xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนเจรจาลดความแตกแยกเพื่อยุติวิกฤตการเมืองฮอนดูรัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มานูเอล เซลายา
เอเอฟพี - คณะผู้แทนการเจรจาพยายามลดทอนความแตกแยกระหว่าง 2 ฝ่าย วานนี้ (13) ตามเวลาท้องถิ่น ระหว่างการหารือเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในฮอนดูรัส อย่างไรก็ตาม ยังไร้บทสรุปเรื่องการกลับคืนสู่อำนาจของประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ตัวแทนของทั้ง 2 ฝ่ายเผย

ผู้แทนทั้ง 2 ฝ่าย พยายามเร่งรัดให้ทันกำหนดเส้นตายการเจรจาภายในวันพฤหัสบดีนี้ (15) เพื่อหาข้อตกลงในการยุติความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งปะทุขึ้นภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน

“ตอนนี้เราได้เริ่มหารือกันในประเด็นสำคัญที่สุด (เรื่องการกลับสู่อำนาจของเซลายา) และเราคาดว่า น่าจะได้คำตอบในวันนี้ (14)” มายรา เมเจีย หัวหน้าคณะผู้แทนของเซลายา กล่าว

ส่วนอดีตผู้พิพากษา วิลมา โมราเลส ตัวแทนเจรจาฝ่าย โรเบร์โต มิเชเลตติ ผู้นำรัฐบาลรักษาการของฮอนดูรัส กล่าวว่า “เราได้เริ่มหารือในประเด็นหลัก และในวันพุธนี้ (14) เราจะพูดคุยเกี่ยวกับทางเลือก หรือความเป็นไปที่ขัดแย้งกัน”

จนถึงตอนนี้ สองฝ่ายตกลงกันได้เพียงว่า จะจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ, ไม่มีการนิรโทษกรรม และเซลายาจะยุติความพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังเห็นพ้องต้องกันว่า จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว, ฝ่ายทหารจะอยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งจนกว่าจะจัดการเลือกตั้ง และจะเรียกร้องให้ประชาคมโลกยุติการลงโทษฮอนดูรัส ซึ่งมีขึ้นภายหลังการรัฐประหาร

ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองในฮอนดูรัส ปะทุขึ้นเมื่อประธานาธิบดี เซลายา ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อปี 2006 และจะหมดวาระในปี 2010 สร้างความกริ้วโกรธให้แก่ฝ่ายตุลาการ, รัฐสภา และทหาร ด้วยการประกาศจัดให้มีการลงประชามติในปลายเดือนมิถุนายน (28) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สามารถลงเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2

ก่อนหน้านั้น ศาลสูงสูงตัดสินว่าแผนการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังถูกคัดค้านจากฝ่ายทหาร แต่ประธานาธิบดีเซลายา ประกาศจะผลักดันให้มีการลงประชามติต่อ และพยายามปลด พลเอก โรมิโอ วาสเกซ ผู้บัญชาการทหารออกจากตำแหน่งเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว

ศาลสูงสุดแถลงในวันเดียวกัน ว่า ได้สั่งให้ปลดประธานาธิบดีเซลายาออกจากตำแหน่ง เพื่อพิทักษ์รักษากฎหมายและความเป็นระเบียบในชาติ

รุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน ทหารราว 200 คน บุกจู่โจมบ้านพักของเซลายา และนำตัวผู้นำประเทศออกจากบ้านพักทั้งชุดนอน จากนั้นก็ส่งขึ้นเครื่องบินเนรเทศไปที่คอสตาริกา

การรัฐประหารและวิกฤตการเมืองในฮอนดูรัสครั้งนี้ เป็นวิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลางนับตั้งแต่สงครามเย็น ตลอดจนขัดขวางนโยบายต่างประเทศของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับละตินอเมริกา
โรเบร์โต มิเชเลตติ
กำลังโหลดความคิดเห็น