xs
xsm
sm
md
lg

แผนสร้างระบบ‘โจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน’ของ‘สหรัฐฯ’ทำให้‘จีน’ผวา (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ เจ บราวน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

US’s strike threat catches China off guard
By Peter J Brown
03/02/2010

สหรัฐฯวางแผนสร้างระบบ “โจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน” ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดการโจมตีด้วยอาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ ต่อเป้าหมายในทุกหนทุกแห่งในโลกภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เรื่องนี้กำลังทำให้จีนหวั่นไหวไม่สบายใจ เท่าที่ผ่านมายุทธศาสตร์การสู้รบของวอชิงตันนั้นพึ่งพาอาศัยแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์เป็นสำคัญ ปักกิ่งจึงมองการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าเป็นกโลบายของอเมริกา ในการหาทางครอบงำโลกและอวกาศเอาไว้ต่อไป

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

สหรัฐฯกำลังวางแผนการเตรียมเอาไว้ว่า ตนจะสามารถวิจัยและพัฒนาระบบ “โจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน” (Prompt Global Strike) โดยใช้อาวุธแบบแผน (conventional weapon นั่นคือ อาวุธที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์) ระบบใหม่ จนถึงขั้นเริ่มนำเข้าประจำการได้ในช่วงต่อไปของทศวรรษนี้ ระบบ “โจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน” ด้วยอาวุธแบบแผน (conventional "Prompt Global Strike" หรือ C-PGS) ดังกล่าวนี้ จะทำให้สหรัฐฯมีสมรรถนะที่จะเปิดการโจมตีด้วยอาวุธแบบแผนขนาดใหญ่โต ต่อเป้าหมายในที่ทุกหนทุกแห่งในโลก ด้วยความรวดเร็วฉับพลันภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เริ่มงานการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับระบบ C-PGS มาตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และได้ปรับเพิ่มความเร็วเข้าสู่เกียร์สูงเมื่อปี 2003 ในระบบดังกล่าวนี้ ขีปนาวุธรุ่นใหม่ และ/หรือยานส่งแบบไม่มีมนุษย์อยู่ภายในชนิดอื่นๆ ซึ่งประจำการอยู่ในสหรัฐฯ จะไม่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ หากแต่ติดตั้งหัวรบแบบธรรมดา โดยที่จะสามารถยิงขีปนาวุธหรือยานส่งเหล่านี้ไปทำลายเป้าหมายในที่ไกลโพ้นออกไปในเวลาน้อยกว่า 60 นาที

เพนตากอนมีหน้าที่ต้องจัดทำเอกสาร “กลาโหมปริทัศน์ราย 4 ปี” (Quadrennial Defense Review หรือ QDR) เสนอต่อรัฐสภาอเมริกันทุกๆ 4 ปี โดยฉบับล่าสุดที่เป็นของปี 2010 เพิ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในเอกสาร 2010 QDR ฉบับนี้ ได้มีการอ้างอิงเป็นพิเศษถึงต้นแบบหลายๆ ต้นแบบของ C-PGS ตลอดจนสมรรถนะ “การโจมตีจากระยะไกล” ชนิดอื่นๆ

“สหรัฐฯไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจกับฐานะความเหนือกว่าอย่างขาดลอยที่ตนเองมีอยู่ในปัจจุบัน และจำเป็นที่จะต้องลงทุนในแผนงานต่างๆ, ในพื้นฐานชนิดต่างๆ, และในบุคลากร ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าฐานะความเหนือกว่าดังกล่าวจะสามารถดำเนินต่อไปได้” รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ รอเบิร์ต เกตส์ เขียนเอาไว้เช่นนี้ในบทวิจารณ์ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “ยุทธศาสตร์แห่งความสมดุล: ปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้เพนตากอนเสียใหม่เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่” (A Balanced Strategy: Reprogramming the Pentagon for a New Age) ซึ่งรวมอยู่ในเอกสาร 2010 QDR

“ในกรณีของจีน ปักกิ่งกำลังทำการลงทุนในด้านสงครามไซเบอร์, สงครามต่อต้านขีปนาวุธ, อาวุธต่อต้านอากาศยานและต่อต้านเรือ, เรือดำน้ำ, และขีปนาวุธนำวิถี ความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อเครื่องมือหลักๆ ที่สหรัฐฯจะอาศัยในการสำแดงแสนยานุภาพของตน และช่วยเหลือเหล่าพันธมิตรในแถบแปซิฟิก เครื่องมือดังกล่าวนี้มีอาทิเช่น ฐานทัพต่างๆ, ทรัพย์สินทางอากาศและทางทะเล, และโครงข่ายต่างๆ ที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ สภาพเช่นนี้จึงทำให้ต้องตีราคาสูงเป็นพิเศษแก่ความสามารถที่สหรัฐฯจะทำการโจมตีจากระยะไกลโพ้นสุดขอบฟ้า อีกทั้งต้องนำเอาระบบป้องกันขีปนาวุธเข้ามาใช้ ตลอดจนจะทำให้ต้องปรับเปลี่ยนจากระบบพิสัยใกล้ไปเป็นระบบพิสัยไกลมากขึ้น เป็นต้นว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อๆ ไปของบทวิจารณ์ของเขา เกตส์ก็ได้ประเมินสมรรถนะทางทหารของสหรัฐฯในลักษณะที่สมดุลมากขึ้นด้วย

“เราควรต้องถ่อมตนเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทางทหารสามารถกระทำให้สำเร็จได้ และสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถกระทำให้สำเร็จได้ ความก้าวไกลของเทคโนโลยีทางด้านความแม่นยำ, ทางด้านอุปกรณ์จับสัญญาณ, ด้านสารสนเทศ, และด้านดาวเทียม กำลังทำให้กองทัพสหรัฐฯสามารถกระทำสิ่งที่เป็นผลสำเร็จอันเหนือธรรมดา” เกตส์เขียนเอาไว้ดังนี้ “พวกตอลิบานต้องแตกพ่ายกระจัดกระจายไปภายในเวลา 3 เดือน, ระบอบปกครองของซัดดัม (ฮุสเซน) ถูกโค่นล้มในเวลา 3 สัปดาห์ เราสามารถที่จะกดปุ่มในเนวาดา แล้วภายในไม่กี่วินาทีต่อมา รถกระบะคันหนึ่งในเมืองโมซุล (ประเทศอิรัก) ก็จะถูกระเบิด ลูกระเบิดที่ทิ้งลงมาจากฟากฟ้าสามารถทำลายบ้านที่ตกเป็นเป้าหมายขณะที่บ้านอีกหลังที่อยู่ติดกันไม่เป็นอะไรเลย”

สำหรับจีนแล้ว ปัญหาที่ว่าควรจะรับมือจัดการกับแผนการ C-PGS ของสหรัฐฯนี้อย่างไรดี กำลังกลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนยิ่ง ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากแผนการดังกล่าวนี้ยังมีสิ่งที่ไม่แน่นอนอยู่เป็นจำนวนมาก

“มันเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา ผมไม่คิดว่าฝ่ายจีนมีความเข้าใจแผนการนี้อย่างเต็มที่แล้วนะ” ดร.เจฟฟรีย์ ลิวอิส (Jeffrey Lewis) ผู้อำนวยการ โครงการริเริ่มเพื่อยุทธศาสตร์และการไม่แพร่กระจายนิวเคลียร์ (Nuclear Strategy and Nonproliferation Initiative) ในสังกัดของมูลนิธิอเมริกาใหม่ (New America Foundation) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็น “ในบางระดับแล้ว ฝ่ายจีนมองว่าสหรัฐฯกำลังลงทุนในเรื่องยุทโธปกรณ์มิใช่นิวเคลียร์ที่สามารถโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และก็ตัดสินใจทำการลงทุนของตนเองอย่างคู่ขนานไปด้วย ทว่าคำถามที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น เป็นต้นว่า ‘แสนยานุภาพแบบแผน (ที่สหรัฐฯกำลังพัฒนาอยู่) สามารถที่จะกลายเป็นภัยต่อแสนยานุภาพนิวเคลียร์ของจีนได้หรือไม่’คำถามอย่างนี้ยังดูเหมือนเพิ่งจะกำลังเริ่มโผล่เข้ามาให้เห็น”

นักวิเคราะห์นโยบายสหรัฐฯระดับอาวุโสผู้หนึ่ง ตั้งข้อสงสัยว่าสภาพเช่นนี้กำลังทำให้จีนทั้งรู้สึกสับสนและทั้งรู้สึกวิตกเกี่ยวกับแผนการนี้หรือเปล่า

“รู้สึกสับสนเพราะผมไม่คิดว่าจะมีใครสามารถไปอธิบายให้พวกเขาฟังได้ว่า (C-PGS) จะนำไปสู่อะไร และบางทียังคงไม่มีใครสามารถไปอธิบายด้วยความซื่อตรงแม่นยำได้เลย ส่วนที่จะรู้สึกวิตกนั้นก็เพราะแผนการนี้ดูเหมือนกับเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของลัทธิครองความเป็นเจ้าอเมริกัน (American hegemony) และแผนการเพื่อนำไปสู่การดำรงฐานะเป็นผู้ครอบงำอวกาศต่อไปเท่านั้น นอกจากนั้น การที่จีนวิตกกังวลยังเป็นเพราะแผนการนี้มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ในวิถีทางที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลย และบางทีก็เป็นวิถีทางที่ไม่พึงปรารถนา (สำหรับจีน) ด้วย” นักวิเคราะห์ผู้นี้บอก

ทางด้านลิวอิสชี้ไปที่บรรยากาศของการพบปะหารือเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือการประชุมที่เรียกขานกันว่า การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สหรัฐฯ-จีน แทร็ก 2 (US-China Track II exchange) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯและฝ่ายจีนเป็นจำนวนมาก บรรยากาศการหารือคราวนั้นเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ฝ่ายจีนอาจจะรู้สึกเหมือนถูกชกอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เมื่อจู่ๆ แผนการ C-PGS ก็ปรากฏขึ้นบนจอเรดาร์ของพวกเขา

“ผู้เข้าร่วมหารือของฝ่ายสหรัฐฯพยายามที่จะอธิบายปัญหานี้ ด้วยการกล่าวถึงคำมั่นสัญญาเรื่อง ‘ไม่เป็นผู้ใช้ (อาวุธนิวเคลียร์) ก่อน’ (no first use) สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ฝ่ายจีนตั้งคำถามขึ้นมาว่า แล้วถ้าหากสหรัฐฯโจมตีแสนยานุภาพนิวเคลียร์ของจีนโดยใช้อาวุธแบบแผนล่ะ ยังจะให้จีนยึดมั่นอยู่กับคำมั่นสัญญาของตนในเรื่อง ‘ไม่เป็นผู้ใช้ก่อน’ ต่อไปหรือไม่” ลิวอิสเล่า “ฝ่ายจีนไม่ได้เข้าใจเลยว่า ทางฝ่ายอเมริกันกำลังอยู่ใน ‘การทดลองทางด้านความคิด’ อย่างเด๋อๆ ด๋าๆ ในลักษณะเป็นการวาดภาพสร้างจินตนาการขึ้นมาแท้ๆ ตรงกันข้ามฝ่ายจีนกลับเชื่อว่าพวกเขาได้ตกเป็นเหยื่อของการข่มขู่อันจริงจังมากที่จะใช้กำลังบังคับให้พวกเขาต้องยอมตาม ความเข้าใจผิดในลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว และอันที่จริงนี่เองที่เป็นเหตุผลว่าทำไมการหารือแบบ แทร็ก 2 จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะเดียวกันมันก็สาธิตให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประเด็นที่ว่า พวกนักยุทธศาสตร์ทั้งของฝ่ายจีนและฝ่ายสหรัฐฯ ยังไม่ได้ขบคิดกันอย่างถี่ถ้วนหรอกว่า (C-PGS) จะส่งผลกรทบอย่างไรบ้างต่อเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์”

ผลก็คือ ลิวอิสสงสัยว่าภายในฝ่ายจีนเองยังไม่น่าที่จะมีความคิดเห็นสอดคล้องกันเป็นฉันทามติแล้ว เกี่ยวกับเรื่องท่าทีต่อสมรรถนะในการโจมตีด้วยอาวุธแบบแผนของสหรัฐฯ ซึ่งจะปรากฏออกมาจากแผนการวิจัยและพัฒนา C-PGS

“ดูเหมือนว่าพวกนักวางแผนด้านกลาโหมของจีนจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางที่ว่า สหรัฐฯกำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้ทันสมัยในลักษณะแบบปลายเปิด ซึ่งจะมุ่งเน้นให้น้ำหนักกับสมรรถนะในการป้องกันการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ และสมรรถนะในการโจมตีด้วยอาวุธแบบแผน และดังนั้นจีนจึงยังจำเป็นต้องปรับปรุงเรื่องความสามารถที่จะทำให้แสนยานุภาพนิวเคลียร์ของตนรอดพ้นจากการถูกโจมตี ซึ่งที่สำคัญก็คืออาศัยการเคลื่อนที่ รวมทั้งยังจะต้องเสาะแสวงหาวิธีการที่จะก่อกวนสมรรถนะในการสั่งการ, ควบคุม, และการหาข่าวกรองของสหรัฐฯ” ลิวอิสคาดการณ์

เป็นการดีที่สุดที่จะไม่ลบอะไรทิ้งไปเลยเมื่อพูดถึงหัวข้อเกี่ยวกับ C-PGS เนื่องจากมีตัวแปรจำนวนมากมายเหลือเกินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตลอดจนผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็มีมากมายเหลือเกินเช่นกัน รายงานฉบับหนึ่งที่ออกมาเมื่อปี 2008 ของ ศูนย์กลางเพื่อสารสนเทศด้านกลาโหม (Center for Defense Information) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน โดยใช้ชื่อรายงานว่า “การตรวจสอบแผนการโจมตีทั่วโลกได้ฉับพลันของเพนตากอน: หลักการ, การดำเนินการ, และความเสี่ยง” (An Examination of the Pentagon’s Prompt Global Strike Program: Rationale, Implementation, and Risks) มีข้อสรุปที่น่าสนใจมากอยู่ข้อหนึ่ง ดังนี้:

“ระบบอาวุธที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ได้สมรรถนะในเรื่อง PGS อาจกลายเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดการตอบโต้กันด้วยอาวุธนิวเคลียร์สืบเนื่องจากความเลินเล่อไม่ตั้งใจ รวมทั้งจะทำให้การเจรจาควบคุมอาวุธในอนาคตประสบความยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าว การขยายสมรรถนะ PGS ในด้านต่างๆ จึงจำเป็นต้องพิจารณากันภายในบริบทแห่งวัตถุประสงค์ในการควบคุมอาวุธ, การไม่แพร่กระจาย, และความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ มีแต่ต้องกระทำเช่นนี้แล้วเท่านั้น บรรดาผู้กำหนดนโยบายและรัฐสภาจึงจะสามารถทำการประเมินค่า ผลดี,ความเสี่ยง, และสิ่งที่ได้สิ่งที่เสีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นจาก PGS อย่างชนิดรอบรู้ข้อมูลต่างๆ เป็นอย่างดี ขณะที่สมาชิกรัฐสภาพิจารณาคำของบประมาณสำหรับใช้ในโครงการ PGS ของกระทรวงกลาโหมในอนาคตข้างหน้า พวกเขาควรต้องใส่ใจรำลึกว่า การบรรลุสมรรถนะด้าน PGS ไม่ใช่เป็นจุดหมายในตัวมันเองและไม่สามารถเป็นจุดหมายในตัวมันเองได้ สมรรถนะด้านนี้จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อสามารถช่วยให้สหรัฐฯบรรลุเป้าหมายที่กว้างไกลกว่านั้น ในการขัดขวางการโจมตีต่างๆ ที่มุ่งเล่นงานมาตุภูมิสหรัฐฯ, ช่วยส่งเสริมบรรยากาศระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพ, และช่วยป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายและการใช้อาวุธอานุภาพร้ายแรง (weapons of mass destruction หรือ WMDs) มากขึ้น”

ปีเตอร์ เจ บราวน์ เป็นนักเขียนอิสระ ซึ่งพำนักอยู่ที่มลรัฐเมน สหรัฐอเมริกา

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • แผนสร้างระบบ‘โจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน’ของ‘สหรัฐฯ’ทำให้‘จีน’ผวา(ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น