xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิดชวนคุยกับ ก.ล.ต.:ทรัสต์กับธุรกรรมในตลาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดทุนที่มีความน่าเชื่อถือและมีกลไกทางด้านตลาดและกฎหมายรองรับอยู่อย่างเพียงพอย่อมเป็นตลาดทุนที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน สำหรับตลาดทุนบ้านเรา กฎหมายฉบับหนึ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในตลาดทุนได้ก็คือ กฎหมายทรัสต์ ( พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับเมื่อ 14 มกราคม 2551 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายดังกล่าว)

กฎหมายทรัสต์ได้รับการยอมรับจากประเทศในระบบกฎหมาย common law มาเป็นเวลานานว่ามีความสำคัญต่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล การประกอบธุรกิจ และการระดมทุนในตลาดทุน ดังจะเห็นได้ว่าประเทศต่าง ๆ อาทิเช่น ญี่ปุ่น แคนาดา ศรีลังกา แอฟริกาใต้ อาเจนตินา บราซิล ได้นำกฎหมายนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลาย

ทรัสต์ คือ การจัดการทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ของบุคคลในสัญญาทรัสต์ ที่ประกอบด้วยผู้ก่อตั้งทรัสต์ (เจ้าของทรัพย์สิน) ทรัสตี (ผู้รับบริหารทรัพย์สิน) และผู้รับประโยชน์ (คนเดียวหรือหลายคนก็ได้) เป็นความสัมพันธ์บนความไว้ใจกัน ผู้ก่อตั้งทรัสต์จึงยอมมอบกรรมสิทธิ์และสิทธิต่าง ๆ เหนือทรัพย์สินให้แก่ทรัสตีซึ่งเป็นบุคคลที่ตนไว้วางใจ เพื่อให้ทรัสตีถือกรรมสิทธิ์และสิทธิต่าง ๆ (trust property) แทนตน รวมทั้งบริหารหรือจัดการทรัพย์สิน หรือสิทธิเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์

ความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวเป็นการนำเอาหลักตามธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งก็คือความไว้วางใจต่อกันและกัน มาเป็นหลักกฎหมายประการหนึ่งซึ่ง  "กำหนดให้ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจมีหน้าที่ต้องทำงานตามที่เขาไว้วางใจอย่างเหมาะสมและดีที่สุด "

การใช้ทรัสต์กับธุรกรรมในตลาดทุนเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนให้มีช่องทางการระดมทุนและการลงทุนที่หลากหลายยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อแก้ไขข้อจำกัดบางประการในการระดมทุนในตลาดทุน ประเภทธุรกรรมที่ใช้ทรัสต์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ทรัสต์สำหรับการบริหารและจัดการลงทุน (active trust) เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และ (2) ทรัสต์สำหรับการถือครองทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของธุรกรรมหลัก หรือเพื่อประโยชน์ในการชำระหนี้ในการออกหลักทรัพย์ (passive trust)  เช่น ใช้ทรัสตีถือหลักทรัพย์ของกรรมการและพนักงานที่ได้รับจากโครงการเสนอขายหุ้นให้กรรมการและพนักงาน (ESOP) หรือใช้ทรัสตีถือหุ้นที่ออกไว้เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (derivative warrants) ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนว่าจะได้รับการส่งมอบหุ้นตามเงื่อนไขที่กำหนด

ล่าสุด ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะนำทรัสต์มาใช้กับธุรกรรมหลายประเภท เช่น การจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT)  ซึ่งจะเป็นการ  พัฒนาให้โครงสร้างการระดมทุนและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นสากลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดตั้งและจัดการการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ใช้โครงสร้างกองทุนรวม นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะนำทรัสต์มาใช้ในการออกตราสารศุกูก ซึ่งเป็นตราสารที่ถูกพัฒนาขึ้นมาบนหลักศาสนาอิสลาม เทียบเคียงได้กับตราสารหนี้ (conventional bond) แต่ผลตอบแทนไม่อยู่ในรูปของดอกเบี้ย โดยจะมาจากการ แบ่งปันผลประโยชน์และรับความเสี่ยงในธุรกรรมที่ทำร่วมกัน  ซึ่งธุรกรรมที่ว่านี้มีหลายรูปแบบและโครงสร้างทรัสต์สามารถรองรับได้ทั้งหมด รวมทั้งยังมีทรัสตีซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ทำหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ถือตราสารศุกูก ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น

ดังจะเห็นได้ว่าการนำกฎหมายทรัสต์มาใช้ในตลาดทุนมีส่วนช่วยให้ธุรกรรมหลายประเภททำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการให้ความเห็นชอบและการกำกับดูแลทรัสต์และทรัสตีกำลังทยอยออกมา ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความสนใจทั้งในส่วนการให้ความคิดเห็นต่อเกณฑ์ดังกล่าว และการนำทรัสต์ไปใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น