หลังจากที่เยาวชนว่าที่ขุนพลการเงินในโครงการ "MFC Talent Award" รุ่นที่ 6 ต้องคร่ำเคร่งกับการฝึกอบรมในภาคทฤษฎีที่อัดแน่นไปด้วยความรู้เกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุน อย่างเข้มข้นมากว่า 1 เดือนเต็มในช่วงที่ผ่านมานั้น เจ้าของโครงการอย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ก็ได้นำเหล่าเยาวชนคนเก่งไปผ่อนคลายกับกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์นอกสถานที่ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “คิดดี ทำดี เพื่อสังคม” ณ จังหวัดชลบุรี
กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของการคิดดี ทำดี เพื่อตอบแทนสิ่งที่ดีกลับคืนสู่สังคม ตลอดจนฝึกให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนได้เรียนรู้ความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักการเปิดใจกว้าง ปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมโครงการ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการก้าวเข้าสู่การเป็นบุคคลากรทางการเงินอย่างมืออาชีพ นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการกองทุนและการเงิน
โดยเยาวชนนิสิตนักศึกษาได้ร่วมกันปลูกป่าชายเลน ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน ตำบลคลองตำหรุ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกในการตอบแทนสิ่งที่ดีกลับคืนสู่สังคมด้วยการร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลนซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ จากนั้นได้มุ่งหน้าไปทำกิจกรรมสัมพันธ์ ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งน้องๆ เยาวชนจะได้พัฒนาความพร้อมด้านจิตใจในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ที่นักบริหารในอนาคตต้องเผชิญก่อนที่จะก้าวไปเป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) มืออาชีพ
ตัวอย่างเช่น การนำน้ำจากทะเลมาใส่ในขวดที่มีรูรั่วให้เต็มภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อต้องการฝึกให้น้องๆ ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีม หรือการร่วมกันสามัคคีพายเรืออ้อมเสาธงในทะเล ซึ่งเป็นการฝึกความอดทน ความสามัคคีกลมเกลียวและความไว้ใจกันภายในทีมในการร่วมกันพายเรือแล่นออกสู่ทะเลและนำเรืออ้อมเสาธงกลับเข้าฝั่ง หรือไม่ว่าจะเป็นการหาวิธีที่จะช่วยให้เพื่อนสามารถเอื้อมหยิบของจากที่ไกลได้ ซึ่งฝึกฝนให้รู้จักใช้บุคลากรให้เหมาะสม รวมทั้งเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ที่พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้นำทีมให้นำพาทีมไปสู่ความสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อปเพื่อให้น้องๆ ได้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองเคยเป็นในอดีตก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ และสิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ และความใฝ่ฝันในอนาคตทั้งหลังจากจบจากโครงการและหลังจากจบจากมหาวิทยาลัย ซึ่งเหล่าเยาวชนต่างมีความคิดในช่วงจุดเริ่มต้นก่อนเข้าร่วมโครงการที่คล้ายกัน คือ ต้องการความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือ ต้องการเป็นทีมชนะเพื่อได้เงินรางวัลพร้อมโอกาสที่จะได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ แต่เมื่อได้เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ในโครงการจริงจังแล้ว ก็พบว่าสิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ความรู้ที่เพิ่มขึ้นและโอกาสในการนำความรู้มาใช้ในภาคปฏิบัติที่มากขึ้น แต่ยังได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายในแต่ละภารกิจ การฝึกภาวะผู้นำ และการนำเสนองาน นอกจากนี้ยังได้เปิดโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ได้รู้จักเพื่อนใหม่ และได้กระชับความสัมพันธ์อันดีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยเฉพาะจากการร่วมกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ในครั้งนี้ และเมื่อจบโครงการต่างก็หวังว่าความรู้และความสามารถที่ได้เพิ่มขึ้นจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ น้องๆเยาวชนยังมีความตั้งใจจริงว่าหากได้เป็นผู้ชนะจากโครงการนี้ จะไม่ลืมที่จะแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่ตัวเองได้มาแก่เพื่อนที่เข้าร่วมโครงการด้วยกัน รวมถึงคนอื่นๆ ที่สำคัญที่สุดคือการทำทุกอย่างด้วยใจ
“กิจกรรมนี้มีความสำคัญถึง 1 ใน 3 ของโครงการนี้ เพราะการค้นหา “talent” ไม่ได้หมายความว่าเราเรียนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักการทำงานร่วมกันกับคนอื่นๆ และรู้จักที่จะคิดและทำในสิ่งที่ดีทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์และนำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายใต้กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ในครั้งนี้ได้ออกแบบมาเพื่อเสริมทักษะเหล่านี้” ดร.ศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวในระหว่างการร่วมกิจกรรม
ด้านน้อง เกียรติพล ตั้งดำรงค์กุล จากทีม Hedge ซึ่งกำลังเรียนอยู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการแค่หวังว่าจะได้รับความรู้ที่เพิ่มขึ้น และได้ฝึกปฏิบัติจริง พอได้เข้าร่วมโครงการอย่างจริงจัง จึงได้พบว่ามีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายมากและไม่ได้มีแค่เรื่องของวิชาการเท่านั้น แต่ยังได้มีกิจกรรมที่เน้นเรื่องการของการฝึกการทำงานร่วมกันและได้รู้จักสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม มีการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ขณะที่น้องโอม อนุพงศ์ คณวิวัฒนากุล จากทีม JOK หนุ่มน้อยจากคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ตอนแรกที่สมัครเข้าร่วมโครงการคิดว่าเป็นแค่การแข่งขันระยะสั้นและมีแต่เรื่องของวิชาการเท่านั้น แต่พอได้เข้าร่วมโครงการก็พบว่าทุกหัวข้อที่เรียนมาเป็นประโยชน์หมด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสันทนาการนอกสถานที่ซึ่งช่วยผ่อนคลายและกระชับความสัมพันธ์ ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้สร้างเครือข่ายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตด้วย”
...หลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ตลอดระยะเวลา 2 วัน 1 คืน พร้อมกับผ่อนคลายจากวิชาการหนักๆ แล้ว เหล่าเยาวชนต่างก็จะต้องกลับไปพบกับภารกิจที่ท้าทายต่อไป คือการแข่งขันเกมการจัดพอร์ตการลงทุน หรือ Simulation Game เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถ และเฟ้นหาสุดยอดว่าที่ขุนพลการเงินที่จะได้รับเงินรางวัลพร้อมโอกาสที่จะได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ ซึ่งบรรดาน้องๆ ก็ได้รับโจทย์กันไปแล้ว และจะได้ทำงานร่วมกันในทีมเพื่อวางแผนการจัดพอร์ตให้มีประสิทธิภาพที่สุด