xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’เยือนญี่ปุ่นเผชิญศึก‘โอกินาวา’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: โคสุเกะ ทากาฮาชิ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Japan: A new battle over Okinawa
By Kosuke Takahashi
13/11/2009

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เยือนญี่ปุ่น ขณะที่กำลังเกิดความแตกร้าวกันล้ำลึกมากขึ้นระหว่างวอชิงตันกับรัฐบาลชุดใหม่ในโตเกียว เกี่ยวกับกองทหารสหรัฐฯในโอกินาวา โตเกียวนั้นยังคงยึดถือสมรรถนะทางการทหารของสหรัฐฯว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดในการค้ำประกันความมั่นคงของญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแกนกลางแห่งความร่วมมือกับต่างประเทศของตนเอง ออกจากวอชิงตันมาหาชาติต่างๆ ทางเอเชียเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

คณะผู้นำใหม่ในโตเกียวปัจจุบัน ยังคงยึดถือสมรรถนะทางการทหารของสหรัฐฯ ตลอดจนอำนาจบารมีด้านการป้องปรามทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับความมั่นคงโดยองค์รวมของญี่ปุ่น (ตลอดจนสำหรับสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคแถบนี้ด้วย) ทว่าพวกเขาคิดว่า มันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเห็นว่าสหรัฐฯก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในทำนองเดียวกันสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ แท้ที่จริงแล้ว การเจริญเติบโตอย่างใหญ่โตมโหฬารในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในประเทศจีนที่เป็นตลาดผู้บริโภคขนาด 1,300 ล้านคน คือสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับทั่วโลก

ฮาโตยามะเองได้ออกมาเรียกร้องให้สร้าง “ประชาคม” เอเชียตะวันออก ซึ่งจะมุ่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่จะคล้ายๆ กับสหภาพยุโรปในเวอร์ชั่นแบบเอเชียขึ้นมา เขายังแสดงความคิดเห็นผลักดันให้มีการใช้สกุลเงินตราร่วมกันในเอเชีย เพื่อเป็นตัวขยายผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาค ฮาโตยามะวางจุดมุ่งหมายที่จะเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนแกนกลางแห่งความร่วมมือของญี่ปุ่น โดยจะให้หันไปให้ความสนใจร่วมมือกับพวกชาติต่างๆ ในเอเชีย

ทางด้านดีพีเจ พรรคแกนนำในคณะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันซึ่งมีตัวฮาโตยามะเป็นหัวหน้าพรรค ก็ประกาศนโยบายมานานแล้วที่จะเน้นความร่วมมือกันแบบพหุภาคี ขณะเดียวกันก็เรียกร้องต้องการปรับเปลี่ยนความเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐฯในลักษณะที่ญี่ปุ่นจะต้องเป็นหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมกับอเมริกาเพิ่มขึ้น เท่าที่ผ่านมาเมื่อตอนยังเป็นฝ่ายค้าน ดีพีเจมักปฏิเสธไม่ให้ความสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยที่โดดเด่นที่สุดก็คือการทำสงครามในอิรัก อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการทูตของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามว่าเป็น “การทำตามกฎเกณฑ์ที่สหรัฐฯขีดวงให้กระทำ”

คณะรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ได้รับเลือกตั้งครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ก็ด้วยการใช้หลักนโยบายรณรงค์หาเสียง ที่ประกาศจะลดทอนกำลังทหารสหรัฐฯในเกาะโอกินาวา อันเป็นสถานที่ตั้งกองทหารอเมริกันราว 75% ของที่มีอยู่ในญี่ปุ่นทั้งหมดในเวลานี้

ระหว่างวาระตอบกระทู้ในสภาสูงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ฮาโตยามะบอกว่าเขาจะทำการทบทวนความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ “อย่างรอบด้าน” ต่อมาเขาอธิบายขยายความกับพวกผู้สื่อข่าวว่า การทบทวนดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งเรื่อง การที่ญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนฐานทัพสหรัฐฯ, ข้อตกลงว่าด้วยสถานภาพของกองกำลังทหารสหรัฐฯในญี่ปุ่น (Status of Forces Agreement หรือ SOFA) , และการโยกย้ายที่ตั้งฐานอากาศยานฟูเตนมะ

ฮาโตยามะกล่าวว่า รัฐบาลของเขากำลังสำรวจหาลู่ทางความเป็นไปได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของญี่ปุ่นในฐานะชาติเจ้าบ้านที่ต้องให้การอุดหนุนแก่ฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ งบประมาณในรายการเช่นนี้ที่เรียกขานกันว่า “งบประมาณเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ” เริ่มต้นขึ้นมาเมื่อปี 1978 มุ่งครอบคลุมทั้งสิ่งสาธารณูปโภคทั้งหลายตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ

ในปีงบประมาณ 2009 ค่าใช้จ่ายรายการนี้ได้รับการจัดสรรเงินเป็นจำนวน 189,700 ล้านเยน (2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากการที่คาดหมายกันว่าหนี้สินภาครัฐบาลของญี่ปุ่นจะทะยานขึ้นไปสู่ระดับเท่ากับ 187% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในปีนี้ อันเป็นอัตราส่วนที่วิ่งฉิวแซงหน้าไปไกลที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลาย โตเกียวจึงไม่ต้องการที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายก้อนโตเพื่อสนับสนุนกองทหารสหรัฐฯที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่นอีกต่อไป นอกจากนั้นด้วยภาระงบประมาณก้อนใหญ่เช่นนี้ ยังกลายเป็นการจำกัดเงินทองที่ญี่ปุ่นจะสามารถใช้จ่ายเพื่อการปรับปรุงกองกำลังป้องกันตนเอง (Self Defense Forces หรือ SDFซึ่งก็คือกองทัพญี่ปุ่น) ของญี่ปุ่นให้ทันสมัยก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกด้วย

ในส่วนของข้อตกลง SOFA ซึ่งเป็นกรอบกำกับดูแลการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯในญี่ปุ่น ตลอดจนเป็นหลักเกณฑ์ทางกฎหมายสำหรับบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯที่ประจำอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยนั้น มิได้มีการปรับปรุงทบทวนกันเลยเป็นเวลาร่วมครึ่งศตวรรษมาแล้ว กลุ่มผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นตัวแทนของจังหวัดซึ่งมีสถานที่ทางทหารของสหรัฐฯตั้งอยู่ เป็นต้นว่า โอกินาวา และ คานางาวา กำลังเรียกร้องให้เพิ่มเติมมาตราที่ครอบคลุมถึงเรื่องการจัดการกับมลพิษสิ่งแวดล้อมและการทำลายสิ่งแวดล้อมในเขตฐานทัพสหรัฐฯในญี่ปุ่น

สำหรับเรื่องการโยกย้ายค่ายฐานบินฟูเตนมะ นายกรัฐมนตรีฮาโตยามะให้สัมภาษณ์ว่า กำลังพิจารณา “ทางเลือกต่างๆ หลายๆ ทาง” รัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นได้รับมรดกข้อตกลงญี่ปุ่น-สหรัฐฯปี 2006 ที่มีข้อกำหนดให้โยกย้ายที่ตั้งฐานอากาศยานไปยังที่แห่งใหม่เฉพาะภายในโอกินาวาเท่านั้น ทว่าฮาโตยามะแสดงท่าทีว่า เขาจะหาทางย้ายฐานบินแห่งนี้ไปอยู่นอกโอกินาวา และเป็นไปได้ว่าอาจจะอยู่นอกประเทศญี่ปุ่นเลย

รัฐมนตรีต่างประเทศ คัตสึยะ โอกาดะ ของญี่ปุ่น ก็กำลังเสนอแนวความคิดเรื่องให้รวมเอาอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกในการเป็นฐานบินของฟูเตนมะ เข้าไว้กับฐานทัพอากาศคาเดนะ (Kadena Air Base) ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยที่ฐานทัพอากาศแห่งนี้ก็เป็นฐานทัพใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯในย่านตะวันออกไกลอยู่แล้ว

“มันเป็นไปได้ ผมเชื่อเช่นนั้น ที่จะเอาการปฏิบัติการต่างๆ (ซึ่งอยู่ที่ฟูเตนมะ) มารวมไว้ที่คาเดนะ ในภาวะที่เป็นการปฏิบัติการประจำวันตามปกติธรรมดา” ไมเคิล โอแฮนลอน (Michael O'Hanlon) นักวิจัยอาวุโสทางด้านนโยบายการต่างประเทศ ณ สถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) ในกรุงวอชิงตัน บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ อย่างไรก็ดี โอแฮนลอนซึ่งมีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ชี้ต่อไปว่า “แต่ในกรณีเช่นนั้น เราก็จำเป็นจะต้องเตรียมการให้ดีขึ้นอีกมากสำหรับภาวะที่มีการปฏิบัติการในเวลาวิกฤต เป็นต้นว่า จะต้องมีการเข้าถึง SDF กันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และกระทั่งการเข้าไปใช้สนามบินพลเรือนบนเกาะโอกินาวา [ตลอดจนการตระเตรียมเป็นการล่วงหน้าในสถานที่ต่างๆ เหล่านี้]”

ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นยังได้ประกาศว่า จะใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยเหลืองานฟื้นฟูบูรณะอัฟกานิสถานที่ยับเยินเสียหายจากสงคราม

อย่างไรก็ตาม โทชิยูกิ ชิกาตะ (Toshiyuki Shikata) นักวิเคราะห์ด้านการทหารของญี่ปุ่น บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า “ชาวญี่ปุ่นส่วนข้างมากจะไม่ยอมรับให้ไปช่วยเหลืออัฟกานิสถานแบบนั้นหรอก” เขากล่าวต่อไปว่า “ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช, จักรวรรดิอังกฤษ, หรือสหภาพโซเวียต ก็ล้วนแต่ล้มเหลวเมื่อพยายามเข้าไปพิชิตอัฟกานิสถาน สหรัฐฯนั้นเป็นรัฐมหาสมุทร จึงจะยิ่งมีความยากลำบากในการพยายามเข้าควบคุมอัฟกานิสถาน ซึ่งแวดล้อมด้วยพื้นที่เขตเขาและผืนแผ่นดิน มันจะไม่เป็นการคุ้มค่าสำหรับสหรัฐฯหรอก”

โคสุเกะ ทากาฮาชิ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงโตเกียว นอกจากเขียนให้เอเชียไทมส์ออนไลน์แล้ว เขายังเขียนให้กับ Jane's Defence Weekly ในฐานะเป็นผู้สื่อข่าวประจำโตเกียว สามารถติดต่อเขาได้ที่ letters@kosuke.net
  • ‘โอบามา’เยือนญี่ปุ่นเผชิญศึก‘โอกินาวา’ (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น