เอเจนซี - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงวันนี้ (16) ระบุผู้ชุมนุมหลายคนแสดงความไม่พอใจการชุมนุมอย่างสงบตลอด 4 วันที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภาได้ ขณะที่ภาคการเงินของไทยยังไม่สั่นคลอน แม้การเมืองจะตึงเครียดมากขึ้นก็ตาม
ตลาดการเงินของไทยจนถึงขณะนี้ยังดำเนินไปอย่างมั่นคงพอประมาณ ขณะที่ชาวต่างชาติก็ยังซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องในวันจันทร์ (15) แม้ปริมาณจะน้อยกว่า 15 วันทำการที่ผ่านมา ซึ่งมียอดซื้อขายสุทธิ 850 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมือง โดยที่ความไม่แน่ใจในเจตนาของกลุ่มเสื้อแดงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ปริมาณซื้อลดลง แต่ไม่มากนัก
“สถานการณ์โดยรวมในปัจจุบันยังบริหารจัดการได้อยู่ หากเราสามารถผ่านสัปดาห์นี้ไปได้ สิ่งต่างๆ น่าจะกลับมาเป็นปกติ และการหลั่งไหลของเงินทุนก็น่าจะเริ่มเพิ่มพูนขึ้นอีกครั้ง” นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ภัทรียา เสริมว่า “แม้เราพบว่าอัตราการซื้อของต่างชาติชะลอตัวลงเนื่องมาจากการเมือง แต่นั่นก็ไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดการเทขายหุ้นได้ เว้นเสียแต่ว่าสถานการณ์จะไม่อยู่ในความควบคุม และประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบ”
ข้อความดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก มอร์แกน สแตนลีย์ วาณิชธนกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งยกระดับคำแนะนำในการทุ่มซื้อหุ้น (overweight) ในตลาดหุ้นไทย ในจดหมายข่าวลงวันที่ 12 มีนาคม ที่ส่งให้ลูกค้า และแจกจ่ายให้สื่อต่างๆ ในสัปดาห์นี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่า ความไม่สงบที่ยืดเยื้ออาจสร้างความเสียหายในบางธุรกิจ และฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศลง และเป็นไปได้ว่าอาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่คาดการณ์ไว้ออกไปอีกด้วย
ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มแสดงความไม่พอใจ ที่การชุมนุมครั้งนี้ไม่มีประสิทธิผล แม้ว่าคนจะหลั่งไหลเข้ากรุงมามากที่สุด ณ ขณะหนึ่งในวันอาทิตย์ (14) ที่ผ่านมาถึง 150,000 คน บางคนเผยว่าอาจเดินทางกลับบ้าน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทิ้งงาน ทิ้งครอบครั้วมาได้นาน
“ผมต้องการเพิ่มระดับ และทำอะไรที่ดุดันขึ้น” มนัส เต็งมณี ผู้ชุมนุมจากจังหวัดลำปาง กล่าว โดยว่า “ผมคิดว่าหากไม่มีการนองเลือดจริงจัง ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงใดสำหรับประชาชนชาวไทย ที่ปราศจากการนองเลือด” ทว่า เขายังยืนกรานที่จะทำตามข้อเรียกร้องของแกนนำที่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง