เอเอฟพี - คณะผู้แทนระดับอาวุโสของสหรัฐฯ เปิดฉากการผลักดันทางการทูตในฮอนดูรัส เพื่อสะสางวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 4 เดือน นับตั้งแต่การรัฐประหารและโค่นล้มประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา
โธมัส ชานนอน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการซีกโลกตะวันตก นำทีมผู้แทนเข้าพบประธานาธิบดีเซลายาเป็นครั้งแรก ณ สถานทูตบราซิลประจำกรุงเตกูซิลกัลปา ที่ซึ่งเซลายาอาศัยลี้ภัยทางการเมือง หลังลักลอบเดินทางกลับเข้าฮอนดูรัสเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากถูกขับออกนอกประเทศ
จากนั้นคณะผู้แทนสหรัฐฯ ได้เข้าพบโรเบร์โต มิเชเลตติ หัวหน้ารัฐบาลรักษาการฮอนดูรัส ที่รับตำแหน่งภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน และจนถึงตอนนี้ยังคงยืนกรานปฏิเสธข้อตกลงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกลับคืนสู่อำนาจของเซลายา
เซลายาบอกกับเอเอฟพีว่า คณะผู้แทนสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่า ยังคงยอมรับเซลายาในฐานะ “ประธานาธิบดี” และสหรัฐฯ จะไม่รับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายนศกนี้ หากเซลายายังไม่ได้กลับคืนสู่อำนาจ
“ผมยังคงเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการรับรองจากประชาคมโลก” เซลายากล่าว หลังเข้าพบกับผู้แทนสหรัฐฯ นาน 90 นาที “ผมนำเสนอแนวทางการก้าวข้าม ตลอดจนแนวทางการหาฉันทามติทางการเมืองและการแก้ปัญหาอย่างสันติ”
หลังหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ วิลมา โมราเลส ผู้แทนเจรจาของมิเชเลตติได้เชิญทีมงานของเซลายามาเจรจากันใหม่อีกครั้งในวันนี้ (29) เพื่อพิจารณาว่า สมควรให้รัฐสภาหรือศาลสูงสุดตัดสินชี้ขาดเรื่องการกลับคืนสู่อำนาจของเซลายาหรือไม่
ก่อนหน้านั้นเซลายาเพิ่งจะปฏิเสธแนวคิด “ที่น่าดูหมิ่น” ที่ว่าจะให้ศาลสูงสุดซึ่งเคยกล่าวโทษว่าเซลายากระทำความผิด 18 คดีก่อนหน้าการรัฐประหาร เป็นผู้ชี้ขาดเรื่องนี้
ทั้งนี้ นอกจากชานนอนแล้ว ทีมผู้แทนสหรัฐฯ ยังประกอบด้วยรองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเครก เคลลี และแดน เรสเทรโป ที่ปรึกษาระดับอาวุโสด้านละตินอเมริกาของรัฐสภา
ด้าน ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งตัดสินใจส่งคณะผู้แทนไปยังฮอนดูรัส หลังพบกับตัวแทนของทั้งมิเชเลตติและเซลายาเมื่อสุดสัปดาห์ เชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ จะมีบทบาทสำคัญและจะเร่งรัดให้ทุกฝ่ายกลับสู่การเจรจาอีกครั้ง
ฮอนดูรัสกำลังเผชิญกับวิกฤตการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลาง นับตั้งแต่สงครามเย็น ซึ่งปะทุขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน และการยึดอำนาจโค่นล้มประธานาธิบดีเซลายา ซึ่งพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2