xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาว่าด้วยระบอบเผด็จการกับภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: Sreeram Chaulia

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The problem with dictators and disasters
By Sreeram Chaulia
12/05/2008

ผลงานชนิดไม่ได้เรื่องเลยในการบรรเทาทุกข์พายุไซโคลนของคณะผู้นำทหารของพม่า ควรต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มแห่งการรับมือจัดการกับภัยพิบัติอย่างผิดพลาดบกพร่องของระบอบปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจทั้งหลาย พฤติการณ์ที่กระทำต่อประชาชนของบรรดาผู้ปกครองในเมืองหลวงใหม่-เนย์ปิดอว์ เปรียบได้กับจักรพรรดิเนโรผู้โหดเหี้ยมแห่งจักรวรรดิโรมัน แถมยังเป็น “พวกคนแบบจักรพรรดิเนโรที่เหลวไหลไม่สามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้” (fiddling Neros) พวกเขาอาจจะมองเห็นบทเรียนในอินโดนีเซียภายหลังคลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มในปี 2004 ซึ่งได้เกิดกระบวนการ “NGO-ization” โดยพวกองค์กรบรรเทาทุกข์ภาคเอกชนของต่างชาติและของภายในประเทศ ได้เข้าไปปฏิบัติการช่วยเหลือกันเป็นระยะยาวนาน ด้วยเหตุนี้ คณะผู้เผด็จการในเนย์ปิดอว์จึงรู้สึกหวาดกลัวว่า สหประชาชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ อาจจะใช้โอกาสนี้ มาส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยในหมู่มวลชนระดับรากหญ้าในพม่า

นิวยอร์ก – ขณะที่ขนาดความหายนะจากฤทธิ์เดชของพายุไซโคลนนาร์กิส กำลังเผยออกมาให้เห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นที่ชัดเจนว่าคณะผู้นำทหารของพม่า กำลังเพิ่มขีดดำแห่งความหฤโหดอีกขีดหนึ่งเข้าไปในประวัติการปกครองอันชั่วร้ายของพวกเขา ตามการเปิดเผยของพวกเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ การตอบสนองของคณะเผด็จการผู้ปกครองพม่ามายาวนาน ต่อข้อเสนอให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ยังคงอยู่ในลักษณะที่ระแวงสงสัยคนอื่นและมัวซัวไม่โปร่งใสชัดเจนอย่างที่ระบอบนี้เคยปฏิบัติมาตลอด ทั้งๆ ที่ภัยพิบัติคราวนี้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่ง (ประมาณกันคร่าวๆ ว่ามีผู้บาดเจ็บล้มตาย 100,000 คน และอีกกว่า 1 ล้านคนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่)

มาตรการบรรเทาทุกข์ที่เป็นไปอย่างเรื่อยเฉื่อยของกองทัพบกพม่า เมื่อบวกเข้ากับการสกัดกั้นความพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติด้วยวิธีการต่างๆ นานา ย่อมสะท้อนให้เห็นภาวะความเป็นอาชญากรของระบอบปกครองนี้ จากพฤติกรรมการถ่วงเวลาเที่ยวบินส่งความช่วยเหลือ และการชักช้าไม่ออกวีซ่าให้แก่เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ของยูเอ็น ตลอดจนการยึดสัมภาระฉุกเฉินที่นานาชาติส่งไปให้ คณะผู้นำทหารชุดนี้ก็ไม่เพียงสาธิตให้เห็นการไร้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่อความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนของตัวเองเท่านั้น หากยังแสดงถึงความโดดเดี่ยวคับแคบและเที่ยวหวาดระแวงคนอื่นของพวกเขาอีกด้วย

หลังจากปกครองด้วยกำปั้นเหล็กมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ โดยทำการปิดผนึกประเทศไม่ให้รับรู้อิทธิพลจากภายนอก คณะนายพลชุดนี้ซึ่งนำโดยพลเอกอาวุโส ตานฉ่วย ก็ดูจะไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่จะต้องผ่อนคลายการจำคุกประชากรของตัวเอง แม้เมื่อเผชิญกับความพิโรธของพายุไซโคลนนาร์กิส ทั้งนี้ สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังท่าทีของคณะผู้นำทหาร ในการมุ่งหน้าขัดขวางสกัดกั้นความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ที่จะส่งให้แก่เหยื่อผู้ประสบเคราะห์จากพายุร้าย อาจจะมีอยู่หลายๆ ประการ

ประการแรกทีเดียว มันเป็นเพราะความหวาดกลัวที่จะต้องเปิดเผยให้โลกภายนอก เห็นถึงภาวะทางสังคมเศรษฐกิจและทางการเมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพายุไซโคลนหนักหน่วงที่สุด ถ้าหากยูเอ็นสามารถที่จะเข้าถึงเขตดังกล่าว ก็มีอันตรายที่บรรดาพลเรือนจะพากันร้องทุกข์อุทธรณ์ ไม่เพียงแต่ความลำบากยากเข็ญของพวกเขาในเฉพาะหน้าจากพายุเท่านั้น หากยังเรื่องราวเกี่ยวกับการกดขี่อันยาวนานที่พวกเขาประสบอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการทหาร

ขณะที่ขนาดขอบเขตของการข่มเหงรังแกกันในพม่าเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไป แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะกว้างๆ ส่วนรายละเอียดอันนองเลือดของการกดขี่เหล่านี้ยังคงถูกเก็บซุกซ่อนไว้เบื้องหลังมาตรการด้านข่าวกรองแบบหลายเชิงชั้นของภาครัฐ ตลอดจนการซึมแทรกควบคุมไปทั่วทั้งสังคมของฝ่ายทหาร การเปิดประเทศต้อนรับทีมงานบรรเทาทุกข์ที่นำโดยคนต่างชาติ ซึ่งย่อมต้องมีการติดต่อกับสื่อมวลชนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จึงเป็นภัยคุกคามที่นโยบายความมั่นคงระดับรากหญ้าของฝ่ายทหารอันเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยมทารุณ จะเกิดการรั่วไหลแพร่กระจายออกไปสู่โลกภายนอก

ประการที่สอง การบรรเทาภัยพิบัติที่ดำเนินการโดยชาวต่างชาติ ย่อมเข้ากันไม่ได้กับความหมกมุ่นที่จะบังคับควบคุมประชาชนของคณะผู้นำทหาร ซึ่งได้ใช้มาตรการจำนวนมากในการตรวจสอบและเฝ้าระวังประชาชนของตัวเอง พวกแนวทางแข็งกร้าวในเมืองหลวงใหม่เนย์ปิดอว์ย่อมรู้สึกว่า การยอมรับคนนอกให้เข้ามาทำงานบรรเทาความเดือดร้อนจากพายุ ก็คือความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดรอยแตกร้าวที่บานประตู ซึ่งอาจแผ่กว้างขยายตัว จนทำให้พวกเขายึดกุมอำนาจไม่ได้มั่นคงดังเดิม

ความพยายามในการบรรเทาทุกข์นั้น ย่อมเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่จะต้องดำเนินการกันต่อไปอย่างยืดเยื้ออีกนานภายหลังภัยพิบัติ รวมทั้งมีการจัดทำโครงการต่างๆ “ภายหลังพ้นระยะฉุกเฉิน” ซึ่งอาจถึงขั้นกลายเป็นการอยุ่ในประเทศประสบภัยไปอย่างเกือบจะถาวรกันทีเดียว เรื่องเช่นนี้เห็นได้จากครั้งภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิปี 2004 ซึ่งพวกองค์การความช่วยเหลือของต่างประเทศ ปักหลักอยู่ในพื้นที่ประสบเคราะห์ในอินโดนีเซียและประเทศไทยเป็นเวลายาวนาน คณะผู้นำทหารจึงหวาดกลัวว่าสหประชาชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ อาจฉวยโอกาสใช้พายุไซโคลนคราวนี้เป็นเสมือน “ม้าเมืองทรอย” เพื่อเข้าไปกระตุ้นส่งเสริมระบบประชาธิปไตยระดับรากหญ้าอันแท้จริงขึ้นในพม่าในที่สุด

เป็นเรื่องน่าสนใจที่ทางการเนย์ปิดอว์ ไม่ได้หน่วงเนี่ยวในการรับความช่วยเหลือฉุกเฉินจากอินเดีย, จีน, ไทย, และอินโดนีเซีย ในทันทีหลังพายุถล่ม ประเทศเอเชียเหล่านี้คงจะถูกมองว่าไร้พิษภัยเมื่อเปรียบเทียบกับยูเอ็น เนื่องจากต่างก็มีความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์อันใกล้ชิดอยู่กับคณะผู้นำทหาร นอกจากนั้นความช่วยเหลือของพวกเขายังส่งมอบโดยตรงให้แก่เหล่าเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของทางการพม่า โดยไม่มีกระบวนการติดตามผลในจุดปลายทางของการแจกจ่าย หรือการเฝ้าติดตามว่ามีการใช้สัมภาระเหล่านี้ไปอย่างไร

หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลเฮรัลด์ทรีบูน รายงานว่า สิ่งของบรรเทาทุกข์จำนวนหนึ่งของยูเอ็นที่ฝ่าฟันผ่านเข้าไปในพม่าจนได้นั้น ได้ถูกคณะผู้นำทหารยึดเอาไปใช้ในกิจการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังคงจัดขึ้นตามพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศในวันเสาร์(10)ที่ผ่านมา และดูจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญยิ่งเสียกว่าการกู้ภัยช่วยเหลือเหยื่อพายุไซโคลน

การที่ความช่วยเหลือฉุกเฉินถูกแบ่งเอาไว้ใช้ในกิจการที่มีวัตถุประสงค์ทางทหารด้วย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเป็นความช่วยเหลือในรูปแบบทวิภาคีจากรัฐบาลสู่รัฐบาล และผู้รับก็เป็นระบอบปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเฉกเช่นพม่านี้

เหตุผลประการที่สาม เรื่องที่ทำไมคณะผู้นำทหารจึงขัดขวางความช่วยเหลือจากนานาชาติ ก็คือความหวั่นเกรงที่ว่ามันอาจจะกลายเป็นการปลุกกระแสภาคประชาสังคมในพม่าให้ตื่นตัวขึ้นมา ในพม่านั้นถือได้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีพวกกลุ่มช่วยเหลือตัวเองของภาคประชาชน ตลอดจนองค์กรนอกภาครัฐบาล (NGOs) ที่เป็นอิสระจากการควบคุมบงการของรัฐ ทั้งนี้เพราะการใช้ระเบียบกฎหมายมาควบคุมกระแสความเคลื่อนไหวในทางสังคมด้วยความเข้มงวดกวดขัน คือสิ่งที่คณะผู้นำทหารเห็นว่าจำเป็นต้องทำ เพื่อขัดขวางไม่ให้กลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตลอดจนเกิดการเรียกร้องจากประชาชนให้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐขึ้นมา

**ความหวาดกลัวกระบวนการเติบใหญ่ของ NGOs**

การเข้ามาของพวกองค์กรให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศชนิดที่เข้ามากันอย่างมากมายใหญ่โต ปกติแล้วย่อมต้องคู่ขนานกันไปกับการเติบโตขยายตัวของ “หุ้นส่วนฝ่ายปฏิบัติการ” ที่เป็นชาวท้องถิ่น ตลอดจนเกิดกระบวนการเติบใหญ่เข้มแข็งของพวกองค์กรนอกภาครัฐบาล (NGO-ization) ในการแสดงบทบาททำงานทางสังคมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พวก NGOs ที่เป็นหุ้นส่วนของบรรดาองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศ น้อยนักที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหัวข้ออันอ่อนไหวง่าย อย่างเช่น การพิทักษ์ปกป้องพลเรือนจากพฤติการณ์อันเหี้ยมโหดและการถูกละเมิดต่างๆ แต่มันก็ยังอาจมีผลสืบเนื่องต่อมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ จากการเปิดให้มีพื้นที่ซึ่งอาจก่อให้เกิดกิจกรรมภาคประชาสังคมที่รุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น เบื้องหลังการขัดขวางไม่ยอมรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มียูเอ็นและฝ่ายตะวันตกเป็นผู้นำ จึงน่าจะอยู่ที่ความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของคณะผู้นำทหาร ในการควบคุมพวกที่ไม่เห็นด้วยกับทางการเอาไว้ให้ได้ต่อไป

แน่นอนทีเดียวว่า คณะผู้นำทหารของพม่าไม่ได้เป็นพวกเดียวที่ดำเนินการอย่างผิดพลาดบกพร่องเกี่ยวกับเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติ ระบอบปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จของเกาหลีเหนือก็ได้แสดงให้เห็นมานานแล้วว่าไร้ความปราณีต่อประชากรที่กำลังอดอยากหิวโหยของตน ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เชื่อกันว่ามีชาวเกาหลีเหนือมากกว่า 3 ล้านคนต้องเสียชีวิตจากภัยพิบัติแห่งการขาดแคลนอาหารซึ่งมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา และนับแต่นั้นมาระบอบปกครองดังกล่าวก็อยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือด้านอาหารจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นกำลังประสบความลำบากในการหาผู้บริจาค สืบเนื่องจากมีความกังวลกันว่าความช่วยเหลือที่ให้ไป อาจกำลังถูกระบอบปกครองคิมจองอิล ยักย้ายถ่ายเทไปบำรุงรักษาและกระทั่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่รัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จตลอดจนกองทัพของเขา ในการควบคุมบังคับประชาชนผู้เคราะห์ร้าย

ในแอฟริกา รัฐบาลที่กดขี่ประชาชนในซิมบับเวและซูดาน ก็ได้แสดงอาการทำนองเดียวกันทั้งในด้านการปฏิเสธไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และในด้านการฉ้อฉลยักเยื้องนำเอาความช่วยเหลือเหล่านั้นไปเป็นประโยชน์แก่สมัครพรรคพวกของตัวเอง วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในซิมบับเว ภายใต้ประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ จอมเผด็จการ ได้ส่งผลกระทบกระเทือนผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 11.6 ล้านคนของประเทศ ทำให้พวกเขาต้องเหี่ยวเฉาย่ำแย่ทั้งจากภาวะภัยแล้งอันสาหัส, ภาวะยากจน, โรคระบาดร้ายแรงอย่าง เชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์, ความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ, และพฤติการณ์เกินขอบเขตต่างๆ ที่รัฐบาลอุปถัมภ์ค้ำชู แต่กระนั้น มูกาเบก็พร้อมที่จะปฏิเสธอย่างกริ้วโกรธว่าประเทศของเขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารอะไรสักหน่อย แถมยังโหมวิกฤตให้รุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยการปราบปรามไม่ให้มีการแสดงความวิตกเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นในสังคม

ที่ซูดาน ระบอบปกครองเผด็จการทหารของ โอมาร์ อัล บาชีร์ เป็นผู้ก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่คุกคามชีวิตผู้คนจำนวนมากครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการบงการให้กองทัพและกองกำลังอาวุธต่างๆ ก่อความรุนแรงต่อพลเรือนที่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศ ความริเริ่มของยูเอ็นที่จะจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ตลอดจนหามาตรการปกป้องคุ้มครองประชาชนในซูดาน มีอันต้องประสบกับความหงุดหงิดผิดหวังกันทุกๆ ฝีก้าวจากน้ำมือของระบอบเผด็จการบาชีร์ และด้วยการหนุนหลังจากระบอบปกครองเผด็จการทั้งในอียิปต์และแอลจีเรีย ผลงานชนิดไม่ได้เรื่องเลยในการบรรเทาทุกข์พายุไซโคลนของคณะผู้นำทหารของพม่า จึงเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มแห่งการรับมือจัดการกับภัยพิบัติอย่างผิดพลาดบกพร่องของระบอบปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจทั้งหลาย

อมาร์ตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มีแนวความคิดที่เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยอยู่ในฐานะที่ดีกว่าระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในเรื่องการรับมือกับทุพภิกขภัย, ภัยแล้ง, ตลอดจนภัยพิบัติอื่นๆ พวกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่รับผิดชอบมากกว่า ในยามที่ประชากรของพวกเขาประสบภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือภัยจากมนุษย์สร้างขึ้น เนื่องจากอำนาจที่พวกนักการเมืองได้มานั้น ต้องพึ่งพาอาศัยประกาศิตของประชาชนจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ได้มาจากปากกระบอกปืน ยิ่งกว่านั้น ระบอบประชาธิปไตยยังมีสื่อมวลชนที่ค่อนข้างเสรีมากกว่า ซึ่งคอยตรวจสอบขุดคุ้ยการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมาของพวกผู้มีอำนาจหน้าที่ ความสำเร็จในระดับหนึ่งของอินเดียในการรับมือกับภัยพิบัติเฉกเช่นคลื่นยักษ์สึนามิ, น้ำท่วมใหญ่, และแผ่นดินไหว เมื่อเปรียบเทียบกับพม่า, เกาหลีเหนือ, หรือปากีสถานแล้ว ก็ดูจะเป็นการยืนยันแนวความคิดของเซน

อย่างไรก็ตาม การไม่ทำอะไรอย่างสิ้นเชิงตลอดจนการตอบสนองอย่างล่าช้าเกินไปของรัฐบาลสหรัฐฯในกรณีพายุเฮอร์ริเคน แคทรินา ซึ่งถล่มใส่มลรัฐลุยเซียนา ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศในปี 2005 ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาเช่นกันว่า จริงล่ะหรือที่ประชาธิปไตยมีคุณสมบัติที่สามารถทำให้เกิดการตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างทรงประสิทธิภาพกว่าและมีมนุษยธรรมยิ่งกว่า ตามผลสำรวจความคิดเห็นของแกลลัป ที่จัดทำขึ้นไม่นานหลังพายุเฮอร์ริเคนลูกนี้กระหน่ำใส่เมืองนิวออร์ลีนส์ ปรากฏว่าชาวเมืองที่เป็นคนผิวดำทุกๆ 6 คนจาก 10 คนกล่าวว่า “ถ้าเหยื่อที่ประสบเคราะห์จากแคทรินาส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวแล้ว การบรรเทาทุกข์คงจะมาถึงเร็วกว่านี้”

วิธีปฏิบัติที่ใจดำและมีอคติของรัฐบาลสหรัฐฯต่อความหายนะทางธรรมชาติขนาดมหึมา เมื่อพิจารณาในทางบริบทแล้ว ก็เป็นอาชญากรรมไม่ได้น้อยไปกว่าสิ่งที่คณะผู้นำทหารพม่ากระทำอยู่ในกรณีพายุไซโคลนนาร์กิส มันปรากฏออกมาว่าทั้งกรุงเนย์ปิดอว์และกรุงวอชิงตันต่างก็มี “พวกคนแบบจักรพรรดิเนโรที่เหลวไหลไม่สามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้” (fiddling Neros) ตัวอย่างที่เลวของกรณีแคทรีนาแสดงให้เห็นความจำกัด ถ้าหากจะหาเหตุผลอันทรงปัญญามาสนับสนุนว่าระบอบประชาธิปไตยคือยาครอบจักรวาลที่จะทำให้มีการรับมือกับภัยพิบัติอย่างที่พึงประสงค์ขึ้นมา

รัฐหนึ่งๆ จักต้องมีความเป็นประชาธิปไตย โดยไม่ใช่เน้นกันนักหนาที่รูปแบบ ทว่าหนักแน่นในทางเนื้อหาสาระ (อาทิ เคารพสิทธิของชนกลุ่มน้อยและผู้คนส่วนที่อ่อนแอกว่าคนอื่นๆ ในสังคม) จึงจะทรงประสิทธิภาพในการบรรเทาฤทธิ์เดชของภัยพิบัติ หรือคลายทุกข์ของพลเมืองได้ภายหลังภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว การขาดความรับชอบต่อพายุไซโคลนนาร์กิสของคณะผู้นำทหารพม่า เป็นการส่งสัญญาณอีกครั้งหนึ่งว่า พม่าจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องยุติวันคืนอันมืดมนของระบอบเผด็จการทหารเสียที กระนั้นก็ตาม การสถาปนาประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมา (แต่ไม่ใช่ด้วยกระบวนการลงประชามติรัฐธรรมนูญจอมปลอมที่คณะผู้นำทหารจัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา) ก็ยังคงเป็นหนทางเพียงสายเดียวสำหรับประชาชนผู้ทนทุกข์ทรมานของพม่า ที่จะต้องฝึกฝนและเตรียมตัวเองให้พร้อม สำหรับรับมือกับภัยร้ายแรงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมาอีกในอนาคต

Sreeram Chaulia เป้นนักวิจัยด้านกิจการระหว่างประเทศ ที่ Maxwell School of Citizenship มหาวิทยาลัยซีราคิวส์, นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น