xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ได้เปรียบดุลการค้า‘จีน’

เผยแพร่:   โดย: เซียร์เกย์ บลากอฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Russia moves into trade surplus with China
By Sergei Blagov
17/02/2010

ความมุ่งหมายของรัสเซียที่จะเพิ่มพูนการค้ากับจีน มีอันต้องได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรงจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกประสบภาวะทรุดถอย กระนั้นก็ตาม สภาพการณ์ดังกล่าวก็ได้ช่วยให้รัสเซียเข้าสู่ภาวะได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเจริญรุ่งเรืองยิ่งของตนรายนี้ในปี 2009 สืบเนื่องจากการส่งออกได้ลดต่ำลงด้วยฝีก้าวที่ช้ากว่าการนำเข้า แถมในช่วงปลายปีการค้าทวิภาคีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการกระเตื้องขึ้นมาอย่างเข้มแข็งอีกด้วย

รัสเซียให้คำมั่นสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะขยายการทำการค้ากับจีน โดยที่วังเครมลินดูเหมือนจะมีทัศนะว่า สายสัมพันธ์ทางการพาณิชย์เหล่านี้คือเครื่องบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งของสิ่งที่ได้รับการพรรณนาอย่างเป็นทางการว่า “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระดับทวิภาค” (bilateral strategic partnership) ของทั้งสองประเทศ

แต่ถึงแม้ในปี 2009 การค้าทวิภาคีกลับต้องมีอันถดถอยโดยเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกทรุดต่ำ มอสโกก็ยังประสบความสำเร็จในการได้เปรียบดุลการค้าสูงพอสมควรในการทำการค้ากับจีน สำหรับในเรื่องของปริมาณการค้านั้น ตามตัวเลขสถิติทั้งของรัสเซียและของจีน ปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศได้ลดต่ำลงจากปีก่อนหน้าถึง 32% มาอยู่ในระดับ 38,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลของ เซียร์เกย์ ซืยปลาคอฟ (Sergei Tsyplakov) ผู้แทนการค้ารัสเซียประจำกรุงปักกิ่ง สินค้าออกของจีนที่เข้าไปยังรัสเซียในช่วงดังกล่าวได้ลดลง 47% เหลือ 17,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สินค้าออกของรัสเซียที่เข้าจีนหดตัวเพียง 11% มาอยู่ที่ 21,300 ล้านดอลลาร์ ทำให้รัสเซียได้เปรียบดุลการค้าจีนอยู่ 3,800 ล้านดอลลาร์

ซืยปลาคอฟบอกด้วยว่า การส่งออกของรัสเซียไปยังจีนได้เริ่มขยับขยายเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2009 เป็นที่น่าสังเกตว่า ในไตรมาส 4 ของปี 2009 การส่งออกของรัสเซียสูงขึ้น 21.1% เมื่อเปรียบเทียบช่วงระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนธันวาคม ตัวเลขจะสูงถึง 53.6% จากเดือนสุดท้ายของปี 2008 การส่งออกของรัสเซียไปยังจีนที่เพิ่มขึ้นมาดังกล่าวนี้ เป็นผลจากสินค้าอย่างเช่น น้ำมันดิบ, โลหะ, และสินแร่โลหะ ด้วยเหตุนี้ซืยปลาคอฟจึงมองว่า นี่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการค้าทวิภาคีกำลังฟื้นตัวแล้ว

มอสโกนั้นมองว่าถ้าหากการค้าจีน-รัสเซียมีอัตราเติบใหญ่ขยายตัวสูงๆ ก็คือเครื่องบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งของสภาพความเป็นหุ้นส่วนระดับทวิภาคีของสองประเทศ ในปี 2006 นั้น การค้าทวิภาคีจีน-รัสเซียมีปริมาณเท่ากับ 33,400 ล้านดอลลาร์ สูงราวราว 15% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ในปี 2005 เอง การทำกับค้าระหว่างรัสเซียกับจีนก็อยู่ในระดับสูงเกิน 29,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 37.1% จากปี 2004 อยู่แล้ว

ในเดือนมกราคม 2006 วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศแผนการต่างๆ ที่จะเพิ่มการค้าทวิภาคีของสองประเทศให้ขึ้นไปอยู่ในระดับระหว่างปีละ 60,000 – 80,000 ล้านดอลลาร์ให้ได้ภายในปี 2010 ตอนต้นๆ ทีเดียว ทั้งสองประเทศทำท่าจะสามารถก้าวเดินไปอย่างรวดเร็วสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในปี 2007 การค้าของรัสเซียที่ทำกับจีนไปถึงระดับ 48,160 ล้านดอลลาร์ หรือสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 44.3% ทีเดียว

ในปี 2008 ระดับการค้าทวิภาคีนี้พุ่งขึ้นสู่ 56,800 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อนหน้า 18% และจีนก็กลายเป็นหุ้นส่วนการค้าต่างประเทศรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของรัสเซีย ส่วนรัสเซียมีฐานะเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่อันดับ 8 ของจีน อย่างไรก็ตาม ในครึ่งหลังของปี 2008 นั้นเอง การค้าระหว่างสองประเทศทำท่าจะเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากภูมิหลังการทรุดตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่ในปีที่แล้ว การค้าทวิภาคนี้นี้จะตกลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือต่ำกว่าระดับปี 2007 เสียอีก

พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียยอมรับว่า การค้าทวิภาคีกับจีนไม่น่าที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ในปีนี้ โดยในปี 2010 คาดหมายกันว่า ปริมาณการค้ารัสเซีย-จีนน่าจะมีปริมาณไม่เกิน 46,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปริมาณการค้าในช่วงก่อนวิกฤตรอบนี้ คือระดับ 56,000 ล้านดอลลาร์ อาจจะบรรลุได้ก็คงต้องถึงปี 2011 หรือ 2012 ทั้งนี้ตามความเห็นของซืยปลาคอฟ สำหรับการที่รัสเซียสามารถได้เปรียบดุลการค้าจีนในปริมาณที่สูงพอสมควรในปีที่แล้ว ส่วนสำคัญทีเดียวเนื่องมาจากการที่จีนส่งออกพวกเครื่องจักรกลเข้าสู่รัสเซียได้น้อยลง สืบเนื่องจากภาวะอุปสงค์ที่อ่อนตัวในแดนหมีขาว ในทางตรงกันข้าม การส่งออกพลังงานของรัสเซียไปยังแดนมังกรกลับกำลังเพิ่มสูง

ตามตัวเลขของซืยปลาคอฟ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมปี 2009 ยอดส่งออกน้ำมันไปยังจีนอยู่ในระดับ 13 ล้านตัน ผลก็คือ รัสเซียกลายเป็นประเทศผู้จัดส่งน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน ตลอดทั้งปี 2009 น้ำมันจากรัสเซียมีปริมาณเท่ากับ 7.8% ของน้ำมันที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด สูงขึ้นจากระดับ 6.5% ในปี 2008 นอกจากนั้นในเดือนมีนาคม 2009 รัสเซียยังฟื้นการส่งออกกระแสไฟฟ้าไปยังจีนอีกด้วย ภายหลังเกิดการหยุดชะงักด้วยความร้าวฉานกันมาระยะหนึ่ง ความบาดหมางเหล่านี้บังเกิดขึ้นในท่ามกลางบริบทของเรื่องราวการส่งกระแสไฟฟ้ารัสเซียไปยังจีนที่ยืดยาวและเร้าใจประดุจตำนาน

มอสโกกับปักกิ่งนั้นได้เจรจาหารือกันมานานแล้วในเรื่องการซื้อขายกระแสไฟฟ้า เมื่อกลางทศวรรษ 1990 พวกเขาหารือถึงการจัดทำโครงการร่วมเพื่อสร้างโครงข่ายสายไฟฟ้าความยาว 2,600 กิโลเมตร จากเขตอีคุตสก์ (Irkutsk) ในไซบีเรียไปยังจีน ซึ่งจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายราว 1,500 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถทำข้อตกลงเรื่องราคากันได้ และเวลาต่อมาโครงการนี้ก็ถูกทอดทิ้งไป ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2006 มอสโกกับปักกิ่งสามารถทำข้อตกลงที่จะเพิ่มการส่งออกกระแสไฟฟ้าจากรัสเซียไปยังจีนเป็น 3,600 – 4,300 ล้าน กิโลวัตต์ชั่วโมง (kwh) ต่อปีในระหว่างปี 2008-2010 และเป็น 18,000 ล้าน kwh ในระหว่างปี 2010-2015 และท้ายที่สุดก็จะส่งให้ถึง 60,000 ล้าน kwh อย่างไรก็ตาม แผนการของมอสโกที่จะเพิ่มการส่งออกกระแสไฟฟ้าของตนอย่างมโหฬาร กลับต้องประสบความเสียหายอย่างรุนแรงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2007 จีนได้ปฏิเสธไม่ยอมนำเข้ากระแสไฟฟ้ารัสเซีย ดังนั้น จึงทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำของรัสเซียหลายต่อหลายแห่งตกอยู่ในสภาพไม่มีตลาดที่จะขายกระแสไฟฟ้าส่วนเกินของพวกเขา

ความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกันดังกล่าวนี้ในที่สุดก็ได้รับการแก้ไข และในปี 2009 ซัปพลายเออร์ชาวรัสเซียได้ส่งออกกระแสไฟฟ้าประมาณ 900 ล้าน kwh ให้จีน มีรายงานว่าเวลานี้พวกบริษัทพลังงานรัสเซียตั้งจุดมุ่งหมายที่จะส่งออกกระแสไฟฟ้าไปยังจีนให้ได้ 60,000 ล้าน kwh ภายในปี 2020

ตามธรรมดาแล้ว ข้อมูลสถิติทางการค้าของรัสเซียและของจีน จะไม่รวมตัวเลขการซื้อขายอาวุธเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการส่งออกอาวุธรัสเซียไปยังจีนก็กำลังอยู่ในภาวะหดตัวลงเช่นกัน โรโซโบรอนเอ็กซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) บริษัทส่งออกอาวุธที่เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย ก็ยอมรับว่า การส่งออกอาวุธของตนไปยังจีนกำลังลดต่ำ ในวันที่ 28 มกราคม อนาโตลี อีไซคิน (Anatoly Isaikin) ผู้บริหารสูงสุดของโรโซโบรอนเอ็กซ์ปอร์ต ระบุว่า ในการส่งออกอาวุธของรัสเซียนั้น ปริมาณที่ส่งไปยังจีนได้ลดต่ำลงจนเหลือเพียง 18% ของทั้งหมด

อีไซคินบอกว่า จีนกำลังอยู่ในภาวะตัดลดการนำเข้าอาวุธ โดยมุ่งเน้นไปที่การรับถ่ายโอนเทคโนโลยีการทหาร และการพัฒนาการผลิตอาวุธภายในประเทศ ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 การส่งออกอาวุธไปยังจีนเคยเป็นตัวทำรายได้ถึง 40% ของยอดรวมรายรับประเภทนี้ของรัสเซีย ดังนั้น การค้าระหว่างรัสเซียกับจีนในด้านสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการอุตสาหกรรม ดูเหมือนกำลังลดต่ำลงสืบเนื่องจากผลด้านลบของภาวะเศรษฐกิจโลกทรุดตัว แต่ขณะเดียวกัน รัสเซียยังคงเพิ่มการส่งออกพลังงานของตนไปยังจีนต่อไป

ดร.เซียร์เกย์ บลากอฟ เคยเป็นผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าว ก่อนจะมาทำงานเป็นนักวิจัยและนักหนังสือพิมพ์อิสระโดยพำนักอยู่ที่กรุงมอสโก เขาเคยไปประจำทำข่าวที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามเป็นระยะๆ รวมแล้วเกือบๆ 7 ปี ในระหว่างปี 1983-1997
กำลังโหลดความคิดเห็น