xs
xsm
sm
md
lg

กรณีฉาว‘อุ้มแบงก์พ้นล้มละลาย’กำลังสั่นคลอนอินโดนีเซีย

เผยแพร่:   โดย: แพทริก กุนเทนสเปอร์เกอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Bank bailout scandal rocks Indonesia
By Patrick Guntensperger
16/09/2009

เมื่อตอนที่ธนาคารเซนจูรี แบงก์ของอินโดนีเซีย เผชิญปัญหาภาวะสภาพคล่องตึงตัวอย่างสาหัสในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน และพวกเทคโนแครตของเขา ได้ทุ่มเทเงินแผ่นดินจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยเหลือไม่ให้ล้มละลาย เวลานี้บรรดาฝ่ายค้านทางการเมือง ซึ่งรวมถึงรองประธานาธิบดีผู้กำลังจะหมดวาระด้วย กำลังกล่าวหาว่าการปฏิบัติการคราวนั้นมีการสมรู้ร่วมคิดกันหลังฉาก ซึ่งเปิดทางให้ผู้ฝากเงินที่เส้นสายดี สามารถถอนเงินสดของพวกเขาออกได้ก่อน

จาการ์ตา – ตอนที่วิกฤตการเงินทั่วโลกกำลังเลวร้ายถึงขีดสุดในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ธนาคารเซนจูรี แบงก์ (Century Bank) ของอินโดนีเซีย ต้องเผชิญวิกฤตสภาพคล่องตึงตัวอย่างสาหัส พวกผู้ฝากเงินที่แตกตื่นพากันแห่ไปถอนเงินจากแบงก์ขนาดกลางที่มุ่งเน้นกิจการการธนาคารเพื่อผู้บริโภคแห่งนี้ จึงยิ่งทำให้ฐานเงินทุนของธนาคารยิ่งหดเหี้ยน และก่อให้เกิดความหวาดวิตกกันว่า จะกลายเป็นโรคระบาดทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้สถาบันการเงินที่ฐานะย่ำแย่แห่งอื่นๆ พากันล้มครืนตามๆ กัน

ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน และทีมงานเทคโนแครตของเขา ตอบโต้แก้ไขด้วยการจัดหาสายชูชีพทางการเงินเข้าไปให้เซนจูรี แบงก์ ไม่นานหลังจากที่คณะผู้บริหารธนาคารแห่งนี้ประกาศว่า แบงก์อยู่ในสภาพหมดความสามารถในการชำระหนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2008 เงินอัดฉีดช่วยเหลือขั้นต้นมูลค่า 700,000 ล้านรูเปียห์ (70.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่ทางการให้ไปนั้น มุ่งหมายที่จะบรรเทาความหวาดผวาของผู้ฝากเงิน ตลอดจนเป็นการจัดหาสภาพคล่องเอาไว้สำหรับให้แบงก์ดำเนินงานได้ตามปกติ

แต่ปรากฏว่ารัฐบาลยังให้เงินช่วยเหลือแก่ธนาคารแห่งนี้อีกหลายครั้ง จนรวมแล้วค่าใช้จ่ายในการกอบกู้เซนจูรี แบงก์ให้พ้นภาวะล้มละลาย มีมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 6.76 ล้านล้านรูเปียห์ (677.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คิดเป็น 4 เท่าตัวของจำนวนที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาทีเดียว เรื่องนี้ทำให้เกิดความกังขาขึ้นในหมู่นักวิเคราะห์และนักการเมืองฝ่ายค้าน ว่าแบงก์ขนาดกลางๆ เช่นนี้ทำไมจึงต้องใช้เงินทองมหาศาลนักจึงรักษาเสถียรภาพเอาไว้ได้

ฝ่ายค้านทางการเมือง รวมทั้งพวกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ถูกยุโธโยโนทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ต่างพากันหยิบฉวยเรื่องนี้มาตั้งคำถามถึงความสามารถทางด้านเศรษฐกิจและความซื่อสัตย์ ซึ่งผู้นำประเทศผู้นี้อวดอ้างว่ามีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งนี้หากดูกันเฉพาะตัวเลขทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ต้องถือว่ายุโธโยโนและทีมงานทำได้ไม่เลว โดยอินโดนีเซียสามารถประคับประคองให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวกได้ตลอดช่วงที่เศรษฐกิจทรุดตัวทั่วโลก ขณะที่พวกประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากกว่าต่างเซถลาลงสู่แดนลบ โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าในปีนี้แดนอิเหนาจะทำอัตราเติบโตได้ในระดับ 4.3%

กระนั้นก็ตาม ในปีที่แล้วมีความวิตกกังวลกันอยู่มากว่า อินโดนีเซียอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) อีก เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการธนาคารที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงและมีการกำกับตรวจสอบอย่างหละหลวม อันที่จริงเซนจูรี แบงก์เองก็เกิดขึ้นจากการนำเอางบดุลบัญชีของธนาคารขนาดเล็ก 3 แห่งมารวมกัน แล้วเปิดดำเนินงานอีกครั้งภายใต้ชื่อใหม่ในปี 2005 ทว่าจากนั้นมาแบงก์แห่งนี้ก็ถูกสั่นคลอนด้วยกรณีอื้อฉาวเรื่องยักยอกเงิน โดยที่ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าแอบเจียดเอาสินทรัพย์ธนาคารเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ทีเดียวใส่เข้าไปในบัญชีส่วนตัว

เมื่อเศรษฐกิจโลกทำท่ากลับคืนสู่ภาวะมีเสถียรภาพมากขึ้นเป็นลำดับ ก็ทำให้เกิดความโล่งใจยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทีมงานเศรษฐกิจของยุโธโยโนประสบความสำเร็จในการฟันฝ่าพายุร้าย และสามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องเข้าไปพึ่งพายุ่งเกี่ยวกับไอเอ็มเอฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เสียคะแนนนิยมทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ประชาชนชาวอินโดนีเซียยังคงไม่ลืมว่า ตอนที่รัฐบาลอินโดนีเซียไปขอกู้เงิน (จำนวน 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในระหว่างวิกฤตการเงินเอเชียช่วงปี 1997-98 ไอเอ็มเอฟได้กำหนดเงื่อนไขให้นำเอามาตรการอันสุดโหดต่างๆ มาใช้ โดยที่เวลานี้อินโดนีเซียก็ยังผ่อนชำระเงินกู้ก้อนดังกล่าวไม่ทันหมด

น่าประหลาดใจที่ฝ่ายค้านมุ่งเน้นการโจมตีไปที่รัฐมนตรีคลัง ศรี มุลยานี อินทราวตี (Sri Mulyani Indrawati) ผู้ได้รับคำชมเชยอย่างกว้างขวางจากนานาชาติ ในเรื่องความมุ่งมั่นที่จะถอนรากถอนโคนการทุจริตคอร์รัปชั่นและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของกระทรวงการคลัง รวมทั้งในกรมจัดเก็บภาษีต่างๆ ที่ขึ้นชื่อลือฉาวเรื่องรับสินบน กระทั่งนิตยสาร “ฟอร์บส์” ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ ยังจัดอันดับให้เธอเป็นผู้หญิงทรงอำนาจที่สุดเป็นอันดับที่ 23 ของโลก

อีกคนหนึ่งที่ถูกฝ่ายค้านเล่นงานอย่างหนักก็คือ โบเอดิโอโน (Boediono) ผู้ว่าการธนาคารแห่งอินโดนีเซีย (Bank of Indonesia) ผู้เป็นเทคโนแครตที่ได้รับความยกย่องนับถืออย่างสูงอีกคนหนึ่ง เขาลงสมัครแข่งขันเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับยุโธโยโนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกรกฎาคม และประสบชัยชนะอย่างท่วมท้น โบเอดิโอโนยังเป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับว่า สามารถสะสางเรื่องฉาวโฉ่การรับสินบนและการยักยอกเงินที่กระทำกันในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติ เกียรติประวัติในการต่อสู้การคอร์รัปชั่นเช่นนี้ ตลอดจนผลงานอันโดดเด่นแห่งความเป็นเทคโนแครตของเขานั่นเอง ที่เป็นมนตร์เสน่ห์สำคัญประการหนึ่งของทีมผู้สมัคร “ยุโธโยโน-โบเอดิโอโน”

**ข้อโจมตีกล่าวหาทางการเมือง**

จูซุป กัลลา รองประธานาธิบดีที่กำลังจะครบวาระและก็เป็นผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนกรกฎาคมที่ได้คะแนนอยู่ในอันดับท้ายสุด ออกมากล่าวหาโบเอดิโอโนว่า “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” จากบทบาทของเขาในการทำให้ทางการเข้าไปอุ้มเซนจูรี แบงก์ไม่ให้ล้มละลาย ข้อกล่าวหาของเขาระบุด้วยว่า มีการงุบงิบทำข้อตกลงกันหลังฉากเพื่อให้รัฐบาลอัดฉีดเงินสดเข้าไปในธนาคารแห่งนี้จนมากเพียงพอที่พวกผู้ฝากที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองทั้งหลาย สามารถถอนเงินของพวกเขาออกมาได้ก่อนผู้ฝากทั่วไปคนอื่นๆ ในบรรดาผู้ฝากรายสำคัญๆ ของแบงก์แห่งนี้ก็มีอย่างเช่น ตระกูลซัมโปเอร์นา (Sampoerna) และตระกูลอาริฟิน ปานิโกโร (Arifin Panigoro) ตลอดจนรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัทประกันภัย พีที จัมโซสเตะก์ (PT Jamsostek) และบริษัทเหมืองแร่แห่งชาติ พีที ติมะห์ (PT Timah)

ตามการกล่าวหาของกัลลา ที่เวลานี้ยังคงเป็นรองประธานาธิบดีอยู่ พวกผู้ฝากรายสำคัญๆ เหล่านี้ต่างได้ข้อมูลวงใน จึงทำการถอนเงินเป็นจำนวนมหาศาล ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังอัดฉีดเงินทุนเข้าไปในธนาคารเพิ่มขึ้นกว่าที่ได้ทำความตกลงไว้กับทางรัฐสภา เวลานี้ทุกๆ ฝ่ายต่างปฏิเสธว่าไม่ได้มีการทำความผิดใดๆ อันเกี่ยวข้องกับการเข้าอุ้มเซนจูรี แบงก์ ขณะที่รัฐสภาร้องขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินสูงสุด (Supreme Audit Agency) และสำนักงานต่อต้านการทุจริต (KPK) เข้าทำการตรวจสอบบัญชีของธนาคารแห่งนี้ ตลอดจนสอบสวนการเข้าไปช่วยเหลือไม่ให้ล้มละลาย

สิ่งที่ทำให้กรณีนี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า โรเบิร์ต ตันตูลาร์ (Robert Tantular) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของเซนจูรี แบงก์ กำลังถูกสอบสวนว่าฉ้อโกงด้วยการยักยอกเงินธนาคารไปเป็นจำนวนมหาศาล เหตุเกิดในระยะเวลาเดียวกับที่รัฐบาลปล่อยเงินทุนก้อนแรกเข้าไปช่วยชีวิตธนาคารแห่งนี้ ตันตูลาร์ได้ถูกจับกุมในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2008 และเวลานี้กำลังจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหายักยอกหลายกระทงที่มีโทษจำคุกสูงสุด 8 ปี โดยที่รายงานข่าวบางกระแสที่ไม่มีการยืนยันระบุว่า เขาฉ้อโกงเงินไปร่วมๆ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว ทั้งนี้อัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล ขณะที่ตันตูลาร์ก็ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

จากการกล่าวหาของฝ่ายค้านเกี่ยวกับเรื่องฉาวโฉ่เซนจูรี แบงก์เช่นนี้ กำลังก่อให้เกิดคำถามข้อข้องใจใหม่ๆ ขึ้นมาในสายตาของประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับเกียรติภูมิความน่าเชื่อถือของยุโธโยโนในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจและการต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่เป็นประเด็นซึ่งเขาสามารถนำมาขยายผลจนหนุนส่งให้เขาชนะการเลือกตั้งได้อย่างสบายในการลงคะแนนเมื่อเดือนกรกฎาคม ตัวรัฐมนตรีคลังอินทราวตีได้กล่าวยืนยันระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันอังคาร(15) ที่เอเชียไทมส์ออนไลน์ได้เข้าฟังด้วย ว่าไม่มีทางที่โบเอดิโอโนและทางแบงก์ชาติจะทราบเรื่องการฉ้อโกงของตันตูลาร์ในเวลาที่เข้าไปช่วยแบงก์ไม่ให้ล้ม

อินทราวตีซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประสานงานของฝ่ายเศรษฐกิจด้วย กล่าวยืนยันว่าการเข้าอุ้มเซนจูรี แบงก์ในตอนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารแห่งนี้ล้มครืนลง และเพื่อประคับประคองเสถียรภาพของภาคการเงิน เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าการช่วยแบงก์แห่งนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ เธอก็ตอบว่า “ไม่มีอย่างแน่นอน มันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นมาต่างหาก” เธอเสริมด้วยว่าฝ่ายการเมืองมีบทบาทเพียงส่วนเดียวในกรณีการอุ้มเซนจูรี แบงก์ นั่นคือการสร้างผลข้างเคียงในทางบวกที่เปิดทางให้รัฐบาลสามารถมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากในการกำกับตรวจสอบและควบคุมฝ่ายบริหารของบรรดาสถาบันการเงิน

ผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เธอบอกว่ายังจะทำให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปสามารถเฝ้าติดตามการจ่ายผลตอบแทนให้แก่พวกผู้บริหารระดับสูงของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ด้วย โดยที่ในกรณีของเซนจูรี แบงก์นั้น ก็ได้มีการกล่าวหากันว่ามีการใช้วิธีโอนเงินทุนของธนาคารไปยังบัญชีส่วนตัวของผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และนี่เองที่มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ฐานะของเซนจูรี แบงก์ไปไม่ไหว

อินทราวตีบอกว่า ความโกรธกริ้วทางการเมืองซึ่งปะทุออกมาหลังมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องทุ่มเข้าไปช่วยเหลือแบงก์รายนี้นั้น เธอมองว่าเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถึงแม้พวกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบบริหารพอร์ตทางเศรษฐกิจและทางการเงิน จะได้ใช้ความกล้าหาญตัดสินใจที่มีความสำคัญยิ่งยวดหลายต่อหลายครั้ง เพื่อมุ่งรักษาเสถียรภาพของระบบเอาไว้ให้ได้ในระหว่างช่วงเวลาแห่งวิกฤต

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ยุโธโยโน, โบเอดิโอโน, และอินทราวตี จะเป็นอย่างไรต่อไปจากการถูกข้อกล่าวหาที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง ว่าพวกเขาบริหารจัดการกับการอุ้มธนาคารเซนจูรี แบงก์อย่างไม่ถูกต้องคราวนี้ แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนอยากจะฟันธงลงไปว่า แผนการช่วยเหลือจะดำเนินไปด้วยดี, ข้อหาฉ้อโกงมีการสอบสวนและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี, ส่วนทีมงานเศรษฐกิจของยุโธโยโนก็จะได้รับการมองอย่างชื่นชมจากพวกนักลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งมองเห็นถึงทิศทางอนาคตของการปฏิรูปในช่วงสมัยสองแห่งการดำรงตำแหน่งของยุโธโยโน

ขณะนี้ยุโธโยโนกำลังเตรียมการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปของเขา ซึ่งควรที่จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนตุลาคม มีบางคนอดสงสัยไม่ได้ว่ากรณีฉาวเรื่องเซนจูรี แบงก์ จะมีผลใดๆ ต่อการได้รับตำแหน่งทางการเมืองต่อๆ ไปของอินทราวตีหรือไม่ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าเธอพอใจที่จะเป็นรัฐมนตรีคลังต่อไปอีกหรือเปล่า เธอก็ตอบว่า “ดิฉันจะยังมีแรงจูงใจอะไรอยู่อีก ถึงจะต้องการทำงานนี้ต่อไปอีก 5 ปี”

ครั้นถูกจี้ถามต่อว่าเธอสนใจตำแหน่งอะไร อินทราวตีก็ตอบโดยไม่ลังเลเลยว่าตำแหน่งทางด้านการศึกษา ขณะที่บ่ายเบี่ยงไม่ตอบคำถามที่ว่าเธอพร้อมจะรับคำเชิญให้เป็นรัฐมนตรียุติธรรมคนต่อไปหรือเปล่า

ถึงแม้อินโดนีเซียดูเหมือนจะสามารถหลบหลีกผ่านพ้นวิกฤตการเงินไปได้อีกรอบหนึ่งแล้ว แต่จากกรณีถกเถียงขัดแย้งกันในเรื่องเซนจูรี แบงก์ ก็แสดงให้เห็นว่า สำหรับนายแบงก์และเจ้าหน้าที่กำกับตรวจสอบของอินโดนีเซียแล้ว ยังมีอะไรที่จะต้องเรียนกันอีกมากในเรื่องเกี่ยวกับหลักนิติธรรม (rule of law)

แพทริก กุนเทนสเปอร์เกอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ใช้กรุงจาการ์ตาเป็นฐาน อีกทั้งเป็นอาจารย์สอนทางด้านวารสารศาสตร์ สามารถที่จะติดตามบล็อกของเขาได้ที่ http://pagun-view.blogspot.com
กำลังโหลดความคิดเห็น