xs
xsm
sm
md
lg

“โทรโข่งมาร์ค” บี้พรรคร่วมโชว์เอกภาพหนุนแก้ รธน.วาระ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทพไท เสนพงศ์ (แฟ้มข่าว)
“เทพไท” เฉ่ง ส.ว.เหนือ รุมค้านสูตร 375+125 ล้วนสาย “นช.แม้ว” จี้พรรคร่วมรัฐบาลโชว์เอกภาพหนุนแก้ รธน.วาระ 3 ปัดจ้าง ส.ว.ช่วย อ้างยุบสภาช้าเร็วขึ้นกับสถานการณ์การเมือง เย้ยเพื่อแม้วไร้เอกภาพความเห็นไปคนละทาง ฉะ “ไอ้ตู่” ปล่อยข่าวปฏิวัติ เพื่อให้รัฐบาลวิตกจริต ขณะเดียวกัน แก๊งเสื้อแดงก็หวังระดมคนแสดงแสนยานุภาพ 13 ก.พ.เพื่อเกทับกลุ่มเสื้อเหลือง พร้อมเรียกร้องพันธมิตรฯ ลดทิฐิหันหน้ามาคุยกับรัฐบาลเพื่อความสงบสุข

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัววหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กลุ่ม ส.ว.ภาคเหนือกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านการแก้รัฐธรรมนุญวาระที่ 3 ว่า ถ้าดูภูมิหลังของ ส.ว.กลุ่มนี้จะเห็นได้ชัดว่า มีพฤติกรรมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทุกเรื่อง และเติบโตมาในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสิ้น จึงไม่แปลกใจที่คนกลุ่มนี้ออกมาต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แปลกใจคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญสูตร 375+125 นั้น ทำให้ลดจำนวน ส.ส.ลงไป 25 ที่นั่ง และกระทบในภาคเหนือ 8 ที่นั่ง จึงไม่เข้าใจว่า ทำไม ส.ว.ที่ไม่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับการลดจำนวน ส.ส.ออกมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะต่อต้าน และแสดงท่าทีปลุกระดมให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว จึงอยากถามหาจุดยืนของ ส.ว.กลุ่มนี้ว่ามีความเป็นกลางทางการเมืองจริงหรือไม่

ส่วนที่วิจารณ์ว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ จะสามารถผ่านการสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาหรือไม่นั้น อยากเรียนว่า เสียงที่ขาดไป 15 เสียง เนื่องจากเสียงสนับสนุนวาระ 2 จำนวน 298 แต่วาระที่ 3 ต้องใช้ 313 เสียง ซึ่ง 15 เสียงดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ฉะนั้น แต่ละพรรคต้องกลับไปสำรวจสมาชิกของพรรคตัวเองว่าวาระ 2 มีกลุ่มใดงดออกเสียงหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งจะต้องไปทำความเข้าใจให้มีเอกภาพ และต้องยอมรับว่า ร่างแก้ไขรับธรรมนุญฉบับดังกล่าวเป็นร่างของรัฐบาล แม้วาระ 2 มีความเห็นต่างกัน แต่คิดว่าในวาระ 3 ควรจะมีสปิริตในการยอมรับเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนคนที่ออกมาคัดค้านคิดว่าเป็นความเห็นส่วนบุคคล เพราะถ้าดูเบื้องหลังคนเหล่านี้จะเห็นได้ว่าสูตร 375+125 นั้น มีผลกระทบต่อเขตเลือกตั้งของตัวเอง จึงอยากเรียกร้องว่านักการเมืองควรจะเสียสละผลประโยชน์ของตัวเองเพื่อส่วนรวม

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่า มีการล็อบบี้กลุ่ม ส.ว.ด้วยตัวเลข 8 หลัก ในการลงมติร่างวาระ 2 นายเทพไท กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าไม่มีการติดสินบนหรือว่าจ้างโดยเด็ดขาด และไม่มีความจำเป็นที่จะไปว่าจ้างเพื่อให้ผ่านในวาระ 2 เพราะรู้อยู่ว่าวาระ 2 เป็นเพียงเสียงข้างมากก็ผ่าน แต่หากดูรายชื่อ ส.ว.36 ล้วนแต่เป็น ส.ว.ที่รับหลักการในวาระ1 ทั้งสิ้น เพราะไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องลงทุนมหาศาล เพื่อแลกกับการยกมือผ่านวาระ2 พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำไปว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ เพราะหากผ่านก็เอามาใช้ หากไม่ผ่านเราก็ใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

นายเทพไท กล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ไม่เชื่อจะมีการยุบสภาในช่วงเดือนเมษายนว่า ปัจจัยการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรีนอกจาก 3 ข้อนั้นยังมี ผลการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ ว่าจะผ่านหรือไม่ และหากผ่านก็เป็นการง่ายต่อการตัดสินใจ และการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน ซึ่งหากมีการยื่นจริงก็อาจจะทำให้รัฐมนตรีต้องใช้เวลาในการไขข้อข้องใจของฝ่ายค้านอีกระยะหนึ่ง การยุบสภาก็จะยืดออกไป ดังนั้นการจะยุบสภาช้า หรือเร็วนั้นขึ้นอยู่ที่สถานการณ์ทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีจะต้องตัดสินใจ

“การที่พรรคเพื่อไทยออกมาวิจารณ์ในลักษณะเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมภายในพรรคที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เช่น กรณีการยุบสภา ที่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ออกมาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรอยู่จนครบวาระ ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ และอีกหลายคน ออกมาเรียกร้องให้มีการยุบสภาเช้าเย็น

นายเทพไท กล่าวว่า แม้กระทั่งกระแสข่าวการปฏิวัติที่พรรคเพื่อไทยพยายามปูดออกมา และมีการขานรับอย่างเป็นกระบวนการ โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาพูดเป็นตุเป็นตะ ว่า จะมีการรัฐประหาร ซึ่งมีการปฏิเสธมาแล้ว ในขณะเดียวกัน นายสุพล ฟองงาม เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็แสดงความเห็นว่า ไม่เชื่อว่า จะมีการปฏิวัติอีกแล้ว เพราะเหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย.2549 ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ อยากเรียนว่า การปล่อยข่าวเรื่องการปฏิวัติ เพื่อให้รัฐบาลวิตกนั้น ตนเรียนว่า รัฐบาลไม่ได้รู้สึกกังวลแต่เป็นห่วงความรู้สึกของประชาชน และกระแสสังคม รวมทั้งกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติที่ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลอย่างชัดเจน เมื่อมีข่าวลักษณะเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดความหวั่นไหวทางด้านเศรษฐกิจได้

นายเทพไท กล่าวว่า กรณีที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พูดว่า จะมีการปฏิวัติรัฐประหารวันที่ 10 ก.พ.นี้ ว่า ตนไม่ทราบว่า นางธิดา ได้รับข้อมูลมาจากไหน แต่ในฐานะที่ตนได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เชื่อว่า ข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง และเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ น่าจะเป็นการสร้างข่าวหวังผลทางการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม นปช.ที่ออกมาพุดเรื่องนี้ เห็นได้ชัดว่าต้องการระดมคนครั้งใหญ่เหมือนกับที่นายจตุพร พูด ว่า ในวันที่ 13 ก.พ.จะแสดงแสนยานุภาพของคนเสื้อแดงจำนวนมาก จึงไม่เข้าใจว่า การระดมคนมาจำนวนมากหวังผลอะไร ถ้าจะมาแข่งขันการจัดม็อบกับคนเสื้อเหลือง ตนคิดว่าจะทำให้สังคมเสียหาย การมาเกทับมาอวดมวลชนของแต่ละกลุ่ม ก็ไม่มีประโยชน์กับฝ่ายใด จึงอยากให้ลดทิฐิหันหน้ามาคุยกันในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน ไม่อยากให้ประเทศไทยขณะนี้เกิดความขัดแย้ง 3 กลุ่มคือ เสื้อแดง เสื้อเหลือง และรัฐบาล ไม่อยากให้เป็นเหมือนเขมร 3 ฝ่ายในอดีต

“อยากวิงวอนว่าอะไรที่คุยกันได้ก็ควรคุย อะไรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ควรให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการบยุติธรรมแก้ปัญหา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ในฐานะที่เคยเป็นกัลยาณมิตร อยากวิงวอนว่า การเคลื่อนไหวชุมนุมไม่มีประโยชน์ และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การพูดคุยการทำความเข้าใจน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า ซึ่งนายกฯได้เปิดทางให้มีการพุดคุยทำความเข้าใจ เพราะเคยคุยกับกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติมาแล้ว ก็น่าจะเป็นช่องทางที่ดีกว่า ที่สำคัญ อยากเรียกร้องไปยังเวทีชุมนุม 2 เวที ที่ทั้ง 2 เวทีมีพรรคการเมืองเข้าไปแอบแฝงอย่างชัดเจน เช่น เวที นปช.เป็นการสนับสนุนและแอบแฝงด้วยพรรคเพื่อไทย ขณะที่เวทีกลุ่มพันธมิตรฯ เห็นได้ชัดว่า มีกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ ขึ้นเวทีเป็นแกนนำปราศัยด้วย ซึ่งตรงนี้ตนคิดว่าหากเราเคารพกติกาของบ้านเมือง ต้องการให้บ้านเมืองสามารถแก้ไขปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตยก็น่าจะใช้เวทีการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ลงสมัครแข่งขัน เพื่อพิสูจน์ศรัทธาประชาชนน่าจะดีกว่า”

นายเทพไท กล่าวว่า อยากวิงวอนเพื่อนพันธมิตรฯ ในฐานะคนเคยคุ้นเคยกัน ตนได้ติดตามเวทีของกลุ่มพันธมิตรฯ รู้สึกไม่สบายใจ คือ การปราศรัยบนเวที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำปราศรัยที่หยาบคาย และไม่เหมาะสม ซึ่งถือว่าผิดรูปแบบของกลุ่มพันธมิตรฯที่มวลชนกลุ่มหนึ่งเคยศรัทธา นับวันที่กลุ่มพันธมตรฯใช้วาจาที่แสดงออกหยาบคายไม่แตกต่างจากเวทีของคนเสื้อแดง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า กลุ่มพันธมิตรฯได้ปฏิเสธแนวทางดังกล่าวมาตลอด เพราะฉะนั้นการขึ้นเวทีวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่พึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับอนุชนคนไทยทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น