เอเอฟพี/เอเจนซี - เยอรมนีกำลังเปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นผู้นำร่วมกับฝรั่งเศสในการผลักดันชาติยุโรปให้ก้าวสู่ความเป็นสหภาพที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับกรณีวิกฤตหนี้สินของกรีซเวลานี้ นักวิเคราะห์บอกว่า เยอรมนีที่เป็นเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดของยุโรป และจึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นแกนนำในการแก้ปัญหานี้ ทว่า สิ่งที่แดนดอยช์กำลังแสดงออกมาให้เห็น กลับเป็นแนวโน้มแห่งการมุ่งปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองมากกว่าของยุโรปโดยรวม
ในระยะไม่กี่วันหลังมานี้ เยอรมนีได้เปลี่ยนท่าทีจากการสนับสนุนให้สหภาพยุโรปหาทางแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซเอง ไปเป็นการส่งเสริมให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เข้ามาเป็นผู้แสดงบทบาท ถ้าจำเป็นต้องจัดสรรเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กรีซ
เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ยังทำให้สมาชิกกลุ่มยูโรโซนทั้ง 16 ประเทศต้องหัวเสีย เมื่อเธอเสนอว่ายูโรโซนควรมีกลไกในการขับไสสมาชิกที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบของกลุ่มซ้ำแล้วซ้ำอีก
ล่าสุด ในการให้สัมภาษณ์วิทยุดอยช์ลันด์ฟุงค์ที่นำออกอากาศเมื่อวานนี้ (21) แมร์เคิลกล่าวว่า เธอจะไม่คัดค้านหากมีชาติยุโรปชาติใดจะให้ความช่วยเหลือในแบบทวิภาคแก่กรีซ ท่าทีที่เหมือนกับโอนอ่อนลงของเธอนี้ มีขึ้นหลังจากที่ โจเซ บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) ได้รบเร้ารัฐสมาชิกอียูให้อนุมัติแพกเก็จช่วยเหลือกรีซเตรียมเอาไว้เผื่อจำเป็นต้องใช้ ในระหว่างที่เหล่าผู้นำของอียูจะประชุมซัมมิตกันในวันพฤหัสบดี (24)-เสาร์ (26) นี้
กระนั้น แมร์เคิล ก็พูดอย่างมุ่งลดความสำคัญของปัญหานี้ โดยกล่าวว่า ในระหว่างการประชุมซัมมิตคราวนี้ เหล่าผู้นำอียูไม่ควรมุ่งเน้นไปที่เรื่องการช่วยเหลือกรีซ เพราะจะทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนผันผวน เนื่องจากเกิด “การคาดหมายอย่างผิดๆ” ทั้งนี้ เธอย้ำว่า กรีซจะต้องแก้ปัญหาหนี้สินของตนด้วยตนเอง
“เห็นได้ชัดว่า นโยบายของเยอรมนีกำลังเน้นไปที่ผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่า” ศาสตราจารย์ซาบีน ฟอน ออปเพล แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟรียูนิเวอร์ซิตี” ในเบอร์ลินกล่าว ส่วนทอร์สเทิน พอลเลต์ แห่งบาร์เคลย์ แคปิตอล ชี้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวเยอรมนีรู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่ต้องทำตัวเป็นแหล่งเงินให้กับยุโรปเต็มที
ทว่า การยืนยันท่าทีของเยอรมนีอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้นักการเมืองในยุโรปหลายคนไม่พอใจ
แม้แต่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นของเยอรมนี ก็ยังอึดอัดใจกับท่าทีดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อ คริสตินา ลาการ์ด รัฐมนตรีคลังเสนอให้เยอรมนีลดการพึ่งพาการส่งออกเพื่อช่วยให้ยุโรปพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ปรากฏว่า แมร์เคิลตอกกลับอย่างไม่เกรงใจว่า “เราจะไม่ยอมล้มเลิกจุดแข็งของเราเพียงเพราะว่ามีผู้ซื้อสินค้าส่งออกของเรามากกว่าสินค้าของประเทศอื่นๆ”
เจ้าหน้าที่เยอรมันหลายคน บอกว่า รัฐบาลเยอรมนีรู้สึกวิตกว่า การให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่กรีซ อาจจะถูกฟ้องร้องในศาลรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลแพ้ความก็จะเป็นความหายนะทั้งในระดับภายในประเทศและในระดับยุโรป
ทว่า พวกนักวิเคราะห์ต่างเห็นว่า จุดยืนของแมร์เคิลที่เปลี่ยนไป สืบเนื่องจากเรื่องการเมืองภายในประเทศ ในเมื่อผลสำรวจกำลังชี้ว่า บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลกำลังเสียคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ที่สำคัญก็คือ ชาวเยอรมันเวลานี้กำลังแหนงหน่ายยุโรปและเงินยูโรมากขึ้นๆ เห็นได้จากผลสำรวจความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ของหนังสือพิมพ์ บิลด์ อัม ซอนแทก ที่ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งของเยอรมนีถึงราวครึ่งหนึ่งยินดีที่จะกลับไปใช้เงินสกุลดอยช์มาร์กหากเงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง