เอเอฟพี - หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอดีบี ชี้ เอเชียอาจเป็นแกนนำในการฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้พ้นจากภาวะถดถอย แต่ความคาดหวังด้านการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียยังคงถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง
ดร.ลีจองวา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวในระหว่างเวทีประชุมสัมมนาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (14) โดยระบุว่า ทางเอดีบีได้คาดการณ์ใน “แง่ดีมาก” ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ที่นำโดยประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ของโลกอย่างจีนและอินเดียในปีหน้า อาจจะขยายตัวเฉลี่ยได้ถึงร้อยละ 6.4 เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปีนี้
แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียดังกล่าว ยังอาจได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ โดยเฉพาะในหมู่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย รวมทั้งการที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ รีบร้อนดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อลดเลิกการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังหลุดพ้นจากภาวะถดถอยเร็วเกินไป
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอดีบี ซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้ กล่าวว่า “ปัญหาสำคัญก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2010 และหลังจากนั้น จะมีความยั่งยืนหรือไม่ ... ภาวะเศรษฐกิจยังคงไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความชะงักงันของเศรษฐกิจโลกที่ยืดเยื้อออกไปและจะมีผลทำให้การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของภูมิภาคเอเชียต้องล่าช้า”
ดร.ลี ยังระบุว่า ถึงแม้ภูมิภาคเอเชียกำลังทำหน้าที่เป็นแกนนำในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้ แต่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็ไม่ควรประมาท เพราะดูเหมือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้ยังคงมีความอ่อนแออยู่มาก ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมว่า แม้เอเชียจะได้รับการยอมรับว่า มีการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งรุนที่สุดในรอบหลายทศวรรษได้รวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก แต่เศรษฐกิจของเอเชียก็ยังคงต้องถูกผูกติดกับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญในประเทศอุตสาหกรรม
นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจเอเชียยังต้องฝากอนาคตของตนไว้กับประเทศอุตสาหกรรม และต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคมีความเปราะบางต่อ “สภาวะช็อกจากภายนอก” ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เอเชียไม่สามารถทำหน้าที่ในการเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเพียงลำพังได้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการพูดกันมากว่าเศรษฐกิจเอเชียสามารถเติบโตแบบแยกต่างหากออกจากเศรษฐกิจโลกได้ก็ตาม และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็ยังไม่ควรรีบร้อนลดเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ รวมทั้งยังไม่ควรผ่อนคลายนโยบายที่เข้มงวดทางด้านการเงินในเวลานี้
ทางด้าน ไมเคิล มุสซา นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (พีไอไออี) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่กรุงวอชิงตันในครั้งนี้ กลับออกมาระบุว่า เขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะติดอยู่ใน “หล่มแห่งความถดถอย” หรือมีการเติบโตอย่างเงื่องหงอยสุดขั้วแต่อย่างใด ซึ่งก็รวมทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า มีการเติบโตในช่วงไตรมาสที่ 3 หลังต้องเผชิญกับภาวะถดถอยอยู่นานเกือบ 2 ปี
มุสซา ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเอเชียจะมีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง และความหวังที่จะเห็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจแบบ “รูปตัว V” ยังคงมีความเป็นไปได้อย่างมากในประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ของเอเชีย เช่น จีนที่มีการเติบโตเกือบจะเป็นศูนย์เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว แต่สามารถกลับมามีเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8 ในไตรมาสแรกปีนี้
อย่างไรก็ตาม มุสซา ชี้ว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ การฟื้นตัวจากการดำดิ่งอย่างสุดขั้วในภาคการค้า และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของโลก คงจะไม่สามารถขยายตัวถึงร้อยละ 10-20 ในรายไตรมาสต่อไตรมาส อย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3-4 ปีจากนี้