xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรเตือนไซโคลน “ยาซี” มีกำลังแรงสูงสามารถถล่มบ้านต้านพายุได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ริมทะเลแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย
เอเจนซี - วิศวกรแดนจิงโจ้เตือนพายุไซโคลนยาซี ซึ่งมีความเร็วลมสูงถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีกำลังรุนแรงขนาดที่สามารถพัดบ้านที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันวาตภัยให้ปลิวกระจายได้เลยทีเดียว

ไซโคลนยาซีกำลังมุ่งหน้าถล่มเมืองสำคัญๆ หลายแห่งตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่เคยพัดถล่มออสเตรเลียมา นอกเหนือจากไซโคลนเทรซี ซึ่งเคยถล่มเมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือครั้งใหญ่ในปี 1974

ดร.โรเบิร์ต เลสเตอร์ นักวิจัยจากองค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมแห่งคอมมอนเวลธ์ได้ศึกษาผลกระทบจากพายุไซโคลนที่ร้ายแรงที่สุดของออสเตรเลีย 2 ลูกก่อนหน้านี้ คือเทรซี และแลร์รี ในปี 2006 พบว่า ยังไม่เคยมีพายุไซโคลนลูกไหน นับตั้งแต่เทรซี ที่พัดถล่มบ้านเรือนโดยตรงสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก

มาตรฐานการสร้างอาคารบ้านเรือนเข้มงวดขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่พายุเทรซีคร่าชีวิตผู้คนไป 71 ราย และกวาดบ้านเรือนเกือบ 70% ในเมืองดาร์วินพังราบ
ชาวออสเตรเลียอพยพชั่วคราวหนีภัยพายุไซโคลนยาซี
ทว่า มาตรฐานเหล่านั้นอาจยังไม่สอดคล้องกับกำลังลมแรงขนาดไซโคลนยาซี โดยมีการทบทวนมาตรฐานดังกล่าวแล้ว เนื่องจากความกังวลที่ว่าไซโคลนลูกนี้อาจมีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวลงใต้ไปอีก

วิศวกรหลายคนชี้ว่า บ้านเรือนสมัยใหม่ส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบมาให้ทนทานต่อกำลังลมสูง แต่แรงดันแตกต่างกันไปในระหว่างพายุโหมกระหน่ำ อาจเป่ากำแพง หรือหลังคาให้ปลิวหลุดจากตัวอาคารได้

มาร์ค แบรดฟอร์ด อาจารย์จากคณะวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า สิ่งก่อสร้างในภูมิภาคดังกล่าว ที่สร้างก่อนปี 2002 ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อแรงลม 252 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาคารที่สร้างหลังจากนั้นสำหรับรับกำลังลม 265 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เขาเสริมว่า อาคารหลังเล็กๆ นั้นมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง แต่สิ่งก่อสร้างที่เสริมด้วยเหล็กกล้า เช่น ตึกระฟ้า และสะพานนั้นน่าจะสามารถต้านทานไซโคลนลูกนี้ได้ รวมถึงท่าเรือ และโรงกลั่นน้ำมันก็ไม่น่าจะได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น