xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’เยือนญี่ปุ่นเผชิญศึก‘โอกินาวา’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: โคสุเกะ ทากาฮาชิ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Japan: A new battle over Okinawa
By Kosuke Takahashi
13/11/2009

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เยือนญี่ปุ่น ขณะที่กำลังเกิดความแตกร้าวกันล้ำลึกมากขึ้นระหว่างวอชิงตันกับรัฐบาลชุดใหม่ในโตเกียว เกี่ยวกับกองทหารสหรัฐฯในโอกินาวา โตเกียวนั้นยังคงยึดถือสมรรถนะทางการทหารของสหรัฐฯว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดในการค้ำประกันความมั่นคงของญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแกนกลางแห่งความร่วมมือกับต่างประเทศของตนเอง ออกจากวอชิงตันมาหาชาติต่างๆ ทางเอเชียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

โตเกียว – ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯเดินทางถึงกรุงโตเกียวเมื่อวันศุกร์ (13) เพื่อหยุดเยือนเป็นจุดแรกในการตระเวนเยี่ยมเอเชียเที่ยวแรกสุดของเขา ทว่าการเยือนญี่ปุ่นที่รวมแล้วใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงคราวนี้ คงไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประชามติของแดนอาทิตย์อุทัย

ในญี่ปุ่นนั้นมักนิยมพูดกันว่า คุณสามารถตรวจจับกระแสคลื่นใต้น้ำต่างๆ ในสังคมได้ ด้วยการคอยดูพวกป้ายโฆษณาที่ติดตั้งอยู่บนขบวนรถไฟ เนื่องจากมันสามารถเป็นกระจกส่องสะท้อนความเป็นไปในสังคมได้เป็นอย่างดี ปรากฏว่าโฆษณาเตะตาชิ้นหนึ่งที่ปรากฏตามขบวนรถไฟขนส่งมวลชนอันแออัดยัดทะยานในกรุงโตเกียวเวลานี้ เป็นของนิตยสารรายสัปดาห์ยอดนิยมฉบับหนึ่งของญี่ปุ่น เขียนข้อความเอาไว้ว่า “อย่ายอมจำนนตามคำข่มของสหรัฐฯเชียวนะ!”

นิตยสารฉบับนี้มีชื่อว่า ชูกัง อาซาฮี (Shukan Asahi) ซึ่งได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯว่า ใช้ท่าทีวางอำนาจบาตรใหญ่ต่อญี่ปุ่น ในประเด็นปัญหาว่าด้วยการโยกย้ายฐานอากาศยานฟูเตนมะ ของกองทัพนาวิกโยธินสหรัฐฯ (US Marine Corps Air Station Futenma) ในจังหวัดโอนิกาวา ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนและยืดเยื้อมานานแล้ว

ชูกัง อาซาฮี หยิบยก “คำเตือน” ของรัฐมนมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ รอเบิร์ต เกตส์ ที่พูดเอาไว้ระหว่างการเยือนกรุงโตเกียวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ถ้าหากภายในปี 2014 อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการขึ้นลงของฝูงเฮลิคอปเตอร์ ณ ฐานบินฟูเตนมะ ยังไม่ได้มีการโยกย้ายไปยัง ค่ายชวาบ (Camp Schwab) ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ชายฝั่งทะลในแถบที่มีประชากรพำนักอาศัยเบาบางของนครนาโง (Nago) ทางตอนเหนือของโอนิกาวา (นี่ก็คือการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการโยกย้ายจัดกำลังกองทหารสหรัฐฯใหม่ปี 2006 ที่ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามกันไปแล้ว) การเคลื่อนย้ายกำลังทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯประมาณ 8,000 คนออกจากโอกินาวา ไปยังเกาะกวม ซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐฯที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ก็จะบังเกิดขึ้นไม่ได้

ระยะหลังๆ มานี้ ยังมีบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของสหรัฐฯหลายๆ ราย เป็นต้นว่า ริชาร์ด ลอว์เลส (Richard Lawless) อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ปรากฏตัวบ่อยครั้งตามสื่อต่างๆ ของญี่ปุ่น เพื่อกล่าวย้ำคำเตือนนี้ของเกตส์

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ความตึงเครียดในเรื่องทหารสหรัฐฯที่ประจำอยู่บนเกาะโอกินาวา ซึ่งคุกรุ่นตลอดมาตั้งแต่ที่ทหารอเมริกัน 3 คนถูกตัดสินว่ากระทำผิดในข้อหาข่มขืนเด็กหญิงวัย 12 ปีในจังหวัดนี้เมื่อปี 1995 ก็ทำท่าจะปะทุดุเดือดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวันอาทิตย์(8) แม้อากาศจะร้อนจัดอย่างมาก ก็ยังมีชาวญี่ปุ่นถึงประมาณ 21,000 คนออกมาชุมนุมกันที่เกาะโอกินาวา เพื่อเรียกร้องให้โยกย้ายฐานทัพที่ฟูเตนมะ ไปเสียจากเกาะแห่งนี้ การชุมนุมประท้วงคราวนี้มีชนวนจากเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายถึงแก่ชีวิตแล้วหลบหนีซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นทหารอเมริกันคนหนึ่ง นายกรัฐมนตรียูคิโอะ ฮาโตยามะ ของญี่ปุ่น ก็ยังออกมาแสดงท่าทีว่า สนับสนุนข้อเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ส่งมอบตัวทหารคนที่ฆ่าชายโอกินาวาวัย 66 ปีและเวลานี้ฝ่ายอเมริกันจับตัวคุมขังเอาไว้ มาให้ฝ่ายญี่ปุ่นดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมของแดนอาทิตย์อุทัย

ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นที่กระทำร่วมกันระหว่าง ริวกิว ชิมโป (Ryukyu Shimpo) กับ ไมนิจิ ชิมบุง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมถึง 1 พฤศจิกายน พบว่าชาวโอกินาวา 69.7% กล่าวว่าคณะรัฐบาลฮาโตยามะควรเปิดการเจรจาใหม่กับสหรัฐฯในเรื่องแผนการโยกย้ายค่ายฟูเตนมะออกไปจากจังหวัดนี้ หรือกระทั่งออกจากประเทศญี่ปุ่นไปเลย ผลโพลยังแสดงให้เห็นด้วยว่า 67% ของผู้ตอบคำถามคัดค้านการโยกย้ายฐานบินฟูเตนมะไปยังค่ายสวาป

ความขัดแย้งเรื่องการย้ายที่ตั้งค่ายฟูเตนมะที่ดำเนินยืดเยื้อมานานนี้ กำลังสั่นคลอนความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สหรัฐฯถึงระดับรากฐานทีเดียว ขณะที่ในปีหน้าจะเป็นวาระครบรอบ 60 ปีของสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Mutual Security Treaty) ซึ่งประเทศทั้งสองได้ตกลงใช้กันมาตั้งแต่ปี 1960

“ความคิดเห็นของผู้รู้จำนวนมากที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ อาจจะนำพาให้เราเชื่อไปว่าญี่ปุ่นกับสหรัฐฯนั้นกำลังใกล้จะแตกหักกันแล้วในเรื่องที่ว่าจะโยกย้ายเครื่องเฮลิคอปเตอร์นาวิกโยธิน 60 ลำ (ซึ่งจอดอยู่ที่ฟูเตนมะ) ไปไว้ที่ไหน” แพตริก ครอนิน (Patrick Cronin) ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Security Program) ณ ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกัน (Center for a New American Security) ในกรุงวอชิงตัน บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ผ่านการให้สัมภาษณ์ทางอีเมล “ทว่าความเป็นพันธมิตรกันที่ยั่งยืนถาวรนั้น ต้องวางอยู่บนผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ต้องมาวุ่นวายกับการที่เพียงแค่มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องวิธีการหรอก”

“จากความลำบากยุ่งยากที่เห็นจากประเด็นเรื่องการโยกย้ายที่ตั้งฐานจอดอากาศยานนาวิกโยธินฟูเตนนะนี้ ทำให้เกิดคำถามที่ฉกาจกรรจ์ขึ้นมาว่า ปีหน้าซึ่งเป็นวาระฉลองครบรอบครึ่งศตวรรษของสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันปี 1960 นั้น มันจะเป็นหลักหมายแสดงถึงการสิ้นสุดลงของความเป็นพันธมิตรนี้แบบที่เรารู้จักกัน หรือจะเป็นการเริ่มต้นของความเป็นพันธมิตรแบบที่เราทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการให้เกิดขึ้นสำหรับศตวรรษที่ 21” ครอนินกล่าวต่อ

อย่างไรก็ดี ในการหารือระหว่างผู้นำญี่ปุ่นกับโอบามาผู้มาเยือนคราวนี้ เรื่องการโยกย้ายที่ตั้งฐานทัพในโอกินาวาจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ในวาระ ขณะที่โอบามาก็ยังน่าจะพูดเน้นว่าความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับญี่ปุ่นนั้น เป็น “เสาหลัก” เสาหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ พร้อมกับมุ่งแสวงหาการคบค้าอย่างสนิทสนมกันอีกรอบกับคณะรัฐบาลชุดใหม่ในโตเกียว

คาดหมายกันว่าโอบามาและฮาโตยามะยังจะยืนยันอีกครั้งว่าจะร่วมมือกันในการลดการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 80% ภายในปี 2050 โดยที่ไม่ได้มีการอ้างอิงเจาะจงลงไปว่าจะใช้ปีใดเป็นปีฐานในการคำนวณ หรือญี่ปุ่นคิดอย่างไรกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศมากที่สุดของโลก (เคียงคู่กับประเทศจีน) ผู้นำทั้งสองยังจะกล่าวย้ำแสดงเจตนารมณ์ของพวกเขาอีกครั้งที่จะสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์

**รุ่งอรุณวันใหม่ของญี่ปุ่น**

ขณะที่คณะรัฐบาลใหม่ของฮาโตยามะกำลังดำเนินทบทวนครั้งใหญ่เกี่ยวกับความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯอยู่นี้ กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อเมริกันก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งมโหฬารถึงระดับรากฐานเช่นกัน

ฮาโตยามะและพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (Democratic Party of Japan หรือ DPJ) ที่มีแนวทางกลาง-ซ้ายของเขานั้น คือผู้ที่สามารถโค่นล้มพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์นี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ที่มีแนวทางนิยมสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม เป็นการยุติการปกครองประเทศแบบแทบจะโดยพรรคเดียวของแอลดีพีตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

กระนั้นก็ตาม อาจกล่าวได้เช่นกันว่าพรรคแอลดีพีได้บรรลุภารกิจทางประวัติศาสตร์แห่งยุคสงครามเย็นของตนเองอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วในท้ายที่สุด นั่นคือ การสนับสนุนบทบาททางการทหารของญี่ปุ่น ให้กลายเป็นฐานใหญ่แห่งการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งคัดค้านต้านทานจีนและรัสเซีย

“ร่มนิวเคลียร์” (nuclear umbrella) ของสหรัฐฯนั้น ทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองญี่ปุ่นจากผู้ที่มีศักยภาพจะกลายเป็นศัตรู เป็นต้นว่า จีน, เกาหลีเหนือ, และรัสเซีย ขณะเดียวกันก็ให้ความมั่นใจแก่รัฐอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้ซึ่งต้องเจ็บปวดบอบช้ำเมื่อตอนที่ถูกญี่ปุ่นปกครองเป็นอาณานิคมว่า โตเกียวจะไม่หวนกลับไปสู่อดีตแห่งลัทธิทหาร (militarism) อีก

เนื่องจากได้อาศัยอำนาจบารมีในการป้องปรามทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นจึงสามารถเพลิดเพลินเจริญใจกับทิศทางอนาคตทางยุทธศาสตร์ที่มีเสถียรภาพค่อนข้างสูง โดยที่ประชากรก็กลายเป็นพวกที่ระแวดระวังตัวไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ และการกลับไปสู่ลัทธิทหารนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ซึ่งนี่เป็นมรดกจากการที่สหรัฐฯทิ้งระเบิดปรมาณูเข้าถล่มเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ในปี 1945 นั่นเอง ทั้งนี้รัฐบาลพรรคแอลดีพีชุดต่างๆ ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่แล้วก็มุ่งเน้นให้ความสนใจอยู่แต่กับเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติและเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ยุคแห่งลัทธิสันตินิยม (pacificism) อย่างแข็งขันของญี่ปุ่นเช่นนี้ (ซึ่งก็เป็นไปตามที่ระบุเอาไว้ใน “รัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพ” ที่สหรัฐฯเขียนออกมาให้ญี่ปุ่นนำไปใช้ตั้งแต่ช่วงสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง) ได้กำหนดให้กองกำลังทหารของญี่ปุ่นต้องมีทัศนคติและโครงสร้างซึ่งมุ่งทำหน้าที่ป้องกันประเทศชาติเท่านั้น รวมทั้งทำให้การผูกพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯกลายเป็นแกนกลางของนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่นในระยะหลังสงคราม

“คณะรัฐบาลสหรัฐฯยุค (ประธานาธิบดี แฮร์รี เอส) ทรูแมน และ (ประธานาธิบดี ดไวต์ ดี) ไอเซนฮาวร์ ต่างมองการผงาดขึ้นมาอีกครั้งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ว่าจะทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรฉุดลากการเจริญเติบโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” ครอนินชี้ “ การที่สหรัฐฯสามารถใช้ญี่ปุ่นเป็นเสมือนกับเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม แลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯช่วยทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นชีพขึ้นมา คือหนทางการเมืองที่วอชิงตันกับโตเกียวตั้งอกตั้งใจเลือกเดิน โดยอิงอยู่กับผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งของพวกเขาในช่วงเวลาที่มีการทำสนธิสัญญาฉบับดั้งเดิมปี 1951”

มาถึงช่วงปี 2001 ถึง 2006 อันเป็นยุคคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ผู้เป็นสัญลักษณ์ของนโยบายในแนวทางนักปฏิรูปของญี่ปุ่น ได้มีการตั้งจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งในสายสัมพันธ์ทางการทหารและความมั่นคงแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ โดยที่แนวทางเช่นนี้ยังได้รับการผลักดันหนุนเนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอก ตั้งแต่การที่จีนมีการสร้างสมกำลังทางทหาร, เกาหลีเหนือก็ก่อวิกฤตด้านนิวเคลียร์, และเกิดภัยคุกคามในระดับโลกของลัทธิก่อการร้าย

ความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีโคอิซูมิ มักได้รับการเอ่ยอ้างถึงในฐานะเป็น “ยุคทอง” แห่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้โคอิซูมิถึงกับส่งกำลังหลายๆ หน่วยของกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่น (Japan Ground Self-Defense Forces หรือ JGSDF ซึ่งก็คือกองทัพบกของญี่ปุ่นนั่นเอง) เข้าไปยังอิรัก เพื่อร่วมส่วนในสงครามต่อสู้เอาชนะการก่อการร้ายของอเมริกา

โคสุเกะ ทากาฮาชิ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงโตเกียว นอกจากเขียนให้เอเชียไทมส์ออนไลน์แล้ว เขายังเขียนให้กับ Jane's Defence Weekly ในฐานะเป็นผู้สื่อข่าวประจำโตเกียว สามารถติดต่อเขาได้ที่ letters@kosuke.net

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ‘โอบามา’เยือนญี่ปุ่นเผชิญศึก‘โอกินาวา’ (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น