เอเอฟพี/เอเจนซี/ASTV ผู้จัดการรายวัน – ญี่ปุ่นประกาศวันจันทร์(16) ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำไตรมาส 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดีเหนือความคาดหมายและทำสถิติขยายตัวมากที่สุดในรอบกว่า2ปี เป็นการตอกย้ำว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงหวั่นว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง
ตามรายงานตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ที่รัฐบาลญี่ปุ่นนำออกมาเผยแพร่ ปรากฏว่ามีการขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้านี้ หรือเมื่อคำนวณเป็นอัตราต่อปีก็จะเท่ากับร้อยละ 4.8 นับเป็นการเติบโตในแดนบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สองแล้ว เท่ากับยืนยันว่าแดนอาทิตย์อุทัยได้ก้าวพ้นจากภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้หลังจากที่การส่งออกซึ่งเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้เริ่มฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ถึงร้อยละ 6.4 ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลก็เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจองค์รวมอย่างเป็นรูปธรรม โดยตัวเลขการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาคธุรกิจในประเทศเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.6 ส่วนการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนก็ขยับขึ้นร้อยละ 0.7 เช่นกัน
การประกาศตัวเลขจีดีพีคราวนี้ นับเป็นครั้งแรกในยุครัฐบาลของนายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโตยามะ หัวหน้าพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ เจแปน (ดีพีเจ) และถือเป็นตัวเลขที่สูงเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ก่อนหน้านี้ ทางการญี่ปุ่นก็รายงานว่า อัตราการว่างงานซึ่งมีการสำรวจในเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.3 ขณะที่ยอดการผลิตสินค้าของภาคอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน ทำให้มาซาอากิ ชิรากาวะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) ออกมาประกาศว่ากำลังพิจารณาลดเลิกมาตรการฉุกเฉินบางประการที่เคยนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แล้วถูกทางรัฐบาลตอบโต้ว่ายังไม่ควรเคลื่อนไหวก่อนเวลาอันควร
ทั้งนี้ รัฐบาลระบุว่า มีสัญญาณบ่งบอกว่าทั้งการบริโภคของภาคครัวเรือน และผลผลิตทางอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในสภาพอ่อนแอ สำนักข่าวเกียวโดรายงานวานนี้ว่า รัฐมนตรีคลัง ฮิโรฮิซะ ฟูจิอิ กล่าวว่าคณะรัฐมนตรีกำลังจะประกาศรายละะอียดของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งจะมีมูลค่าไม่เกิน 2.7 ล้านล้านเยน ส่วนหนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า รัฐบาลน่าจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันศุกร์(20)ว่า ญี่ปุ่นหวนกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากดัชนีอุปสงค์ภายในประเทศ (domestic demand deflator) ลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน อันเป็นการตกฮวบแรงที่สุดในรอบ 51 ปี
**ตำหนิรัฐมนตรีปล่อยข้อมูลรั่ว**
อนึ่ง การเผยแพร่รายงานจีดีพีล่าสุดนี้ ได้กลายเป็นเรื่องปวดศีรษะเรื่องใหม่ให้แก่นายกรัฐมนตรีฮาโตยามะ เมื่อรัฐมนตรีพาณิชย์ มาซายูกิ นาโอชิมะ ระบุตัวเลขนี้ในระหว่างกล่าวปราศรัยกับพวกเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเท่ากับเป็นการปล่อยข้อมูลรั่วไหลก่อนเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ราว 50 นาที ทำให้เกิดความข้องใจกันขึ้นมาเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่นี้ ในการดูแลจัดการข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับ
นาโอชิมะได้ออกมาแถลงขอโทษในเวลาต่อมา โดยบอกว่าคิดว่าพูดก่อนเวลาเล็กน้อยคงไม่เป็นไร ทว่าฮาโตยามะได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว ตำหนินาโอชิมะว่าเลินเล่อไม่ระมัดระวัง นอกจากนั้น ฮิโรฟูมิ ฮิราโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งในระบบการเมืองญี่ปุ่นถือเป็นบุคคลสำคัญอันดับสองในรัฐบาลรองจากนายกรัฐมนตรี ก็กล่าวว่าได้โทรศัพท์ไปตำหนิรัฐมนตรีผู้นี้อย่างหนัก