xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอินโดนีเซียออกมาประท้วง‘ยุโธโยโน’

เผยแพร่:   โดย: แพทริก กุนเทนสเปอร์เกอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Indonesians take to the streets
By Patrick Guntensperger
10/10/2009

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Indonesians take to the streets
By Patrick Guntensperger
10/10/2009

พวกองค์กรภาคประชาชนมุ่งส่งเสริมประชาธิปไตย ที่ครั้งหนึ่งเคยมองประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย ว่าเป็นผู้ที่กำลังต่อสู้เพื่ออุดมการณ์อย่างเดียวกัน มาถึงเวลานี้กลับหันมาต่อต้านผู้นำที่กำลังประสบความยากลำบากผู้นี้เสียแล้ว ชาวอินโดนีเซียนับหมื่นๆ ได้พากันออกมาสู่ท้องถนนเพื่อแสดงการประท้วงคณะรัฐบาลที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาหมาดๆ ของยุโธโนโย สืบเนื่องจากพัวพันกับกรณีอื้อฉาวที่ผุดโผล่ขึ้นมาเรื่องแล้วเรื่องเล่า

จาการ์ตา – ความลำบากทางการเมืองของประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย กำลังเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อเกิดการประท้วงต่อต้านตามท้องถนนที่นำโดยองค์กรภาคประชาชนมุ่งส่งเสริมเรียกร้องประชาธิปไตยหลายๆ องค์กร ที่เพียงเมื่อไม่นานมานี้เองยังมองว่ายุโธโยโนเป็นผู้ที่กำลังร่วมการต่อสู้เพื่อมุ่งสู่อุดมการณ์อย่างเดียวกันกับพวกเขา

การจราจรในนครหลวงจาการ์ตาตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาตในวันพุธ(9) ซึ่งเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (International Anti-Corruption Day) เมื่อผู้คนจำนวนเป็นหมื่นๆ พากันออกมาสู่ท้องถนน เพื่อแสดงการประท้วงกรณีฉาวโฉ่เกี่ยวกับการทุจริตและการใช้อำนาจในทางมิชอบที่ปรากฏออกมาไม่ขาดสายเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่พัวพันเกี่ยวข้องกับคณะรัฐบาลของยุโธโยโน ผู้เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง

กว่าสิบปีหลังจากโค่นล้มซูฮาร์โต จอมเผด็จการผู้เถลิงอำนาจปกครองประเทศอยู่เป็นเวลายาวนาน อินโดนีเซียก็ยังคงไม่ได้ก้าวข้ามพ้นเงาดำมืดแห่งการทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงระบบ และหน่วยงานราชการลุแก่อำนาจทั้งหลายของระบอบเผด็จการนั้นก็ยังคงดำรงอยู่ เป็นต้นว่า กองกำลังตำรวจแห่งชาติที่แปดเปื้อนไปด้วยข้อครหา ถึงแม้ในระยะหลังๆ มีความคืบหน้าให้เห็นเหมือนกัน ในเรื่องการฟ้องร้องและตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ทุจริตหลายต่อหลายคน แต่ในระดับระหว่างประเทศแล้ว แดนอิเหนาก็ยังคงถูกจัดให้อยู่ในอันดับใกล้ๆ หมายเลขหนึ่ง ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลก

การที่ประชาชนจำนวนมากเข้าใจว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด น่าจะมีเจตนาร่วมมือกันเพื่อบ่อนทำลาย คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (ใช้ตัวย่อจากชื่อเต็มในภาษาอินโดนีเซียว่า KPK) อันเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างสูง โดยการใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อหารับสินบนและขู่กรรโชกเอากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KPK ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งก็เป็นที่สงสัยข้องใจกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงหลายต่อหลายคนที่แวดล้อมประธานาธิบดียุโธโยโน น่าจะยักย้ายถ่ายเทเงินจากความช่วยเหลือที่รัฐทุ่มเข้าไปช่วยชีวิตธนาคารขนาดกลางๆ แห่งหนึ่งให้พ้นภาวะล้มละลาย เพื่อนำไปสนับสนุนการรณรงค์รับเลือกตั้งอีกสมัยของประธานาธิบดี ทั้งสองด้านเหล่านี้กำลังกลายเป็นตัวกัดกร่อนอย่างเลวร้ายยิ่งต่อความนิยมภายในประเทศและความน่าเชื่อถือในระดับระหว่างประเทศของยุโธโยโน

ถ้าหากข้อกล่าวหาฉกรรจ์ๆ เช่นนี้ได้รับการพิสูจน์ว่ามีมูลขึ้นมาแล้ว มีบางคนถึงขั้นชี้ว่าควรที่จะต้องตั้งคำถามกันต่อไปทีเดียวว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านพ้นไปเมื่อกลางปีนี้มีความถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน

ทางฝ่ายค้านรายสำคัญที่นำโดย พรรคเดโมแครต ปาร์ตี้ ฟอร์ สตรักเกิล (ใช้ตัวย่อจากชื่อเต็มในภาษาอินโดนีเซียว่า PDI-P) ของอดีตประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งคราวนี้ ซึ่งประกาศออกมาว่ายุโธโยโนชนะขาดกวาดคะแนนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปถึง 60% เวลานี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าความขัดแย้งระหว่าง KPK กับฝ่ายตำรวจและอัยการในปัจจุบัน ตลอดจนข้อครหาที่ว่ามีการนำเอาเงินทุนของรัฐไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของยุโธโยโน จะเป็นแรงจูงใจให้เมกาวาตีออกมาร้องเรียนกันใหม่อีกรอบหนึ่งหรือไม่

พวกนักวิเคราะห์ทางการเมืองยังสงสัยไม่แน่ใจด้วยว่า ขบวนการเคลื่อนไหวประท้วงตามท้องถนนที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มก่อตัวขึ้นนี้ จะสามารถเติบใหญ่ขยายตัวจนกลายเป็นพลังทางการเมืองอันน่าเกรงขามแบบเดียวกับที่ได้เคยผลักไสให้ซูฮาร์โตต้องยอมสละอำนาจในปี 1998 มาแล้วหรือไม่ บางคนชี้ว่ามันอาจเกิดขึ้นได้หากลงท้ายปรากฏออกมาว่า ยุโธโยโนมีความเกี่ยวโยงพัวพันกับความพยายามของตำรวจและอัยการในการบ่อนทำลาย KPK ด้วยการทำให้รองประธานทั้งสองของหน่วยงานนี้ ที่ชื่อ บิบิต ริอันโต (Bibit Rianto) และ จันทรา ฮัมซาห์ (Chandra Hamzah) ถูกตัดสินจำคุกจากข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ปั้นแต่งกันขึ้นมา สืบเนื่องจากเขาหวาดกลัวว่า KPK จะเข้าไปสอบสวนบทบาทของตัวเขาในกรณีการอุ้มธนาคาร แบงก์ เซนจูรี (Century Bank) ให้พ้นภาวะล้มละลายซึ่งถูกกล่าวหากันว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างมาก ทั้งนี้ หนึ่งในหลายๆ ประเด็นของข้อครหาที่ยังไม่มีการพิสูจน์ให้ชัดเจน ก็คือ ได้มีการยักย้ายเงินช่วยเหลือของรัฐส่วนหนึ่งไปให้แก่กองทุนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีกสมัยของยุโธโยโนจริงหรือเปล่า

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยุโธโยโนชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนเป็นสมัยที่ 2 ตามแบบแผนระบอบประชาธิปไตย โดยที่หลักนโยบายในการหาเสียงของเขาคือการชูความน่าเชื่อถือของตัวเขาเองว่าเป็นนักปราบปรามคอร์รัปชั่น ทว่านับแต่ที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของเขาก็กลับแปดเปื้อนด้วยกรณีอื้อฉาวการทุจริตที่ถูกปูดครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้ความนิยมในตัวเขาที่ปรากฏตามโพลสำรวจครั้งต่างๆ ลดลงอย่างฮวบฮาบ

ตั้งแต่ที่เกิดกรณีฉาวโฉ่เหล่านี้ เขาพยายามอ้างกับประชาชนว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของ “การโกหกหลอกลวงและการมุ่งลอบสังหารทำลายบุคลิกภาพ” และในการกล่าวปราศรัยถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศเมื่อวันอังคาร(8)ที่ผ่านมา เขาก็ประกาศให้สัญญาที่จะทำ “ญิฮัด” (สงครามศักดิ์สิทธิ์) ต่อต้านปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เขายังเรียกร้องให้คงอำนาจของ KPK เอาไว้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการดักฟังโทรศัพท์เพื่อหาหลักฐานมาใช้ในการสอบสวน

อันที่จริง อำนาจดังกล่าวนี้เอง ซึ่งทำให้มีการดักบันทึกเสียงสนทนาหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้ และเมื่อได้ถูกนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ก็ทำให้คนที่ได้ฟังจำนวนมากเกิดความรู้สึกความเข้าใจว่า ตัวยุโธโยโนเองก็น่าจะพัวพันกับแผนการร้ายซึ่งมีตำรวจและสำนักงานอัยการเป็นตัวการใหญ่ เพื่อป้ายสีบ่อนทำลาย KPK ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงท่าทีของยุโธโยโนในช่วงที่เกิดการจับกุมและตั้งข้อหาอันไม่ชอบมาพากลเอากับ 2 รองประธานของ KPK ดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจกันทั่วไปว่า เขาปล่อยให้มีการใช้ข้อหาเหล่านี้มาเล่นงานคนทำงานที่มีผลงานน่าชื่นชม จนกระทั่งต้องถูกขังคุกอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยที่เขาไม่ได้ออกมาปกป้องผู้ที่ถูกป้ายสีเหล่านี้เลย สภาพเช่นนี้เองกระตุ้นให้เกิดกระแสความโกรธเกรี้ยวของประชาชน ซึ่งมองว่าการวางมาดต่อต้านการทุจริตของยุโธโยโนที่ผ่านมา เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่มีอะไรเกินไปกว่าการล่อลวงคะแนนของผู้ออกเสียงทั่วประเทศที่ต่างก็ชิงชังกับเรื่องการคอร์รัปชั่นกันทั้งนั้น

หลังจากที่บิบิตและจันทราได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและได้รับตำแหน่งใน KPK กลับคืนมาใหม่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รองประธานทั้งสองก็ประกาศจะนำพา KPK มุ่งความสนใจไปที่กรณีใช้เงินรัฐ 6.76 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว710 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อุ้มแบงก์ เซนจูรีให้รอดพ้นการล้มละลาย ทั้ง KPK และคณะกรรมาธิการของรัฐสภาชุดหนึ่ง ต่างบอกแล้วว่าจะสอบสวนการตัดสินใจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2008 ของคณะรัฐบาลในสมัยแรกของยุโธโยโน ที่เข้าไปช่วยเหลือธนาคารขนาดกลางแห่งนี้

KPK แถลงว่าจะสอบสวนในประเด็นที่ว่า มีเหตุผลอะไรทำไมจึงมีการตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือ และเงินทุนของรัฐบาลที่ใช้ในการเข้าอุ้มแบงก์แห่งนี้มีการหมุนการถ่ายเทไปทางช่องทางไหนบ้าง ประเด็นหลังนี้นับว่าน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นาน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินสูงสุด (Supreme Audit Agency) เพิ่งแถลงเปิดเผยผลการสอบสวนของตนออกมา โดยระบุว่า เงินทุนช่วยเหลือของรัฐในโครงการนี้ถึงราว 40% ทีเดียวถูกเบิกจ่ายอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ไม่ว่าผู้สังเกตการณ์รายไหนก็ย่อมจะต้องรู้สึกเตะตากับข้อมูลที่ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐว่ารับสินบนและทุจริตคอร์รัปชั่น KPK มีอัตราชนะคดีถึง 100% เต็ม ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นหลายฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง อาจต้องโทษจำคุกระหว่าง 1 ถึง 20 ปีทีเดียว ขณะที่การสอบสวนของฝ่ายรัฐสภาก็อาจนำไปสู่กระบวนการกล่าวโทษถอดถอนออกจากตำแหน่ง ถึงแม้เวลานี้ยังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลของยุโธโยโนยังสามารถครองเสียงข้างมากเอาไว้

ทั้ง KPK และรัฐสภาต่างบอกว่า จะให้น้ำหนักกับประเด็นที่ว่าทำไมค่าใช้จ่ายในการอุ้มแบงก์ เซนจูรีจึงบานปลายจาก 632,000 ล้านรูเปียห์ จนขึ้นมาเป็นกว่า 10 เท่าตัวของจำนวนดังกล่าว และ 2 เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคนสำคัญ คือ โบเอดิโอโน (Boediono) ผู้ว่าการธนาคารชาติอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) ในขณะนั้นซึ่งเวลานี้กลายมาเป็นรองประธานาธิบดี ตลอดจน ศรี มุลยานี อินทราวตี (Sri Mulyani Indrawati) ที่เป็นรัฐมนตรีคลังทั้งในเวลานั้นและขณะนี้ มีส่วนในการกระทำความผิดใดๆ หรือไม่

นักวิเคระห์จำนวนมากต่างรู้สึกว่า การเลือกเข้าไปอุ้มธนาคารขนาดกลางอย่างแบงก์ เซนจูรีต้องถือเป็นการเลือกสรรที่ออกจะน่าประหลาดอยู่ ถึงแม้คณะรัฐบาลยืนยันเรื่อยมาว่า มีความจำเป็นต้องทำให้ธนาคารแห่งนี้อยู่รอดต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด “การล้มครืนต่อเนื่องกันแบบตัวโดมิโน” (domino effect) ซึ่งอาจทำให้ระบบธนาคารล่มสลายไปทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า แบงก์ เซนจูรี นั้นเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินท้องถิ่นจำนวนหลายสิบแห่ง ซึ่งมีฐานะซวนเซเนื่องจากการหลอมละลายของภาคการเงินทั่วโลกในปีที่แล้ว โดยที่มีสถาบันการเงินของแดนอิเหนาอีกหลายๆ แห่งที่ประสบปัญหาเช่นกัน ซึ่งมีขนาดงบดุลใหญ่กว่าธนาคารแห่งนี้ด้วยซ้ำ นักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่นบางคนและฝ่ายค้านทางการเมืองของยุโธโยโนชี้ว่า การเลือกอุ้มแบงก์แห่งนี้อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเรื่องของการเลือกที่รักมักที่ชังทางการเมือง ดังปรากฏจากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดบางรายให้แก่พรรค ปาร์ไต เดโมแครต (Partai Demokrat) ของยุโธโยโน ดูเหมือนจะมีบัญชีเงินฝากอันสูงลิ่วทีเดียวในแบงก์ เซนจูรี

บุคคลที่ตั้งข้อสงสัยเหล่านี้ก็เป็นพวกเดียวกับที่ส่งเสียงว่ากรณี KPK เป็นการใส่ร้ายป้ายสี โดยที่พวกเขาเชื่อว่า อย่างน้อยที่สุดยุโธโยโนก็ให้ความสนับสนุนเป็นนัยๆ ด้วยความมุ่งหมายที่จะขัดขวางไม่ให้มีการการสอบสวนกรณีการอุ้มแบงก์ เซนจูรี ถึงแม้ปกติแล้วเวลาที่ยุโธโยโนรับมือกับประเด็นทางการเมืองอันซับซ้อน เขามีความโน้มเอียงที่จะพยายามสร้างให้เกิดฉันทามติและการประนีประนอม แต่การประท้วงตามท้องถนนที่ปะทุขึ้นมาคัดค้านคณะรัฐบาลของเขาก็กำลังกลายเป็นการทดสอบความเด็ดเดี่ยวมั่นคงต่อระบอบประชาธิปไตยของเขาแล้ว

ในฐานะที่เขาก็เคยเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มวงในของซูฮาร์โตมาแล้ว ยุโธโยโนย่อมเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงอันตรายที่การปฏิบัติการตามท้องถนนอย่างสอดประสานกัน จะส่งผลคุกคามความอยู่รอดของคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยของเขา

อันที่จริงในระยะหลังๆ มานี้ เขาก็ได้ออกมากล่าวปราศรัยหลายต่อหลายครั้งโดยมุ่งป่าวร้องว่า การประท้วงต่างๆ เหล่านี้เป็นฝีมือการจัดตั้งของประดาปรปักษ์ทางการเมืองของเขา หรือไม่ก็ถูกแทรกซึมจากคนเหล่านี้ เพื่อมุ่งหวังสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายและมุ่งประทุษร้าย เขาบอกเป็นนัยๆ ว่าการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านคอร์รัปชั่นเที่กำลังเกิดขึ้น ควรถือได้ว่าเป็นความพยายามที่จะก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของเขา อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองเห็นตามว่า มันจะเป็นเช่นนั้นไปได้

แพทริก กุนเตนสเปอร์เตอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์และอาจารย์สอนวิชาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงจาการ์ตา สามารถติดตามบล็อกของเขาได้ที่ http://pagun-view.blogspot.com
กำลังโหลดความคิดเห็น