xs
xsm
sm
md
lg

รางวัล 1,000ล้านดอลลาร์ล่อใจ‘ตอลิบาน’

เผยแพร่:   โดย: อาบูบาการ์ ซิดดิกัว

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

A $1bn sweetener for the Taliban
By Abubakar Siddique
14/01/2010

เจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานหลายคน เพิ่งเปิดเผยแผนการที่จะใช้งานและตำแหน่งตลอดจนการฝึกอาชีพ เป็นเครื่องล่อใจพวกตอลิบานหลายพันคนให้เลิกราถอนตัวจากการก่อความไม่สงบ แผนการริเริ่มมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนี้ ได้รับคำชมเชยว่าเป็นการเสนอแรงจูงใจทางการเงินที่ดูมีเสน่ห์ดึงดูดดีกว่ามาตรการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ซึ่งล้วนประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า พวกนักรบตอลิบานจะยินยอมทิ้งปืนของพวกเขาจริงๆ หรือ ในเมื่อพวกเขาเชื่อว่ากำลังใกล้จะได้รับชัยชนะอยู่แล้ว

เจ้าหน้าที่อาวุโสของอัฟกานิสถานหลายคน เพิ่งเปิดเผยแผนการใหม่ที่จะเป็นวิธีในการตกลงรอมชอมกับพวกผู้ก่อความไม่สงบตอลิบาน แผนการดังกล่าวนี้ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะดึงดูดพวกตอลิบานได้ถึง 35,000 คนทีเดียว อยู่ในลักษณะของการเสนอให้งานให้ตำแหน่งละการฝึกอาชีพ ทั้งนี้พวกเขาวาดหวังว่ากลเม็ดทีเด็ดคราวนี้จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จนสามารถผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมนานาชาติว่าด้วยอัฟกานิสถาน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในกรุงลอนดอนตอนปลายเดือนนี้

ส่วนประกอบหลายๆ ประการของแผนการนี้ ซึ่งถ้าหากดำเนินการกันอย่างเต็มที่แล้วอาจจะต้องใช้เงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันแล้ว ระหว่างการประชุมระดับสุดยอดเป็นเวลา 1 วันที่นครอาบูดาบี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม

ริชาร์ด โฮลบรูก (Richard Holbrooke) ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯทำหน้าที่ดูแลอัฟกานิสถานและปากีสถาน ได้เข้าร่วมการประชุมคราวนี้ด้วย เช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากทั้งอัฟกานิสถานและปากีสถาน แต่บางทีเรื่องซึ่งน่ายินดีที่สุดเห็นจะได้แก่การปรากฏตัวในที่ประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศจากจอร์แดน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ตลอดจนการเข้าร่วมของผู้แทนระดับสูงจากชาติอาหรับสำคัญๆ หลายแห่ง

ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากมองรัฐอาหรับต่างๆ เหล่านี้ว่า เป็นพวกซึ่งมีศักยภาพมากที่สุดที่จะแสดงอิทธิพลโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเหล่าผู้นำสำคัญของตอลิบานและเครือข่าย สืบเนื่องจากความชิดเชื้อกันในทางด้านศาสนา นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังชี้ด้วยว่า พวกตอลิบานก็กำลังใช้วิธีการอย่างเดียวกับอัลกออิดะห์ นั่นคือระดมหาเงินทุนสนับสนุนได้เป็นจำนวนก้อนโตทีเดียว จากพวกผู้บริจาคที่ไม่เปิดเผยตัวในรัฐอาหรับต่างๆ

โมฮัมหมัด มัสซูม สตาเนกไซ (Mohammad Masoom Stanekzai) ที่ปรึกษาคนสำคัญคนหนึ่งของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถาน และก็เป็นผู้คิดค้นจัดทำแผนการรอมชอมกับตอลิบานนี้ขึ้นมา บอกกับ สถานีวิทยุอัฟกานิสถานเสรี (Radio Free Afghanistan) ของเครือสถานีวิทยุยุโรปเสรี/สถานีวิทยุเสรีภาพ (Radio Free Europe หรือ RFE / Radio Liberty หรือ RL) ว่า การประชุมที่อาบูดาบีได้มีการอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับ “หนทางต่างๆ ที่จะดึงเอาพวกผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการสร้างสันติภาพ และผนวกรวมเอาพวกเขากลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง”

สตาเนกไซบอกว่าเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เขาได้เห็นและได้ยินในอาบูดาบีแล้ว เขาก็ออกจะมองการณ์ในแง่ดีว่าอัฟกานิสถานน่าจะสามารถทำให้นานาชาติสนับสนุนแผนการนี้ แต่เขาก็ชี้ด้วยเช่นกันว่ายังจะต้องจัดการกับสภาพการณ์บางประการ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนการนี้อย่างประสบผลสำเร็จ

“สงครามไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาหรอก หนทางแก้ไขที่ชาวอัฟกันควรจะเลือกเดินก็คือ จะต้องตกลงเห็นพ้องร่วมกันว่าจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างสันติ” เขากล่าว “เรายังจะต้องแก้ไขไม่ให้เกิดสภาพการณ์แบบที่ส่งผลให้ชาวอัฟกันต้องสู้รบทำสงครามกับชาวอัฟกันด้วยกันเอง โดยที่บางครั้งก็เป็นสิ่งที่กำหนดมาจากภายนอกประเทศ เรื่องเช่นนี้จำเป็นจะต้องอาศัยมาตรการอันกว้างขวางจำนวนหนึ่ง และไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ ด้วยการมุ่งจัดหางานให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบเพียงบางรายเท่านั้น”

ทางด้านว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศอัฟกานิสถาน รันกิน ดัดฟาร์ สปานตา (Rangin Dadfar Spanta) บอกกับวิทยุอัฟกานิสถานเสรีของเครือข่าย อาร์เอฟอี/อาร์แอล ว่าในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 5 ปีเป็นสมัยที่สองของคารร์ไซ วาระทางการเมืองที่ถือว่าทรงความสำคัญอันดับสูงสุด ก็คือเรื่องการรอมชอมกับพวกสมาชิกตอลิบานที่ยอมประณามการใช้ความรุนแรง และแสดงเจตนารมณ์ที่จะเคารพรัฐธรรมนูญของอัฟกานิสถาน

“ประชาคมระหว่างประเทศต้องการที่จะเข้าใจทัศนะมุมมองของอัฟกานิสถาน” ในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการปรองดอง สปานตาเล่าถึงการประชุมในอาบูดาบี ช่วงที่เขามีโอกาสเสนอแผนการนี้ต่อประชาคมระหว่างประเทศ “ผมจึงได้อธิบายให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับทัศนะมุมมองของเรา และแผนการในปัจจุบันของเราที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ และผมก็ขอความสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศในการดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์นี้ ภายใต้การนำและการกำกับตรวจสอบของชาวอัฟกัน”

**แรงจูงใจที่เย้ายวน?**

รัฐบาลอัฟกานิสถานได้เคยใช้ความพยายามมาแล้วหลายครั้งเพื่อเปิดการเจรจาหารือกับพวกตอลิบาน โดยมุ่งไปที่การโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ส่วนที่ค่อนข้างมีแนวคิดสายกลางสักหน่อยในหมู่ตอลิบาน ยินยอมวางอาวุธ ทว่าการชักจูงใจเหล่านี้ประสบความยากลำบากอย่างมาก เนื่องจากแทบไม่มีการเสนอมาตรการในการคุ้มครองพวกที่ยอมวางอาวุธ หรือมาตรการในลักษณะของแรงจูงใจทางการเงิน

พวกที่วิพากษ์วิจารณ์แผนการล่าสุดนี้ ยังคงตั้งคำถามขึ้นมาว่า นักรบตอลิบานจะยินยอมเปลี่ยนข้างหรือ ในเมื่อพวกเขาเชื่อว่าพวกเขากำลังใกล้จะได้ชัยชนะเต็มทีอยู่แล้ว ทว่าพวกที่เห็นด้วยกับแผนการ เชื่อว่า ตำแหน่งงาน, การฝึกอาชีพ, และแรงจูงใจอื่นๆที่จะเสนอกันออกมาเหล่านี้ จะทำให้แผนการล่าสุดคราวนี้มีลักษณะที่ล่อใจยิ่งกว่าเมื่อก่อนมากมาย

สำหรับฝ่ายตะวันตก แม้มีท่าทีสุขุมระมัดระวัง โดยเรียกร้องไม่ให้มีการติดต่อกับพวกตอลิบานแนวคิดแข็งกร้าวซึ่งเป็นพันธมิตรกับอัลกออิดะห์ แต่ฝ่ายตะวันตกก็ย่อมยินดีที่จะให้มีการเลียนแบบความสำเร็จในอิรัก ซึ่งมีการ “ซื้อ” พวกผู้ก่อความไม่สงบที่เป็นชาวสุหนี่

ขณะเดียวกัน คณะรัฐบาลคาร์ไซก็ตระหนักเป็นอย่างดีว่า แผนการคราวก่อนๆ นั้นที่ประสบความล้มเหลว ก็เพราะไม่ได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางเพียงพอ จากฝักฝ่ายต่างๆ ที่เป็นผู้ครอบงำเวทีการเมืองในอัฟกานิสถานอยู่ส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ความพยายามที่ผ่านๆ มาของทางการคาบูล ในที่สุดแล้วก็ล้มเหลวไม่สามารถดึงให้พวกหัวหน้านักรบภาคสนามคนสำคัญๆ ของตอลิบานแปรพักตร์ได้ ขณะที่ความพยายามในอดีตของทางการคาบูลที่จะเปิดการเจรจากับ มุลลาห์ โมฮัมหมัด โอมาร์ (Mullah Mohammad Omar) ผู้นำของตอลิบาน ในที่สุดแล้วก็พบกับความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า แม้จะมีการโฆษณาปูพื้นเอาไว้มากมาย

แต่สำหรับคราวนี้ สปานซาบอกว่า คาบูลสามารถทำให้รัฐบาลพลเรือนปากีสถานสนับสนุนแผนการนี้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นแรงหนุนที่สำคัญยิ่งยวด ทว่ายังจำเป็นจะต้องได้รับความสนับสนุนจากฝ่ายทหารที่ทรงอำนาจยิ่งของปากีสถานด้วย ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พวกผู้นำของทั้งอัฟกานิสถานและทั้งฝ่ายตะวันตกต่างพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า แหล่งหลบภัยของตอลิบานในปากีสถานนั่นแหละ คือแหล่งที่มาแห่งการก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถาน

เวลานี้สปานซามองโลกในแง่สดใสยิ่ง จากการที่มีชาติอาหรับหลายชาติเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาบูดาบี และตั้งความหวังว่าเรื่องนี้จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้นานาชาติให้การหนุนหลังอย่างเป็นรูปธรรมต่อความพยายามในการรอมชอมกับตอลิบาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับ อับดุล ฮาคิม มูจาฮิด (Abdul Hakim Mujahid) ซึ่งเคยเป็นผู้แทนของตอลิบานประจำสหประชาชาติมาแล้ว เขาออกมาท้วงติงว่า การที่แผนการเช่นนี้จะไปถึงฝั่งฝันได้ ยังจำเป็นจะต้องอาศัยความพยายามทางการทูตที่จริงจังมารองรับ

ในการให้สัมภาษณ์วิทยุอัฟกานิสถานเสรีของเครือข่าย อาร์เอฟอี/อาร์แอล เขากล่าวชมเชยความพยายามเมื่อเร็วๆ นี้ของทางการคาบูล ที่ให้ลบชื่อผู้นำตอลิบานแนวคิดไม่รุนแรงบางคนออกจากบัญชีรายชื่อลงโทษคว่ำบาตรของยูเอ็น แต่เขาก็เรียกร้องต่อไปว่าจะต้องใช้นโยบายที่ “โปร่งใส” ในการดำเนินการกับกลุ่มนี้

“ก่อนอื่นเลยรัฐบาลอัฟกานิสถานจำเป็นจะต้องทำให้พวกกองกำลังต่างชาติบังเกิดความเชื่อมั่น ในขณะที่พวกเขาเปิดการเจรจาหารือกับตอลิบานตลอดจนกลุ่มปรปักษ์อื่นๆ” เขาชี้ “รัฐบาลอัฟกานิสถาน, ชาวต่างชาติ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะต้องดำเนินนโยบายที่โปร่งใส ซึ่งมีเป้าหมายต่างๆ และยุทธศาสตร์อันชัดเจน ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลอัฟกานิสถานและพวกผู้สนับสนุนต่างชาติของรัฐบาลนี้ สามารถร่วมมือประสานงานกันในจุดนี้ได้แล้ว เราก็จะได้เห็นความคืบหน้า”

มูจาฮิด ซึ่งอ้างว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพวกตอลิบานมานานแล้ว ให้ความเห็นว่าก่อนอื่นใดเลยรัฐบาลอัฟกานิสถานจำเป็นจะต้องยอมรับขบวนการตอลิบานอย่างเป็นทางการ และอนุญาตให้ขบวนการนี้ดำเนินงานได้อย่างสันติภายในขอบเขตเวทีการเมืองในปัจจุบัน

เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลอัฟกานิสถานปลดปล่อยนักโทษตอลิบานออกจากเรือนจำบากรัม (ในอัฟกานิสถาน) ตลอดจนพวกที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกสหรัฐฯที่กวนตานาโม รวมทั้งลบชื่อของพวกเขาออกจากบัญชีดำของยูเอ็น “นี่แหละจึงจะสามารถสร้างบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจขึ้นมาได้” เขาบอก
กำลังโหลดความคิดเห็น