xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีใต้ต้อนรับ“โอบามา”ด้วยใจที่เคืองขุ่น

เผยแพร่:   โดย: โดนัลด์ เคิร์ก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Korea: Looking for a fight
By Donald Kirk
13/11/2009

เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เรือตรวจการณ์ของนาวีเกาหลีใต้ 4 ลำ ช่วยกันระดมยิงกระสุนกว่า 5,000 นัดเข้าใส่เรือรบเกาหลีเหนือที่พลัดหลงเข้ามา สิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามาจะต้องเผชิญในการเยือนกรุงโซล ก็ต้องถือว่ายังจิ๊บจ๊อยกว่ากันนัก ทั้งนี้ขณะที่ปัญหาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของเปียงยาง อาจไม่สร้างความขุ่นมัวใดๆ ให้แก่ทางการกรุงโซล แต่เรื่องข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-เกาหลีที่ยังค้างเติ่งขัดแย้งกันอยู่ กลับเป็นประเด็นร้อนเพียงพอที่อาจจะทำให้โสมขาวโกรธเคืองถึงขั้นระเบิดเปรี้ยงปร้างได้ทีเดียว

โซล – มันไม่คู่ควรแก่การเรียกว่าเป็นการต่อสู้กันเอาเสียเลย เมื่อกองเรือรบเกาหลีใต้ตรวจพบเรือตรวจการณ์เกาหลีเหนือลำหนึ่งแล่นอยู่ในเขตน่านน้ำของพวกตน พวกเขาก็ระดมยิงเข้าใส่เป็นห่าฝน ราวกับว่าเรือที่ล่วงล้ำเข้ามาเป็นเป้าในเวลาฝึกซ้อมยิง

ตามที่ฝ่ายเกาหลีใต้ยอมรับเอง เรือตรวจการณ์ 4 ลำของฝ่ายนี้ได้ยิงกระสุนกว่า 5,000 นัดเข้าใส่เป้าหมายดังกล่าว โดยที่ 250 นัดเป็นการยิงออกจากปืนขนาดลำกล้อง 40 มิลลิเมตร และที่เหลือจากปืนรุ่น “วัลแคน” (Vulcan) ขนาด 20 มิลลิเมตร ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในจำนวนนี้มีกี่นัดที่เป็นกระสุนซึ่งปล่อยออกไปเพื่อเป็นการยิงเตือน แต่เข้าใจได้ว่าคงจะเพียงแค่ไม่เกินสองสามนัดแรกเท่านั้น

ดูเหมือนว่าการที่เรือรบขนาดเล็กของเกาหลีเหนือลำหนึ่งมาปรากฏตัวตอนเช้าวันอังคาร (10) ณ บริเวณประมาณ 1 กิโลเมตรล้ำ “เส้นยิงได้ไม่จำกัด” (No Limit Line) ของฝ่ายโสมขาวในทะเลตะวันตก (ทะเลเหลือง) คือการสร้างโอกาสอันงดงามให้แก่พลปืนเกาหลีใต้ ที่จะได้ทดสอบทักษะความชำนาญของพวกเขาในการกระหน่ำยิงเป็นเวลาประมาณ 2 นาที ฝ่ายเกาหลีเหนือนั้นปล่อยกระสุนออกมาได้เพียงแค่ 50 นัด ส่วนกระสุนประมาณ 1% ของฝ่ายเกาหลีใต้เจาะทะลุเข้าไปในเรือตลอดจนลูกเรือเคราะห์ร้ายของโสมแดงลำนั้น ทั้งนี้เชื่อกันว่าลูกเรือเกาหลีเหนืออย่างน้อย 1 คนถูกสังหารเสียชีวิต และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ

เมื่อถึงเวลาที่การระดมยิงยุติลง เรือเกาหลีเหนือดังกล่าว “เกิดไฟลุกท่วม” ตามที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของโสมขาวรายหนึ่งแถลง แล้วก็เริ่มแล่นโซซัดโซเซกลับไปยังเมืองท่าประจำการของตน ก่อนจะไปถึงที่นั่น เรือโสมแดงลำนี้ก็ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ และเรือเกาหลีเหนืออีกลำหนึ่งต้องมาช่วยลากจูงตลอดเส้นทางที่เหลืออยู่

ถ้าหากฝ่ายเกาหลีเหนือต้องการสำแดงอิทธิฤทธิ์ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะไปถึงกรุงโตเกียวในวันศุกร์(13) เป็นการเริ่มต้นการตระเวนเยือนภูมิภาคแถบนี้เป็นเวลาสัปดาห์เศษๆ แล้ว ฝ่ายเกาหลีใต้ก็ได้ตอบโต้กลับด้วยความตื่นตาตื่นใจทีเดียว มันอาจจะเป็นโอกาสอันวิเศษสำหรับยุทธการยิงสังหารด้วยกระสุนจริงก็จริงอยู่ แต่กรณีนี้อาจจะเกินเลยไปถึงขั้นกลายเป็นการสังหารโหดของฝ่ายโสมขาวไปแล้ว

เวลานี้เปียงยางกำลังประกาศที่จะแก้แค้น โดยกล่าวหาฝ่ายเกาหลีใต้แสดง “พฤติการณ์หุนหันพลันแล่นไร้ความยั้งคิด” ซึ่งพวกเขาจะต้อง “ชดใช้คืนอย่างสาสม” เอาเข้าจริงแล้วเกาหลีเหนืออาจจะไม่ต้องการเสี่ยงให้เกิดการประจันหน้าตรงๆ อีกรอบกับกองเรือรบเกาหลีใต้ ซึ่งดูเหมือนจะมีกำลังอาวุธที่เหนือชั้นกว่ามากมายนัก เป็นต้นว่า อุปกรณ์จับภาพผ่านระบบคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุด อย่างไรก็ดี มีเรื่องหนึ่งที่แน่ใจได้ก็คือ การเผชิญหน้ากันคราวนี้จะไม่ทำให้ความพยายามในการกดดันเกาหลีเหนือยอมยุติโครงการหรืออาวุธนิวเคลียร์ มีความง่ายดายขึ้นแต่อย่างใด

สำหรับประธานาธิบดีโอบามานั้น การเจรจาหารือกับผู้นำของญี่ปุ่น, จีน, และเกาหลีใต้ ก่อนที่เขาจะเสร็จสิ้นภารกิจการตระเวนเยือนเอเชียเที่ยวแรกในช่วงสมัยแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา และเดินทางกลับคืนสู่สหรัฐฯในวันที่ 19 พฤศจิกายน เขาคงจะทำได้เพียงแค่การกล่าวถ้อยคำวาจาที่สร้างความปีติชื่นชมตลอดจนยกแก้วขึ้นดื่มอวยพรกันจนเสร็จสรรพครบครัน ทว่าไม่สามารถผลักดันให้เกิดความคืบหน้าอะไรนักในประเด็นเรื่องนิวเคลียร์เกาหลีเหนือนี้ เขาจะทำอะไรได้นักหนาเล่า ก็ขนาด “ให้สัมภาษณ์” สำนักข่าวยอนฮัป (Yonhap) ของเกาหลีใต้ เขายังต้องเจียดเวลาจากตอนที่เขากำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปญี่ปุ่นแล้วด้วยซ้ำ ยังไม่ต้องพูดว่าสิ่งที่เขา “ให้สัมภาษณ์” คราวนี้ทั้งหมด เป็นการตอบคำถามด้วยข้อเขียนล้วนๆ และอาจสันนิษฐานเอาได้ว่าคงจะตอบโดยพวกผู้ช่วยของเขา

โอบามานั้นต้องการให้เป็นที่ทราบทั่วกันว่า เขาเห็นพ้องอย่างสิ้นเชิงกับประธานาธิบดีลีเมียงบัคของเกาหลีใต้ ผู้ซึ่งเขาได้พบปะทั้งในระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่สิงคโปร์ในช่วงสุดสัปดาห์ และเมื่อเขาไปถึงกรุงโซลในวันพุธ(18) ทั้งนี้โอบามากล่าวกับยอมฮัปว่า เขากับลี “ต่างมีความเห็นพ้องต้องกันอย่างเต็มที่ ถึงความจำเป็นที่จะต้องบรรลุหนทางอันจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบด้าน ทั้งปัญหาเรื่องนิวเคลียร์, ขีปนาวุธ, และการแพร่กระจายอาวุธ” คำพูดเช่นนี้ดูจะเป็นการหยิบยืมแนวคิดว่าด้วย “การต่อรองกันในระดับมโหฬาร” (grand bargain) กับเกาหลีเหนือ ซึ่งลีกำลังป่าวร้องผลักดันอยู่ เพียงแต่ว่าโอบามาไม่ได้พูดออกมาด้วยวลีเดียวกันเท่านั้น

การยิงต่อสู้กันในทะเลเหลืองคราวนี้ น่าจะไม่ถึงกับหยุดยั้งไม่ให้ สตีเฟน บอสเวิร์ธ (Stephen Bosworth) ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ เดินทางไปกรุงเปียงยางเพื่อเปิดการเจรจาทวิภาคี ซึ่งวอชิงตันตั้งความมุ่งหมายไว้ที่การชักชวนเกลี้ยกล่อมให้เกาหลีเหนือยอมหวนคืนสู่การเจรจา 6 ฝ่าย ที่ฝ่ายนั้นยอมเข้าร่วมครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่งก็เมื่อเกือบๆ 1 ปีมาแล้ว เกาหลีเหนือมีท่าทีที่อ่านได้ชัดเจนว่า ปรารถนาเหลือเกินที่จะได้ต้อนรับเขา ส่วนบอสเวิร์ธก็ดูเหมือนมีความกระหายพอๆ กันที่จะได้ไปเยือน ทว่าพวกเขายังจำเป็นจะต้องเจรจาอะไรกันอีกหรือ ถ้าหาก “ความร่วมมือกัน” ระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ กำลัง “สนิทสนมใกล้ชิดกันอย่างสุดๆ” ดังที่โอบามาอวดอ้างเอาไว้ในข้อความให้สัมภาษณ์ที่ส่งไปให้สำนักข่าวยอนฮัป

ยิ่งกว่านั้น เป็นเรื่องที่แน่นอนทีเดียวว่า การท่องเอเชียของโอบามาเที่ยวนี้ ยังมีประเด็นปัญหาสำคัญอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่เขาจะต้องขบคิดพิจารณา และย่อมจะต้องถูกนำมาเทียบรัศมีลำดับความสำคัญแข่งกับประเด็นว่าด้วยเกาหลีเหนือและอาวุธทำลายร้ายแรงอันน่าเกรงขามของประเทศนี้ ที่นอกจากนิวเคลียร์และขีปนาวุธแล้ว ยังมีอาวุธชีวภาพและอาวุธเคมีซึ่งไม่ค่อยตกเป็นข่าวเกรียวกราวเท่าใดนัก

ตัวอย่างของประเด็นปัญหาอื่นๆ เหล่านี้ มีอาทิเช่น โอบามากับยูกิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น มีความไม่ลงรอยกันในประเด็นอันอ่อนไหวว่าด้วยการคงกำลังทหารอเมริกันบนเกาะโอกินาวาและที่อื่นๆ ในญี่ปุ่น ฮาโตยามะนั้นสามารถนำพาพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน ของเขาขึ้นครองอำนาจได้ ก็โดยได้แรงขับดันไม่น้อยจากการให้คำมั่นสัญญาว่า เขาจะคิดใหม่, ทบทวน, และแก้ไขปรับปรุง ในเรื่องการเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น การคิดทบทวนและแก้ไขปรับปรุงดังกล่าวนี้ จะครอบคลุมถึงข้อตกลงฉบับที่ทำกันไปแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้ฝ่ายอเมริกันโยกย้ายกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯไปยังพื้นที่อื่นที่มีผู้พำนักอาศัยเบาบางกว่าที่เดิมแต่ก็ยังคงอยู่บนเกาะโอกินาวา ทั้งนี้ในขณะนี้ฝ่ายญี่ปุ่นดูเหมือนจะต้องการให้นาวิกโยธินเหล่านี้ทั้งหมดโยกย้ายออกจากโอกินาวา หรือกระทั่งออกไปจากญี่ปุ่นเลย โดยอาจจะไปยังเกาะกวม ดินแดนปกครองของสหรัฐฯกลางมหาสมุทรแปซิฟิก

แต่ละฝ่ายยังไม่มีท่าทีที่จะยอมถอยหลังในเรื่องนี้ และจากการที่ผู้นำทั้งสองต้องใช้เวลาแสดงความเชี่ยวชาญในการหาหนทางแก้ไขไกล่เกลี่ยความแตกต่างกันเหล่านี้ พวกเขาก็จะแทบไม่เหลือเวลาอะไรมากนักที่จะพูดจาในเรื่องเกี่ยวกับเกาหลี กระนั้นก็ตามที เนื่องจากกรณีเกาหลีเหนือแอบลักพาตัวพลเมืองชาวญี่ปุ่นไปจากดินแดนญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ยังคงเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อความรู้สึกนึกคิดของชาวญี่ปุ่น ดังนั้นฝ่ายญี่ปุ่นจึงอาจรู้สึกผิดหวังไม่พอใจ หากปรากฏร่องรอยใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯกำลังผ่อนปรนข้อเรียกร้องที่โอบามาประกาศย้ำเอาไว้ว่า เกาหลีเหนือจะต้องดำเนิน “ขั้นตอนต่างๆ อย่างจริงจังไม่มีการหันหลังกลับ บนเส้นทางไปสู่การกำจัดโครงการนิวเคลียร์ของตนอย่างสมบูรณ์แบบ”

โอบามายังจะต้องเผชิญความยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเขาเดินทางสู่กรุงปักกิ่ง ฝ่ายจีนอาจจะไม่ชอบแนวความคิดที่เกาหลีเหนือจะกลายเป็น “มหาอำนาจนิวเคลียร์ผู้ยืนจังก้าอยู่หน้าประตูบ้าน” ดังที่พวกอเมริกันพยายามพูดย้ำให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ทว่าจีนก็มีเรื่องอื่นๆ ที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญยิ่งกว่า

สิ่งที่ฝ่ายจีนให้ความสนใจก็มีเพียงแค่ว่า เกาหลีเหนือจะต้องไม่กลายเป็นภัยคุกคามทางทหารต่อแดนมังกร เกาหลีเหนือซึ่งที่ผ่านมาต้องพึ่งพาอาศัยจีนทั้งเรื่องอาหารและอื่นๆ อีกมากมาย อาจจะเป็นประเทศที่ลำบากยากเย็นมากในการติดต่อคบค้าด้วย ทว่าเรื่องนี้ฝ่ายจีนเองก็ยอมรับอยู่แล้ว และพวกเขาจะยังไม่รู้สึกว่ามีอันตรายอะไรจริงจัง ตราบเท่าที่ คิมจองอิล ท่านผู้นำที่รัก, บรรดาสมาชิกในครอบครัวของเขา, และพวกผู้ช่วยคนสนิทระดับท็อปของเขา ยังคงอยู่ในอำนาจ

อย่างไรก็ดี เกาหลีเหนือจะกลายเป็นอันตรายอย่างแท้จริง ถ้าหากโครงสร้างของระบอบการปกครองประเทศนี้พังทลายลง ฝันร้ายของการที่จะมีชาวเกาหลีเหนือผู้ยากจนหิวโหยและไม่มีงานทำจำนวนเป็นแสนๆ คน ทะลักไหลบ่าข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศจีน เมื่อคณะผู้นำของโสมแดงล่มสลายลงไป คือสิ่งที่พวกผู้นำจีนไม่ต้องการที่จะขบคิดนึกถึงเลย

มองกันในสุดปลายอีกด้านหนึ่ง เกาหลีเหนือนั้นมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอยู่ไม่ใช่น้อย บรรดาภูเขาและหุบเขาของโสมแดงคือขุมทรัพย์แห่งแร่ธาตุอันมั่งคั่ง เป็นต้นว่า ทองคำ, สังกะสี, ไททาเนียม, และยูเรเนียม ยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่นอนหรอกว่ามันมีอยู่สักเท่าใดจริงๆ แต่ฝ่ายจีนย่อมปรารถนาที่จะได้เข้าถึงแร่ธาตุเหล่านี้ทั้งหมด

ฝ่ายจีนไม่ได้คิดที่จะทำลายความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับเกาหลีเหนือ การกระทำเช่นนั้นกลับจะเป็นการบั่นทอนอิทธิพลหรือกระทั่งอำนาจควบคุม ในการเข้าจัดการกับบรรดาผลประโยชน์ด้านเหมืองแร่แห่งรัฐของโสมแดง ทว่าในเวลาเดียวกันจีนก็กำลังขี่ยอดคลื่นแห่งการส่งออกไปยังสหรัฐฯอย่างสนุกสนานอยู่ด้วย จึงย่อมไม่ต้องการทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกโกรธกริ้ว จากการทำตัวเหมือนไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องการกำจัดโครงการนุ้กของเกาหลีเหนือ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อยู่มาก ที่การเจรจาระหว่างโอบามา กับประธานาธิบดีหูจิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า ของฝ่ายจีน จะสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีอะไรนอกจากคำแถลงที่ใช้ถ้อยคำหรูๆ ทว่าไร้ความหมายที่เป็นจริง

อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้คือจุดที่โอบามาอาจจะต้องพยายามนำเอาสุดยอดหมากเด็ดความเชี่ยวชาญทางการทูตของเขาออกมาใช้ เขากับประธานาธิบดีลีนั้นดูจะสามารถแสวงหาจุดที่คิดเห็นตรงกันในเรื่องการรับมือจัดการกับเกาหลีเหนือ แต่ทว่ายังมีประเด็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่วอชิงตันกับโซลมีความคิดเห็นขัดแย้งกันหนักและจะต้องหาทางออกให้เจอ นั่นก็คือ ข้อตกลงการค้าเสรีเกาหลีใต้-สหรัฐฯ ซึ่งวอชิงตันกับโซลได้เจรจาทำกันออกมาจนเสร็จสรรพตั้งแต่ก่อนที่โอบามาและลีจะก้าวขึ้นนั่งตำแหน่งสูงสุดในปัจจุบันเสียอีก

เมื่อพูดถึงประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อนหน้าเขา นั่นคือ โนห์มูเฮียนผู้ล่วงลับ ลีจะมีแต่ถ้อยคำวิพากษ์ตำหนิ ไม่ว่าเรื่องนโยบายของโนห์ในการจัดการกับเศรษฐกิจหรือการรับมือกับเกาหลีเหนือ ทว่าเขาต้องเห็นชอบด้วยกับสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าเป็นความสำเร็จอันยั่งยืนที่สุดในยุคของโนห์ นั่นก็คือ ข้อตกลงการค้าเสรีเกาหลีใต้-สหรัฐฯ (ในเกาหลีใต้นั้นนิยมเรียกกันย่อๆ ว่า KORUS FTA) ข้อตกลงฉบับนี้ใช้เวลา 16 เดือนในการจัดทำ โดยบางครั้งทั้งสองฝ่ายก็เจรจากันท่ามกลางบรรยากาศที่ดุเดือดเผ็ดร้อน ขั้นตอนในขณะนี้คือต้องรอให้รัฐสภาสหรัฐฯลงมติให้สัตยาบัน และลีก็ปรารถนาที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้สัมฤทธิ์ผล

แต่ทั้งโอบามาและรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงเอฟทีเอฉบับนี้อย่างรุนแรง เมื่อตอนที่ทั้งคู่ต่างยังเป็นวุฒิสมาชิก (โดยที่ต่างเป็นตัวแทนจากมลรัฐอุตสาหกรรม นั่นคือโอบามาเป็นวุฒิสมาชิกของอิลลินอยส์ ส่วนคลินตันก็ของนิวยอร์ก) และกำลังรณรงค์หาเสียงชิงชัยเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 พวกบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ของสหรัฐฯ และสหภาพแรงงานที่กุมเสียงพนักงานในโรงงานของบริษัทเหล่านี้ มองข้อตกลงเอฟทีเอฉบับนี้ว่าทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง จนถึงบัดนี้โอบามากล่าวว่าเขายังคงรู้สึกว่าข้อตกลงนี้มีปัญหาที่จะต้องทำการแก้ไขปรับปรุง ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของเกาหลีใต้ยืนกรานว่า ไม่มีทางหรอกที่พวกเขาจะเห็นด้วยให้มีการทบทวน

ฝ่ายอเมริกันและฝ่ายเกาหลีจะเจาะทะลวงผ่านทางตันนี้กันได้หรือไม่และได้ด้วยวิธีไหน อาจจะเป็นคำถามไร้คำตอบข้อใหญ่ที่สุดในการเดินทางเที่ยวนี้ของโอบามา เราสามารถคาดหมายได้ว่าคงจะมีการใช้ภาษาหรูหราแต่กำกวม พูดถึงความเป็นพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลี และการเห็นพ้องกันอย่างสิ้นเชิงในประเด็นเรื่องนิวเคลียร์ ทว่าไม่ค่อยจะแตะต้องพูดถึงผลลัพธ์ของประเด็นเรื่องเอฟทีเอ

ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ ถ้าหากว่าฝ่ายเกาหลีเหนือจะมีความเฉลียวฉลาดอะไรอยู่บ้างแล้ว พวกเขาก็ควรจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะต่อสู้ในทะเลเหลืองอีก เนื่องจากเหตุการณ์เช่นนั้นมีแต่จะผลักดันให้สหรัฐฯและเกาหลีใต้เข้าใกล้ชิดกันมากขึ้น สำหรับเปียงยางแล้ว ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการปล่อยให้สหรัฐฯกับเกาหลีใต้หมางใจกันในเรื่องเอฟทีเอ อันเป็นหัวข้อที่พวกผู้สังเกตการณ์จัดชั้นให้อยู่ในระดับเดียวกันกับประเด็นเรื่องนิวเคลียร์ ในฐานะที่เป็นรายการสำคัญที่สุดในวาระการหารือ เมื่อโอบามาเดินทางมาถึงกรุงโซล

โดนัลด์ เคิร์ก เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ทำข่าวเกี่ยวกับเกาหลี รวมทั้งการประจันกันของกลุ่มพลังต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นเวลากว่า 30 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น