xs
xsm
sm
md
lg

‘ระเบิดคอร์รัปชั่น’แตกบึ้มในอินโดนีเซีย

เผยแพร่:   โดย: แพตริก กุนเตนสเปอร์เตอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Corruption bomb explodes in Indonesia
By Patrick Guntensperger
06/11/2009

เสียงการสนทนาระหว่างนักธุรกิจชื่อ อังโกโด วิดโจโจ กับ ตำรวจ และ อัยการ ที่ถูกแอบบันทึกเอาไว้ ได้ถูกนำมาเผยแพร่อย่างกว้างขวางในอินโดนีเซีย การสนทนานี้ฟังดูเหมือนกับพวกเขากำลังวางแผนร้ายเพื่อป้ายสีหวังโค่นล้มหน่วยงานสูงสุดด้านปราบปรามการทุจริตของแดนอิเหนา และที่สำคัญพวกเขายังมีการพูดอ้างพาดพิงไปถึงประธานาธิบดีซูซิโล บันยัง ยุโธโยโนอีกด้วย เงามืดที่ทอดบดบังตัวยุโธโยโนเช่นนี้ ยิ่งดูดำคล้ำสนิทขึ้นไปอีกจากท่าทีของเขาที่ดูเหมือนละล้าละลังไม่เด็ดขาดในกรณีฉาวโฉ่อันซับซ้อนซ่อนเงื่อนกรณีนี้

จาการ์ตา – เพียงไม่กี่เดือนหลังจากประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยด้วยคะแนนเสียงอันท่วมท้น จากการใช้หลักนโยบายหาเสียงที่เน้นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็กลับเกิดการเดินขบวนประท้วงและมีเสียงตะโกนเรียกร้องให้ทำการปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลของเขาดังขึ้นมาตามถนนสายต่างๆ ทั้งในเมืองหลวงของประเทศและนครใหญ่แห่งอื่นๆ

“ปฏิวัติ, ปฏิวัติ, ปฏิวัติเพื่อผู้พลีชีพ!” เสียงตะโกนประท้วงเช่นนี้ ซึ่งไม่ได้ยินกันมานานแล้วตั้งแต่การหล่นลงจากอำนาจของอดีตจอมเผด็จการซูฮาร์โตเมื่อปี 1998 กำลังถูกเปล่งออกมาจากนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่นตลอดจนผู้ประท้วงคนอื่นๆ ภายหลังที่มีการกล่าวหากันว่าประธานาธิบดียุโธโยโน พัวพันเกี่ยวข้องกับแผนการร้ายอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ซึ่งมุ่งใส่ร้ายป้ายความผิดทางอาญาให้กับ จันทรา ฮัมซาห์ (Chandra Hamzah) และ บิบิต ซาหมัด ริอันโต (Bibit Samad Rianto) 2 รองประธานของคณะกรรมาธิการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (Corruption Eradication Commission ซึ่งใช้อักษรย่อตามภาษาอินโดนีเซียว่า KPK) หน่วยงานกวาดล้างการทุจริตของประเทศ ที่ทำงานประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวาง

ข้อกล่าวหาที่เป็นเสมือนระเบิดทางการเมืองคราวนี้ มีต้นตออยู่ในเสียงสนทนา ระหว่างนักธุรกิจที่ชื่อ อังโกโด วิดโจโจ (Anggodo Widjojo) กับพวกตำรวจ และพวกอัยการ ซึ่งได้ถูกแอบบันทึกเอาไว้ เสียงสนทนานี้ฟังแล้วชวนให้เข้าใจว่าพวกเขากำลังวางแผนการร้ายเพื่อเล่นงานเคพีเค เสียงของวิดโจโจนั้นระบุว่า ซุสโน ดูอัดจี (Susno Duadji) ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อับดุล ฮาคิม ริตองกา (Abdul Hakim Ritonga) รองอัยการสูงสุด เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนแผนการคราวนี้ เสียงสนทนาดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ ในระหว่างการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนได้รับการรายงานข่าวอย่างกว้างขวางในสื่อมวลชนท้องถิ่น

ทั้ง ดูอัดจี และ ริตองกา ต่างลาออกจากตำแหน่งของพวกเขาเมื่อวันพฤหัสบดี(5 พ.ย.) โดยไม่ให้คำอธิบายอะไร สำหรับตัวประธานาธิบดียุโธโยโน ภายหลังถูกแรงกดดันจากสาธารณชน จึงได้ประกาศเปิดการสอบสวนข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยแต่งตั้งกลุ่มบุคคลที่ได้รับสมญาว่า “ทีม 8” (Team 8) เข้าทำหน้าที่นี้ นอกจากนั้นเขายังบอกว่าพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกเอ่ยอ้างเอาไว้ในบันทึกเสียงสนทนา สมควรที่จะถูกสั่งพักงานไปจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ทว่าไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆว่า ตัวยุโธโยโนเองตั้งใจที่จะก้าวลงจากตำแหน่งเป็นการชั่วคราวจากกรณีอื้อฉาวที่กำลังเกรียวกราวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้

อังโกโดถูกกล่าวหาว่าไปวิ่งเต้นติดต่อกับสำนักงานอัยการสูงสุด และพวกนายตำรวจอาวุโส เพื่อเกลี้ยกล่อมชักชวนให้พวกเขาช่วยกันกุเรื่องตั้งข้อหาต่อจันทรา และ บิบิต ทั้งนี้ อังโกโด วิดโจโจ ผู้นี้ เป็นน้องชายของ อังโกโร วิดโจโจ (Anggoro Widjojo) ผู้ต้องหาที่กำลังหลบหนีภายหลังถูกระบุว่าเขากระทำความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอก โดยเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าปัจจุบันเขาไปหลบภัยอยู่ที่สิงคโปร์ เสียงของอังโกโดผู้น้องชายที่ได้ยินในเสียงบันทึก ยังมีตอนหนึ่งซึ่งเรียกร้อง “ความช่วยเหลือ” จาก เคตุต สุดีฮาร์ซา (Ketut Sudiharsa) รองผู้อำนวยการสำนักงานพิทักษ์คุ้มครองพยาน ที่ใช้ชื่อย่อตามภาษาอินโดนีเซียว่า แอลพีเอสเค LPSK) ให้หาทางช่วยคุ้มครองพี่ชายของเขา

เสียงบันทึกฉาวโฉ่ที่ถูกแพร่ออกไปนี้ กลายเป็นจุดพลิกผันอันน่าตื่นใจสำหรับยุโธโยโน ผู้ซึ่งที่ผ่านมาใครๆ ต่างเข้าใจว่าเขาเป็นผู้ที่ส่งเสริมกระแสต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง บัดนี้เมื่อหลักฐานชิ้นนี้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่เพียงแผนร้ายของ อังโกโด วิดโจโจ ที่ดูเหมือนพยายามให้การเท็จปรักปรำผู้บริหารระดับสูงของเคพีเค จะถูกเปิดโปงออกมา ตัวประธานาธิบดียุโธโยโนก็ถูกอ้างในเสียงสนทนาว่า หนุนหลังการสมคบป้ายความผิดคราวนี้ด้วย

หน่วยงานพีเคเคซึ่งมีอำนาจดำเนินงานอย่างเป็นอิสระค่อนข้างสูง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2003 และนับแต่ต้นๆ ทีเดียวก็เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกับพวกพลังต่างๆ ในรัฐบาลและในระบบราชการ ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานอัยการสูงสุด, ธนาคารชาติ, และรัฐสภาตกเป็นเป้าหมายถูกสอบสวนและถูกตั้งข้อหาจากเคพีเค โดยที่เคพีเคคุยอวดได้ด้วยว่า คดีความที่ตนส่งฟ้องร้องต่อศาลคดีทุจริต (Corruption Court) ซึ่งพิจารณาคดีประเภทนี้โดยเฉพาะนั้น ได้รับการพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้องถึง 100% เต็ม

อันที่จริงเคพีเคได้ถูกตามล้างตามโจมตีอย่างไม่ลดละมาตลอด โดยเฉพาะจากพวกที่รู้สึกว่าตนเองอาจจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งก็มีพวกที่อยู่ในรัฐสภารวมอยู่ด้วย คนเหล่านี้ได้พยายามหาทางลิดรอนหรือกระทั่งเพิกถอนอำนาจการสอบสวนของหน่วยงานแห่งนี้ หลักฐานที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือการที่รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายศาลทุจริต (Corruption Court bill) ฉบับใหม่ด้วยความอืดอาดล่าช้ามาก ซึ่งส่งผลให้อำนาจตามกฎหมายของศาลแห่งนี้ต้องหมดอายุลง นอกจากนั้นรัฐสภายังพยายามที่จะแก้ไขให้คำนิยามเกี่ยวกับองค์ประกอบของศาลทุจริตกันใหม่ เพื่อลดทอนจำนวนผู้พิพากษาเฉพาะกิจ ซึ่งไม่เหมือนกับผู้พิพากษาอาชีพจำนวนมาก โดยได้พิสูจน์ตนให้เห็นว่ากล้าตัดสินคดีอย่างเป็นอิสระปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง

ทว่าจากกรณีอื้อฉาวที่ดูเหมือนกับมีความพยายามสมคบกันของเจ้าหน้าที่อาวุโสในหน่วยงานต่างๆ เพื่อมุ่งทำลายเคพีเคนี่แหละ ที่กำลังทำให้เกิดกระแสความโกรธเกรี้ยวซึ่งดูรุนแรงเชี่ยวกรากยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มาเป็นอันมาก

คดีที่ อันตาซารี อาซาร์ (Antasari Azhar) ประธานเคพีเค ถูกกล่าวหาว่าไปว่าจ้างทีมนักฆ่ามาสังหารนักธุรกิจผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคู่แข่งยื้อแย่งแคดดี้สาวสนามกอล์ฟผู้หนึ่งกับเขา มาในบัดนี้ก็กำลังถูกตรวจสอบสำนวนกันใหม่ ท่ามกลางข้อกล่าวหาที่ระบุว่าพวกกลุ่มพลังทางการเมืองได้จับมือกันสร้างเรื่องขึ้นมาทำลายเคพีเค ตัวอันตาซารีเองเวลานี้ยังคงถูกคุมขังและกำลังรอการถูกส่งตัวฟ้องร้องต่อศาลในข้อหาฆาตกรรม

มีรายงานว่าเขาได้พูดพาดพิงกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจในทางมิชอบและการเร่ขายอำนาจอิทธิพลของเจ้าหน้าที่คีพีเคคนอื่นๆ แม้ต่อมาเขาจะได้ถอนข้อกล่าวหาเหล่านี้ แต่มันก็เป็นชนวนทำให้ฝ่ายตำรวจและสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดการสอบสวน จันทรา ฮัมซาห์ และ บิบิต ซาหมัด ริอันโต สองรองประธานของเคพีเค ในตอนแรกทีเดียวถูกสั่งพักราชการสืบเนื่องจากการสอบสวนเหล่านี้ และต่อจากนั้นก็ถูกคุมขังเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม แต่การจับกุมนักปราบปรามการทุจริตทั้งสอง ทำให้เกิดความสงสัยข้องใจในหมู่ประชาชนว่ามีการใส่ร้ายป้ายสี มีการรณรงค์กันอย่างคึกคักผ่านทางเว็บไซต์ “เฟซบุ๊ก” ในลักษณะที่เป็นปากเสียงให้แก่พวกเขา

ประธานาธิบดียุโธโยโนนั้นได้รับคำร้องเป็นจำนวนมากมายท่วมท้น เพื่อขอให้เข้าแทรกแซงช่วยเหลือปกป้องรองประธานทั้งสองของเคพีเค ทั้งนี้แม้เคพีเคจะเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ยุโธโยโนก็แสดงบุคลิกเฉพาะตัวของเขาในเรื่องการสงวนท่าทีไม่ตัดสินใจอะไร โดยกล่าวว่าจะต้องทำตามกระบวนการทางกฎหมายให้จบสิ้นเสียก่อน ตั้งแต่นั้นจึงเกิดการประท้วงตามท้องถนนเรียกร้องการลงมือปฏิบัติการจากยุโธโยโน ซึ่งจวบจนกระทั่งเร็วๆ นี้เอง ยังคงมีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้อุทิศตนต่อสู้เพื่อผลักดันการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

ด้วยแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีจากประชาชน ฝ่ายตำรวจจึงยอมปล่อยตัวชั่วคราวจันทราและบิบิต จากนั้นตำรวจได้จับกุมคุมขังอังโกโด ผู้ซึ่งก่อนหน้านั้นไปปรากฏตัวในรายงานทีวีรายการหนึ่ง พูดจาอย่างโกรธเกรี้ยวปกป้องการกระทำของตนเอง และปฏิเสธว่าเขาไม่ได้พยายามป้ายสีรองประธานเคพีเคทั้งสองแต่อย่างใด ต่อมา อังโกโดได้ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่กองบัญชาการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคราวนี้มีท่าทีสำนักผิดขึ้นมาหน่อย เขาได้กล่าวขอโทษทุกๆ คนที่อาจได้รับความเดือดร้อนจากการสนทนาที่ถูกแอบอัดเสียงเอาไว้ของเขา รวมทั้งประธานาธิบดียุโธโยโน และรองอัยการสูงสุดริตองกา

ปรากฏว่าตำรวจกักตัวอังโกโดเอาไว้ไม่ทันครบ 24 ชั่วโมง ก็จัดแจงปล่อยตัวโดยไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆ ต่อเขาเลย ทีแรกตำรวจพยายามที่จะปิดบังเรื่องนี้ไม่ให้สื่อมวลชนทราบ ขณะที่อังโกโดแอบหลบออกไปจากสำนักงานตำรวจไปโดยใช้ประตูหลัง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจก็เริ่มแสดงท่าทีที่ชวนให้รู้สึกสับสน กล่าวคือ พลตำรวจจัตวา ราชา เอริสมาน (Raja Erisman) ผู้บังคับการกองคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกอ้างอิงว่าได้กล่าวว่า “ขณะนี้เขา(อังโกโด)กำลังอยู่ในความคุ้มครองของเรา”

ขณะที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจตรี นานา ซูการ์นา (Nana Sukarna) กลับพูดว่า “เราไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งข้อหาให้เขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยได้ ไม่ว่าจะในข้อหาไหนใน 6 ข้อหาเหล่านี้ เราไม่สามารถกล่าวโทษเขาจากการที่เขาพูดคุยกับพวกเพื่อนๆ ของเขา, จากการเอ่ยอ้างถึงท่านประธานาธิบดี, หรือจากการที่เขาข่มขู่จะฆ่าใครบางคน เนื่องจากไม่มีอะไรที่เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาเลย” เขากล่าวต่อไปว่า “พวกคนที่เผยแพร่เสียงบันทึกนี้ต่างหากที่ควรจะถูกประณามและถูกตั้งข้อหา”

คำแถลงเช่นนี้ของโฆษกสำนักงานตำรวจ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ในทันทีจากทาง “ทีม 8” ซึ่งเป็นคณะสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเร่งร้อนจากประธานาธิบดี สมาชิกคนหนึ่งของทีม ซึ่งคือ ตูดัง มูเลีย ลูบิส (Todung Mulia Lubis) ทนายความด้านสิทธิพลเมือง และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของ “องค์การเพื่อความโปร่งใสสากลสาขาอินโดนีเซีย” (Transparency International Indonesia) กล่าวหาตำรวจว่า “กำลังขัดขวางความยุติธรรม” และพูดต่อไปว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะยอมกันไม่ได้” อัดนัน บูยุง นาซูเตียน (Adnan Buyung Nasution) ประธานของทีม 8 ก็ประกาศว่า ทีมของเขาจะลาออกกันทั้งทีม เนื่องจากท่าทีของตำรวจเช่นนี้เท่ากับว่าบรรดาข้อเสนอแนะจากการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของทางทีม ส่วนใหญ่แล้วถูกละเลยไม่แยแส “แล้วเราจะทำงานของเราไปทำไม” เขาตั้งปุจฉา

มีบางฝ่ายเชื่อว่ากรณีอื้อฉาวเกรียวกราวคราวนี้ คือโอกาสทองที่ยุโธโยโนควรหยิบฉวยเอาไว้เพื่อลงมือปฏิบัติการอย่างเด็ดขาด ด้วยการเข้ากวาดล้างสะสางฝ่ายตำรวจและสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งถูกมองกันมานานแล้วว่าเป็นหน่วยราชการที่มีการทุจริตฉ้อฉลอันกหนักหน่วงที่สุดของประเทศ และขณะที่ยังมีอะไรสับสนมืดมนอยู่มากเกี่ยวกับแผนร้ายที่ถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดกันขึ้นมาคราวนี้ รวมทั้งเรื่องที่ตัวยุโธโยโนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ด้วย กระนั้นก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่กระจ่างชัดเจน นั่นคือ ภาพลักษณ์ของตัวประธานาธิบดีที่ครั้งหนึ่งเคยมองกันว่าเป็นคนมือสะอาดนั้น บัดนี้กำลังมัวหมองถูกตั้งคำถามถูกระแวงสงสัย

ข่าวคราวการเปิดโปงข้อเท็จจริงใหม่ๆ เหล่านี้ กำลังกัดกร่อนความน่าเชื่อถือในการเป็นผู้ต่อสู้ปราบปรามการทุจริตของยุโธโยโนลงไปเรื่อยๆ และก็กำลังคุกคามเป็นอันตรายต่อความเคลื่อนไหวปฏิรูปที่ครั้งหนึ่งเคยคึกคักมีชีวิตชีวา ซึ่งได้ส่งผลทำให้ยุโธโยโนได้รับเลือกตั้งอีกครั้งอย่างชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยความวาดหวังของประชาชนที่ว่า เขาจะมาเป็นผู้นำความเคลื่อนไหวแห่งการปฏิรูปดังกล่าว

แพตริก กุนเตนสเปอร์เตอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์และอาจารย์สอนวิชาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงจาการ์ตา สามารถติดตามบล็อกของเขาได้ที่ http://pagun-view.blogspot.com
กำลังโหลดความคิดเห็น