xs
xsm
sm
md
lg

Analysis : ผู้เชี่ยวชาญชี้ “ชาตินิยม” ปมขัดแย้งไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารกัมพูชายืนประจำการบริเวณปราสาทพระวิหาร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - ลัทธิชาตินิยมและการอวดศักดาทางการเมือง เป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา แต่ทั้งสองประเทศคงจะหลีกเลี่ยงการปะทะที่รุนแรง ผู้เชี่ยวชาญระบุ

นักวิเคราะห์มองว่า การปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา ใกล้ปราสาทพระวิหาร ถูกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นความรักชาติ ในขณะที่ฤดูกาลเลือกตั้งใกล้เข้ามา

แม้ว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จ ฮุน เซน จะกล่าวหาฝ่ายไทยว่ารุกล้ำดินแดนเขมร และใช้ความรุนแรงก่อน พร้อมทั้งขอให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง แต่สำหรับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ แล้ว ท่าทีดังกล่าวกลับยิ่งสร้างปัญหาหนักอกให้กับไทย

“ฮุน เซน จงใจทำเช่นนี้เพื่อปลุกกระแสชาตินิยม และเรียกคะแนนนิยมให้กับตนเอง” วิลเลียม เคส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าว

เคส บอกด้วยว่า ฮุน เซน เป็น “คนแข็งกร้าว แต่เขาคงไม่ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายจนควบคุมไม่ได้”

“สำหรับฝ่ายไทยแล้ว นี่เป็นการเผชิญหน้าที่ผู้นำประเทศอยากหลีกเลี่ยง ความรู้สึกชาตินิยมในไทยไม่ได้มาจากรัฐบาล แต่มาจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องตอบสนอง”

ความขัดแย้งกับกัมพูชาครั้งล่าสุด ทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “กลุ่มเสื้อเหลือง” นำแนวร่วมนับพันคนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ลาออก

กลุ่มเสื้อเหลืองวิพากษ์วิจารณ์กัมพูชาอย่างเผ็ดร้อน ทั้งเรื่องปัญหาชายแดน และการแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเมื่อปี 2009

การปะทะระหว่างทหารสองฝ่ายบริเวณรอบปราสาทพระวิหารตั้งแต่วันศุกร์ (4) ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 คน โดยเป็นพลเรือนอย่างน้อย 2 คน ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้เปิดฉากยิงก่อน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองเริ่มตึงเครียด ตั้งแต่ปราสาทพระวิหารถูกประกาศเป็นมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม ปี 2008

ศาลโลกตัดสินในปี 1962 ให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างอธิปไตยเหนือผืนดิน 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบๆ ปราสาท
ปราสาทพระวิหาร ปมขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา (แฟ้มภาพ)
“ความขัดแย้งทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายถูกปลุกความรู้สึกชาตินิยม” ศาสตราจารย์ เดวิด แชนด์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชาจากมหาวิทยาลัยโมนาช ในออสเตรเลีย กล่าว

“ไทยข่มเหงกัมพูชาเป็นงานอดิเรกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็ได้โต้ตอบกลับบ้างตั้งแต่ยุคอาณานิคมเป็นต้นมา และแน่นอนว่า คำตัดสินของศาลโลกในปี 1962 ก็ใช่เหมือนกัน” แชนด์เลอร์ กล่าว

ไมเคิล มอนเตซาโน จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ กล่าวว่า ปมปัญหาชายแดนคราวนี้ทำให้ฝ่ายกัมพูชาได้ประโยชน์มาก

“ความพยายามของกัมพูชาที่จะปกป้องดินแดน และลุกขึ้นตอบโต้ประเทศที่แข็งแกร่งกว่าอย่างไทย ทำให้ ฮุน เซน ได้ผลประโยชน์ทางการเมืองมาก” มอนเตซาโน ระบุ

ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลและกองทัพไทย กลับหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ขณะที่กลุ่มชาตินิยมก็ “จงใจทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา” มอนเตซาโน กล่าว

กลุ่มเสื้อเหลืองเคยเป็นหนึ่งในพันธมิตรของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่วันนี้สายสัมพันธ์ดังกล่าวดูเหมือนจะขาดสะบั้นลง ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ก็เตรียมลงชิงชัยในสนามเลือกตั้ง ซึ่งจะจัดขึ้นภายในปีนี้

“เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามา กลุ่มชาตินิยมต่างๆ ก็จะใช้สถานการณ์ไทย-กัมพูชา เป็นเครื่องมือเรียกคะแนนนิยมให้กับพรรคของตนเอง” พอล เชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยเฮเดลเบิร์ก เยอรมนี กล่าว

“ปราสาทพระวิหาร ตกเป็นเหยื่อลัทธิชาตินิยมสุดโต่งในไทยและกัมพูชาไปแล้ว” เชมเบอร์ส ระบุ

แม้จะมีผู้สังเวยชีวิตและมีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย แต่ มาร์ก เทอร์เนอร์ จากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย มองว่า โอกาสที่จะเกิดการต่อสู้อย่างเต็มรูปแบบมีน้อยมาก

“ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเจรจาของทั้งสองฝ่าย และอาจมีการปะทะกันเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปอีก แต่การขยายขอบเขตความรุนแรงคงเป็นไปได้น้อย”
กำลังโหลดความคิดเห็น