xs
xsm
sm
md
lg

“เหมาอิสต์”เนปาลเดินทางจาริกในประเทศจีน

เผยแพร่:   โดย: ธรุบา อธิการี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Maoists go on pilgrimage in China
By Dhruba Adhikary
15/10/2009

“ประจันตะ” ผู้นำสูงสุดของขบวนการเหมาอิสต์ในเนเปาล ซึ่งเพิ่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาไม่นาน ใช้เวลาว่างของเขาในสัปดาห์นี้ด้วยการเดินทางเยือนประเทศจีน โดยมุ่งไปคารวะสถานที่เกิดของเหมาเจ๋อตง ประจันตะเป็นผู้ที่มีความสนใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องแนวความคิดทฤษฎีดั้งเดิมต่างๆ ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และในการนำแนวความคิดเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ทางด้านปักกิ่งเองก็กำลังมองหาพันธมิตรที่สามารถพึ่งพาอาศัยได้ในกรุงกาฐมาณฑุ และประจันตะเชื่อว่าขบวนการเหมาอิสต์ของเขาสามารถรับบทบาทนี้ได้ เขาบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์เช่นนี้

กาฐมาณฑุ – ประจันตะ (Prachanda) ผู้นำสูงสุดของขบวนการเหมาอิสต์ (Maoist) ในเนปาล รวมเอาการไปแวะเยือนเมืองเสาซาน เมืองเล็กๆ ในมณฑลหูหนาน เข้าไว้ในรายการท่องเที่ยวประเทศจีนของเขาในสัปดาห์นี้ด้วย การแวะบ้านเกิดของเหมาเจ๋อตงแห่งนี้ ก็ทำนองเดียวกับที่เขาได้เคยทำในประเทศเยอรมนีเมื่อ 1 ปีก่อน ตอนที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และอยู่ในระหว่างเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา นั่นก็คือขอแวะเยือนเมืองเทรียร์ (Trier) สถานที่กำเนิดของคาร์ล มาร์กซ

ความปรารถนาของประจันตะที่จะไปเยือนสถานที่ซึ่งเป็นที่กำเนิดนักอุดมการณ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกบางคนเช่นนี้ เนื่องมาจากความสนใจอย่างลึกซึ้งในแนวความคิดทฤษฎีดั้งเดิมต่างๆ ของฝ่ายคอมมิ่วนิสต์ และในการนำแนวความคิดเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริงในเวลานี้

พรรคการเมืองที่ประจันตะเป็นหัวหน้าในปัจจุบัน ซึ่งใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล (เหมาอิสต์)” Communist Party of Nepal (Maoist) มีสมาชิกหลายคนที่เป็นพวกยึดมั่นในแนวความคิดทฤษฎีอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง พวกเขายังคงเชื่อว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ของจีนได้ถูกทำให้เจือจางลงโดยพวกผู้นำรุ่นหลังๆ ในความพยายามที่จะทำให้ประเทศจีนก้าวเข้าสู่ความทันสมัย สมาชิกเหล่านี้บางคนยังไม่เห็นเหตุผลพอฟังขึ้นใดๆ ที่จะมาทำลายชื่อเสียงของ “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” ปี 1966-1976 อันปั่นป่วนครึกโครม และมีบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำคนสำคัญยิ่งของจีนว่า เป็นผู้ทำให้ประเทศจีนหักเหไปจากเส้นทางดั้งเดิมอันถูกต้อง เพราะเห็นแก่การสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยทางเศรษฐกิจให้แก่คนจำนวนน้อย

ในคณะติดตามของประจันตะคราวนี้ มีทั้ง โมหัน บาอิดยะ “คิรัน” (Mohan Baidya "Kiran") ผู้ที่เคยเป็นครูชี้แนะเขาและเวลานี้ก็อยู่ในฐานะของผู้ร่วมงานอาวุโสผู้หนึ่ง เขาจะทำหน้าที่สนทนาถกเถียงทางการเมืองในระดับอุดมการณ์ที่อาจจะบังเกิดขึ้น อีกคนหนึ่งคือ โฆษกของพรรค กฤษณะ บาฮาดูร์ มะหะรา (Krishna Bahadur Mahara) ผู้ซึ่งยอมรับว่า คณะผู้แทนระดับสูงคณะนี้ของพวกเขามุ่งอาศัยโอกาสการเยือนคราวนี้ เพื่อที่จะแสวงหาความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง ทั้งเรื่องเหตุการณ์, แนวโน้ม, และความสำเร็จของจีน นับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในเดือนตุลาคม 1949

“มีอะไรให้เรียนรู้ตั้งมากมายจากประสบการณ์ของเพื่อนบ้านทางทิศเหนือของเราประเทศนี้” ประจันตะกล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ ในช่วงก่อนหน้าการเดินทางของเขา เวลานี้ประจันตะมีฐานะเป็นประธานของพรรคการเมืองซึ่งชนะได้ที่นั่งเป็นจำนวนมากที่สุด ถึงแม้จะยังไม่ถึงกับได้ที่นั่งข้างมาก ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2008

เวลานี้สภาแห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้แทนฉบับชั่วคราว โดยมีวัตถุประสงค์หลักให้เป็นการดำเนินการทางสถาบัน เพื่อทำให้เนปาลกลายเป็นสาธารณรัฐที่อยู่ในลักษณะเป็นสหพันธรัฐ พวกสมาชิกสภาฝ่ายเหมาอิสต์กำลังเรียกร้องให้เนปาลใช้ระบบที่มีประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจทางการบริหาร และก็มีระบบพรรคการเมืองหลายๆ พรรคโดยที่พรรคแกนหลักจะเป็นผู้นำพรรคอื่นๆ ดังนั้นจึงจะไม่มีที่นั่งซีกฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ ในแบบพวกประเทศซึ่งใช้ระบบรัฐสภาอังกฤษมีกัน

นี่ก็หมายถึงโมเดลแบบจีนนั่นเอง ทว่าพวกผู้นำเหมาอิสต์ยังลังเลที่จะประกาศความนิยมชมชื่นเช่นนี้ของพวกเขาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ประเทศเนปาลนับตั้งแต่ปลดแอกออกจากการปกครองแบบเอกาธิปไตยในปี 1951 แล้ว ก็มีแต่ใช้โมเดลชนิดซึ่งประยุกต์จากประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเรื่อยๆ มา

ระหว่างการให้สัมภาษณ์ ประจันตะพูดถึงช่วงระยะต่างๆ ในประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นการก่อความไม่สงบและการปฏิวัติ ไปจนถึงการก้าวกระโดดใหญ่เพื่อไปสู่ความมั่งคั่งรุ่งเรือง อันเป็นหัวข้อที่เหล่ามิตรสหายร่วมรบของเขาต่างให้ความสนใจ “เห็นชัดเจนว่าพวกเรากำลังปรารถนาที่จะเรียนรู้รายละเอียดอีกมากๆ ของประสบการณ์ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมาของจีน” ประจันตะกล่าวขยายความ

ประจันตะยังดูเหมือนมีความรู้สึกจับใจอย่างยิ่งกับข้อสังเกตของ คริส แพตเทิน (Chris Patten) ผู้ว่าการฮ่องกงของอังกฤษคนสุดท้ายจวบจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบดินแดนแห่งนี้คืนให้แก่จีนในปี 1997 ทั้งนี้ในบทความของแพตเทินที่ออกเผยแพร่โดยมุ่งให้คล้องจองกับวาระเฉลิมฉลองของจีนในวันที่ 1 ตุลาคมปีนี้ เขาเขียนเอาไว้ว่า “เหมาเป็นผู้ที่ทำให้ประเทศจีนรู้สึกภาคภูมิใจ เติ้งเป็นผู้ที่ทำให้ประเทศจีนมั่งคั่งร่ำรวย”

การที่ประจันตะตั้งข้อสังเกตในทางบวกเกี่ยวกับจีน ได้รับการตอบแทนกลับคืนในทันทีจากผู้นำอาวุโสของจีนผู้หนึ่ง กล่าวคือ เจี่ยชิ่งหลิน ที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูงสุดของจีน (เจี่ยชิ่งหลิน มีตำแหน่งเป็น หนึ่งในกรรมการประจำกรมการเมืองอันทรงอำนาจยิ่งของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และก็เป็นประธานสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติของจีน –ผู้แปล) ได้ให้ความมั่นใจแก่ประจันตะว่า การมาเยือนของเขาจะก่อให้เกิด “ผลกระทบในทางบวกและยาวไกลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างพรรคทั้งสอง”

พวกนักวิเคราะห์มองท่าทีริเริ่มต่างๆ เหล่านี้ ว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความกระตือรือร้นของปักกิ่งที่จะพัฒนาสายสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรค “อันที่จริงการพูดแบบนี้ก็ต้องถือว่ามีความสำคัญแล้ว” ราเชษวาร์ อาจารยะ (Rajeshwar Acharya) เอกอัครราชทูตเนปาลประจำจีนในช่วงปี 1998 ถึง 2002 กล่าวให้ความเห็น ภายหลังจากระบบกษัตริย์ถูกโค่นไปแล้ว ฝ่ายจีนก็ดูเหมือนกำลังพยายามมองหาพันธมิตรที่พึ่งพาอาศัยได้ในเนปาล และพวกเหมาอิสต์ก็ดูปรารถนาที่จะรับบทบาทดังกล่าวนี้ นโยบายของจีนนั้นยังจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์กันภายในบริบทที่ว่า ปักกิ่งมีความต้องการอย่างชัดเจนที่จะขยายการติดต่อและเพิ่มพูนสายสัมพันธ์ของตนไปทั้วทั้งภูมิภาคเอเชียใต้

สภาพการณ์ใหม่เช่นนี้กำลังปรากฏขึ้นมาภายหลังที่ได้เกิดอาการขึ้นๆ ลงๆ อยู่บ้าง ตั้งแต่ที่ประจันตะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2008 ในตอนนั้นเขาได้ทำลายประเพณีที่แม้ไม่ได้เขียนระบุเอาไว้แต่ก็ปฏิบัติกันต่อเนื่องเรื่อยมา นั่นคือ นายกรัฐมนตรีใหม่ของเนปาลต้องเดินทางไปเยือนอินเดียก่อนประเทศอื่นๆ โดยเขากลับบินไปเมืองหลวงของจีน ที่ซึ่งพวกผู้นำจีนกำลังชุมนุมกันอยู่ในพิธีปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนกรุงปักกิ่ง ผู้นำเหล่านี้ได้แสดงความชื่นชมจากการที่นายกรัฐมนตรีใหม่ของเนปาลเดินทางมาจีน ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์นับแต่ที่เข้ารับตำแหน่ง

แต่แล้วความกระตือรือร้นดังกล่าวก็จางหายไปอย่างรวดเร็ว ในทันทีที่ประจันตะบอกกับสื่อมวลชนในกรุงกาฐมาณฑุว่า “การเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก” ของเขา ยังจะต้องไปยังอินเดีย พวกบัณฑิตทางการเมืองของเนปาลจำนวนมากต่างวิพากษ์วิจารณ์ประจันตะ ที่กำลังแสดงความสำนึกเสียใจแบบไม่มีความจำเป็นเลย “เขาทำให้ตัวเองสูญเสียความนิยมจากทั้งสองข้าง ทั้งจากทางเหนือและทางใต้” อดีตเอกเอกอัครราชทูต อาจารยะ กล่าว

โอกาสที่จะแก้ไขซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่เสียหายไปดังกล่าวนี้บังเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ทว่าจู่ๆ ประจันตะก็ต้องพัวพันวุ่นวายกับกรณีพิพาทเกี่ยวกับการปลดผู้บัญชาการกองทัพในขณะนั้น และส่งผลให้ต้องยกเลิกการเดินทางเยือนจีนไปแทบจะในชั่วโมงสุดท้าย ทฤษฎีสมคบคิดทฤษฎีหนึ่งที่เผยแพร่กันไปทั่วก็คือ นิวเดลีต้องการกีดกันไม่ให้ประจันตะไปลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพและมิตรภาพฉบับใหม่กับจีน โดยที่ร่างของสนธิสัญญานี้ทางเจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งที่มาเยือนกาฐมาณฑุได้ส่งมอบให้แก่นายกรัฐมนตรีเนปาลไปแล้วด้วยซ้ำ เมื่อผู้สื่อข่าวผู้นี้ (ธรุบา อธิการี) สอบถามถึงเรื่องดังกล่าว ประจันตะก็ตอบเพียงว่า “มันยังคงเป็นปริศนาลึกลับอยู่” โดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม

ความวุ่นวายคราวนั้นนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประจันตะเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ในการประกาศการลาออกของเขาซึ่งมีถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วยนั้น เขาได้กล่าวถ้อยคำอันเผ็ดร้อนรุนแรงว่า “เรายังไม่พร้อมที่จะก้มหัวให้แก่เจ้านายต่างชาติ และทำเป็นหลงลืมไม่คิดถึงเลือดของประชาชนผู้รักชาติจำนวนหมื่นๆ คน” ถึงแม้เขามิได้ระบุชื่อประเทศใดๆ ออกมา แต่ก็เห็นชัดเจนว่าเป็นการพูดถึงอินเดีย

ประจันตะให้บังเอิญมาอยู่ในกรุงปักกิ่งด้วย ในเวลาที่กระทรวงการต่างประเทศจีนแสดง “ความไม่พอใจอย่างแรง” ต่อการที่นายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอินเดีย เดินทางเยือนรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งแดนภารตะปกครองอยู่ ทว่าแดนมังกรก็อ้างว่าเป็นของตน ทางด้านนิวเดลีก็ได้ออกมาแถลงตอบโต้ในทันที ปฏิเสธไม่ยอมรับการโต้แย้งจากปักกิ่ง

เรื่องอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นความกังวลใจของจีน ก็คือ ผู้อพยพชาวทิเบตที่ไปพำนักอาศัยกันอยู่ในเนปาล และทำการรณรงค์เรียกร้องให้ “ปล่อยทิเบตเป็นอิสระ” (Free Tibet) รวมทั้งจัดการประท้วงตามท้องถนนอยู่เป็นระยะๆ ขณะที่เนปาลยึดมั่นในนโยบาย “จีนเดียว” เหมือนกับประเทศจำนวนมากในโลก รวมทั้งสหรัฐฯด้วย ทว่าแนวพรมแดนของเนปาลที่ติดต่อกับอินเดียนั้นเต็มไปด้วยช่องโหว่ จึงสามารถที่จะกลายเป็นที่มาของความยุ่งยากได้ในบางครั้งบางครา

กระนั้นฝ่ายจีนก็ทราบดีว่าการประท้วงในลักษณะเช่นนั้นได้ถูกกำราบไปอย่างทรงประสิทธิภาพในช่วงที่ประจันตะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวจากกรุงวอชิงตันว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็บอกปัดไม่พบปะกับ ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณที่อยู่ในระหว่างการลี้ภัยของทิเบต โดยเหตุผลสำคัญน่าจะมาจากการที่โอบามามีกำหนดที่จะไปเยือนจีนในเดือนหน้านั่นเอง การเดินหมากเช่นนี้ของอเมริกันช่วยไม่ได้ที่จะกลายเป็นการหนุนให้ทางการผู้รับผิดชอบของเนปาลมีความแน่วแน่มากยิ่งขึ้น ในการรับมือจัดการกับพวกที่อาจสร้างปัญหายุ่งยากขึ้นมาได้

รายงานข่าวจากสื่อมวลชนอินเดียในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า นิวเดลีกำลังเกิดความกังวลกันมากในเรื่องที่ดูเหมือนจีนชักจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในเนปาล อย่างไรก็ตาม พวกนักการทูตจีนไม่เห็นพ้องด้วยกับความเข้าใจดังกล่าว

ในการให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวผู้นี้เมื่อเร็วๆ นี้ ชุ่ยกว๋อหง (Qui Guohong) พูดถึงทัศนะเช่นนี้ว่า “ไม่มีมูลความจริงเลย”

“ความสัมพันธ์ฉันมิตรที่เรามีอยู่กับเนปาล ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นการคัดค้านประเทศอื่นใดเลย” เขากล่าวต่อ พร้อมกับระบุว่า จีนต้องการความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพกับเนปาล

มีความคิดเห็นที่เชื่อถือกันอย่างกว้างขวางในเนปาลว่า จีนนั้นแตกต่างไปจากอินเดีย นั่นคือไม่ได้เข้ามาสอดแทรกในกระบวนการทางการเมืองภายในของเนปาล และถ้าหากจะนำเอาท่าทีในเรื่องนี้ของประเทศทั้งสองมาคิดกันเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว มะหะรา โฆษกและเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของพรรคเหมาอิสต์เนปาลด้วย ระบุว่าอินเดียควรได้คะแนนในการเข้ามาวุ่นวายกับเรื่องภายในของเนปาลถึง 90% ทีเดียว และที่เหลือจึงเป็นของจีน

คำถามซึ่งเป็นที่สนใจกันมากอีกคำถามหนึ่งก็คือ ชาวเหมาอิสต์เนปาล มีความแตกต่างกันแค่ไหนกับชาวเหมาอิสต์อินเดีย ซึ่งนิวเดลีกำลังมุ่งมั่นที่จะใช้กองกำลังทหารตำรวจเข้ากำจัดกวาดล้าง โดยมองว่าเป็นการขจัดการก่อการร้าย ในการตอบคำถามนี้ ประจันตะพูดอธิบายว่า บุคลากรของพรรคเขามีความแตกต่างอย่างกระจ่างชัดเจนจากชาวเหมาอิสต์อินเดีย ถึงแม้จะมีความคิดทางอุดมการณ์คล้ายคลึงกันอย่างกว้างๆ

“เวลานี้เราเป็นพลังทางการเมืองที่ถูกกฎหมายพลังหนึ่งในเนปาลแล้ว –โดยผ่านการทำข้อตกลงสันติภาพกันหลายๆ ฉบับ และโดยกระบวนการสันติภาพที่ยูเอ็นเป็นสักขีพยาน ซึ่งเวลานี้ก็ยังดำเนินอยู่” เขากล่าว และบอกต่อไปว่า หากคิดที่จะกีดกันโดดเดี่ยวพวกเขาแล้ว ก็จะบังเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยจะทำให้ขบวนการใช้ความรุนแรงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งเอเชียใต้

ไมตรีจิตมิตรภาพที่บังเกิดขึ้นมาใหม่จากปักกิ่ง จะช่วยขยายฐานความนิยมของประจันตะในเนปาล และทำให้เขาสามารถที่จะโค่นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ผู้ซึ่งกำลังถูกกล่าวหาว่าแท้จริงแล้วเป็นผู้นำระบอบปกครองหุ่น ลงได้หรือไม่? พวกช่างพูดไม่ยอมหยุดในกาฐมาณฑุ ต่างก็เชื่อว่า ได้แน่นอน

ธรุบา อธิการี เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกาฐมาณฑุ
กำลังโหลดความคิดเห็น