน, คูเวต, และซาอุดีอาระเบีย เหมือนกับที่พวกเขาได้เคยกระทำมาแล้วเมื่อตอนที่ซาอุดีอาระเบียและเยเมนร่วมมือกันปราบปรามกวาดล้างการก่อกบฎของพวกชิอะห์ที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่านในปี 2009 ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่า ในกรณีของบาห์เรนนั้น มักต้องพึ่งพิงอาศัยกองทหารรักษาดินแดนแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย (Saudi National Guards) อยู่เสมอ ในการควบคุมไม่ให้เกิดการก่อความไม่สงบของชิอะห์ ซึ่งมีทางอิหร่านคอยหนุนหลังอยู่

เมื่อพิจารณากันในทางอุดมการณ์แล้ว อิสลามแบบสุหนี่ และอิสลามแบบชิอะห์ ย่อมเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทีเดียว หากย้อนหลังเข้าไปในประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ทั้งสองฝ่ายนี้เคยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกันเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ตอนที่ บานี ฟาติมะห์ (ลูกหลานของศาสดามุฮัมมัด) กับ บานี อับบัส (Bani Abbas ลูกหลานของ อับบัส อาของศาสดามุฮัมมัด) ร่วมมือกันโค่นล้มราชวงศ์อุมัยยัด (Umayyad Dynasty) แล้วนำราชวงศ์อับบาสิด (Abbasid Dynasty) ขึ้นสู่อำนาจในปี ค.ศ.750 แต่ความเป็นพันธมิตรกันดังกล่าวก็มีอายุยืนยาวเพียงแค่ช่วงเวลา 4 ปีแห่งรัชสมัยของ อัล ซัฟฟาห์ อับบาซี (al-Saffah Abbasi)

ชาเรียตี เป็นผู้ที่สร้างคำว่า “วิลลายัต-อี-ฟากีห์ (Willayat-e-Faqih การปกครองดูแลโดยคณะนักกฎหมายอิสลาม ก่อนที่ อัล มาห์ดี al-Mahdi จะปรากฏตัวขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง) และได้ชุบชีวิตให้แก่หลักกฎหมายอิสลามในศาสนาอิสลามฝ่ายชิอะห์ ตลอดจนเป็นผู้ที่สร้างที่ทางขึ้นมาสำหรับการปฏิวัติอิสลาม หลักการทฤษฎีสำคัญดังกล่าวนี้ เป็นข้อเสนอใหม่เพื่อให้มีการสร้างพันธมิตรระหว่างอิสลามสุหนี่กับอิสลามชิอะห์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยในคราวนี้อิหร่านที่เป็นชิอะห์คือกองหน้าของการปฏิวัติ ขณะที่พวกอิสลามิสต์ฝ่ายสุหนี่เป็นผู้ที่เข้าร่วม อย่างไรก็ดี มันยังคงเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เต็มไปด้วยความหงุดหงิดไม่สบายใจ ถึงแม้ว่าอิหร่านกำลังให้การคุ้มครองปกป้องพวกผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และของอัลกออิดะห์ รวมทั้งกำลังให้ความสนับสนุนการต่อต้านของพวกอิสลามิสต์ชาวปาเลสไตน์อยู่ก็ตามที

จากการที่อัลกออิดะห์กำลังก่อสร้างสมรภูมิสงครามอันกว้างใหญ่ไล่ตั้งแต่อัฟกานิสถานไปจนถึงเอเชียกลาง และจากอิรักไปจนถึงโซมาเลีย ส่วนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกำลังนำการลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทั้งอิสลามฝ่ายสุหนี่และอิสลามฝ่ายชิอะห์จึงกำลังก้าวย่างเข้าสู่ระยะแห่งการตัดสินชี้ขาด

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดของพวกเขาที่แตกต่างกัน ระหว่าง “อาณาจักรอิหม่าน (Imamat) ซึ่งมีคณะผู้นำเป็นฝ่ายชิอะห์ กับ “อาณาจักรกาหลิป” (caliphate) ที่มีคณะผู้นำเป็นฝ่ายสุหนี่ ในที่สุดแล้วจะต้องเกิดการปะทะกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้เลย เมื่อการก่อความไม่สงบของพวกชิอะห์ปรากฏขึ้นมาในตะวันออกกลาง ดังที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ปรากฏตัวก้าวออกมายืนอยู่ข้างหน้าอย่างฉับพลันในฐานะที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนที่สำคัญที่สุดของอิสลามิสต์ชิอะห์ การเผชิญหน้ากันชนิดถึงเป็นถึงตายระหว่าง 2 ส่วนหลักของโลกมุสลิม ก็จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าโต๊ะปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะออกจำหน่ายในเร็วๆ นี้ซึ่งใช้ชื่อ Inside Al-Qaeda and the Taliban 9/11 and Beyond จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Pluto Press สหราชอาณาจักร สำหรับที่อยู่ทางอีเมล์ของเขาคือ saleem_shahzad2002@yahoo.com
การต่อสู้ครั้งใหม่ในระหว่างพวก‘อิสลามิสต์’ภายหลังอียิปต์โค่น‘มูบารัค’ (ตอนแรก)
เมื่อต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนครั้งยิ่งใหญ่มโหฬาร ฮอสนี มูบารัค ก็ก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ที่เขาครอบครองมาเป็นเวลา 30 ปี ความเคลื่อนไหวคราวนี้น่าที่จะทำให้กลุ่ม “ภราดรภาพมุสลิม” ที่เป็นพวกนิกายสุหนี่ กลับผงาดโดดเด่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ขณะที่อิหร่านก็ประกาศให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อ “การตื่นขึ้นมาอย่างอิสลาม” คราวนี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อิหร่านซึ่งเป็นพวกนิกายชิอะห์ กับพวกอิสลามิสต์ฝ่ายสุหนี่ อาจจะอยู่ข้างเดียวกันได้เป็นการชั่วคราว แต่ในที่สุดแล้วก็จะต้องเกิดการปะทะกันในตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น