xs
xsm
sm
md
lg

“อินโดนีเซีย”จากเสถียรภาพสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย

เผยแพร่:   โดย: แพทริก กุนเทนสเปอร์เกอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

From stability to chaos in Indonesia
By Patrick Guntensperger
25/11/2009

ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย แสดงการตอบสนองด้วยท่าทีคลุมเครือ ต่อกรณีที่มีการกล่าวหากันว่า หลายหน่วยงานในภาครัฐตลอดจนนักธุรกิจ กำลังจับมือกันเพื่อพยายามโค่นล้มหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชั่นซึ่งมีผลงานเป็นที่ถูกอกถูกใจประชาชน เรื่องนี้ก่อให้เกิดความวิตกหวั่นไหวกันว่า พฤติการณ์ที่ยกเว้นให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่ต้องได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในยุคจอมเผด็จการซูฮาร์โต กำลังหวนกลับคืนสู่แดนอิเหนาอีกคำรบหนึ่งแล้ว นอกจากนั้น การที่ยุโธโยโนแสดงปฏิกิริยาต่อเรื่องอื้อฉาวนี้อย่างเชื่องช้ามาก รวมทั้งไม่ได้ตอบข้อข้องใจสำคัญที่ว่า ตัวเขาเองพัวพันกับแผนการร้ายที่ถูกกล่าวหากันนี้ด้วยหรือเปล่า ก็ยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความหวาดหวั่นมากขึ้นไปอีก

จาการ์ตา – ท่ามกลางการเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อมาหลายวัน ในที่สุดประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย ก็ออกมาแถลงแสดงจุดยืนของเขาเมื่อวันจันทร์(23 พ.ค.)ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกรณีอื้อฉาวที่สำนักงานอัยการสูงสุด (ใช้ตัวย่อจากชื่อเต็มในภาษาอินโดนีเซียว่า AGO) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับความพยายามบ่อนทำลาย คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (ใช้ตัวย่อจากชื่อเต็มในภาษาอินโดนีเซียว่า KPK) ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งอิสระและได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวาง โดยที่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา KPK ก็ได้ตั้งข้อหาและนำตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานทั้งสองหลายๆ คนฟ้องร้องต่อศาล จนศาลมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริงและตัดสินลงโทษมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าคำแถลงของยุโธโยโนในครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยความคลุมเครือ จึงไม่ช่วยให้บรรยากาศปลอดโปร่งผ่องใสขึ้นเลย มิหนำซ้ำเขายังไม่ได้ตอบคำถามฉกรรจ์ๆ ที่ว่าตัวเขาเองเกี่ยวข้องพัวพันกับแผนการที่กล่าวหากันว่าเป็นการสมคบคิดกันเพื่อใส่ร้ายป้ายสี KPK ด้วยหรือเปล่า

หลังจากได้รับเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตยอีกสมัยหนึ่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วยคะแนนเสียงอันท่วมท้น ระยะหลังๆ มานี้ความสวัสดีมีโชคในทางการเมืองของยุโธโยโนกลับเหือดหายและผันเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม เมื่อชื่อเสียงเกียรติคุณของเขาในฐานะผู้ต่อต้านคอร์รัปชั่นกำลังถูกตั้งคำถามอย่างข้องใจ และผู้ประท้วงตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศก็พากันออกมาชุมนุมตามท้องถนนเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง

ความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ก่อนหน้านี้ยุโธโยโนสามารถนำมาคุยอวดต่อทั้งนักลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ กลับปลาสนาการไปอย่างฉับพลันในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่มีความหวาดเกรงกันว่าเขาอาจถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง และเกิดความสงสัยกันว่าการบริหารปกครองของเขาจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ บรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองบอกว่า เขาจะรับมือกับข้อกล่าวหาต่างๆ ตลอดจนการประท้วงตามท้องถนนที่ปะทุขึ้นมาอย่างไร จะเป็นบททดสอบอันสำคัญยิ่งในระยะหลายสัปดาห์และหลายเดือนต่อจากนี้ ว่าเขามีความผูกพันมั่นคงกับกระบวนการทางประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศมากน้อยแค่ไหน

ร่องรอยแรกๆ ที่โผล่ออกมาให้เห็นว่า อาจจะเกิดการเล่นไม่ซื่อในหมู่ผู้คนระดับสูงที่แวดล้อมตัวยุโธโยโน ก็คือการที่คณะรัฐบาลในสมัยแรกแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขา เข้าไปช่วยเหลือธนาคารขนาดกลางที่ชื่อ พีที แบงก์ เซนจูรี (PT Bank Century) ให้รอดพ้นจากการต้องล้มละลาย มีเสียงกล่าวหากันว่าเงินทุนของภาครัฐที่ใช้ไปในการช่วยเหลือคราวนี้ ส่วนหนึ่งได้ถูกผันเข้าไปกองทุนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของยุโธโยโน ถึงแม้เรื่องนี้จะได้มีการออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการแล้วหลายๆ ครั้ง ทว่ายังไม่เคยมีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระเพื่อพิสูจน์กันให้โปร่งใสเลย ยิ่งกว่านั้นเมื่อวันจันทร์(23)ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินสูงสุด (Supreme Audit Agency) ยังได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งบ่งชี้ว่า มีความผิดปกติทางการเงินอย่างมากมายในแผนงานมูลค่าประมาณ 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อโอบอุ้มธนาคารขนาดกลางๆ แห่งนี้ให้รอดพ้นการล้มละลาย

พวกผู้ชุมนุมประท้วงตามท้องถนน กำลังเรียกร้องให้ KPK เข้าสอบสวนกรณีอื้อฉาวช่วยเหลือ แบงก์ เซนจูรี รวมทั้งต้องการให้ทั้งยุโธโยโน, รองประธานาธบดี โบเอดิโอโน (Boediono) และ รัฐมนตรีคลัง ศรี มุลยานี อินทราวตี (Sri Mulyani Indrawati) ลาออกในทันที (ในตอนที่ทางการเข้าไปช่วยเหลือธนาคารแห่งนี้ โบเอดิโอโนดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย ขณะที่อินทราวตีก็เป็นรัฐมนตรีคลังอยู่ในเวลานั้น) ส่วนกรณีฉาวโฉ่เรื่อง KPK ก็ทำท่าว่าไม่เพียงแค่อัยการกับตำรวจเท่านั้น หากยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพวกหน่วยงานด้านยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เข้าร่วมการสมคบคิดอยู่ด้วย โดยที่หน่วยงานด้านยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายทั้งหลายเหล่านี้ ก็ล้วนมียุโธโยโนเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด สำหรับเป้าหมายของการใส่ร้ายป้ายสีจะอยู่ที่การมุ่งยับยั้งไม่ให้ KPK ดำเนินการสอบสวนในเรื่องการช่วยเหลือโอบอุ้มแบงก์ เซนจูรี ใช่หรือไม่นั้น เวลานี้ยังคงไม่มีความกระจ่างชัดเจน

คดีมุ่งเล่นงาน KPK นี้บานปลายจากการที่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการจับกุม อันตาซารี อัซฮาร์ (Antasari Azhar) ซึ่งเวลานั้นเป็นประธานของ KPK อันตาซารีถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการจ้างมือสังหารมาฆ่านักธุรกิจผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแคดดี้สาวสนามกอล์ฟซึ่งอันตาซารีก็หมายปองอยู่จนกลายเป็นเรื่องราวรักสามเส้า ขณะถูกคุมขังอยู่นั้นเอง อันตาซารีได้ให้การว่าใน KPK มีการรับสินบน, การใช้อิทธิพลหยุมๆ หยิมๆ , และการขู่กรรโชก ถึงแม้ในเวลาต่อมาเขาจะได้ถอนคำให้การเหล่านี้ ทั้งนี้เราต้องเข้าใจว่า KPK นั้นเป็นสถาบันกึ่งอิสระซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณด้านความซื่อสัตย์และความเป็นอิสระ อันเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากสำหรับหน่วยราชการอินโดนีเซีย ที่เลื่องลือในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของพวกเจ้าหน้าที่เสียมากกว่า

หลังจากนั้นก็ได้มีการจับกุมรองประธาน 2 คนของ KPK ได้แก่ บิบิต ริอันโต (Bibit Rianto) และ จันทรา ฮัมซาห์ (Chandra Hamzah) ด้วยข้อหาขู่กรรโชกเงินทองจาก อังโกโด (Angodo) น้องชายของผู้ต้องหาในคดีอีกคดีหนึ่งที่รองประธานทั้งสองคนนี้กำลังสอบสวนอยู่ อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าระหว่างนั้นเองได้มีการเผยแพร่เทปลับเสียงสนทนาระหว่างอังโกโดกับพวกนายตำรวจอาวุโสและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ AGO ซึ่งฟังแล้วชวนให้เข้าใจว่าคนเหล่านี้กำลังพูดคุยกันถึงการวางแผนการร้ายเพื่อป้ายสี บิบิต กับ จันทรา

เทปเสียงดังกล่าวนี้รั่วไหลมาถึงหนังสือพิมพ์ และต่อมาก็ได้มีการเล่นเทปนี้ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีในศาลที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ เสียงพูดคุยในเทปดังกล่าวนี้ยังมีการเอ่ยถึงยุโธโยโน ในลักษณะบ่งชี้ว่าตัวประธานาธิบดีก็ทราบและกระทั่งอาจจะสนับสนุนสิ่งที่ดูจะเป็นการใส่ร้ายป้ายสีคราวนี้ด้วย ภายหลังเทปเสียงเผยแพร่ออกไปก็ได้เกิดการประท้วงตามท้องถนน มีการเรียกร้องให้ยุโธโยโนลาออก และให้ปล่อยตัวบิบิตกับจันทราออกจากคุก

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ยุโธโยโนได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจสืบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งมีชื่อเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ทีม 8 คน” (Team of Eight) ประกอบไปด้วยทนายความและบุคคลที่ขึ้นชื่อเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่น พวกเขามีหน้าที่สืบสวนกรณีอื้อฉาวดังกล่าวนี้และจัดทำรายงานเสนอแนะต่อประธานาธิบดี ปรากฏว่ารายงานของทีม 8 คนบอกว่าไม่พบว่าข้อกล่าวหาบิบิตและจันทรามีความถูกต้องชอบธรรมอะไรเลย จึงเสนอแนะให้ยุติการสอบสวนและการทำคดียื่นฟ้องร้องพวกเขาในทันที นอกจากนั้น รายงานยังเสนอแนะให้ปรับโครงสร้างตำรวจและ AGO กันอย่างขนานใหญ่อีกด้วย

ยุโธโยโนได้ออกคำแถลงเกี่ยวกับรายงานผลการสอบสวนของทีม 8 คนนี้ในวันจันทร์(23) และก็สร้างความผิดหวังให้แก่พวกที่ใคร่จะได้เห็นการปฏิบัติการอย่างชัดเจนและเด็ดขาดของฝ่ายบริหาร ขณะที่ยุโธโยโนเสนอแนะว่าคดีกล่าวหาบิบิตและจันทราไม่ควรนำขึ้นฟ้องร้องต่อศาลนั้น เขาก็ไม่พูดให้ชัดๆ ลงไปว่าคดีนี้ควรถูกถอนและยุติการสอบสวนไปเลยหรือไม่ ทั้งนี้เขาบอกว่าเขามีข้อเสนอแนะเช่นนี้สืบเนื่องจาก “ความไม่ไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีของสาธารณชน” ต่อตำรวจและ AGO

นอกเหนือจากพูดถึงข้อเสนอแนะของทีม 8 คนแล้ว ยุโธโยโนยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “จำเป็นต้องใช้ความพยายามกันในทันทีเพื่อแก้ไขและปรับเปลี่ยนสถาบันทั้ง 3” ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า ในทัศนะของเขาแล้ว ไม่เพียงแค่ตำรวจและอัยการเท่านั้น KPK ก็น่าจะมีความบกพร่องอยู่ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา หน่วยงานแห่งนี้มีอัตราการทำคดีฟ้องร้องแล้วผู้ถูกกล่าวหาถูกศาลพิพากษาลงโทษกันแบบ 100% เต็ม และได้จำคุกอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปจำนวนไม่น้อยเลย ยุโธโยโนยังบอกด้วยว่า เขา “ไม่ต้องการให้เกิดการไม่กินเส้นกันระหว่าง KPK, ตำรวจ, และ AGO กลายเป็นเรื่องถาวรยืนยาวขึ้นมา”

ทั้งจันทราและบิบิตต่างแสดงท่าทีว่า ปรารถนาที่จะให้นำคดีของพวกเขาขึ้นสู่การพิจารณาของศาล เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถต่อสู้อย่างเปิดเผยต่อข้อกล่าวหาที่มีทั้งเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ, การรับสินบน, และการขู่กรรโชก ทางทีมทนายความของจำเลยเหล่านี้กล่าวภายหลังการแถลงของยุโธโยโนในวันจันทร์(23)ว่า พวกเขาไม่มีความชัดเจนเลยว่าประธานาธิบดีมีเจตนารมณ์อย่างไรกันแน่ ขณะที่จันทราก็แสดงความมึนงงเมื่อพูดกับหนังสือพิมพ์เช่นกัน “ท่านหมายความว่าอะไรกันแน่ บางทีพวกเราอาจต้องรออีกสัก 2-3 วันกระมังจึงจะเห็นภาพที่ชัดเจนกว่านี้”

การแสดงความเห็นแบบคลุมเครือของยุโธโยโนเช่นนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความโน้มเอียงของเขาซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป ในเรื่องที่ต้องการเอาอกเอาใจทุกๆ ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ และมุ่งสร้างภาพว่ามีเสถียรภาพแม้มันจะเป็นเสถียรภาพที่ฉาบหน้าเอาไว้อย่างบางเฉียบ อย่างไรก็ตาม “การไม่กินเส้นกัน” ที่เขาพูดแย้มๆ ออกมาก็ยังน่าที่จะดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่ KPK ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจให้ทำการขุดรากถอนโคนการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังคงต้องเป็นศัตรูตามธรรมชาติ กับหน่วยงานตำรวจและ AGO ที่มักถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มหน่วยงานราชการที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด

พวกนักวิเคราะห์มองแทบไม่เห็นเลยว่าจะมีลู่ทางตกลงรอมชอมกันได้ ตราบเท่าที่ KPK ยังคงดำรงอยู่ และพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานตำรวจและ AGO ในปัจจุบันก็ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งเดิม นอกจากนั้น การที่ยุโธโยโนพยายามเปรียบเทียบกรณีที่เกิดขึ้นมาคราวนี้ว่าเป็นเสมือนการทะเลาะเบาะแว้งกันภายในครอบครัว ซึ่งควรจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการพูดจากันดีๆ จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับภาวะผู้นำและความผูกพันมั่นคงกับระบอบประชาธิปไตยของตัวยุโธโยโนเอง รวมทั้งยังกลายเป็นการฟื้นชีพเสียงอุทธรณ์ร้องเรียนที่เคยได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ ในยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จของซูฮาร์โต ที่ว่าพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้รับความคุ้มครองจากรัฐเสมอจนไม่ต้องรับโทษทัณฑ์อะไรจากความผิดที่กระทำลงไป

มีนักวิเคราะห์จำนวนมากแสดงความคิดเห็นว่า ยุโธโยโนกำลังสูญเสียโอกาสทองที่จะกำจัดกวาดล้างการคอร์รัปชั่นที่กลายเป็นโรคร้ายเรื้อรังในอินโดนีเซีย โดยที่การทุจริตคอร์รัปชั่นนี้แหละที่เป็นภัยคุกคามต่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธปิไตย และมีส่วนสำคัญในการลดทอนอารมณ์ความรู้สึกในแง่ดีของนักลงทุน ความโกรธกริ้วไม่พอใจของสาธารณชนจากกรณีนี้เท่ากับเป็นการมอบหมายให้อำนาจเต็มแก่เขาที่จะลงมือใช้มาตรการอันเด็ดขาดเพื่อชำระสะสางหน่วยงานตำรวจและสำนักงานอัยการสูงสุด ทว่าการที่เขากลับปล่อยปละไม่ลงมือทำอะไรเช่นนี้ จึงกำลังก่อให้เกิดกระแสความเข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า ยุโธโยโนไม่เพียงแต่ไม่กล้าตัดสินใจเท่านั้น หากยังอาจจะเป็นผู้ร่วมสมคบในการใช้อำนาจโดยมิชอบและการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกด้วย

แพตริก กุนเตนสเปอร์เตอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์และอาจารย์สอนวิชาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงจาการ์ตา สามารถติดตามบล็อกของเขาได้ที่ http://pagun-view.blogspot.com
กำลังโหลดความคิดเห็น