xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่งเร่งเพิ่มสมรรถนะการทำสงครามไซเบอร์

เผยแพร่:   โดย: วิลลี หลัม

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Beijing beefs up cyber-warfare capacity
By Willy Lam
08/02/2010

ในแผนการสำหรับระยะ 5 ปีข้างหน้าของปักกิ่ง เรื่องการวิจัยและพัฒนาการสู้รบที่อิงอาศัยอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงการจารกรรมทางไซเบอร์ด้วย ได้รับการจัดอันดับความสำคัญเป็นอย่างสูงยิ่ง และเมื่อพิจารณาจากการที่ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนน่าที่จะดำเนินต่อไป ถ้าหากไม่ยิ่งเลวร้ายลงอีก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาการค้า หรือเรื่องไต้หวันและทิเบต เราจึงสามารถคาดหมายได้ว่าการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายตามทางหลวงสารสนเทศ ก็น่าที่จะเพิ่มมิติใหม่อีกมิติหนึ่งให้แก่ความไร้เสถียรภาพของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้

ขณะที่ความโกรธกริ้วจากกรณีที่กล่าวหากันว่าจีนทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริษัทกูเกิล ได้บรรเทาลดระดับลงไปมากแล้วในเวลานี้ แต่ก็เป็นคาดหมายกันว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับสหรัฐฯในประเด็นปัญหาที่มีขอบเขตกว้างไกลยิ่งกว่า นั่นคือในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต และการทำสงครามดิจิตอลระดับโลก จะต้องทวีความดุเดือดยิ่งขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

การประจันหน้าดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าจะพิจารณากันให้มากเป็นพิเศษ เมื่อคำนึงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่กำลังเลวร้ายลง สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรื่องค่าเงินเหรินหมินปี้ (หยวน) ของจีน ไปจนถึงการที่สหรัฐฯยืนกรานจะขายอาวุธให้ไต้หวัน แต่สิ่งที่น่าจะมีความสำคัญยิ่งกว่านี้อีก ก็คือ ถึงแม้วอชิงตันได้ทำการวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งในเรื่องที่ทำการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต รวมทั้งการที่มีการโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของพวกหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯและบรรษัทนานาชาติแล้วเมื่อสืบย้อนต้นตอก็สาวไปจนถึงจีน แต่ทางคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party หรือ CCP) ก็ยังคงเดินหน้าอุทิศทรัพยากรจำนวนมากมาย เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่แสนยานุภาพด้านสงครามไซเบอร์ของตน ซึ่งก็อยู่ในระดับน่าเกรงขามอยู่แล้ว

การวิจัยและพัฒนาในเรื่องการทำศึกที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการจารกรรมและการต่อต้านการจารกรรมทางไซเบอร์ด้วย ได้รับการจัดลำดับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในแผนระยะห้าปี (Five Year Plan) ฉบับที่ 12 (ปี2011-2015) ที่กำลังร่างกันทั้งโดยรัฐบาลกลางและโดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People's Liberation Army หรือ PLA) ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย กำหนดให้ถือการเพิ่มสมรรถนะในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องสำคัญลำดับสูงสุดของบรรดากองกำลังอาวุธป้องกันประเทศและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของจีนในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ไป นอกจากนั้น ยังมีการใช้นโยบายให้สิทธิพิเศษและผลประโยชน์ต่างๆ แก่พวกวิสาหกิจคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ทำการวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)

อันที่จริงนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แล้ว วิสาหกิจดังกล่าวเหล่านี้มีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนทรัพยากรและข้อมูลกับพวกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งใน PLA, กองกำลังตำรวจติดอาวุธของประชาชน (People's Armed Police) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหาร, กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ(Ministry of State Security หรือ MSS) และกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ (Ministry of Public Security หรือ MPS)

การที่คณะผู้นำ CCP มีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มสมรรถนะการทำสงครามดิจิตอลอย่างเต็มสูบเช่นนี้ เนื่องมาจากแนวความคิดข้อพิจารณาสำคัญๆ 2 ประการ ประการแรกคือความต้องการที่จะลดช่วงห่างที่ยังล้าหลังสหรัฐฯ ดังที่ ศาสตราจารย์ฟางปิ่นซิง (Fang Binxing) อธิการบดีมหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (Beijing University of Posts and Telecommunications) และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเน็ตระดับท็อปคนหนึ่งของจีน ชี้เอาไว้ว่า “สหรัฐฯเป็นมหาอำนาจระดับแนวหน้าที่สุดอย่างไม่มีข้อสงสัยเลย ในเรื่องการรุกโจมตีและการป้องกันชนิดที่อิงอาศัยไซเบอร์”

“สหรัฐฯเป็นผู้ครองความเหนือกว่าอย่างสมบูรณ์ทั้งใน (สมรรถนะสู้รบ) ของอาวุธแบบแผน (conventional weapons คืออาวุธธรรมดาที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์), และแดนอวกาศนอกโลก รวมทั้งแดนไซเบอร์สเปซด้วย” ฟางบอก พร้อมกับเสริมด้วยว่า สมรรถนะของจีนในเรื่องไซเบอร์สเปซนั้นยังคง “ล้าหลังอย่างยิ่ง”

สื่อมวลชนของจีนได้ให้ความสนใจเสนอข่าวอย่างมากมายในเรื่องการจัดตั้งกองบัญชาการไซเบอร์ขึ้นในกองทัพสหรัฐฯเมื่อปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) ของทางการจีน ได้อ้างผู้เชี่ยวชาญของ PLA คนหนึ่ง ที่แสดงความวิตกเกี่ยวกับรูปแบบบางรูปแบบของ จักรวรรดินิยมไซเบอร์อเมริกัน (American cyber-imperialism) “สหรัฐฯยังคงพยายามสร้างหลักประกันให้แก่ ‘เสรีภาพในการปฏิบัติการ’(ในแนวรบด้านไซเบอร์) ของตน แม้จะทำให้ประเทศอื่นๆ เกิดความรู้สึกในเรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัยขึ้นมาก็ตามที” ผู้ชำนาญการด้านไอทีทางทหารผู้นี้บอกกับโกลบอลไทมส์

ทางด้าน พ.อ.อาวุโส ไต้สือ (Senior Colonel Dai Xu) แสดงทัศนะว่า จีนไม่อาจเสียเวลาไปแม้แต่น้อย ในการต่อสู้อย่างยากลำบากเพื่อไล่ให้ทันพวกมหาอำนาจไซเบอร์ อย่างเช่น สหรัฐฯและรัสเซีย “เราต้องยกระดับความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อิงอาศัยเน็ต ขึ้นไปสู่ระดับทางยุทธศาสตร์” ไต้ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์เรื่องการทหารที่ได้รับความนิยมอย่างสูง กล่าว “อย่างแรกเลยเราควรเริ่มต้นด้วยงานในเชิงปฏิบัติ เป็นต้นว่าการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และการอบรมบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถ” ไต้ยังจินตการว่าในที่สุดแล้วจะต้องมีการจัดตั้งกองพลไซเบอร์ของ PLA ที่มีสิ่งต่างๆ พรักพร้อมเต็มที่ เหมือนๆ กับ กองพลน้อยปืนใหญ่ที่ 2 (Second Artillery Corps) ซึ่งเป็นกองกำลังขีปนาวุธของจีน

สำหรับแรงจูงใจประการที่สองที่อยู่เบื้องหลังการที่ปักกิ่งทุ่มเทเต็มที่ให้แก่การเดินหมากทางไซเบอร์ ก็ คือความปรารถนาที่จะพิทักษ์คุ้มครอง “อธิปไตยด้านไอที” (IT sovereignty) ของจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ministry of Industry and Information Technology หรือ MIIT) ของจีนอ้างว่า จีนคือเหยื่อที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปีที่แล้วมีเว็บไซต์ 42,000 แห่งที่ถูกแฮกเกอร์โจมตี และในแต่ละเดือนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ 18 ล้านเครื่องถูกเล่นงานด้วยไวรัส แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านี้อีก ก็คือทางผู้รับผิดชอบของ CCP มีความต้องการที่จะตอบโต้สิ่งที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นความพยายามของพวกรัฐบาลและองค์การต่างๆ ในโลกตะวันตก ที่จะเผยแพร่ความคิด “เสรีนิยมชนชั้นนายทุน” และต่อต้านสังคมนิยม จนท่วมท้นเต็มล้นไปทั่วไซเบอร์สเปซ

ดังที่ มนตรีแห่งรัฐ (State Councilor ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจีนที่เทียบเท่ากับรองนายกรัฐมนตรี -ผู้แปล) เมิ่งเจี้ยนจู้ (Meng Jianzhu) กล่าวเอาไว้ว่า “อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นพาหะสำคัญอย่างหนึ่งที่พวกพลังต่อต้านจีนกำลังใช้เพื่อกระทำงานแทรกซึมและบ่อนทำลายของพวกเขา” เมิ่งซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ด้วย กล่าวต่อไปว่า พวกศัตรูของจีน “กำลังเพิ่มขยายขีดความสามารถของพวกเขาในการก่อกวน (ความสงบเรียบร้อยแห่งสังคมนิยม)” โดยผ่านทางหลวงสารสนเทศ หัวหน้าตำรวจใหญ่ผู้นี้ยังพูดย้ำถึงความเร่งด่วนที่จะต้องจัดตั้ง ระบบพื้นฐานแห่ง “การป้องกันและการควบคุม” ตลอด 24 ชั่วโมง และในทุกๆ มิติ เพื่อต่อสู้กับการแทรกซึมผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ขณะที่เรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงภายในและข่าวกรองในประเทศจีน ยังคงถูกเก็บงำเป็นความลับอันซ่อนซุกไว้เร้นลึก แต่เราก็ยังสามารถติดตามรูปร่างลักษณะกว้างๆ เกี่ยวกับแผนการของปักกิ่งและมองเห็นได้ชัดเจนถึงการส่งเสริมเพิ่มพูนสมรรถนะในด้านการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อต้นปี 2009 หน่วยงานรับผิดชอบของพรรค(คอมมิวนิสต์จีน)และรัฐ ได้ใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างมากมาย เพื่อระดมหาคนจีนสำเร็จมหาวิทยาลัยในหลายๆ สาขาวิชาที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมให้มาทำงานทางด้านนี้ เป็นต้นว่า สาขาคอมพิวเตอร์, วิศวกรรมศาสตร์, คณิตศาสตร์, และภาษาต่างประเทศ

พวกหน่วยงานวิจัยที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ (MSS) และกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ (MPS) มักออกโฆษณาตามเว็บไซต์ทั้งของทางการและของภาคเอกชนอยู่เรื่อยๆ ว่าต้องการรับสมัครวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ และผู้ชำนาญพิเศษเรื่องความปลอดภัยทางไอที ตัวอย่างเช่น สถาบันวิจัยที่หนึ่ง (First Research Institute) ของกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 1,200 คนอยู่แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดรายการระดมรับสมัครงานอย่างใหญ่โต ยิ่งกว่านั้น สำนักงานทางการทูตของจีนในสหรัฐฯและในประเทศอื่นๆ ในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้ฉวยประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในโลกตะวันตก ออกระดมรับสมัครคนจีนที่สำเร็จการศึกษาจากพวกภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ชั้นเยี่ยมในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของโลกตะวันตก ผู้มีความรู้ความสามารถด้านไอทีเหล่านี้มักได้รับการเสนอเงินเดือนผลตอบแทนในระดับที่สามารถแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศได้ นอกเหนือจากลู่ทางอันสดใสที่จะได้เลื่อนฐานะเลื่อนตำแหน่งต่อไปในอนาคต

ยังมีหลักฐานด้วยว่า หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงทบวงกรมด้านความมั่นคงสาธารณะและข่าวกรองทหาร กำลังหาพวกแฮกเกอร์มาทำงานด้วย ในฐานะเป็นวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต

ปีที่แล้ว ปักกิ่งได้ทบทวนแก้ไขกฏหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งทำให้พฤติการณ์ลักลอบเจาะเข้าระบบไอที กลายเป็นความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุก 7 ปี กระนั้นก็ตาม ตามเว็บไซต์จัดหางานของจีนก็จะพบเห็นโฆษณารับสมัครแฮกเกอร์ผู้ประสบความสำเร็จและ “เชื่อถือได้” กันอยู่บ่อยๆ ยิ่งกว่านั้นภายในประชาคมไอทีของจีน จะมีเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเล่าขานกันเกี่ยวกับ “แฮกเกอร์ผู้รักชาติ” ซึ่งกำลังได้รับการว่าจ้างจากกองทัพหรือหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐ

ในรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่าจ้างให้จัดทำโดย คณะกรรมการทบทวนเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐฯ-จีน (US-China Economic and Security Review Commission) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน เพื่อศึกษาเรื่องสมรรถนะการทำสงครามดิจิตอลของจีน ได้ระบุว่า หน่วยงานของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐของจีนกำลังว่าจ้างผู้คนจาก “พวกที่อยู่ในประชาคมชาวแฮกเกอร์ของจีน” รายงานที่จัดทำเมื่อเดือนตุลาคม 2009 ฉบับนี้ ได้อ้างอิงกรณีจำนวนหนึ่ง โดยเป็น “กรณีซึ่งน่าจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างพวกแฮกเกอร์รายบุคคลที่อยู่ในระดับค่อนข้างเป็นผู้นำ กับพวกหน่วยงานรักษาความมั่นคงฝ่ายพลเรือนของสาธารณรัฐประชาชนจีน” [1]

นอกเหนือจากการดำเนินความสัมพันธ์แบบต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กับพวกหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของรัฐวิสาหกิจต่างๆ แล้ว PLA และกระทรวงทบวงกรมด้านความมั่นคงแห่งรัฐยังกำลังเสาะแสวงหาความช่วยเหลือจากพวกกิจการไอทีภาคเอกชนอีกด้วย ระหว่างการตรวจเยี่ยมวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมในมณฑลอานฮุย ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศเมื่อปลายปี 2009 มนตรีแห่งรัฐเมิ่งได้เรียกร้องให้ตำรวจไซเบอร์จำนวนหลายหมื่นคนของประเทศ เพิ่มความร่วมมือกับบรรดาบริษัทในแวดวงอิเล็กทรอนิกส์และไอที

“เราควรที่จะใช้ประโยชน์จากดอกผลของการวิจัยและการพัฒนาอันเกี่ยวข้องกับไอที (ที่จัดทำขึ้นภายในประเทศจีนเอง) เพื่อทำให้เรามีระบบในการป้องกันและการควบคุมที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างแข็งแกร่ง” เมิ่งบอกกบพวกนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เดินทางไปพร้อมกับเขา เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกันที่ระหว่างการตรวจเยี่ยมนครเซี่ยงไฮ้ในเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาได้ขอให้พวกผู้ชำนาญการด้านไอทีในรัฐวิสาหกิจและกิจการภาคเอกชน “พยายามผ่าทางตันใหม่ๆ ในเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นแกนกลาง” ในภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์นี้ “เราต้องมีตำแหน่งแห่งที่อันสำคัญในการสื่อสารโทรคมนาคมระดับโลก ด้วยการเสาะแสวงหาเทคโนโลยีต่างๆ ที่อิงอยู่กับการวิจัยและการพัฒนาจากภายในประเทศ(จีน)เอง” หูบอก

พวกผู้เชี่ยวชาญของจีนตามที่หนังสือพิมพ์เจ่ฟ่างจวิ้นเป้า ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายวันของกองทัพจีนอ้างเอาไว้ ได้ชี้ให้เห็นว่า อเมริกานั้นมีบุคลากรด้านไอทีจำนวนประมาณ 88,000 คน ในจำนวนนี้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์โดยตรงอาจจะมีถึง 5,000 คน บุคลากรเหล่านี้กำลังทำงานอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกองบัญชาการที่ดูแลด้านไซเบอร์ ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บรรดานักวิชาการด้านไอทีของจีนยังให้ความสนใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะที่คณะรัฐบาลบารัค โอบามา ได้ตัดทอนงบประมาณใช้จ่ายในโครงการอาวุธอันล้ำยุค เป็นต้นว่า เครื่องบินขับไล่รุ่นเอฟ-22 แต่กลับเพิ่มงบประมาณด้านสงครามไซเบอร์ขึ้นไปมากมาย

เป็นที่เข้าใจกันว่า พวกหน่วยงานทางทหารและทางด้านความมั่นคงแห่งรัฐของจีนนั้น ได้อาศัยแบบจำลองของอเมริกันเป็นบางส่วน ในเวลาที่พวกเขากำลังเพิ่มพูนยกระดับสมรรถนะด้านความมั่นคงและการทำสงครามที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตของประเทศตน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนน่าที่จะดำเนินต่อไป ถ้าหากไม่ยิ่งเลวร้ายลงอีก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาการค้า หรือเรื่องไต้หวันและทิเบต เราจึงอาจคาดหมายได้ว่าการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายตามทางหลวงสารสนเทศ ก็น่าที่จะเพิ่มมิติใหม่อีกมิติหนึ่งให้แก่ความไร้เสถียรภาพในสายสัมพันธ์ระหว่างอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกอย่างสหรัฐฯ กับผู้ที่เสมือนเป็นอภิมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นรวดเร็วยิ่งอย่างประเทศจีน

หมายเหตุ
[1] "US-China Economic and Security Review Commission Report on the Capability of the People's Republic of China to Conduct cyber-Warfare and Computer Network Exploitation," October, 2009.

ดร.วิลลี โว-ลัป หลัม เป็นนักวิจัยอาวุโสแห่งมูลนิธิเจมส์ทาวน์ (Jamestown Foundation)
กำลังโหลดความคิดเห็น