xs
xsm
sm
md
lg

จีนถูกวิจารณ์หนักในที่ประชุม‘โลกร้อน’

เผยแพร่:   โดย: อันโตอาเนตา เบซโลวา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China reels under a barrage of criticism
By Antoaneta Bezlova
17/12/2009

จีนแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแรงเมื่อถูกกล่าวหาจากหลายๆ ฝ่ายว่า กำลังขัดขวางความคืบหน้าของการประชุมสุดยอดที่โคเปนเฮเกน ภายหลังจากที่ปักกิ่งปะทะกับวอชิงตันทั้งในประเด็นว่าด้วยการตัดลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเรื่องกองทุน“เงินชดเชยค่าภูมิอากาศ” ทั้งนี้จีนได้ยกข้อเขียนโบราณของตนขึ้นมาอ้างอิงยืนยันว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

ปักกิ่ง – จีนไม่มีความสบายใจเลย หนึ่งในบรรดาหนังสือพิมพ์จีนที่ล้วนแต่ถูกรัฐตรวจตราควบคุม พูดสรุปถึงอารมณ์ความรู้สึกของทางการปักกิ่ง หลังจากเข้าร่วมการเจรจาต่อรองเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก

ภายหลังตกเป็นข่าวเกรียวกราวโด่งดังจากการปะทะกับสหรัฐฯในวันแรกๆ ของการหารือเรื่องภูมิอากาศของโลกคราวนี้ จีนก็พบว่าตนเองถูกโจมตีจากบรรดาประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กๆ ด้วยข้อหาว่ากำลังพยายามหาผลประโยชน์เข้าตัวให้มากที่สุดจากกองทุนสินเชื่อคาร์บอนที่กำลังมีข้อเสนอให้จัดตั้งกันขึ้นมา และยิ่งใกล้กำหนดเส้นตายในวันศุกร์(18) ซึ่งที่ประชุมโคเปนเฮเกนจะต้องทำความตกลงกันให้สำเร็จ ก็ยิ่งมองเห็นกันว่าปักกิ่งกำลังพยายามปัดเบนข้อกล่าวหาที่พุ่งมาใส่ตนซึ่งระบุว่า จีนคืออุปสรรคขัดขวางทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้

หนังสือพิมพ์ไชน่าไทมส์ พูดถึงค่ายต่างๆ ที่กำลังต่อสู้กันอยู่ในโคเปนเฮเกน โดยหยิบยืมวลีจากหนังสือ “ตำราพิชัยสงคราม” อันมีชื่อเสียงโด่งดัง ของ “ซุนวู” (ซุนจื่อ) นักปรัชญาการทหารชาวจีนในยุคโบราณ และระบุว่าปักกิ่งกำลังรู้สึกหมดหวังที่ได้เห็นการเจรจาบานปลายไปเรื่อยๆ และไม่ปรากฎสัญญาณใดๆ ว่าจะสามารถ “หยุดยิง” กันได้

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคราวนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม เวลานี้กำลังเข้าสู่ระยะสุดท้าย โดยมีกำหนดที่จะสิ้นสุดลงในวันศุกร์(18) ภายในแวดวงผู้แทนรัฐบาลและภายในพวกนักล็อบบี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ต่างก็มีความตระหนักรับรู้เหมือนๆ กันว่า จีนมีบทบาทอันสำคัญมากในการทำให้บรรลุข้อตกลงกัน

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกสำหรับจีนที่มาทำงานด้านความร่วมมือเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับระหว่างประเทศ” หูอันกัง (Hu Angang) นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญและนักรณรงค์เพื่ออนาคตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนกันน้อยลง กล่าวแสดงความเห็น “ปักกิ่งทราบดีว่าถ้าหากเราประสบความสำเร็จ โลกก็จะพบความสำเร็จด้วย ถ้าประเทศจีนล้มเหลว โลกก็จะประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกัน”

อย่างไรก็ตาม การเจรจากำลังมาถึงทางตันเนื่องจากความร้าวฉานที่มีมานมนานแล้วระหว่างพวกประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน แล้วยังเกิดความแตกแยกใหม่ๆ ปรากฏขึ้นในหมู่พวกประเทศกำลังพัฒนาเสียอีก จีนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประจันหน้าของทั้งสองส่วนนี้ และปักกิ่งก็ดูมีความวิตกว่าตนเองกำลังตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวการของความชะงักงัน

“ผู้คนจะบอกว่า ‘ถ้าหากไม่สามารถทำข้อตกลงกันได้ ก็จะต้องประณามตำหนิจีน’” เหอย่าเฟย (He Yafei) รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของจีนกล่าว ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ “นี่คือลูกไม้ของพวกประเทศพัฒนาแล้ว พวกเขาควรจะต้องหันมาสำรวจจุดยืนของพวกเขาเองมากกว่า และไม่สามารถที่จะใช้จีนเป็นข้ออ้างได้หรอก จีนจะไม่ทำตัวกลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง (การทำข้อตกลง) หรอก”

วันอังคาร(15)ที่ผ่านมา จีนยังได้กล่าวพาพวกประเทศพัฒนาแล้วว่ากำลังถอยหลังออกจากสิ่งที่พวกเขาเคยประกาศว่าเป็นคำมั่นสัญญาของพวกเขาในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พร้อมกันนั้นปักกิ่งก็เตือนว่า การเจรจาเรื่องภูมิอากาศกำลังเข้าสู่ขั้นตอนชี้เป็นชี้ตายแล้ว

ทั้งนี้ระหว่างการประชุมแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่ง เจียงอวี๋ (Jiang Yu) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ใช้ถ้อยคำแรงๆ บอกว่า ในฝ่ายประเทศพัฒนาแล้ว “มีการถอยหลังบางประการ” เกี่ยวกับจุดยืนของพวกเขาในเรื่องเกี่ยวกับการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ต่อสู้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เธอบอกว่า การเปลี่ยนแปลงจุดยืนเช่นนี้ “จะกลายเป็นการขัดขวางการประชุมโคเปนเฮเกน”

จีนและสหรัฐฯ ซึ่งต่างก็เป็น 2 ประเทศผู้ปล่อยมลพิษคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดของโลก เปิดฉากทำสงครามคำพูดกันมาหลายรอบแล้วที่โคเปนเฮเกน พวกเขาปะทะกันในประเด็นสำคัญๆ หลายประเด็น เป็นต้นว่า จะแบ่งสรรภาระการตัดลดก๊าซเรือนกระจกกันอย่างไร และ สหรัฐฯติดค้าง “หนี้สินค่าภูมิอากาศ” (climate debt) พวกประเทศกำลังพัฒนาหรือเปล่า

ปักกิ่งบอกว่าเนื่องจากบรรดาชาติตะวันตกสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองของพวกตนขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบเข้าแบกรับภาระการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก อย่างไรก็ตาม ทบวงการพลังปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) ซึ่งเป็นเวทีประชุมระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ ในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ คาดการณ์เอาไว้ว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นในรอบ 20 ปีนับจากนี้ไป แทบทั้งหมดจะมาจากพวกเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ และราวครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้จะมาจากประเทศจีน

สหรัฐฯปฏิเสธไม่ยอมรับแนวความคิดว่าด้วย “เงินชดเชยค่าภูมิอากาศ” (climate reparations) และตั้งคำถามว่า จีนซึ่งเวลานี้กลายเป็นเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตรวดเร็วที่สุดของโลกไปแล้ว มีความจำเป็นอะไรที่จะมาแบ่งปันเงินกองทุนซึ่งพวกชาติรำรวยกำลังคิดจะก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ในการบรรเทาความลำบากเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

“ผมวาดภาพไม่ออกเลยว่า ทำไมเงินจากกองทุนสาธารณะทั้งหลายจะต้องไหลไปให้ประเทศจีน และมั่นใจได้เลยว่าจะต้องไม่ใช่เงินที่มาจากสหรัฐฯแน่ๆ” ท็อดด์ สเติร์น (Todd Stern) หัวหน้าคณะผู้เจรจาด้านภูมิอากาศของสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมแถลงข่าวที่โคเปนเฮเกนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาโต้แย้งว่า ขณะที่พวกประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะยากจนทั้งหลาย ยังคงมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากโลกตะวันตกเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้พวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีแบบพลังงานสะอาดกันได้ แต่สำหรับประเทศจีนนั้นไม่เข้าข่ายนี้แล้ว

ประเทศจีนเองนั้นประกาศที่จะลดการปล่อยไอเสียคาร์บอนต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ลงให้ได้ระหว่าง 40 – 45% ภายในปี 2020 ทว่าพวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนแล้ว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแดนมังกรก็จะยังเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวของระดับเมื่อปี 2005 อยู่ดี

จีนปรากฏตัวในโคเปนเฮเกนโดยพยายามวางตัวเป็นผู้นำในการรณรงค์ต่อสู้รักษาผลประโยชน์ของบรรดาชาติกำลังพัฒนา ทว่ากลับกำลังเกิดการพิพาทกับพวกประเทศเหล่านี้เสียเอง ชาติยากจนที่สุดหลายสิบรายนำโดย ตูวาลู ประเทศเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเรียกร้องให้บังคับกำหนดเพดานสูงสุดของก๊าซเรือนกระจกที่พวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ๆ อย่างเช่น จีน จะสามารถปล่อยสู่บรรยากาศได้ โดยให้เริ่มต้นกันตั้งแต่ปี 2013

ทางฝ่ายจีนเองนั้นยืนกรานปฏิเสธเรื่อยมาที่จะไม่ยอมรับการตั้งข้อกำหนดชนิดที่มีผลบังคับผูกพัน ในเรื่องเพดานสูงสุดที่จะปล่อยไอเสียได้ เนื่องจากเกรงกลัวว่ามันจะสร้างความเสียหายให้แก่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าตื่นใจของตน ปักกิ่งยังคงย้ำจุดยืนเรื่องนี้อีกในกรุงโคเปนเฮเกน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจมากคือ จีนกำลังแสดงท่าทีที่ดูมุ่งหวังจะเป็นการสมานเยียวยาความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับพวกพันธมิตรชาติด้อยพัฒนาของตน โดยปักกิ่งกำลังพูดเป็นนัยๆ ว่า พร้อมที่จะยกส่วนแบ่งเงินกองทุนที่ได้รับจัดสรรจากพวกชาติร่ำรวย มาใช้ช่วยเหลือประเทศยากจนกว่าในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

“ทรัพยากรทางการเงินทั้งหลายเพื่อสนับสนุนความพยายามของบรรดาประเทศกำลังพัฒนา (ในการต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) ถือเป็นพันธะผูกพันทางกฎหมายอย่างหนึ่ง ทว่านั่นไม่ได้หมายความว่าจีนจะรับเอาส่วนแบ่งของตน –เป็นไปได้ว่าจีนอาจจะไม่ขอรับ เราไม่ได้คาดหมายว่าเงินทองจะไหลจากสหรัฐฯ, อังกฤษ, และประเทศอื่นๆ มายังจีนหรอก” เหอย่าเฟยบอกกับไฟแนนเชียลไทมส์

พวกนักวิเคราะห์เชื่อว่า การแถลงเช่นนี้เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งมีความไม่สบายใจต่อสภาพความสามัคคีอันเปราะบางเหลือเกินของบรรดาประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการที่การพิพาทกันภายในหมู่ประเทศเหล่านี้กำลังส่งผลโดยนัยต่อความก้าวหน้าของการเจรจาโคเปนเฮเกน

“การเจรจาเรื่องภูมิอากาศจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงทัศนะมุมมองใหม่ต่อโลกของประเทศจีน” เป็นคำยืนยันของ ชิงหง (Qing Hong) นักวิจัยแห่งศูนย์เพื่อประเทศจีนและโลกาภิวัตน์ (Center for China and Globalization) หน่วยงานศึกษาวิจัยนโยบายแห่งหนึ่งที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง

“ตรงกันข้ามกับความคิดเห็นบางส่วนที่มีผู้เสนอกันออกมา จีนไม่ได้ยึดมั่นอยู่แต่กับผลประโยชน์แห่งชาติของตนเสมอไปหรอก แท้ที่จริงแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย จีนจะแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า ในกรณีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนั้น ข้อพิจารณาของจีนนั้นข้ามเลยไปจากเขตพรมแดนประเทศของตน” เขาบอก

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น