เอเอฟพี - การสูบบุหรี่เพียงไม่กี่นาทีก็อาจทำลายสารพันธุกรรมและก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ผลวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์อเมริกันเผยวันนี้ (16)
ผลวิจัยล่าสุดถือเป็นคำเตือนแรงๆ แก่บรรดาสิงห์อมควัน โดยนักวิจัยระบุว่า การสูบบุหรี่มีผลทำลายร่างกายได้เร็วพอๆ กับการฉีดสารพิษเข้าเส้นเลือดเลยทีเดียว
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาในมนุษย์ครั้งแรกว่าสารพิษในใบยาสูบสามารถทำลายดีเอ็นเอได้อย่างไร โดยนักวิจัยเก็บข้อมูลจากผู้สูบบุหรี่ 12 คน เพื่อตรวจหากลุ่มสารอนุมูลอิสระที่ชื่อ โพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน (พีเอเอช) ซึ่งพบในควันบุหรี่, ควันจากโรงถ่านหิน และ อาหารประเภทบาร์บีคิวซึ่งย่างจนไหม้เกรียม
จากการติดตามสาร “ฟีแนนธรีน” ในควันบุหรี่ พบว่า สารดังกล่าวจะเดินทางผ่านกระแสเลือด และก่อตัวเป็นสารพิษทำลายดีเอ็นเอ, ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และสร้างเซลล์มะเร็ง
“ผู้สูบบุหรี่จะได้รับสารพิษนี้ในปริมาณสูงสุดหลังจากสูบเพียง 15-30 นาที ซึ่งเร็วมากจนนักวิจัยเองก็คาดไม่ถึง” ผลการศึกษาระบุ
“สิ่งที่พบนับว่ามีความสำคัญ เนื่องจาก พีเอเอช ดิออล อีพ็อกโซด์ จะทำปฏิกิริยากับดีเอ็นเอ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และถือเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งเกิดจากอนุภาคของพีเอเอชในควันบุหรี่”
สตีเฟน เฮชต์ หัวหน้านักวิจัยกล่าวว่า งานวิจัยนี้แตกต่างจากชิ้นก่อนๆ เนื่องจากมุ่งศึกษาผลของการสูดควันบุหรี่โดยเฉพาะ โดยไม่รวมสาเหตุของการเสื่อมสุขภาพอื่นๆ เช่น มลพิษ และ การรับประทานอาหารไม่ครบหมู่เหล่า
มะเร็งปอดคร่าชีวิตพลเมืองโลกกว่า 3,000 คนต่อวัน และสาเหตุของโรค 90 เปอร์เซ็นต์เกิดจากบุหรี่
งานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ และถูกเผยแพร่ในวารสารการวิจัยทางเคมีพิษวิทยา ของสมาคมเคมีอเมริกัน