xs
xsm
sm
md
lg

แผนสร้างระบบ‘โจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน’ของ‘สหรัฐฯ’ทำให้‘จีน’ผวา (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ เจ บราวน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

US’s strike threat catches China off guard
By Peter J Brown
03/02/2010

สหรัฐฯวางแผนสร้างระบบ “โจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน” ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดการโจมตีด้วยอาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ ต่อเป้าหมายในทุกหนทุกแห่งในโลกภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เรื่องนี้กำลังทำให้จีนหวั่นไหวไม่สบายใจ เท่าที่ผ่านมายุทธศาสตร์การสู้รบของวอชิงตันนั้นพึ่งพาอาศัยแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์เป็นสำคัญ ปักกิ่งจึงมองการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าเป็นกโลบายของอเมริกา ในการหาทางครอบงำโลกและอวกาศเอาไว้ต่อไป

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่มีการเดินหน้าโครงการทางด้าน C-PGS จำนวนมาก โดยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เป็นต้นว่า ยานทดสอบความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิกรุ่น “ฟัลคอน” (Falcon Hypersonic Test Vehicle หรือ HTV), เครื่องบินความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิกรุ่น “แบล็กสวิฟต์” (Blackswift hypersonic aircraft), ยานใช้เครื่องยนต์สแครมจ็ต เอ็กซ์-51 (X-51 scramjet-powered vehicle), และ ขีปนาวุธโจมตีประเภทอาวุธแบบแผน (Conventional Strike Missile หรือ CSM) ซึ่งเป็นการดัดแปลงขีปนาวุธนำวิถีรุ่น มินิตแมน 3 (Minuteman III) ทั้งนี้ โดยมี สถานปฏิบัติการวิจัย (Research Laboratory) แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ (US Air Force หรือ USAF), ศูนย์อวกาศและขีปนาวุธ กองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF Space and Missile Center), และ องค์การโครงการวิจัยชั้นสูงด้านกลาโหมของสหรัฐฯ (US Defense Advanced Research Projects Agency) เป็นผู้กำกับดูแลกิจกรรมด้านนี้

เมื่อความพยายามในการพัฒนา C-PGS คลี่คลายปรากฏภาพรวมออกมาให้เห็นมากขึ้นแล้ว เราย่อมสามารถพูดได้ว่าโครงการขีปนาวุธโจมตีประเภทอาวุธแบบแผน (Conventional Strike Missile หรือ CSM) น่าจะถือเป็นโครงการเริ่มแรกอย่างแท้จริง บริษัทล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) คือผู้รับเหมาหลักสำหรับแผนการ C-PGS บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์ทางการทหารสัญชาติสหรัฐฯแห่งนี้ยังเป็นแกนกลางในเรื่อง ระบบระบุตำแหน่งบนโลกโดยอาศัยดาวเทียมของสหรัฐฯ (satellite-based US Global Positioning System หรือ GPS) ที่มีบทบาทช่วยเหลือในการระบุตำแหน่งที่ตั้ง, การนำร่อง, และการระบุเวลา ของทั่วโลกอีกด้วย

เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมประกาศเลือก ล็อกฮีดมาร์ติน เป็นผู้ชนะได้รับเงิน 16 ล้านดอลลาร์เศษๆ “เพื่อดำเนินการออกแบบส่วนประกอบต่างๆ ทั้งหมด โดยที่จะต้องผ่านการศึกษาทบทวนการออกแบบเบื้องต้นเสียก่อนด้วย ทั้งนี้ล็อกฮีดมาร์ตินจะออกแบบ, ประดิษฐ์, ผนวกรวม, และทดสอบยานส่งสัมภาระ สำหรับใช้ในเที่ยวบินสาธิตสมรรถนะ (C-PGS)”

พวกนักวางแผนทางการทหารของสหรัฐฯมองว่า การที่ CSM เลือกใช้วิธีทำการโจมตีจากบนพื้นดิน คือวิธีการที่จะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับจีนและรัสเซียในการจำแนกได้อย่างรวดเร็วว่า ขีปนาวุธสหรัฐฯที่กำลังถูกยิงพุ่งออกมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีแบบ C-PGS ไม่ใช่เป็นการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ มีความเป็นไปได้มากว่า CSM จะตั้งฐานอยู่ที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก (Vandenberg Air Force Base) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และอยู่ใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของ กองบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ (US Strategic Command) ไม่ใช่ กองบัญชาการเพื่อการโจมตีทั่วโลกของกองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF Global Strike Command) ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่

พล.อ.อ.เควิน ชิลตัน (Kevin Chilton) ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ได้กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า การกำหนดให้นำเอาสมรรถนะ C-PGS เข้าประจำการให้ได้ภายในปี 2016 นั้น ถือเป็นการตั้ง “วัตถุประสงค์ที่สมเหตุสมผล” กระนั้นก็ตาม “เขาเองต้องการเห็นขีปนาวุธ (CSM) ลูกแรกอยู่ในสภาพเตรียมพร้อม โดยที่มีสำรองอีก 2 ลูก ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2012 ด้วยซ้ำ” [1]

แต่ในความเห็นของ เจสัน ซิกเกอร์ (Jason Sigger) นักวิเคราะห์นโยบายกลาโหมที่พำนักอยู่ในกรุงวอชิงตัน และมีชื่อเสียงเป็นผู้จัดทำบล็อกไซต์ที่ใช้ชื่อว่า “อาร์มแชร์ เจเนอรานิสต์” (Armchair Generalist) แล้ว เขามองว่า นั่นอาจจะเป็นการมองโลกในแง่ดีไปหน่อย “ผมไม่มั่นใจกับการยืนยันของชิลตันที่ว่า เราจะสามารถมีสมรรถนะนี้ได้ในช่วงระยะใกล้ๆ นี้ –ผมยังไม่เห็นเลยว่ามันจะมีความเร่งด่วนขนาดนั้น” เขากล่าว

“สมรรถนะด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่กำหนดให้ต้องมีทั้งการตรวจตราเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง, สงครามด้านอิเล็กทรอนิกส์, และสมรรถนะในการโจมตีอย่างแม่นยำ ต่างก็เป็นสิ่งที่ลำบากไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมไม่ชอบเลยที่ฝ่ายทหารของเรามุ่งพึ่งพาอาศัยเรื่องเทคโนโลยี แม้ว่าผมจะเข้าอกเข้าใจเรื่องนี้ก็ตามที จริงๆแล้วเราจำเป็นที่จะต้องลดขนาดและมุ่งเน้นไปที่ระบบอาวุธซึ่งดีและยั่งยืน ตลอดจนการฝึกอบรมที่ดีขึ้น แทนที่จะไปมุ่งสร้าง อากาศยานไร้นักบิน (unmanned aerial vehicles หรือUAVs) ฉลาดๆ และสมรรถนะการโจมตีแบบ 24 ชั่วโมง”

บรรดาเรือดำน้ำสหรัฐฯที่สามารถติดตั้งจรวดลาดตระเวนรุ่นโทมาฮอว์ก (Tomahawk cruise missiles), เครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถบรรทุกจรวดลาดตระเวนประเภทเดียวกันนี้, ตลอดจนพวกอากาศยานไร้นักบินอย่างเช่นรุ่น รีปเปอร์ (Reaper) และอีกไม่นานก็คงรวมถึงพวกอากาศยานไร้นักบินที่ประจำการอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิสหรัฐฯรุ่นที่มีเทคโนโลยีกำบังเรดาร์ (stealth) ทั้งหมดเหล่านี้น่าที่จะถูกดึงเข้ามาเพื่อปรับปรุงให้สามารถทำการโจมตีแบบ C-PGS ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรือดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐฯประเภทที่มีความสามารถยิงขีปนาวุธนำวิถีรุ่น ไทรเดนต์ (Trident) ได้ถูกรัฐสภาสหรัฐฯปฏิเสธไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ให้นำมาปฏิบัติภารกิจด้าน C-PGS

แผนการเรื่อง C-PGS นับว่าเข้ากันได้ดีเยี่ยมกับข้อเสนอเรื่อง “โกลบอล ซีโร” (Global Zero โลกที่อาวุธนิวเคลียร์เหลือศูนย์) ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งมุ่งที่จะสร้างโลกที่ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา กระนั้นก็ตาม เอกสาร 2010 QDR ก็รังแต่จะทำให้พวกที่คัดค้าน C-PGS เร่งออกมาคัดค้านเสียงดังยิ่งขึ้นเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่ อเล็กเซย์ อาร์บาตอฟ (Alexei Arbatov) นักวิชาการประจำ ณ ศูนย์คาร์เนกี มอสโก (Carnegie Moscow Center) กล่าวย้ำในการประชุมเมื่อไม่นานมานี้ที่อุปถัมภ์โดย กองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) เขาพูดเอาไว้ดังนี้:

“มีน้อยประเทศนักในโลกที่หวาดกลัวอาวุธนิวเคลียร์อเมริกัน แต่มีประเทศจำนวนมากที่หวาดกลัวอาวุธแบบแผนของอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ อย่างเช่น จีน และรัสเซีย ต่างมีความวิตกเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับการเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ของระบบอาวุธ (C-PGS) ของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งเป็นอาวุธแบบแผนที่มีสมรรถนะนำวิถีที่สามารถเข้าโจมตีด้วยความแม่นยำ และมีพิสัยทำการไกล” [2]

ฝ่ายรัสเซียถือเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจความกำกวมที่ติดตรึงอยู่ภายในแผนการริเริ่มใหม่ของสหรัฐฯนี้ และพวกเขาก็กลายเป็นปรปักษ์ที่ส่งเสียงดังที่สุดและแน่วแน่ที่สุดของแผนการ C-PGS โดยองค์รวมไปอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะการคัดค้านอย่างแข็งขันจากรัสเซียนี่เองที่ทำให้มีการระงับตัดไทรเดนต์ออกไปไม่ให้เกี่ยวข้องมีบทบาทใดๆ ในเรื่อง C-PGS นั่นคือหลังจากฝ่ายรัสเซียโต้แย้งอย่างประสบความสำเร็จว่า เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับพวกเขาที่จะแยกให้ออกด้วยความรวดเร็ว ว่าขีปนาวุธพิสัยไกลที่ถูกยิงออกมาจากเรือดำน้ำสหรัฐฯนั้น กำลังบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ หรือหัวรบธรรมดา

ทั้งนี้รัสเซียอาจจะตราหน้า CSM ว่าเป็นเพียงการแตกลูกแตกหลานอันไม่พึงต้อนรับของ ไทรเดนต์เท่านั้นเอง จึงทำการคัดค้านอย่างแข็งแรงถึงขนาดนี้

สำหรับฝ่ายจีน เนื่องจากเวลานี้ปักกิ่งได้ยกเลิกการติดต่อแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่าง “ทหารกับทหาร”กับวอชิงตันไปทั้งหมดแล้ว สืบเนื่องจากสหรัฐฯตัดสินใจเดินหน้าขายอาวุธให้ไต้หวัน ทำให้มีประเด็นปัญหาสำคัญๆ จำนวนมากรวมทั้งเรื่อง C-PGS ด้วย อาจจะไม่ได้ถูกหยิบยกอธิบายความกันอีกเลยในระยะหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป นอกจากนั้นน่าสังเกตด้วยว่า ในการอภิปรายถกเถียงกับสหรัฐฯที่ผ่านๆ มา ในเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์และการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ฝ่ายจีนมักพูดเป็นนัยถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯจะต้องใส่ใจให้มากขึ้น เกี่ยวกับการที่มีกำลังยิงของอาวุธแบบแผนของสหรัฐฯอยู่ในสภาพที่เหนือกว่าโดยองค์รวม

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจีนกับสหรัฐฯจะกำลังมีการพูดจาหารือกันหรือไม่ ทางฝ่ายญี่ปุ่นก็กำลังเดินหน้าเพื่อเริ่มโครงการระบบดาวเทียม ควอซี-เซนิธ (Quasi-Zenith Satellite System หรือ QZSS) ของตน การปรากฏขึ้นมาของกลุ่มดาวเทียม QZSS บวกกับการที่รัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งอนุมัติผ่านกฎหหมายพื้นฐานเพื่อการใช้ประโยชน์จากอวกาศฉบับใหม่ (New Basic Law for Space Utilization) นับเป็นพัฒนาการ 2 อย่างที่สำคัญและมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งเป็นที่เฝ้าจับมองติดตามอย่างใกล้ชิดของจีน

QZSS นั้นทำงานสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบ GPS ของสหรัฐฯ ระบบของญี่ปุ่นออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียม ในด้านการระบุตำแหน่งที่ตั้ง, การนำร่อง, และการระบุเวลาได้อย่างถูกต้องแม่นยำและอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เมื่ออยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ของญี่ปุ่น และในเอเชียตะวันออก ไปจนถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียด้วย แม้จะด้วยขอบเขตความสามารถที่ด้อยลงมา

ทั้ง QZSS และกฎหมายพื้นฐานฉบับใหม่ของญี่ปุ่น ต่างก็มีส่วนประกอบภายในของมันเองที่มีลักษณะกำกวมเช่นกัน ทั้งสองสิ่งนี้จะมีผลกระทบต่อกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็จะมีอิทธิพลต่อรูปร่างหน้าตาและขอบเขตของแผนงานทางทหารร่วมระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นในอนาคต รวมทั้งของแผนการ C-PGS ของสหรัฐฯด้วย

ระบบ QZSS ที่เสร็จสมบูรณ์ตามแผนการที่วางไว้ กำหนดให้จัดตั้งสถานีติดตาม QZSS ขึ้น 4 แห่งในญี่ปุ่น (ซึ่งอยู่ที่ ฮอกไกโด, โคงาเนอิ (Koganei), โองาซาวาระ (Ogasawara), และ โอกินาวา แล้วยังจะมีสถานีติดตาม QZSS อีก 5 แห่งนอกญี่ปุ่น คือที่ อินเดีย, ฮาวาย, กวม, ไทย, และออสเตรเลีย สัญญาณของ QZSS ยังจะสามารถรับได้อย่างง่ายดายในพื้นที่ตลอดทั่วทั้งคาบสมุทรเกาหลีเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสถานีภาคพื้นดินที่นั่นเลย

ขณะที่ญี่ปุ่นเลือกที่จะเน้นหนักพูดถึงความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี QZSS เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์และประโยชน์ทางพลเรือน แต่ความสามารถในการประยุกต์ใช้ในทางทหารก็ไม่สามารถที่จะละเลยเช่นกัน QZSS นั้นผูกติดโดยตรงกับระบบดาวเทียม GPS ของสหรัฐฯ และแน่นอนที่จีนก็ตระหนักถึงการเชื่อมโยงนี้เป็นอย่างดี QZSS อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามจีนได้หรือไม่ เรื่องนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากมายทีเดียว

ระบบดาวเทียมใหม่ของญี่ปุ่นตามตัวอย่างนี้ แม้ดูเหมือนแทบจะไม่ค่อยมีผลพวงต่อเนื่องตามมานักหนา แต่ก็ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น มันเต็มไปด้วยความกำกวมเคลือบแฝง จีนจึงยังคงรู้สึกสับสนและรู้สึกวิตกกับกระบวนการนี้ และบางทีคงจะเชื่อเอาเลยว่า อันที่จริงแผนการ C-PGS ของสหรัฐฯนั้นน่าจะมีอยู่แล้วเพียงแต่ใช้ชื่ออื่นเท่านั้นเอง การที่แผนการนี้ขาดความกระจ่างชัดเจน ย่อมทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับปักกิ่งและมอสโกที่จะตระหนักรับทราบว่าสหรัฐฯกำลังทำอะไรกันแน่ในเรื่องนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่สหรัฐฯก็มีศักยภาพที่จะจงใจประสานงานให้เกิดความกำกวมเคลือบแฝงนี้ขึ้นมา เพื่อที่ประเทศอย่างเช่นเกาหลีเหนือและอิหร่าน จะทำได้แค่เพียงคาดเดาเท่านั้นว่าสหรัฐฯกำลังคิดอะไรอยู่ในใจ

หมายเหตุ:
[1] US Military Eyes Fielding 'Prompt Global Strike' Weapon by 2015, July 1, 2009, globalsecuritywire.org.

[2] Russian Experts Question Role of Conventional 'Prompt Global Strike' Weapons, April 7, 2009, nti.org.

ปีเตอร์ เจ บราวน์ เป็นนักเขียนอิสระ ซึ่งพำนักอยู่ที่มลรัฐเมน สหรัฐอเมริกา

  • แผนสร้างระบบ‘โจมตีทั่วโลกได้ฉับพลัน’ของ‘สหรัฐฯ’ทำให้‘จีน’ผวา(ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น