(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Death to those who disagree
By Syed Saleem Shahzad
06/01/2011
ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบ ซัลมาน ตอเซียร์ ถึงขั้นต้องสังเวยชีวิตของตนเอง จากการแสดงตัวคัดค้านกฎหมายห้ามการดูหมิ่นศาสนาอิสลามอันเข้มงวดรุนแรงยิ่งของปากีสถาน กระนั้นก็ตามที พวกฝ่ายขวาในประเทศนี้กลับแสดงความยินดีอย่างเปิดเผยต่อการถูกลอบสังหารของเขา บางคนบางกลุ่มถึงขนาดยกย่องสรรเสริญฆาตกรผู้ก่อเหตุว่า เป็นผู้ที่มี “ความห้าวหาญ, ความเก่งกล้า,และความเคารพนับถือในศาสนา ตลอดจนความซื่อสัตย์ต่อศาสนา” ขณะที่รัฐบาลปากีสถานเองก็ดูจะไม่รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนอะไรด้วย
อิสลามาบัด - ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบ ซัลมาน ตอเซียร์ (Salman Taseer) ถูกลอบสังหารถึงแก่ชีวิตเมื่อวันอังคาร(4)ที่ผ่านมา เป็นการสังเวยด้วยมูลค่าอันสูงสุดให้แก่การที่เขาออกโรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายห้ามการดูถูกดูหมิ่นศาสนาอิสลามของปากีสถาน ซึ่งมีเนื้อหาและบทลงโทษอันเข้มงวดรุนแรงยิ่ง ทั้ง ๆ ที่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพวกนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามคนสำคัญคนอื่นๆ จำนวนมากมายทั้งในยุคคลาสสิกและยุคปัจจุบันแล้ว ตอเซียร์ก็เพียงแค่กำลังให้ความคิดเห็นของเขาต่อประเด็นปัญหาที่มีความอ่อนไหวละเอียดอ่อนประเด็นหนึ่งเท่านั้น โดยที่บุคคลอื่นๆ ซึ่งเคยกระทำในทำนองเดียวกันหาได้ถูกฆ่าเนื่องจากการแสดงทัศนะแต่อย่างใดไม่
มีนักการศาสนาตลอดจนบุคคลสำคัญในแวดวงศาสนาอิสลาม พากันออกคำชี้ขาดทางด้านศาสนาจำนวนมากมาย ที่เรียกร้องให้สังหารตอเซียร์เสีย กระทั่งหลังจากที่ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบถูกฆ่าตายไปแล้ว พวกเขาก็ยังออกมาแสดงความเห็นแก้ต่างต่อสาธารณชนว่าการปลิดชีพเขาเป็นสิ่งที่ไม่มีความผิด กระนั้นก็ตามที ทั้งที่ปากีสถานเป็นประเทศซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพวกที่ไม่ยึดมั่นผูกพันเคร่งครัดกับหลักศาสนา (secular) แต่ก็กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อเล่นงานนักการศาสนาเหล่านี้ นอกจากนั้นประเทศนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อประณามติเตียนพวกสมาชิกรัฐสภาบางคนที่ก่อนหน้านี้เคยออกโรงคัดค้านกฎหมายต่อต้านการดูหมิ่นศาสนาฉบับดังกล่าว แต่หลังจากที่ตอเซียร์ถูกสังหารแล้วก็พากันเงียบหายไม่กล้าเปิดปาก
ก่อนที่เขาจะถูกสังหารไม่นานนัก ตอเซียร์ได้ทวีตเป็นข้อความว่า “ผมกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างมหาศาลเพื่อให้ยอมโอนอ่อนต่อแรงบีบคั้นของฝ่ายขวาในเรื่องดูหมิ่นศาสนา แต่ผมปฏิเสธ แม้ผมจะต้องเป็นคนสุดท้ายที่ยังกล้ายืนผงาดก็ตาม” อย่างไรก็ดี การที่ตอเซียร์วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดูถูกดูหมิ่นศาสนาอิสลามฉบับนี้ (ซึ่งในหลายกระทงความผิดเหลือเกินกำหนดให้ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตทีเดียว) ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาอ้างอิงใช้เป็นเหตุผลเพื่อให้มีการกำจัดเขาไปเสีย เพราะมันก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของเขาเท่านั้น
เขาเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นกฎหมาย “สีดำ” โดยบอกว่ามันไม่ได้สะท้อนคำสอนในศาสนาอิสลาม และเป็นการตีความกฎหมายอิสลามอย่างผิดๆ เพื่อเอาคนมาเป็นเหยื่อเท่านั้นเอง ทัศนะความคิดเห็นของตอเซียร์ ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิดก็ตามที แต่เขาก็แสดงทัศนะดังกล่าวออกมาด้วยความเชื่อมั่นอย่างจริงใจ และนี่เองคือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงไม่หวั่นกลัวคำขู่จะเล่นงานถึงชีวิตจากคำชี้ขาดทางศาสนาของพวกนักการศาสนาต่างๆ
**สิทธิที่จะไม่เห็นด้วย**
ประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมเต็มไปด้วยเหตุการณ์ซึ่งมีผู้รู้มีนักการศาสนาแสดงความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างแรงๆ ทัศนะของพวกเขาถูกปฏิเสธโดยนักกฎหมายมุสลิมและนักปราชญ์มุสลิมส่วนข้างมาก ทว่าผู้มีทัศนะส่วนข้างน้อยเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกลงโทษถึงตาย
ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามและนักปราชญ์มุสลิมส่วนใหญ่จำนวนท่วมท้น ต่างตีความแปลความหมายเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองกัรบาลา (Karbala) เมื่อกว่า 1,300 ปีก่อนว่าเป็นช่วงเวลาอันมีความหมายชี้ขาดที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิม และระลึกถึงกรณีนี้ในฐานะที่เป็นความเคลื่อนไหวครั้งแรกสุดของการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม แต่ก็มีส่วนหนึ่งของสำนักคิดซาลาฟี (Salafi school of thought) ตีความเหตุการณ์กัรบาลา (ที่ซึ่ง ฮุสเซน บิน อาลี Hussain bin Ali หลานชายของศาสดามุฮัมมัด พร้อมด้วยครอบครัวของเขาถูกสังหารหมู่) ว่าเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง แทนที่จะเป็นสมรภูมิแห่งการตัดสินความถูกความผิด และพวกเขายังมองว่าฮุสเซนเป็นฝ่ายผิด ส่วนจักรพรรดิ ยาซิด บิน มาวเวีย (Yazid Bin Mauvia) เป็นฝ่ายถูก
การตีความเรื่องความถูกต้องชอบธรารมของยาซิด เป็นสิ่งที่อภิปรายถกเถียงกันในแวดวงนักวิชาการมุสลิม และเสียงส่วนข้างมากประกาศว่าทัศนะที่มองว่ายาซิดเป็นฝ่ายถูกนั้นเป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้อง กระนั้นก็ไม่มีใครออกคำชี้ขาดระบุว่าพวกที่ยังคงยึดมั่นอยู่กับทัศนะของฝ่ายเสียงข้างน้อยเกี่ยวกับกรณีทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ เป็นพวกนอกรีตนอกศาสนา
ในทำนองเดียว ตอเซียร์ในฐานะที่เป็นชาวมุสลิมผู้หนึ่ง ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการตีความกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งเขามองว่ากำลังถูกใช้เพื่อทำให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อ แทนที่จะเป็นการสะท้อนปัญญาความคิดตามหลักอิสลาม เมื่อปีที่แล้ว ตอเซียร์ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ อาซิยา บีบิ (Asiya Bibi) หญิงชาวคริสต์ที่มีลูก 5 คน จากการที่เธอถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต สืบเนื่องจากระหว่างที่เธอทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้านชาวมุสลิม เธอได้กล่าวถ้อยคำอันเป็นการดูหมิ่นศาสดามุฮัมมัด นอกจากนั้นเขายังร้องเรียนผลักดันให้ปล่อยหญิงผู้นี้เป็นอิสระอีกด้วย
**ความเงียบงันที่สุดแสนอึกทึก**
การสังหารตอเซียร์ได้รับการปรบมือต้อนรับอย่างกว้างขวางจากพวกฝ่ายขวา ซึ่งความคิดเห็นของพวกเขาดูจะถูกกระตุ้นปลุกเร้าด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าจะได้รับการขับดันด้วยอุดมการณ์ใดๆ ขณะที่พวกไม่ยึดมั่นผูกพันเคร่งครัดกับหลักศาสนา ตลอดจนพวกเสรีนิยม ซึ่งถือเป็นเสียงส่วนข้างมากของประเทศนี้ แทบทั้งหมดกลับอยู่ในอาการเงียบงัน ทางด้านรัฐบาลก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้มีการเอ่ยปากออกมาสักคำเพื่อคัดค้านพวกที่ยกย่องสรรเสริญการสังหารตอเซียร์อย่างเปิดเผย
มาลิก มุมตัซ กอดรี (Malik Mumtaz Qadri) หนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่ตอเซียร์ ยอมรับสารภาพว่าเขาคือผู้ลงมือสังหารผู้ว่าการแคว้นปัญจาบ แต่ในขณะที่เขาถูกนำตัวมายังศาลเมื่อวันพุธ(5) ปรากฏว่ามีทนายความบางคนโปรยปรายกลีบดอกกุหลาบเป็นการต้อนรับเขา นอกจากนั้นยังมีนักปราชญ์อิสลามผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่ง ออกมากล่าวยกย่องชมเชยการลอบสังหารบุคคลผู้กล้าออกมาคัดค้านกฎหมายซึ่งบัญญัติโทษประหารชีวิตแก่ผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามอิสลาม
“ใครก็ตามที่ฆ่าเขา (ตอเซียร์) ถือเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนา และจะตรงแน่วไปยังสวรรค์” อาซาดุลเลาะห์ บุตโต (Asadullah Bhutto) อดีตสมาชิกรัฐสภาและอดีตหัวหน้าพรรคญะมาอะต์-อี-อิสลามี (Jamaat-e-Islami) กล่าวเช่นนี้ไม่นานนักหลังจากรายงานข่าวการลอบสังหารอย่างอุกอาจแพร่กระจายออกไป
ขณะที่ ฮะยี ฮานิฟ ทัยยับ (Haji Hanif Tayyab) ซึ่งในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางปากีสถานมาแล้ว ก็แสดงความเห็นทางสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า “ใครก็ตามที่รักพระศาสดา ก็ไม่ควรรู้สึกเสียอกเสียใจกับการตายของตอเซียร์”
ผู้ใช้ “เฟซบุ๊ก” เว็บไซต์สื่อสังคมจำนวนนับพันนับหมื่น ก็แสดงความยินดีต่อการเสียชีวิตของตอเซียร์ โดยบอกว่านี่เป็นการเล่นงานพวกที่คิดปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายห้ามการดูหมิ่นศาสนาอิสลามอันมีบทลงโทษเข้มงวดรุนแรงของปากีสถาน นอกจากนั้นยังมีนักการศาสนาและนักวิชาการกว่า 500 คนจากกลุ่ม ญะมัต อาห์เล ซุนนัต (Jamat Ahle Sunnat) ออกคำแถลงว่า ใครก็ตามล้วนไม่ควรที่จะสวดอ้อนวอนหรือแสดงความเสียใจกับการที่เขาถูกฆ่า คำแถลงยังแสดงการข่มขู่เป็นนัยๆ ต่อคนอื่นๆ ที่คัดค้านกฎหมายห้ามการดูหมิ่นศาสนาฉบับดังกล่าวด้วย ทั้งนี้กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของขบวนการบาเรลวี (Barelvi) ซึ่งเห็นกันว่าเป็นพวกเดินตามแนวความคิดอิสลามสายกลางๆ
“ผู้ที่คัดค้าน (กฎหมายฉบับดังกล่าว) มีความผิดพอๆ กันกับผู้ที่กระทำการดูหมิ่นศาสนา” คำแถลงของกลุ่มนี้ระบุ แถมยังบอกอีกว่า ประดานักการเมือง, สื่อมวลชน, ตลอดจนคนอื่นๆ ควรต้องเรียนรู้ “บทเรียนจากการเสียชีวิตที่เป็นการตักเตือนคราวนี้”
มาวลานา ชาห์ ตูรอบุล ฮัก กอดรี (Maulana Shah Turabul Haq Qadri) หัวหน้าพรรคญะมาอะต์-อี-อิสลามี คนปัจจุบัน และเคยเป็นสมาชิกรัฐสภามาก่อน กล่าวแสดงการยกย่องสรรเสริญฆาตกรผู้ลงมือสังหาร โดยแสดงความนับถือใน “ความห้าวหาญ, ความเก่งกล้า,และความเคารพนับถือในศาสนา ตลอดจนความซื่อสัตย์ต่อศาสนา” ของเขา
ทางฝ่ายพวกที่เคยรณรงค์ต่อต้านกฎหมายห้ามดูหมิ่นศาสนาฉบับดังกล่าว ต่างพากันหยุดชะงักงัน
ตอฮิรอ อับดุลเลาะห์ (Tahira Abdullah) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชื่อก้อง รวมทั้งได้เคยส่งเสียงดังตามสื่อต่างๆ เพื่อคัดค้านกฎหมายดังกล่าว ได้จัดแจงปิดประดาโทรศัพท์มือถือของเธอ และหลบออกไปจากที่พำนักของเธอในกรุงอิสลามาบัด เนื่องจากเกรงว่าจะมีภัยคุกคามต่อชีวิตของเธอ
ผู้รณรงค์เคลื่อนไหวคนสำคัญอีกผู้หนึ่ง คือ กูอาอิด-อี-อาซอม มาร์วี เมมอน (Quaid-e-Azam Marvi Memon) สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคปากีสถาน มุสลิม ลีก (Pakistan Muslim League) ก็ทำตัวหลบเลี่ยงหลีกหนีสื่อมวลชน เชอร์รี เราะห์มาน (Sherry Rahman) สมาชิกรัฐสภาอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เคลื่อนไหวผลักดันร่างกฎหมายแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายห้ามดูหมิ่นศาสนา ได้เพิ่มทีมองครักษ์รักษาความปลอดภัยของเธอจาก 4 คนเป็น 16 คน และใช้เวลาส่วนใหญ๋พำนักอยู่แต่ในที่พักในนครการาจีของเธอ
ในวันพฤหัสบดี(6) ชนชั้นนำหัวเสรีนิยมที่มั่งคั่งร่ำรวยของนครการาจี ต่างสาละวนพูดคุยถกเถียงกันอยู่ตามสโมสรสังคมชั้นสูงต่างๆ ในประเด็นที่ว่าควรหรือไม่ที่จะไล่ยามรักษาความปลอดภัยที่เป็นชาวมุสลิมชนชาติปาชตุน (Pashtun) ออกไปเสีย แล้วเปลี่ยนไปว่าจ้างยามคริสเตียนที่เป็นชาวแคว้นกัว (Goa) ทว่าก็ไม่มีใครเลยที่หาญกล้าพอจะตั้งประเด็นขึ้นมาว่า ทำไมภาคส่วนต่างๆ ของสังคมจึงยังไม่ถูกลงโทษอะไรเลย ทั้งๆ ที่ได้ออกมายกย่องสรรเสริญอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผย ต่อการสังหารใครคนหนึ่งซึ่งกำลังพยายามแก้ไขสิ่งที่เขามองเห็นว่าผิดพลาดให้เกิดความถูกต้องขึ้นมา
ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าโต๊ะปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะออกจำหน่ายในเร็วๆ นี้ซึ่งใช้ชื่อ Inside Al-Qaeda and the Taliban 9/11 and Beyond จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Pluto Press สหราชอาณาจักร สำหรับที่อยู่ทางอีเมล์ของเขาคือ saleem_shahzad2002@yahoo.com
Death to those who disagree
By Syed Saleem Shahzad
06/01/2011
ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบ ซัลมาน ตอเซียร์ ถึงขั้นต้องสังเวยชีวิตของตนเอง จากการแสดงตัวคัดค้านกฎหมายห้ามการดูหมิ่นศาสนาอิสลามอันเข้มงวดรุนแรงยิ่งของปากีสถาน กระนั้นก็ตามที พวกฝ่ายขวาในประเทศนี้กลับแสดงความยินดีอย่างเปิดเผยต่อการถูกลอบสังหารของเขา บางคนบางกลุ่มถึงขนาดยกย่องสรรเสริญฆาตกรผู้ก่อเหตุว่า เป็นผู้ที่มี “ความห้าวหาญ, ความเก่งกล้า,และความเคารพนับถือในศาสนา ตลอดจนความซื่อสัตย์ต่อศาสนา” ขณะที่รัฐบาลปากีสถานเองก็ดูจะไม่รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนอะไรด้วย
อิสลามาบัด - ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบ ซัลมาน ตอเซียร์ (Salman Taseer) ถูกลอบสังหารถึงแก่ชีวิตเมื่อวันอังคาร(4)ที่ผ่านมา เป็นการสังเวยด้วยมูลค่าอันสูงสุดให้แก่การที่เขาออกโรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายห้ามการดูถูกดูหมิ่นศาสนาอิสลามของปากีสถาน ซึ่งมีเนื้อหาและบทลงโทษอันเข้มงวดรุนแรงยิ่ง ทั้ง ๆ ที่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพวกนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามคนสำคัญคนอื่นๆ จำนวนมากมายทั้งในยุคคลาสสิกและยุคปัจจุบันแล้ว ตอเซียร์ก็เพียงแค่กำลังให้ความคิดเห็นของเขาต่อประเด็นปัญหาที่มีความอ่อนไหวละเอียดอ่อนประเด็นหนึ่งเท่านั้น โดยที่บุคคลอื่นๆ ซึ่งเคยกระทำในทำนองเดียวกันหาได้ถูกฆ่าเนื่องจากการแสดงทัศนะแต่อย่างใดไม่
มีนักการศาสนาตลอดจนบุคคลสำคัญในแวดวงศาสนาอิสลาม พากันออกคำชี้ขาดทางด้านศาสนาจำนวนมากมาย ที่เรียกร้องให้สังหารตอเซียร์เสีย กระทั่งหลังจากที่ผู้ว่าการแคว้นปัญจาบถูกฆ่าตายไปแล้ว พวกเขาก็ยังออกมาแสดงความเห็นแก้ต่างต่อสาธารณชนว่าการปลิดชีพเขาเป็นสิ่งที่ไม่มีความผิด กระนั้นก็ตามที ทั้งที่ปากีสถานเป็นประเทศซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นพวกที่ไม่ยึดมั่นผูกพันเคร่งครัดกับหลักศาสนา (secular) แต่ก็กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อเล่นงานนักการศาสนาเหล่านี้ นอกจากนั้นประเทศนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อประณามติเตียนพวกสมาชิกรัฐสภาบางคนที่ก่อนหน้านี้เคยออกโรงคัดค้านกฎหมายต่อต้านการดูหมิ่นศาสนาฉบับดังกล่าว แต่หลังจากที่ตอเซียร์ถูกสังหารแล้วก็พากันเงียบหายไม่กล้าเปิดปาก
ก่อนที่เขาจะถูกสังหารไม่นานนัก ตอเซียร์ได้ทวีตเป็นข้อความว่า “ผมกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างมหาศาลเพื่อให้ยอมโอนอ่อนต่อแรงบีบคั้นของฝ่ายขวาในเรื่องดูหมิ่นศาสนา แต่ผมปฏิเสธ แม้ผมจะต้องเป็นคนสุดท้ายที่ยังกล้ายืนผงาดก็ตาม” อย่างไรก็ดี การที่ตอเซียร์วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดูถูกดูหมิ่นศาสนาอิสลามฉบับนี้ (ซึ่งในหลายกระทงความผิดเหลือเกินกำหนดให้ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตทีเดียว) ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาอ้างอิงใช้เป็นเหตุผลเพื่อให้มีการกำจัดเขาไปเสีย เพราะมันก็เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของเขาเท่านั้น
เขาเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นกฎหมาย “สีดำ” โดยบอกว่ามันไม่ได้สะท้อนคำสอนในศาสนาอิสลาม และเป็นการตีความกฎหมายอิสลามอย่างผิดๆ เพื่อเอาคนมาเป็นเหยื่อเท่านั้นเอง ทัศนะความคิดเห็นของตอเซียร์ ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิดก็ตามที แต่เขาก็แสดงทัศนะดังกล่าวออกมาด้วยความเชื่อมั่นอย่างจริงใจ และนี่เองคือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงไม่หวั่นกลัวคำขู่จะเล่นงานถึงชีวิตจากคำชี้ขาดทางศาสนาของพวกนักการศาสนาต่างๆ
**สิทธิที่จะไม่เห็นด้วย**
ประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมเต็มไปด้วยเหตุการณ์ซึ่งมีผู้รู้มีนักการศาสนาแสดงความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างแรงๆ ทัศนะของพวกเขาถูกปฏิเสธโดยนักกฎหมายมุสลิมและนักปราชญ์มุสลิมส่วนข้างมาก ทว่าผู้มีทัศนะส่วนข้างน้อยเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกลงโทษถึงตาย
ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามและนักปราชญ์มุสลิมส่วนใหญ่จำนวนท่วมท้น ต่างตีความแปลความหมายเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองกัรบาลา (Karbala) เมื่อกว่า 1,300 ปีก่อนว่าเป็นช่วงเวลาอันมีความหมายชี้ขาดที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิม และระลึกถึงกรณีนี้ในฐานะที่เป็นความเคลื่อนไหวครั้งแรกสุดของการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม แต่ก็มีส่วนหนึ่งของสำนักคิดซาลาฟี (Salafi school of thought) ตีความเหตุการณ์กัรบาลา (ที่ซึ่ง ฮุสเซน บิน อาลี Hussain bin Ali หลานชายของศาสดามุฮัมมัด พร้อมด้วยครอบครัวของเขาถูกสังหารหมู่) ว่าเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง แทนที่จะเป็นสมรภูมิแห่งการตัดสินความถูกความผิด และพวกเขายังมองว่าฮุสเซนเป็นฝ่ายผิด ส่วนจักรพรรดิ ยาซิด บิน มาวเวีย (Yazid Bin Mauvia) เป็นฝ่ายถูก
การตีความเรื่องความถูกต้องชอบธรารมของยาซิด เป็นสิ่งที่อภิปรายถกเถียงกันในแวดวงนักวิชาการมุสลิม และเสียงส่วนข้างมากประกาศว่าทัศนะที่มองว่ายาซิดเป็นฝ่ายถูกนั้นเป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้อง กระนั้นก็ไม่มีใครออกคำชี้ขาดระบุว่าพวกที่ยังคงยึดมั่นอยู่กับทัศนะของฝ่ายเสียงข้างน้อยเกี่ยวกับกรณีทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ เป็นพวกนอกรีตนอกศาสนา
ในทำนองเดียว ตอเซียร์ในฐานะที่เป็นชาวมุสลิมผู้หนึ่ง ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการตีความกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งเขามองว่ากำลังถูกใช้เพื่อทำให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อ แทนที่จะเป็นการสะท้อนปัญญาความคิดตามหลักอิสลาม เมื่อปีที่แล้ว ตอเซียร์ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ อาซิยา บีบิ (Asiya Bibi) หญิงชาวคริสต์ที่มีลูก 5 คน จากการที่เธอถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต สืบเนื่องจากระหว่างที่เธอทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้านชาวมุสลิม เธอได้กล่าวถ้อยคำอันเป็นการดูหมิ่นศาสดามุฮัมมัด นอกจากนั้นเขายังร้องเรียนผลักดันให้ปล่อยหญิงผู้นี้เป็นอิสระอีกด้วย
**ความเงียบงันที่สุดแสนอึกทึก**
การสังหารตอเซียร์ได้รับการปรบมือต้อนรับอย่างกว้างขวางจากพวกฝ่ายขวา ซึ่งความคิดเห็นของพวกเขาดูจะถูกกระตุ้นปลุกเร้าด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าจะได้รับการขับดันด้วยอุดมการณ์ใดๆ ขณะที่พวกไม่ยึดมั่นผูกพันเคร่งครัดกับหลักศาสนา ตลอดจนพวกเสรีนิยม ซึ่งถือเป็นเสียงส่วนข้างมากของประเทศนี้ แทบทั้งหมดกลับอยู่ในอาการเงียบงัน ทางด้านรัฐบาลก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้มีการเอ่ยปากออกมาสักคำเพื่อคัดค้านพวกที่ยกย่องสรรเสริญการสังหารตอเซียร์อย่างเปิดเผย
มาลิก มุมตัซ กอดรี (Malik Mumtaz Qadri) หนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่ตอเซียร์ ยอมรับสารภาพว่าเขาคือผู้ลงมือสังหารผู้ว่าการแคว้นปัญจาบ แต่ในขณะที่เขาถูกนำตัวมายังศาลเมื่อวันพุธ(5) ปรากฏว่ามีทนายความบางคนโปรยปรายกลีบดอกกุหลาบเป็นการต้อนรับเขา นอกจากนั้นยังมีนักปราชญ์อิสลามผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่ง ออกมากล่าวยกย่องชมเชยการลอบสังหารบุคคลผู้กล้าออกมาคัดค้านกฎหมายซึ่งบัญญัติโทษประหารชีวิตแก่ผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามอิสลาม
“ใครก็ตามที่ฆ่าเขา (ตอเซียร์) ถือเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนา และจะตรงแน่วไปยังสวรรค์” อาซาดุลเลาะห์ บุตโต (Asadullah Bhutto) อดีตสมาชิกรัฐสภาและอดีตหัวหน้าพรรคญะมาอะต์-อี-อิสลามี (Jamaat-e-Islami) กล่าวเช่นนี้ไม่นานนักหลังจากรายงานข่าวการลอบสังหารอย่างอุกอาจแพร่กระจายออกไป
ขณะที่ ฮะยี ฮานิฟ ทัยยับ (Haji Hanif Tayyab) ซึ่งในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางปากีสถานมาแล้ว ก็แสดงความเห็นทางสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า “ใครก็ตามที่รักพระศาสดา ก็ไม่ควรรู้สึกเสียอกเสียใจกับการตายของตอเซียร์”
ผู้ใช้ “เฟซบุ๊ก” เว็บไซต์สื่อสังคมจำนวนนับพันนับหมื่น ก็แสดงความยินดีต่อการเสียชีวิตของตอเซียร์ โดยบอกว่านี่เป็นการเล่นงานพวกที่คิดปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายห้ามการดูหมิ่นศาสนาอิสลามอันมีบทลงโทษเข้มงวดรุนแรงของปากีสถาน นอกจากนั้นยังมีนักการศาสนาและนักวิชาการกว่า 500 คนจากกลุ่ม ญะมัต อาห์เล ซุนนัต (Jamat Ahle Sunnat) ออกคำแถลงว่า ใครก็ตามล้วนไม่ควรที่จะสวดอ้อนวอนหรือแสดงความเสียใจกับการที่เขาถูกฆ่า คำแถลงยังแสดงการข่มขู่เป็นนัยๆ ต่อคนอื่นๆ ที่คัดค้านกฎหมายห้ามการดูหมิ่นศาสนาฉบับดังกล่าวด้วย ทั้งนี้กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของขบวนการบาเรลวี (Barelvi) ซึ่งเห็นกันว่าเป็นพวกเดินตามแนวความคิดอิสลามสายกลางๆ
“ผู้ที่คัดค้าน (กฎหมายฉบับดังกล่าว) มีความผิดพอๆ กันกับผู้ที่กระทำการดูหมิ่นศาสนา” คำแถลงของกลุ่มนี้ระบุ แถมยังบอกอีกว่า ประดานักการเมือง, สื่อมวลชน, ตลอดจนคนอื่นๆ ควรต้องเรียนรู้ “บทเรียนจากการเสียชีวิตที่เป็นการตักเตือนคราวนี้”
มาวลานา ชาห์ ตูรอบุล ฮัก กอดรี (Maulana Shah Turabul Haq Qadri) หัวหน้าพรรคญะมาอะต์-อี-อิสลามี คนปัจจุบัน และเคยเป็นสมาชิกรัฐสภามาก่อน กล่าวแสดงการยกย่องสรรเสริญฆาตกรผู้ลงมือสังหาร โดยแสดงความนับถือใน “ความห้าวหาญ, ความเก่งกล้า,และความเคารพนับถือในศาสนา ตลอดจนความซื่อสัตย์ต่อศาสนา” ของเขา
ทางฝ่ายพวกที่เคยรณรงค์ต่อต้านกฎหมายห้ามดูหมิ่นศาสนาฉบับดังกล่าว ต่างพากันหยุดชะงักงัน
ตอฮิรอ อับดุลเลาะห์ (Tahira Abdullah) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชื่อก้อง รวมทั้งได้เคยส่งเสียงดังตามสื่อต่างๆ เพื่อคัดค้านกฎหมายดังกล่าว ได้จัดแจงปิดประดาโทรศัพท์มือถือของเธอ และหลบออกไปจากที่พำนักของเธอในกรุงอิสลามาบัด เนื่องจากเกรงว่าจะมีภัยคุกคามต่อชีวิตของเธอ
ผู้รณรงค์เคลื่อนไหวคนสำคัญอีกผู้หนึ่ง คือ กูอาอิด-อี-อาซอม มาร์วี เมมอน (Quaid-e-Azam Marvi Memon) สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคปากีสถาน มุสลิม ลีก (Pakistan Muslim League) ก็ทำตัวหลบเลี่ยงหลีกหนีสื่อมวลชน เชอร์รี เราะห์มาน (Sherry Rahman) สมาชิกรัฐสภาอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เคลื่อนไหวผลักดันร่างกฎหมายแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายห้ามดูหมิ่นศาสนา ได้เพิ่มทีมองครักษ์รักษาความปลอดภัยของเธอจาก 4 คนเป็น 16 คน และใช้เวลาส่วนใหญ๋พำนักอยู่แต่ในที่พักในนครการาจีของเธอ
ในวันพฤหัสบดี(6) ชนชั้นนำหัวเสรีนิยมที่มั่งคั่งร่ำรวยของนครการาจี ต่างสาละวนพูดคุยถกเถียงกันอยู่ตามสโมสรสังคมชั้นสูงต่างๆ ในประเด็นที่ว่าควรหรือไม่ที่จะไล่ยามรักษาความปลอดภัยที่เป็นชาวมุสลิมชนชาติปาชตุน (Pashtun) ออกไปเสีย แล้วเปลี่ยนไปว่าจ้างยามคริสเตียนที่เป็นชาวแคว้นกัว (Goa) ทว่าก็ไม่มีใครเลยที่หาญกล้าพอจะตั้งประเด็นขึ้นมาว่า ทำไมภาคส่วนต่างๆ ของสังคมจึงยังไม่ถูกลงโทษอะไรเลย ทั้งๆ ที่ได้ออกมายกย่องสรรเสริญอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผย ต่อการสังหารใครคนหนึ่งซึ่งกำลังพยายามแก้ไขสิ่งที่เขามองเห็นว่าผิดพลาดให้เกิดความถูกต้องขึ้นมา
ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าโต๊ะปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่กำลังจะออกจำหน่ายในเร็วๆ นี้ซึ่งใช้ชื่อ Inside Al-Qaeda and the Taliban 9/11 and Beyond จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Pluto Press สหราชอาณาจักร สำหรับที่อยู่ทางอีเมล์ของเขาคือ saleem_shahzad2002@yahoo.com